วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร

นำทาง อุทยานแห่งชาติหมุ่เกาะชมพร ในแผนที่ GPS

ลักษณะภูมิประเทศ 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ประกอบด้วยลักษณะทางภูมิประเทศที่หลากหลาย อาจแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
ชายฝั่ง เป็นชายฝั่งที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเล และกระแสน้ำในทะเลโดยตรง ลักษณะทั่วไปจะเป็นชายหาดที่เป็นทรายจนถึงเป็นโคลน บริเวณด้านหลังชายหาด อาจพบป่าชายหาด (Beach forest) ได้บ้างในบริเวณที่ไม่มีการทำสวนมะพร้าว ชายฝั่งลักษณะนี้พบได้เป็นแนวยาวตลอดชายฝั่ง โดยในส่วนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จะเริ่มจากอ่าวทุ่งมะขามน้อย อ่าวทุ่งมะขามใหญ่ อ่าวท้องตมใหญ่ หาดทรายรีสวี อ่าวมะม่วง อ่าวท้องตมน้อย หาดอรุโณทัย ชายฝั่งเกาะกระทะ และอ่าวท้องครก

อ่าวและปากคลอง เป็นบริเวณหนึ่งของชายฝั่ง ที่ได้รับอิทธิพลจากการไหลลงของน้ำจืด อ่าวในที่นี้จึงหมายถึง อ่าวที่มีน้ำจืดไหลลงในปริมาณมากลักษณะโดยทั่วไปจะพบป่าชายเลน (Mangrove forest) ในบริเวณที่มีการขึ้นลงของน้ำ พื้นดินมักเป็นโคลนละเอียด โคลนจนถึงโคลนปนทราย ในบางบริเวณพบหญ้าทะเล (Sea grass) และสาหร่ายทะเล (Sea algae) เจริญเติบโตติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ พื้นที่ส่วนใหญ่มักมีระดับน้ำตื้น บางบริเวณจะปรากฏเป็นสันดอนโคลน (Mud flat) ขนาดใหญ่ ซึ่งจะโผล่พ้นน้ำเวลาน้ำลงต่ำสุด ชายฝั่งลักษณะนี้ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญที่สุดคืออ่าวทุ่งคา – สวี ซึ่งมีคลองที่มีน้ำจืดไหลลงมากกว่า 10 คลอง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ” นอกจากนี้ก็มีบริเวณปากคลองอื่น ๆ ที่มีน้ำจืดไหลลงทะเล เช่นคลองตม คลองบางหัก และคลองปากน้ำตะโก เป็นต้น บริเวณปากคลองจะพบสันดอนปากคลองซึ่งจะรูปร่างและขนาดของสันดอนแตกต่างกันออกไป

เกาะ ที่ปรากฏในเขตอุทยานแห่งชาติมีทั้งสิ้น 40 เกาะ โดยส่วนใหญ่เป็นเกาะขนาดเล็ก มักปรากฏโพรงถ้ำเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป เกาะที่มีขนาดใหญ่จะปรากฏชายหาดบริเวณชายฝั่งของเกาะ ซึ่งได้รับอิทธิพลของไอทะเล (Salt spray) จะปรากฏพันธ์ไม้ป่าชายหาด (Beach forest) ส่วนที่อยู่สูงขึ้นไปที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากไอทะเล จะปรากฏพันธุ์ไม้ของป่าดิบชื้น (Moist evergreen forest) ส่วนเกาะที่มีขนาดเล็กมักเป็นพันธุ์ในสังคมพืชบนหน้าผา (Cliff Community) ที่มีลักษณะแคระแกร็น ส่วนที่อยู่ใต้น้ำ มักปรากฏแนวปะการัง (Coral reefs) ทางด้านตะวันตกของเกาะ ส่วนด้านตะวันออกที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำ ที่พัดมาโดยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือปรากฏเป็นปะการังที่เจริญบนหิน (Coral Community on rocks) 

ภูเขา ที่ปรากฏในเขตอุทยานแห่งชาติมักมีขนาดไม่ใหญ่และสูงมากนัก เป็นภูเขาที่อยู่ติดทะเลทั้งสิ้น พันธุ์ไม้ที่ปกคลุมเป็นพันธุ์ไม้ป่าดิบชื้น (Moist evergreen forest) เกือบทั้งหมด ยกเว้นบริเวณที่เป็นหน้าผา จะเป็นพันธุ์ไม้ในสังคมพืชบนหน้าผา (Cliff Community) ภูเขาที่ปรากฏในเขตอุทยานแห่งชาติมีดังนี้ เขาโพงพาง สูง 145 เมตร เขาบ่อคาสูง 180 เมตร เขาประจำเหียงสูง 240 เมตร และเขากะทะสูง 300 เมตร 

ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล
พื้นที่รอบหมู่เกาะในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เป็นแนวปะการังและกองหินใต้น้ำที่มีสิ่งมีชีวิตทางทะเลอุดมสมบูรณ์ เป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญอย่างยิ่ง สัตว์ทะเลหลากรูปแบบและชนิดพันธุ์ได้เข้ามาอาศัยแนวปะการัง เพื่อเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย และผสมพันธุ์วางไข่ โครงสร้างทางระบบนิเวศของแนวปะการัง จึงมักมีความซับซ้อนในด้านองค์ประกอบ สิ่งมีชีวิตและหน้าที่ในระบบนิเวศ โดยทั่วไปแนวปะการัง จะเป็นบริเวณที่ให้ความรู้สึกงดงามและแปลกตาแก่ผู้พบเห็น การดำน้ำเพื่อดูสัตว์ทะเลและปะการังต่างๆ จึงเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ

นอกจากประโยชน์ในแง่การเป็นระบบนิเวศและแหล่งนันทนาการที่สำคัญแล้ว แนวปะการังยังถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมวัสดุภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ ที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย แนวปะการังในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร พบได้ตามเกาะต่างๆ แนวปะการังเกาะตัวได้ดีทางทิศตะวันตก และทิศใต้ของตัวเกาะเนื่องจากเป็นด้านที่กำบังคลื่นลมจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะทั่วไปเป็นแนวปะการังริมฝั่ง (Fringing reef) ก่อตัวได้ตั้งแต่ความลึก 1-8 เมตร ความกว้างของแนวประมาณ 35-500 เมตร ปะการังที่พบมักเป็นปะการังแข็ง เช่น ปะการังเขากวาง (Acropora sp.) ปะการังโขด (Porites lutea) โดยด้านนอกของแนวที่เป็นแนวลาดชัน (Reef slope) สู่พื้นทะเล มักพบปะการังโขดที่เป็นก้อนขนาดใหญ่ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของเกาะที่ได้รับอิทธิพลของคลื่นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พบปะการังที่ก่อตัวบนโขดหินมักพบเป็นพวกปะการังอ่อน (Soft coral) ปะการังเคลือบ (Encrusting coral) ปะการังดำ (Black coral) แส้ทะเล (Sea whip) และกัลปังหา (Sea Fan) เป็นต้น

ลักษณะเด่นของแนวปะการังบริเวณเกาะต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร คือองค์ประกอบสิ่งมีชีวิต ในแนวปะการัง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากบริเวณอื่นๆ ดังนี้ 
- เป็นบริเวณที่พบปะการังดำ (Black coral) ซึ่งเป็นสัตว์ในกลุ่มของกัลปังหามากที่สุดในประเทศไทย 
- พบสัตว์ในกลุ่มของปะการังอ่อน (Soft coral) 
- ถ้วยทะเล (Corallimorph) พรมทะเล (Zooanthid) และดอกไม้ทะเล (Sea anemone) ขนาดใหญ่มากที่สุดในอ่าวไทย 
- มีปริมาณและความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลามากที่สุดในอ่าวไทย 
- มีปริมาณและความหลากหลายของชนิดพันธุ์หอยมาก เป็นจุดสำรวจที่น่าสนใจมากที่สุดในอ่าวไทย

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะทางธรณีวิทยา บริเวณรอบเกาะต่างๆ เช่น เกาะง่ามน้อย เกาะง่ามใหญ่ มักปรากฏเป็นโพรงถ้ำใต้ทะเล บางแห่งมีความยาวมากกว่า 15 เมตร และกว้างกว่า 10 เมตร ภายในถ้ำมักพบฟองน้ำ ปะการัง และสัตว์ทะเลหลายชนิด อาศัยอยู่ภายใน นอกจากนี้บริเวณเกาะง่ามใหญ่และเกาะง่ามน้อย ยังพบเห็นฉลามวาฬ (Whale shark) ซึ่งถือเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้บ่อยครั้ง แนวปะการังน้ำตื้น เหมาะกับการดำชมแบบผิวน้ำ (Snorkeling) พบได้ในบริเวณเกาะมาตรา เกาะทองหลาง เกาะรังกาจิว เกาะละวะ เกาะแกลบ และเกาะอีแรด เป็นต้น ส่วนบริเวณที่เป็นแนวปะการังน้ำลึก จะเหมาะกับการดำน้ำลึกโดยใช้ถังอากาศ (SCUBA) พบในบริเวณเกาะง่ามใหญ่ เกาะง่ามน้อย และเกาะหลักง่ามเป็นต้น 

ลักษณะภูมิอากาศ 
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่าน ทำให้ฝนตกชุก คลื่นพายุรุนแรง

ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุมหลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อน

ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมทำให้มีฝนตกทั่วไป

ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งแล้งจากประเทศจีนพัดปกคลุม ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากทะเลอ่าวไทย อากาศจึงไม่หนาวเย็นมากนักและจะมีฝนตกโดยทั่วไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น