ถ้าคุณแล่นเรือมาถึงจุดหนึ่ง จะมีสิ่งที่นักแล่นเรือทุกคนต้องพบเจอ มันเป็นบทพิสูจน์ และทดสอบความเป็นนักแล่นเรือในตัวคุณ
ตัวเรือเปรียบเหมือนเป็นร่างกาย เครื่องยนต์เปรียบเหมือนจิตใจ พอสองสิ่งรวมกันมันจะโลดแล่นราวกับว่ามันมีชีวิตเลยทีเดียว
สร้างจากเรื่องจริง :
Yamaha Outboard Never Die from ตุ้ม สี่แคว on Vimeo.
น้าพงศธร เคยบอกให้ผมรื้อเครื่องยนต์ทุกอย่างให้เป็นชิ้นๆ ผมก็ไม่รู้จะรื้อทำไมเพราะมันก็ใช้งานได้ดี เลยไม่มีโอกาศได้ทำแบบนั้น จนกระทั่งน้ำเข้าลูกสูบสองสูบ เครื่องยนต์ก็ยังติดได้ปรกติ แต่วิ่งได้แค่ 4 พันรอบแถมกินน้ำมัน เพราะกำลังอัดมันรั่ว
ในรถยนต์ถ้าน้ำเข้าสูบถือว่าเครื่องยนต์พัง กำลังอัดจากลูกสูบจะดันออกไปที่หม้อน้ำ เป็นฟองที่หม้อน้ำ มันจะมีความดัน ดันจนหม้อน้ำแตกเลย
อาการนี้ถือว่าเครื่องยนต์พังโดยสมบูรณ์
ผมคิดว่า ... ผมโชคดีมากที่เครื่องเรือพัง จะได้มีโอกาสรื้อเครื่องยนต์ ชำแหละมาศึกษาสักที ซึ่งนักแล่นเรือหลายคนไม่โชคดีแบบผม...
คนส่วนใหญ่ที่เริ่มต้นมาเล่นเรือครั้งแรก โดยมากมักจะไม่ได้ซื้อเครื่องยนต์ใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นเครื่องมือสองจากต่างประเทศ หรือมือสองในประเทศ เครื่องมือสองที่เห็นนั้นจะต้องมาเก็บรายละเอียดการซ่อมอีกอย่างน้อยสุด 1 อาการ หากไม่ศึกษาข้อมูลให้ละเอียดหลายๆด้าน จึงมักจบลงด้วยการเสียเงินจำนวนมาก (อย่างเครื่องของผมถ้าซื้อใหม่ รวมโน้นรวมนี่แล้วก็เกือบๆสามแสน ค่าลากไปซ่อมไปกลับก็ 4 พัน)
เพื่อนๆมาเห็นผมรื้อเป็นชิ้นๆ เค้าก็ถามผมว่าทำไมไม่ลากไปซ่อม ผมก็เลยตอบไปว่า จุดประสงค์การเล่นเรือของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทุกวันนี้ลากไปทั่วประเทศ และต่อไปในอนาคตผมเป็นคนที่อาจมีโอกาสเดินทางทางเรือไปสักครึ่งโลก ถ้าผมไม่ฝึกตัวเองให้เก่งและเอาตัวรอดได้ในทุกสถานการณ์ เมื่อโอกาสนั้นมาถึงก็คงทำไม่ได้ และการซ่อมเรือก็เป็นส่วนหนึ่งของงานอดิเรก ได้ช่วยเหลือเพื่อนฝูง ใช้เวลาไม่มากวันละชั่วโมง ว่างก็ทำ ไม่ว่างก็ไม่ทำ และที่สำคัญขัดกับหลักการหลักเศรษฐกิจพอเพียงและการพึ่งตนเอง
นี่คงเป็นบทความซ่อมเครื่องเรือ แบบชำแหละเป็นชิ้นๆ YAMAHA OUTBOARD บทความแรกๆของประเทศ
บทความการซ่อมเครื่องเรือแบบที่ง่ายๆ ที่สามารถทำด้วยตัวเอง
- การเปลี่ยนลูกยางปั้มน้ำ YAMAHA OUTBOARD ง่ายด้วยตัวเอง
- การล้างทำความสะอาดคาบูเรเตอร์ YAMAHA OUTBOARD ง่ายด้วยตัวเอง
ถ้าเราจะซ่อมเครื่องรุ่นไหน ก่อนอื่นต้องหา Block Diagram ของเครื่องยนต์ที่เราต้องการซ่อมก่อน
Block เครื่องสองจังหวะของ YAMAHA รุ่นนี้จะมี 3 รุ่นย่อย คือ
- 80 แรงม้า
- 85 แรงม้า
- 90 แรงม้า
อุปกรณ์เกือบทุกตัว แทบจะเหมือนกันเกือบทั้งหมด เหมือนแฝดสามต่างกันแค่บางอย่าง
YAMAHA ได้แบ่งแยกอุปกรณ์ในเครื่องยนต์เป็น ภาคส่วนหรือโมดูล ที่ใช้ในการซ่อมบำรุงเป็นทั้งหมด 19 ส่วน คือ
1.BOTTOM COWLING (ชุดคลุมล่าง)
2. BRACKET 1 (ชุดขายึดเครื่อง 1)
3. BRACKET 2 (ชุดขายึดเครื่อง 2)
4. CARBURETOR (ชุดคาบูเรเตอร์)
5. CONTROL (ชุดควบคุม)
6. CRANKSHAFT (ชุดเพลาข้อเหวี่ยง)
7. CYLINDER CRANKCASE (ชุดเสื้อสูบ)
8. ELECTRICAL (ชุดระบบไฟฟ้า)
9. FUEL (ชุดจ่ายน้ำมัน)
10. INTAKE (ชุดปากไอดี)
11. LOWER CASING DRIVE 1 (ชุดขับหางส่วนล่าง 1)
12. LOWER CASING DRIVE 2 (ชุดขับหางส่วนล่าง 2)
13. MAGNETO (ชุดจ่านจ่าย)
14. POWER TRIM TILE ASSEMBLY (ชุดทริม-ทิว ยกหาง)
15. REPAIR KIT 1 (ชุดซ่อม 1)
16. REPAIR KIT 2 (ชุดซ่อม 2)
17. STARTING MOTOR (มอเตอร์สตาร์ท)
18. TOP COWLING (ชุดฝาครอบเครื่อง)
19. STARTING MOTOR (มอเตอร์สตาร์ท)
รายละเอียดเพิ่มเติม : YAMAHA OUTBOARD 80 hp C80TLRV
ในส่วนของบล๊อคไดอะแกรม จะทำให้เราทราบวิถีการถอดใส่ และตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ตรงตามรูปแบบที่โรงงานกำหนด
ฉะนั้นจะไม่มีอะไหล่ขาด หรืออะไหล่เกินโดยเด็ดขาด มันจะพอดี และทำเสร็จก็ตำแหน่งอุปกรณ์ต่างๆ ก็จะถูกจัดเรียงเหมือนตามแหน่งที่ออกมาจากโรงงาน
ภาคส่วนโมดูล Block Diagram ที่เราต้องใช้
CRANKSHAFT (ชุดเพลาข้อเหวี่ยง)
CYLINDER CRANKCASE (ชุดเสื้อสูบ)
MAGNETO (ชุดระบบจุดระเบิด)
อาการน้ำเข้าสูบ
เครื่องมือพื้นฐานที่ใช้ในการซ่อม
- ประแจบล๊อก 1 ชุด
- ประแจทอร์ค หรือ ประแจปอนด์ ขนาด 5-25nm และ 28-210nm
- คีมปากแหลม
- ประแจแหวน และประแจปากตาย
- กาหยอดน้ำมันหล่อลื่น
- ไขควงแบน-กลม
- แปรงทองเหลืองขัดสนิม
- จารบี
- ช้อนกลาง สแตนเลส
เอกสารใช้ประกอบการช่อมเครื่องยนต์ Yamaha Outboard ใช้ได้ตั้งแต่เครื่อง 50 แรงจนถึง 90 แรง : Yamaha Outboard Service Manual 50-90 hp 2 stroke
ขั้นตอนการซ่อม
ถอดฝาครอบเทอร์โมสตัส Cover Thermostat
ถอดฝา Cover Cylinder Head
จะเห็นฝาสูบและช่องระบายน้ำบริเวณฝาสูบ เครื่องที่ผ่านการใช้งาน ด้านในจะเป็นแบบนี้ทุกตัว จะสกปรกโสโครกมาก กลิ่นปลาหมึกเน่าตาย
ขันน๊อตฝาสูบออกให้หมด สังเกตุด้วยน๊อตฝาครอบฝาสูบ และน๊อตฝาสูบมีตัวเลขกำกับ เวลาถอดก็เรียงจากเลขมาก มาหาน้อย ส่วนเวลาใส่จะใส่เรียงเลขน้อยมาหามา
พอถอดเสร็จให้ใช้ไขควงแบนใหญ่ งัดที่จุดงัดฝาสูบ
สูบ 1 ปกติ สูบ 2 สูบ 3 น้ำเข้าสูบ
ความสกปรก จะมีคราบขี้เกลือ คราบเลน เมือกเหนียว
ใช้เกียงขูดๆ ปะเก็นเดิมออก ขูดขี้เกลือ ขูดทำความสะอาดทั้งหมด
ล้างๆๆ ขัดๆๆๆ ขูดๆๆๆ
ความสกปรก ขูดไปเรื่อย คราบอ๊อกไซค์สนิมผสมกับขี้เกลือ เครื่องผ่านการใช้งานทุกตัวเป็นแบบนี้เหมือนกันหมด
นอกจากเกียงแล้ว สิ่งที่นำมาขูดขี้เกลือได้อย่างดีจนน่าแปลกใจ คือ ช้อนกลาง ให้ระวังอย่าใช้ของมีคมขูด เดี๋ยวฝาสูบเป็นรอย กำลังอัดจะรั่วนะครับ (ห้ามใช้แปลงทองเหลืองขัดนะครับ) ใช้เกียงกับช้อนค่อยๆขูด ไม่ต้องรีบเพราะไม่ต้องทำแข่งกับอะไร พยายามขูดขี้เกลือออกให้มากที่่สุด โอกาสขึ้เกลือมาจับใหม่อีกนาน
รายการอะไหล่ชุดฝาสูบ
- Gasket Cylinder Head ปะเก็นฝาสูบ 688-11181-A2 ...................1370.-
- Gasket Head Cover ปะเก็นครอบบนฝาสูบ 688-11193-A1 ...........134.-
การประกอบชุดฝาสูบ
การอัดน๊อตฝาสูบ
อัดเรียงเลขจากน้อยไปหามาก เริ่มจากเลข 1 หมุนตามเข็มนาฬิกา
ขันอัดฝาสูบตามสเปค
ประกอบฝาครอบหัวสูบ แล้วทดสอบติดเครื่อง น้ำก็ยังเข้าสูบ 2 สูบ 3 อยู่ ...
เปิดฝาสูบรอบใหม่ แล้วเช็คประเก็นกับใส่กาวปะเก็นเพิ่ม เพิ่มความชัวร์ ทำการขันอัดฝาสูบรอบที่ 2
รอจนกาวประเก็นแห้ง ทดสอบติดเครื่อง เครื่องยนต์ติดง่ายปกติ แลัวดับเครื่องยนต์ถอดหัวเทียนมาเช็คน้ำที่หัวเทียน
ปกติแล้วอาการน้ำเข้าสูบ ส่วนใหญ่จะเกิดจากปะเก็นแตก หรือไม่ก็ฝาสูบโก่ง แต่เวลาไล่อาการเสียจะต้องเริ่มจากอาการเริ่มต้นก่อน จากเบาๆ ไปหาหนักๆ ตอนนี้ตัดไปหนึ่งอาการ คือไม่ไช่ปะเก็นฝาสูบ น้ำก็ยังเข้าสูบอยู่
ถอดรอบที่สาม ถอดฝาสูบมาเช็คว่าฝาสูบโก่งหรือเปล่า ในคู่มือการเช็คฝาสูบของ Yamaha Outboard จะมีวิธีเช็คโดยการวางเหล็กวัด 9 ระนาบ แล้วมีแผ่นฟิลเลอร์เกจวัดความหนาแบบการตั้งวาล์ว โดยส่วนใหญ่บริเวณฝาสูบ จะมีความผิดพลาดได้ไม่เกิน 0.1 มิลลิเมตร (0.004 นิ้ว) หรือความหนาประมาณ 1 แผ่นกระดาษ และบอกวิธีขัดฝาสูบโดยวนๆ เป็นเลข 8
การเช็คฝาสูบโก่งแบบนี้ต้องการความละเอียดของคนที่ทำการวัดสูงมาก เพราะบริเวณฝาสูบจะมีแรงอัดจากการจุดระเบิดสูง ถ้ากำลังอัดมันรั่วแค่นิดหน่อย มันจะทำให้เครื่องยนต์กำลังไม่ดี
การวัดความหนาหรือระยะห่างในแบบที่ละเอียดมากๆ เราจะใช้หน่วยวัดเป็น ฟิลเลอร์ (Filler) การวัดในหน่วยฟิลเลอร์ มีหน่วยวัดแค่ 2 Unit คือ
1.ระบบอังกฤษ (หน่วยเป็นนิ้ว มาตราส่วน 1/1000)
2.ระบบเมตริก (หน่วยเป็น มิลลิเมตร มาตราส่วน 1/100)
แต่ส่วนใหญ่ช่างทั่วๆจะชอบใช้ ระบบอังกฤษ (นิ้ว) เป็น Filler อย่างเช่น ถ้าความห่าง 0.001 นิ้ว ก็คือ 1 ฟิลเลอร์ หรือเท่ากับ 0.0254 มิลลิเมตร (0.001x25.4)
เครื่องมือที่วัดความห่างหรือวัดความหนาแบบนี้ เราเรียกว่า ฟิลเลอร์ เกจ (Filler Gauge)
เครื่องยนต์ 2 จังหวะ (Two-stroke engine ) คือเครื่องยนต์ที่ทำงาน 2 ช่วงชัก คือ
- ช่วงชักที่ 1 คือช่วงชักดูดกับอัด
- ช่วงชักที่ 2 คือช่วงชักระเบิดและคาย
เครื่องยนต์ 2 ช่วงชักจะไม่มีวาล์วเปิดปิดไอดีไอเสีย แต่จะใช้ลูกสูบเป็นตัวเปิดปิดไอดีไอเสียแทน ซึ่งข้อดีของเครื่องยนต์ 2 ช่วงชัก(2 จังหวะ) จะทำงานรอบจัดกว่าเครื่องยนต์สี่จังหวะ เพราะใช้ช่วงชักแค่ 2 ช่วงในการทำให้การจุดระเบิดสมบูรณ์
การปาดฝาสูบจะมีผลอย่างไร
ผลคือ ห้องจุดระเบิดเล็กลงไปหน่อยนึง พอปริมาตรห้องจุดระเบิดเล็กลง พอมีการจุดระเบิด การจุดระเบิดจะรุนแรงมากขึ้นเพราะจะไปเพิ่มกำลังอัด ทำให้มีผลคือแรงตั้งแต่รอบต่ำๆ จนรอบสูงๆเลย แต่ก็มีข้อเสียบ้างคือ พอการจุดระเบิดรุนแรงมากขึ้น ความร้อนก็เพิ่มมากขึ้น
นี่คือสูตรสำเร็จของเทพเจ้าความแรง ไม่เชื่อไปถามเด็กแว้นซ์แถวปากซอย จะได้คำตอบ สูตรสำเร็จความแรงขาแรงประจำซอย คือ การปาดฝาสูบ และการแต่งท่อไอเสีย
ตอนนี้เครื่อง 80 แรงหมูของผมติดปีก เตรียมบินแล้วครับ ด้วยฝาสูบขนาด 18 ฟิลเลอร์
อัดฝาสูบรอบที่ 3 ตามสเปค ถึงขั้นตอนนี้ ปะเก็นฝาสูบโอเค ฝาสูบโอเค มั่นใจได้ 100%
ไปลองวิ่งดู เข้าใจว่าน่าจะจบ แต่ผลปรากฏว่า ยังเหมือนเดิม วิ่งได้ 4 พันรอบ น้ำก็ยังเข้าสูบเหมือนเดิม หมู 80 ตัวของผมตอนนี้เหลือประมาณ 30 ตัว อยู่ในอาการร่อแร่ๆ และกำลังจะจากไป
สรุป ไม่ไช่ปะเก็นฝาสูบ ไม่ใช่ฝาสูบ ...
ต้องมีจุดอื่นๆ ในเครื่องยนต์ที่รั่ว ทำให้น้ำเข้าสูบ พอมาถึงขั้นตอนนี้ เหมือนหนังมันเริ่มน้ำเน่าแล้ว
กัปตันรอด แต่ผู้โดยสารตายหมด...
เรื่องมันเศร้า ที่ผมเปรียบเทียบเครื่องยนต์เป็นหมูเป็นหมา เพราะมันเห็นภาพชัดเจน เหมือนเลี้ยงหมูเลี้ยงหมาแล้วมันตาย ถ้าเปรียบเทียบเครื่องยนต์เป็นภรรเมีย บางคนพอเมียตายอาจดีใจก็ได้ ...เพราะโชคดีได้เมียใหม่ (เครื่องยนต์ใหม่นะครับ แค่เปรียบเทียบให้เห็นภาพ)
มีประเพณีทางเรือ ซึ่งถือเป็น จารีตประเพณีจรรยาบรรณทางเรือ คือ "กัปตันจบกับเรือ" (The captain goes down with the ship)
เป็นทัศนคติและประเพณีทางทะเล ซึ่งกัปตันเรือเดินสมุทร (sea captain) จะถือความรับผิดชอบขั้นสูงสุดทั้งต่อเรือของเขาและทุกคนที่อยู่บนเรือ ยอมสละชีวิตเพื่อช่วยผู้อื่นโดย "กัปตันจมกับเรือเสมอ" หรือ "กัปตันจมกับเรือ" ทัศนคติดังกล่าวแสดงสัมพันธ์จริงกับการจมของอาร์เอ็มเอส ไททานิก ใน ค.ศ. 1912 และกัปตัน เอ็ดเวิร์ด สมิธ แต่จริงๆแล้ว ทัศนคติดังกล่าวเกิดขึ้นก่อน ไททานิกจม อย่างน้อย 11 ปี ส่วนใหญ่ กัปตันเรือสละที่จะไม่ออกจากเรือก่อนคนอื่นทั้งๆที่รู้ว่าเรือกำลังจมก่อนคนอื่น แต่จะมุ่งช่วยผู้อื่นที่อยู่บนเรือแทน และลงเอยด้วยการเสียชีวิตของกัปตันไปกับเรือของเขา โดยถือ ถือทัศนคติที่ว่า
"กัปตันจะเป็นคนสุดท้ายที่อยู่บนเรือ เมื่อเรือจม"
เมื่อถึงขั้นตอนนี้ ... ฟาร์มหมูของผมทั้งหมด หมู 80 ตัว ตายเรียบ...
มันเป็นความรู้สึกที่เหนือคำบรรยายจริงๆ
เพื่อนๆ ก็จะมาร่วมแสดงความเสียใจ ... ขอแสดงความเสียใจ ต่อการจากไปของหมู 80 ตัวของน้าตุ้ม R.I.P. หมู 80 ตัวตายห่าเรียบ
ในเรือเครื่อง Yamaha outboard ถ้าเราดูเทียบกับรถ รถยนต์จะวางแนวลูกสูบแนวนอนเรียงกันไป แต่ในเรือจะใช้วิธีเรียงแนวลูกสูบตั้งเรียงขึ้นไปแทน การจัดวางลูกสูบในแนวตั้งทำให้เวลาน้ำเข้าสูบ น้ำจะเข้าไปในลูกสูบแต่น้ำจะท่วมไม่ถึงหัวเทียน จึงยังสตาร์ทเครื่องยนต์ได้ ทำให้ติดเครื่องได้ พอประคับประคอง วิ่งกลับบ้านได้
ตอนนี้บทความซ่อมเรือ YAMAHA OUTBOARD เริ่มกลายเป็นมหากาพย์ ทำให้ผมนึกถึง วรรณกรรมที่สำคัญของพวกสุเมเรียน ได้แก่
“มหากาพย์กิลกาเมช” เป็นเรื่องการผจญภัยของวีรบุรุษที่แสวงหาชีวิตอันเป็นอมตะ
การค้นหาชีวิตที่เป็นอมตะ มีคิดกันมานานตั้งแต่สมัยที่มนุษย์เริ่มมีวัฒนธรรมเลยทีเดียว ในการออกแบบเครื่องยนต์ของ YAMAHA ได้ออกแบบเครื่องยนต์ให้มี 3 ชีวิต คือ
ตายแล้วเกิด ตายแล้วเกิด ได้ 3 ครั้ง นับเป็นความกรุณาปราณี ที่ออกแบบให้บล๊อคเครื่องยนต์แต่ละรุ่นของ Yamaha จะมีเบอร์ลูกสูบและแหวน 3 เบอร์อะไหล่ในขนาดที่ต่างกัน (OS : Oversize) และในที่สุดผมก็ค้นหาชีวิต การเดินทางของยามาฮ่ากับชีวิตที่เป็นอมตะนิรันดร์กาล ซ่อมไม่รู้จบ ใช้ได้จนถึงตอนน้ำท่วมโลก
มหากาพย์ "วีรบุรุษนักแล่นเรือและชีวิตที่เป็นอมตะยามาฮ่าของเขา YAMAHA OUTBOARD NEVER DIE"
ขั้นตอนการชำแหละ
ในการชำแหละ ให้มองทุกอย่างเป็นภาคส่วน หรือเป็นชุดๆ เวลาถอดก็ถอดทีละชุดๆ ยกทั้งกะบิ
ขั้นแรก ก็ถอดชุดหางก่อน (Lower Casing Drive) การถอดชุดหางจะใช้วิธีเดียวกับการเปลี่ยนยางพัดน้ำ เพียงแต่เราไม่ต้องถอดยางพัดน้ำออก ยกออกมาทั้งกะบิ ชุดหางจะมีแกนเพลากับชุดเกียร์ไปต่อกับตัวเครื่อง ถ้าไม่ถอดชุดนี้ออก ตอนประกบกันระหว่างเพลากับตัวเครื่องน่าจะยากกว่า เพราะตัวเครื่องค่อนข้างหนัก เวลาสอดประกบกันฟันเฟืองระหว่างตัวเครื่องกับแกนเพลามันต้องสอดกันพอดี
ข้อมูลเพิ่มเติม : การถอดชุดหางและการเปลี่ยนยางพัดน้ำ
ขั้นที่สอง ให้ถอดอุปกรณ์ที่ต่อกับตัวเครื่องยนต์ด้านซ้ายและขวาออก
ถอดอุปกรณ์ที่ต่อกับเครื่องยนต์ด้านซ้าย
ถอดกล่องเก็บเสียง (Silencer Assy) กล่องสีดำหน้าคาบู น๊อต 4 ตัว (อาจถอดทีหลังก็ได้ ให้ระวังไปชนอะไร มันเป็นพลาสติกแตกได้)
ถอดชุดถังออโต้ลู๊ป น๊อตด้านหน้า 2 ตัว ด้านข้าง 1 ตัว
- น๊อตยึดปั้มติก 2 ตัว
- น๊อตยึดกรองเบนซิน 1 ตัว
- ปลดแกนแขนปรับออโต้ลู๊ปที่คาบูเรเตอร์ (Oil Injection Pump Assy) ถอดชุดปั้มออโต้ลู๊ป น๊อต 2 ตัว
- ถอดฝาครอบชุดไฟ Cover Terminal น๊อต 2 ตัว
- ถอดน๊อตยึดชุดไฟ ( Electrical ) กับแท่นเครื่อง น๊อต 3 ตัว ปลดสายไฟคอนเน็คเตอร์จุดที่เชื่อมกับส่วน Crackcase ทุกจุดเพื่อให้ชุดไฟเป็นอิสระจากเครื่องยนต์
- ปลดแขนดึงคันชักคาบูเรเตอร์ ปลดแขนคันชักกล่องไฟ
- ปลดสายคันเร่ง ปลดสายเกียร์
- ปลดสายไฟสวิทซ์ทริม
- ถอดขายึดสายเกียร์ (ฺ Bracket ) น๊อต 2 ตัว
เอาชุดไฟ (Electrical) ทั้งหมดใส่ถุงแขวนไว้ข้างๆ เรือ
ถอดฝาครอบเครื่องท่อนล่าง (Apron) น๊อต 6 ตัว
ถอดน๊อตยึดแท่นเครื่อง น๊อตด้านละ 5 ตัว รวมทั้ง 2 ด้านทั้งหมด 10 ตัว
ยกแท่นเครื่องออกมาทั้งหมดใช้แรง 2 คน ซ้าย-ขวา (จริงๆ คนเดียวก็พอยกไหว ประมาณ 50-60 kg)
ขั้นตอนที่ 4 รื้อเป็นชิ้นๆทุกอย่าง
ถอดฝาครอบ Flywheel Cover น๊อต 3 ตัว
จังหวะ Timing การจุดระเบิดของแต่ละสูบ นับสูบ 1 บนสุด สูบ 2 ตรงกลาง สูบ 3 ล่างสุด
ทำการทำเครื่องหมายสูบ TDC1 ไว้ซึ่งจะตรงกับสูบ 1 ตรงกับจังหวะการจุดระเบิด ตำแหน่งสูบอยู่ตรงต่ำแหน่งสูงสุด
ถึงตอนนี้ก็หลับตาเปิดฝาสูบได้เลย น๊อต 14 ตัว ถอดจนชำนาญ ลองหมุน Flywheel ดู ตอนนี้ตำแหน่งอยู่ที่ TDC1 ลูกสูบจะอยู่ตำแหน่งจุดระเบิด จะไล่เรียงไป TDC2 -> TDC3 แล้ววนไป TDC1 อีกครั้ง
จับเครื่องตะแคงเอาคาบูเรเตอร์ขึ้น ท่านี้คล้ายๆเครื่องยนต์รถยนต์ ถ้าต่อแกนเพลาไปเหมือนเครื่องเรือหางยาวเลย
ถอดคาบูเรเตอร์ น๊อต 6 ตัว
ข้อมูลเพิ่มเติม : การถอดล้างคาบูเรเตอร์เรือ
ถอดฝาครอบด้านนอกไอเสีย (Outer Cover Exhaust) และฝาครอบด้านในไอเสีย (Inner Cover Exhaust) น๊อต 18 ตัว
ในที่สุดก็เจอรูรั่วในระบบสักที ... ที่ฝาครอบด้านในไอเสีย
โอ้โห ... รูเบ้อเร่อๆ
สั่งฝาครอบด้านในไอเสีย Inner Cover Exhaust : 688-4111-00-1S มาจากภูเก็ตราคา 749.-
สาเหตุที่ไม่ใช้ของเก่ามือสองเพราะราคาของใหม่ถูกกว่าของเก่า ...งงมั้ย ผมเองก็งง เลยต้องจำใจใช้ของใหม่เอี่ยม
น้ำเข้าย้อนไปในลูกสูบจากช่องท่อไอเสีย ลูกสูบ 2 ลูกนี่ ลายพร้อยเลย...
ถอดฟลายวีล น๊อต 1 ตัว
วิธีถอดง่ายสุดคือใช้บล็อกลมขันออก อย่าใช้อะไรไปงัดฟันเฟืองของฟลายวีลนะครับ ถ้ามันบิ่นมันจะทำให้การสตาร์ทเครื่องมีเสียง มอเตอร์สตาร์ทเฟืองจะไม่จับหรือรูด ไปให้อู่ซ่อมรถที่สนิทกันถอดให้
มีรู 3 รูไว้สำหรับถอด
ลงทุนไป 15 บาท ใช้น๊อตตัวละ 5 บาท 3 ตัวช่วยในการถอดฟลายวีล ขันให้เท่ากันทั้ง 3 ตัว
แล้วใช้น๊อตตัวกลางขันดันฟลายวีล ค่อยๆขัน แล้วใช้ค้อนเคาะรอบๆจากฟลายวีล ถ้ายังไม่ออกก็ขันดันฟลายวีลอีก และก็เคาะรอบๆ ฟลายวีลก็จะหลุดออกมาอย่างนิ่มนวล
Rotor assy
ถอดชุดคอยล์ (Stator Assembly) ชุดจับสัญญาณคอยล์ (Coil Pulser) อยู่ใต้ชุดคอยล์ น๊อต 3 ตัว
และเซ็นเซอร์บอกต่ำแหน่งลูกสูบ (Crank Position Sender) น๊อต 2 ตัว
ถอดแขนควบคุมไฟ (Magneto Control) น๊อต 1 ตัว
ถอด Crankcase Assembly จะมีน๊อต 2 ส่วน คือ
ส่วนสำหรับยึดเพื่อความแข็งแรง น๊อตด้านบน 8 ตัว และส่วนสำหรับยึดเพื่อกันกำลังอัดรั่วไหล น๊อตด้านล่าง 18 ตัว
ส่วนด้านล่างของเครื่องยนต์ที่แป็นแป้นยึดเพลากับชุดหาง ถอดน๊อต 3 ตัว และยก Crankcase ออกจากกัน ก็จะเห็นเครื่องใน ตับไตใส้พุง
ถอดชุดเพลาข้อเหวี่ยง (Crankshaft Piston) เอาลูกสูบออกทีละลูก ให้เก็บอะไหล่สูบ 1-2-3 แยกเป็นชุดใครชุดมัน (หรือใช้วิถีถอดออก และประกอบใหม่ข้างนอกเพื่อไม่ให้อะไหล่สลับชุดกัน) เพราะเนื่องจากอาจมีอัตราการสึกหรอที่ไม่เท่ากัน กันการมีเสียงประหลาดหรืออาการเสียงอกเพิ่มเนื่องจากการสึกหรอ
ลูก 1 ปรกติ สูบ 2 สูบ 3 รอยเพียบ
อาการน้ำเข้าสูบจะมีผลค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากในเครื่องยนต์เรือถึงแม้ทำจากอลูมิเนียมเกือบทั้งหมด แต่ก็ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบในบางส่วน
- ปลอกสูบเป็นเหล็ก
- แหวนเป็นเหล็ก
- ข้อเหวี่ยงเป็นเหล็ก
มีคำเตือนเสมอเลือกซื้อเรือต้องใจเย็นๆ ศึกษาข้อมูลให้ถ้วนถี่ ถ้าใจร้อนก็มีแนวโน้มว่าจะต้องเสียเงินจำนวนมากในอนาคต ใช้เงินเล่นเรืออย่างเดียวไม่ได้เพราะเท่าใหร่ก็ไม่พอ
สมมุติว่า มีเงินซื้อเรือมาลำละล้าน เกิดซุ่มซ่ามขับเรือชนหินจนเรือจม ต้องใช้เงินอีกล้านในการการกู้เรือและซ่อมแซมเรือ อุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องยนต์ ทุกอย่างให้กลับมาเหมือนเดิม
ในที่สุด ... ทุกอย่างก็เป็นชิ้นๆ Yamaha Outboard Disassembly ฮ่าๆๆๆ
รายการอะไหล่เพิ่มเติม มาจากพัทยา
- ลูกสูบ (Piston) O/S 0.25 688-11635-02 1659.- จำนวน 3 ลูก
- แหวน (Piston Ring) 688-11604-A0 515.- จำนวน 3 ชุด
- ปะเก็นแท่นเครื่อง Gasket Upper Casing 688-45113-A0 134.-
- ปะเก็นไอเสียตัวใน Gasket Exhaust Inner Cover 688-41112-A0-00 262.-
- ปะเก็นไอเสียตัวนอก Gasket Exhaust Outer Cover 688-4114-A0-00 213.-
ลองซื้อสีสเปร์พ่นเครื่องยนต์แบบสำเร็จรูปมาของ Mariner กระป๋องละ 500.- สีคนละเรื่องเลย เลยไม่ได้ใช้ ส่วนแกลลอนด้านข้างคือ น้ำยาเช็ดคราบทำความสะอาดชิ้นงานก่อนพ่น
ไปค้นอุปกรณ์ทำสีเก่าๆ ที่เคยใช้ สมัยก่อนผมจะต่อเครื่องบินบังคับไว้เล่นเอง เป็นพวก Extra Giant Scale ปีกประมาณ 2 เมตร ลำใหญ่พอเด็กๆขึ้นไปนั่งได้ ใช้เครื่องตัดหญ้าเป็นเครื่องยนต์ เลยมีปั้มลมและกาพ่นสีไว้สำหรับพ่นสี
เนื่องจากต้องการความเนียน และเรียบร้อยในส่วนหัวน๊อตต่างๆ และห้องเครื่องยนต์ เมื่อน๊อตถูกถอดออกจะเป็นรอยสีถลอกนิดหน่อย จึงต้องมีการเก็บสีหัวน๊อต และเก็บงานพ่นอะไหล่ชิ้นต่างๆ เป็นชิ้นๆ ถึงแม้เครื่องยนต์เดิมที่ใช้มาหลายปีจะไม่มีสีผุ แต่ก็มีขีดข่วนนิดหน่อยจากการซ่อม และรอยถอดเข้าออก
ใช้สี 2 k พ่นเก็บส่วนต่างๆของเครื่องยนต์ 400.-
ใช้ไม้ลูกชิ้นช่วยขูดกาวปะเก็น
ข้อดีของการซ่อมเองคือ เนียนไปหมดทุกจุด หัวน๊อตไม่มีรอยแล้วครับ ไม่รีบค่อยๆทำ ว่างก็ทำ ไม่ว่างก็ไม่ทำ จะไปหาช่างซ่อมที่พิถีพิถันประดิษฐ์ประดอยหายากครับ ยิ่งสมัยนี้ค่าแรงทุกอย่างแพงไปหมด
ไล่พ่นเก็บงานทุกชิ้น
การซ่อมเสื้อสูบ (Crankcase)
ขูดขี้เกลือเสื้อสูบ (Crankcase)
อาบน้ำเสื้อสูบ (Crankcase) เตรียมส่งเข้าโรงกลึงเพื่อคว้านปลอกสูบ
โรงกลึงในแต่ละจังหวัดมีเป็นร้อยๆ แห่ง แต่จะมีร้านที่เป็นสุดยอดฝีมือไม่กี่แห่ง การคว้านปลอกสูบเป็นงานที่ผิดพลาดไม่ได้ ความผิดพลาดต้องเป็นศูนย์ ต้องมีความละเอียด ต้องการมืออาชีพ ฉะนั้นต้องเลือกร้านที่เก่งๆชำนาญๆทำเท่านั้น
เรื่องความเก่งมันก็เหมือนนิ้วมือที่แต่ละนิ้วยาวไม่เท่ากัน หรือหมอที่เรียนจบมาเหมือนกัน ก็เก่งไม่เหมือนกัน
สิ่งที่ทำให้คนเก่งไม่เท่ากัน คือ พรสวรรค์ กับพรแสวง
คนที่มีพรสวรรค์ คือ คนที่สามารถทำบางสิ่งบางอย่าง ทำได้แบบง่ายๆ ไม่มีอะไรยากเลย ในขณะที่คนอื่นๆทำสิ่งเดียวกัน ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการทำ เป็นสิ่งที่ยากมากที่จะทำ
คนที่มีพรแสวง คือ คนที่เก่ง ได้ด้วยความเพียรพยายาม การฝึกฝน เรียนรู้ ทักษะ อดทน พยายามทำสิ่งที่ยากๆ จนเอาชนะความยากเป็นความง่าย ด้วยความเพียร
ในคู่มือการซ่อมเครื่องยนต์ Outboard ของ Yamaha ได้มีการกำหนดค่า Oversize Piston ไว้ดังนี้
จะสังเกตุว่าตรงเครื่องหมาย *Except for USA ในการขยายความจุกระบอกสูบ ที่อเมริกาไม่มีลูกสูบ Oversize O/S 0.25 หรือ Oversize 1st ครั้งที่ 1 เนื่องจากที่อเมริกาไม่มีเครื่อง 85 แรง มีแต่เครื่อง 90 แรงขาย ก็ไม่ต่างอะไรกับประเทศไทย ที่มีแต่เครื่อง 85 แรงไม่มีเครื่อง 90 แรงขาย *Only For Thailand
การขยายกระบอกสูบจึงมีผลกับจำนวนหมูในฟาร์ม เพราะปริมาตรกระบอกสูบเพิ่มขึ้น จากเดิมมีหมู 80 ตัว พอ cc เพิ่มขึ้น หมูเลยออกลูกเพิ่มมาอีก 5 ตัว กลายเป็นตอนนี้ฟาร์มหมูใหญ่ขึ้น มีหมู 85 ตัว
สั่งซ่อมเสื้อสูบ เอาลูกสูบพร้อมแหวนไป 1 ชุดเป็นตัวอย่าง ค่าบริการ 3,450.-
- คว้านปลอกสูบ 3 ลูก
- เชื่อมเสื้อสูบตรงบริเวณสูบ 1 เสื้อเกือบทะลุถึงเทอร์โมสตรัท ถ้าทะลุก็ไม่มีผลอะไร เหมือนถอดเทอร์โมสตัทออก แต่ทำให้มันกลับเป็นสภาพเดิมดีกว่า เทอร์โมสตรัทจะได้ทำงานในแบบปรกติ
- เจียร์แต่งหน้าแปลนให้เรียบเสมอกัน เพื่อความชัวร์
แล้วมาจัดการพ่นสีเก็บรายละเอียดอีกครั้งเพื่อความเนียนเป็นอันเสร็จการซ่อม Cylinder Crankcase
การใส่แหวน ประกอบลูกสูบ
เที่ยบลูกสูบเก่า กับลูกสูบใหม่
ใส่แหวน 2 อันต่อลูกสูบ ใช้เศษหลวดตากผ้าช่วยใส่แหวน
ลูกปืนเดือยเข็ม (Pin Dowel) และสลักล๊อคเข็มลูกสูบ (Clip Piston Pin)
เรียงลูกปืนเดือยเข็มให้ครบ เรียงทีละเข็มๆ
ใส่สลักล็อคลูกสูบ
ใส่ลูกสูบ (Piston) เข้ากับเสื้อสูบ (Cylinder Crankcase) จนครบ 3 ลูก
ติดตั้งก้านสูบ (Rod Assy) เข้ากับเพลาข้อเหวี่ยง (Crankshaft)
คู่มือการซ่อมเครื่องยนต์ Outboard ของ Yamaha กำหนดการอัดน๊อตก้านสูบ
- ครั้งที่ 1 ที่ 12 Nm
- ครั้งที่ 2 ที่่ 35 Nm
เนื่องจากบริเวณก้านสูบเป็นตัวรับแรงการจุดระเบิดในอันดับต้นๆ เพื่อป้องกันน๊อตคลายตัวจึงต้องใช้น้ำยาทากันเกลี่ยวคลาย เพื่อป้องกันน๊อตก้านสูบหลุดอีกชั้นนึง
การประกอบเสื้อสูบ (Crankcase)
เนื่องจากในส่วนเสื้อสูบ (Crankcase) เวลาประกบกันจะไม่ได้ใช้ปะเก็นแบบแผ่น แต่กาวปะเก็นของเดิมเป็นกาวแดง จึงไปหาซึ้อกาวปะเก็นแดงไปที่ร้านบอก
น้าตุ้ม "มีกาวปะเก็นห้องเครื่องดีๆมั้ยครับ"
คนขาย "มีของ WURTH หลอดละ 180บาท"
น้าตุ้ม "เฮีย มีแบบแพงๆมั้ย เอาแบบแพงๆ"
คนขาย "WURTH นี่ของเยอรมันนะ ถ้าอยากได้แพงๆ จ่ายให้ผมหลอดละ 500 ผมก็ไม่ว่าอะไร"
ผมก็เลยดูสเปคกาวปะเก็น WURTH เยอรมัน
ทนต่ออุณหภูมิ -62 °C ถึง +325 °C ทนอุณหภูมิสูงสุด 372 °C
สำหรับ ฝาสูบ ฝาหน้าเครื่อง อ่างน้ำมันเครื่อง เรือนวาล์วน้ำ ฝาครอบวาล์ว เฟืองท้าย ...
อื่ม ... ของดีนี่ ไม่จำเป็นต้องแพงจริงๆ ด้วย
ซึ่งตามปกติเครื่องยนต์เบนซิน จะมีอุณหภูมิติดไฟที่ 275 °C และความร้อนจะสูงสุดในกึ่งกลางฝาสูบ บริเวณตรงกลางของลูกสูบ และจะต่ำสุดที่ผนังกระบอกสูบ สำหรับลูกสูบที่มีด้านบนเรียบ (Flat-Topped Piston) ซึ่งใช้กันทั่วไปกับเครื่องยนต์จุดระเบิดด้วยประกายไฟนั้นตรงกลางด้านบนจะร้อนที่สุด และขอบนอกจะลดลงประมาณ 20 °C ถึง 50 °C หักการระบายความร้อนด้วยน้ำ ห้องเสื้อสูบน่าจะมีอุณหภูมิไม่เกิน 200 °C กาวปะเก็นรับมือสบายๆ
การวางเพลาข้อเหวี่ยง จะมีรูล็อคอยู่ด้านล่าง สังเกตุผมจะทำเครื่องหมายปากกาเคมีสีแดง เพื่อวางเพลาข้อเหวี่ยงให้ตรง
การประกอบเสื้อสูบ (Crank Cylinder Assembly)
คู่มือการซ่อมเครื่องยนต์ Outboard ของ Yamaha กำหนดการอัดน๊อตเสื้อสูบ (Crank Cylinder) ดังนี้
มีน๊อต 2 ชุด
- รอบที่ 1 น๊อต M6 ที่ 4 Nm อัดเรียงเลข แล้วอัดน๊อต M10 ที่ 20 Nm อัดเรียงเลข
- รอบที่ 2 น๊อต M6 ที่ 12 Nm อัดเรียงเลข แล้วอัดน๊อต M10 ที่ 40 Nm อัดเรียงเลข
ตอนประกอบให้ใส่ชุด Oil Seal Housing ไปพร้อมกันเลย
เวลาทำไม่ต้องรีบเร่งนะครับ ค่อยๆ ทำ ผมเองก็ทำวันละนิดวันละหน่อย ใช้เวลาว่างทำวันละ 15 นาทีพอ ใช้เวลาซ่อมไป 2 เดือน ถ้าทำจริงๆต่อเนื่องก็ใช้เวลาประมาณ 15 ชั่วโมงเสร็จ หรือไม่เกิน 2 วัน (15 นาที x 60 วัน / 60 นาที)
ค่อยๆดู เช็คตรวจทานความถูกต้องด้านซ้าย
เช็คตรวจทานความถูกต้องด้านขวา ตรงไหนสีไม่เนียนก็พ่นเก็บเพิ่ม
ลูกสูบใหม่ๆ นี่สวยจริงๆ เปิดซิงเลย สังเกตุมันจะมี Mark ด้านบนเขียนไว้ว่า UP และมี Mark หัวลูกศร
ใส่ฝาครอบไอเสียด้านใน (Inner Cover Exhaust) และฝาครอบไอเสียด้านนอก (Outer Cover Exhaust)
คู่มือการซ่อมเครื่องยนต์ Outboard ของ Yamaha กำหนดการอัดน๊อตฝาไอเสีย (Exhaust Cover) ดังนี้
- รอบแรก ที่ 9 Nm
- รอบที่สอง ที่ 18 Nm
ปะเก็นและฝา Inner Exhaust Cover
ขันอัดน๊อตเรียงเบอร์
เก็บงานพ่นสีขั้นสุดท้าย สังเกตุสีตามหัวน๊อตต่างๆ ต้องดูไม่มีรอยไขแล้วครับ
สำหรับงานที่ต้องการความปราณีต ความพิถีพิถัน จะทำแบบ เร่งๆ รีบๆ เร็วๆ ไม่ได้ ต้องค่อยๆทำเก็บสีหัวน๊อตแต่ละตัวให้สวย ดูแล้วดูอีก พลิกดูหลายๆมุม
ถึงแม้อลูมิเนียมจะทนต่อการกัดกร่อนของน้ำทะเล แต่การมีสีหุ้มอีกครั้งทำให้อลูมิเนียมทนทะเลมากขึ้นและไม่กร่อนง่าย และสีที่พ่นแล้วจะใช้เช็คดูจุดที่รั่ว ปะเก็น หรือซึลต่างๆ ได้ง่าย ตรงไหนมีรอยรั่วสีตรงนั้นจะกร่อนหรือด่าง ถ้าหากปล่อยรอยรั่วซึมไว้นาน ตรงนั้นก็จะเป็นสีผุ
เวลาเราดูสภาพเครื่องยนต์ เราก็ดูเบื้องต้นจากสภาพสีนี่แหละ สีนี่บอกอะไรเราหลายอย่าง บอกได้แม้กระทั้งนิสัยและความใส่ใจของเจ้าของเรือในเครื่องยนต์ของเขา โดยใช้วิธีแค่การเปิดฝาครอบเครื่องดู
ประกอบชุด Magneto
- ชุดคอยล์ (Stator Assembly)
- ชุดจับสัญญาณคอยล์ (Coil Pulser) อยู่ใต้ชุดคอยล์ น๊อต 3 ตัว
- เซ็นเซอร์บอกต่ำแหน่งลูกสูบ (Crank Position Sender) น๊อต 2 ตัว
ติดตั้ง Rotor Assy และมอเตอร์สตาร์ท
ใช้บล็อคลมขันอัดฟลายวีล ในตำแหน่งเดิมตาม Mark ที่ทำไว้
ติดตั้งปะเก็นแท่นเครื่อง Gasket Upper Casing 688-45113-A0
ติดตั้งแท่นเครื่อง (Crankcase Assembly)
เนื่องจากเครื่องยนต์จะมีน้ำหนักพอควร เพื่อป้องกันปะเก็นเสียหาย จึงใช้ตัวช่วย คือรอกช่วยในการยกเครื่องโดยใช้คนช่วยประคองเครื่องยนต์
มันจะมีล๊อคที่ต้องวางให้ตรงกัน วางให้สนิท
คู่มือการซ่อมเครื่องยนต์ Outboard ของ Yamaha กำหนดการอัดน๊อตแท่นเครื่อง (Crankcase bolts casing) ที่ 21 Nm
อัดซ้าย
อัดขวา
ใส่ฝาครอบเครื่องท่อนล่าง (Apron)
ใส่แขนควบคุมไฟ (Magneto Control) น๊อต 1 ตัว และขายึดสายเกียร์ (ฺ Bracket ) น๊อต 2 ตัว
เอาชุดไฟขึ้นมาติดตั้งบางส่วน ยังไม่ต้องขันน๊อต รอขันน๊อตฝาสูบก่อน
ติดตั้งคาบูเรเตอร์ (Carburetor) และชุดระบบเกี่ยวกับน้ำมัน ได้แก่ ปั้มออโต้ลู๊ป ปั้มติ๊ก กรองเบนซิน
ใส่ชุดฝาสูบ (Head Cylinder)
คู่มือการซ่อมเครื่องยนต์ Outboard ของ Yamaha กำหนดการอัดน๊อตฝาสูบ (Cylinder Head) ดังนี้
- ครั้งแรกที่ 15 Nm
- ครั้งที่สองที่ 30 Nm
โดยปรกติปะเก็นฝาสูบอันใหม่ไม่จำเป็นต้องใส่กาวปะเก็นเพิ่มขันอัดได้เลย แต่ถ้าคิดว่าอาจต้องถอดปะเก็นเพื่อมาเช็คอีกครั้งให้ทาจารบีให้ทั่วปะเก็น เวลาทดลองติดเครื่องยนต์ปะเก็นจะได้ไม่ติดแน่นหรือไม่เสียเวลาแซะออกมา
เนื่องจากปะเก็นฝาสูบอันนี้ ถอดเข้าออกหลายครั้งจากการเช็คฝาสูบ จึงใช้กาวปะเก็นทาเพิ่มบางๆเพื่อเพิ่มการยึดติด ตอนใส่เอาปะเก็นฝาสูบวางทับฝาสูบแล้วร้อยน๊อตกันปะเก็นเคลื่อน แล้วจึงยกเอาไปประกบกับเสื้อสูบ ใช้มือขันน๊อตให้ครบทุกตัวก่อนกันปะเก็นเคลื่อนตัว
ทาบางๆพอครับ เดี๋ยวเหลือเศษเป็นก้อนอุดทางน้ำ
ติดตั้งชุดไฟ (Electrical) สายเซ็นเซอร์ สายไฟต่างๆ ให้ครบ
ใล่เช็คการติดตั้งอุปกรณ์ด้านซ้าย
ไล่เช็คการติดตั้งอุปกรณ์ด้านขวา
ไล่เช็คการติดตั้งอุปกรณ์ด้านหลัง
ใส่ท่อนหาง
และแล้วก็ประกอบเสร็จทั้งหมดเสียที Yamaha Outboard 80 Hp เครื่องยนต์ตัวนี้เกิดเมื่อปี 1997 สภาพเครื่องตอนนี้นับอายุได้ 19 ปี ขอเปิดห้องเครื่องโชว์หน่อย
ตอนนี้เครื่องฟิตแบบผุดๆ รื้อกระจายแต่ยังไม่รู้จะสตาร์ทติดหรือเปล่า ... ฮ่าๆๆ
ขั้นตอนต่อไปคือ ขั้นตอนเรียกวิญญาณหมูทั้ง 80 ตัวกลับมา ขั้นตอนนี้ต้องใช้สมาธิและปัญญา และต้องมีตัวช่วย
ใช้บักฮื้อ (木魚 : ปลาไม้) หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า โมะกึ-งฺโยะ (木魚/杢魚) เคาะเรียกวิญญาณหมู โดยวิธีการตรึกตรองเรื่องที่ผ่านมาทั้งหมด ครุ่นคิด ใช้สัมผัสทางจิต ขณะเดียวกันต้องกำหนดอารมณ์ต่าง ๆ ให้เห็นเป็นความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความทนได้ยาก (ทุกขัง) และความไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา)
พอใช้ไม้บักฮื้อเคาะไปเรื่อยๆ
ยกมือเอานิ้วชี้ทั้งสองวนที่ศรีษะ ต้องใช้หมอง นั่งมาธิ ตอนเคาะไม้ก็จะมีเสียง ต๊อก ... ต๊อก ...ต๊อก...ต๊อก...ต๊อก...ต๊อก...ต๊อก...ต๊อก...ต๊อก...ต๊อก...ปิ้ง
"รู้แล้วครับ ... ผมรู้วิธีการเรียกวิญญาณหมู 80 ตัวกลับมาด้วยปัญญา ... ใช้เงินติ๊ดเดียว"
"สังคมชาวเรือ มีแต่ความอบอุ่น เพราะสังคมชาวเรือมีแต่การให้ ช่วยเหลือกัน แบ่งปันกัน"
ครั้งนึงผมไปนั่งทานอาหารติดทะเล สั่งกับมาอย่างนึง ข้าวจานนึง เบียร์ขวดนึง เพราะทานคนเดียวก็สั่งกินแค่นี้ สักพักมีต้มยำทะเลรวมมิตรมาวางบนโต๊ะ คนที่มาส่งบอกมีคนสั่งให้ ผมก็นึกงงในใจ ตอนคิดเงินก็ยิ่งงงหนักไปใหญ่โต ค่าอาหารของคุณ มีราคาศูนย์บาท ทำให้ผมคิดถึง ...
ลองนึกถึงร้านอาหาร ที่ไม่มีราคาบนเมนู และในช่องเก็บเงินเจอคำว่า ศูนย์บาท และข้อความสั้นๆว่า
"Imagine a restaurant where there are no prices on the menu and where the check reads $0.00 with only this footnote: "Your meal was a gift from someone who came before you. To keep the chain of gifts alive, we invite you to pay it forward for those who dine after you."
"มื้ออาหารของคุณ เป็นของขวัญจากใครบางคนที่มาก่อนหน้าคุณ เพื่อที่จะให้ห่วงโซ่ของขวัญยังคงอยู่ เราของเชิญคุณให้จ่ายล่วงหน้า ให้กับผู้ที่มาทานอาหารต่อจากคุณ"
นี่คือ KARMA KITCHEN ร้านอาหารที่ทดสอบความใจกว้าง ความกรุณาปราณี การให้ ความเอื้ออาทรและการไม่เห็นแก่ตัวของคุณ มีสาขา 23 แห่งทั่วโลก ที่กินเท่าไหร่ ก็จ่ายเพื่อตัวเองศูนย์บาท แต่จ่ายให้กับคนอื่นที่มาทีหลังเท่าที่คุณอยากจ่าย
ข้อมูลเพิ่มเติม : KARMA KITCHEN
และถ้าคุณได้รับความใจกว้าง ความกรุณาปราณี การให้ ความเอื้ออาทร และการไม่เห็นแก่ตัวกับใครมา หมายความว่า คุณจะต้องส่งต่อ ความใจกว้าง ความกรุณาปราณี การให้ ความเอื้ออาทร และการไม่เห็นแก่ตัว ให้กับคนอื่นๆต่อไป
ถ้าคุณเล่นเรือมานานพอ คุณจะค้นเจอคำว่า Generosity ซึ่งก็คือความหมายของสิ่งเหล่านี้ คือ ความใจกว้าง ความกรุณาปราณี การให้ ความเอื้ออาทรและการไม่เห็นแก่ตัว นี่คือสิ่งที่รุ่นพี่ รุ่นเพื่อนที่เป็นชาวเรือปฏิบัติต่อๆกันมา เป็นธรรมเนียมปฏิบัติประเพณีทางเรือของเรา ผมโชคดีที่มีเพื่อนที่มีหัวใจชาวเรือ ที่กรุงเทพก็มี ที่พัทยาก็มี ที่ชุมพรก็มี และอีกมากในหลายๆ จังหวัดที่ไม่ได้กล่าวถึง
ถ้าคุณอ่านมาถึงตรงนี้ หากบทความของผมได้ประโยชน์ และมีคุณค่ากับคุณ เท่ากับว่า ผมได้ช่วยเหลือคุณ คุณเป็นหนี้ผม คุณไม่ต้องมาใช้หนี้ให้ผม แต่ให้จ่ายไปข้างหน้า
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Pay it forward คือ จ่ายคืนไปข้างหน้า หมายความว่า
"เมื่อมีใครมาช่วยเหลือเรา ในเรื่องใดๆก็ตาม แม้จะเป็นเรื่องที่ที่ยิ่งใหญ่ เรื่องที่เล็กน้อย หรือเข้ามาช่วยเหลือในบางสิ่งที่คุณไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง คุณไม่ต้องตอบแทนพวกเขาเหล่านั้นด้วยสิ่งของ หรืออะไรก็ตาม แต่เปลี่ยนการตอบแทน เป็นการช่วยเหลือคนอีก 3 คน แม้จะเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เรื่องที่เล็กน้อย หรือช่วยเหลือในบางสิ่งที่เขาเหล่านั้นไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง"
ทดสอบการติดเครื่อง
พอติดเครื่องเสร็จ ถอดหัวเทียนออกมาเช็ค เย้ .... น้ำไม่เข้าสูบแล้วครับ ประหยัดไปสองแสนแปด เก็บเงินไว้เป็นทุนการศึกษาลูก ปีนี้เข้ามหาลัยพอดี เหลือรันอินไปเรื่อยๆ กับเช็คความเรียบร้อยจุดต่างๆ รื้อมาซะขนาดนี้ ไม่มีอะไรยากแล้ว ยิ่งรื้อยิ่งชำนาญ ฮ่าๆๆ
จบแล้วครับ...