วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

นำทาง อุทยานแห่งชาติเกาะเภตรา ในแผนที่ GPS


เกาะเภตรา มีลักษณะคล้ายเรือสำเภา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกาทะเลอันดามัน ในคาบมหาสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตกของไทย ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และตำบลสุกรอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง 

ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่สำคัญคือ
 เกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ เกาะละโละแบนแต เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเหลาเหลียง และเกาะเปรามะ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชันสูง มีพื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและชายหาด มีพื้นที่ทั้งบนบกและทะเลประมาณ 494.38 ตรกม. หรือ 308,987 ไร่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2526 และได้ประกาศในพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2527 อุทยานฯ แห่งนี้เป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มา มีป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า และปะการังหลากสีสวยงาม สถานที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ เป็นเวิ้งอ่าวธรรมชาติที่เรียกว่า "อ่าวนุ่น"

สถานที่ท่องเที่ยวเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
เกาะลิดี 
อยู่ห่างจากที่ทำการฯ (อ่าวนุ่น) ประมาณ 5 กม. และห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 7 กม. มีหน้าผาและถ้ำเป็นที่อาศัยของนกนางแอ่นเป็นจำนวนมาก เนื้อที่ประมาณ 10 ตรกม. มีหาดทรายขาวบริสุทธิ์ และมีเวิ้งอ่าวยื่นเข้าไปในตัวเกาะเป็นสระน้ำใสสะอาด เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเล่นน้ำทะเล ปัจจุบันเกาะลิดีมีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มีบ้านพัก และบริเวณที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว สามารถติดต่อเรือประมงได้จากที่ทำการอุทยานฯ

อ่าวก้ามปู
อยู่ระหว่างเกาะเขาใหญ่ และเกาะลิดี มีลักษณะคล้ายรูปเกือกม้า กว้างประมาณ 700 เมตร ภายในอ่าวมีน้ำตกไหลมาเป็นลำธารเล็กๆ เป็นอ่าวที่สงบ ปราศจากคลื่นลมตลอดทั้งปี ขณะน้ำลดจะมองเห็นปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลตลอดแนวชายฝั่ง มีทิวทัศน์หน้า อ่าวงดงาม และจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ทุกปี 

หาดกาสิงห์ 
อยู่ที่หมู่บ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู เป็นหาดที่มีความลาดชันน้อย จึงเหมาะสำหรับการวางไข่ของเต่าทะเล โดยเฉพาะเต่ามะเฟื่อง ซึ่งคาดว่าเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในจังหวัดสตูล นับเป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมากอีกประการหนึ่ง 

เกาะเขาใหญ่ 
อยู่ห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 3 กม. บนเกาะมีอ่าวชื่อนะปุลา จุดเด่นของเกาะเขาใหญ่ คือ ปฏิมากรรมธรรมชาติที่คล้ายกับปราสาทหิน มีสะพานธรรมชาติยื่นโค้งไปในทะเล ยามน้ำลดสามารถพายเรือลอดได้ นอกจากนี้ยังมีสถานที่เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาของประมงจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ใกล้เกาะเขาใหญ่ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมแวะไปชมมากเช่นกัน

เกาะบุโหลน
อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือปากบาราประมาณ 22 กม. เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวสะอาด น้ำใสเหมาะแก่การดูปะการัง เป็นเกาะที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในขณะนี้ เนื่องจากเป็นเกาะที่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้สะดวก 

เกาะบุโหลนได้ชื่อว่าเป็นมุกใหม่แห่งอันดามัน ใต้ท้องทะเลอุดมไปด้วยปะการังหลากสี หมู่ปลานานาพันธุ์ เหมาะสำหรับนักประดาน้ำที่ชื่นชอบความงามของธรรมชาติใต้ท้องทะเล ประกอบกับหาด หาดขาวสะอาด ทิวสนหนาแน่น ธรรมชาติเงียบสงบ 

เกาะสุกร
มีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอปะเหลียน เป็นเกาะขนาดใหญ่อยู่ห่างชายฝั่งเพียง 3 กม. มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีหาดทรายสวยงามหลายแห่ง นอกจากนี้แตงโมที่เกาะสุกรมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดตรัง จะมีมากในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเมษายน 

นิทานพื้นบ้าน
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเตรา มีตำนานเกาะเภตราซึ่งตัวเกาะเภตราตั้งอยู่ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มองจากที่ไกลๆ คล้ายกับเรือสำเภากำลังอับปาง ดังมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาถึงการเกิดเป็นหมู่เกาะเภตราว่า มีครอบครัวๆ หนึ่ง มีตาพุดกับยายทองและลูกชายอีกหนึ่งคน นับถืศาสนาพุทธ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านพระม่วง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่มาวันหนึ่งมีเรือสำเภาของพ่อค้าชาวไทรบุรีได้นำสินค้าเข้ามาค้าขายที่ท่าเรือกันตัง ฝ่ายลูกชายของตายายก็ได้มาชมสินค้าในเรือเหมือนกับคนอื่นๆ เมื่อพ่อค้าเห็นเข้าก็เกิดความรักความเอ็นดู จึงเอ่ยปากชวนไปอยู่ที่เมืองไทรบุรีด้วย และได้ช่วยพ่อค้าทำงานอย่างขยันขันแข็ง อยู่มาวันหนึ่งเจ้าพระยาเมืองไทรบุรีได้มาเห็นเด็กชาย็เกิดความรักความเอ็นดู จึงขอเด็กชายจากพ่อค้าไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมโโยให้เข้านับถือศาสนาอิสลาม เจ้าพระยาได้เลี้ยงดูเป็นอย่างดี ทำให้เด็กชายหลงระเริงลืมตนว่าเป็นใคร ครั้นมีอายุสมควรแก่การมีเหย้ามีเรือน เจ้าพระยาก็ให้แต่งงานกับลูกสาวของตน หลังจากแต่งงานฝ่ายหญิงก็คิดที่จะไปเยี่ยมพ่อแม่ของสามีและคอยรบเร้าจนสามีต้องยอม จึงได้ตกแต่งเรือสำเภาขนาดใหญ่ และให้คนเดินทางล่วงหน้าไปก่อนเพื่อแจ้งข่าวให้กับตายาย

ตายายเมื่อรู้ข่าวว่าลูกชายลูกสะใภ้จะมาเยือนก็ดีใจยิ่งนัก จึงได้จัดเตรียมข้าวของมากมายไว้คอยต้อนรับโดยเฉพาะหมูย่าง เพราะคิดว่าลูกชายยังคงอยากกินเหมือนสมัยที่เคยอยู่กับตน ครั้นถึงวันกำหนดสองสามีภรรยาก็แล่นเรือมาถึงปากน้ำกันตัง ลูกชายเมื่อเห็นสภาพของพ่อแม่ก็เกิดความอับอายไม่ยอมรับว่าเป็นพ่อแม่ของตน สองตายายเกิดความเสียใจเป็นอันมากจึงเอาหมูย่างไปวางที่กัวเรือแล้วอธิษฐานว่า ถ้าหากเป็นลุกชายของตนจริงขอให้มีอันเป็นไป ออกจากท่าเรือไม่ได้ พอสิ้นคำสาปแช่งก็เกิดพายุอย่างหนัก ได้พัดเรือของลูกชายลูกสะใภ้อับปางลง สมบัติพัสฐานข้าวของต่างๆ ก็ล่องลอยกลายเป็นเกาะต่างๆ ในน่านน้ำแห่งนี้ เช่น หมูย่างกลายเป็นเกาะสุกร เรือสำเภากลายเป็นเกาะเภตรา นอกนั้นมีเกาะไข่ เกาะกล้วย เกาะเขาหินตา เกาะเขาหินยาย เกาะไก่ เป็นต้น

ลักษณะภูมิประเทศ  

สภาพภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ส่วนใหญ่เป็นเกาะเขาหินปูนที่มีความลาดชันสูง มีที่ราบเพียงเล็กน้อยในบริเวณที่เป็นหุบเขาและชายหาด ประกอบด้วยเกาะมากกว่า 22 เกาะ กลางท้องทะเลอันดามัน ที่เรียงรายกระจัดกระจายตั้งแต่เขตอำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เรื่อยไปจนจรดอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลและเกาะน้อยใหญ่ โดยมีเกาะที่สำคัญเรียงจากเหนือไปใต้คือ เกาะเหลาเหลียงเหนือ เกาะเหลาเหลียงใต้ เกาะเบ็ง เกาะตากใบ เกาะกล้วย เกาะตุงกู เกาะละมะ เกาะบุโหลนขี้นก เกาะบุโหลนใหญ่ เกาะบุโหลนไม้ไผ่ เกาะเขาใหญ่ และเกาะลิดี มีพื้นที่รวมประมาณ 494.38 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำประมาณ 94.7 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่บางส่วนกันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ เช่น หมู่บ้านบ่อเจ็ดลุก และบางส่วนทางราชการโดยกองทัพเรือขออนุญาตใช้พื้นที่

 ลักษณะภูมิอากาศ  

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ตั้งอยู่ในเขตโชนร้อน ลักษณะลมฟ้าอากาศคล้ายคลึงกันตลอดปีความแตกต่างระหว่างฤดูกาลไม่เด่นชัด มีฤดูฝนอันยาวนานจนกล่าวได้ว่ามีฝนกระจายตลอดทั้งปี แต่ระยะที่มีฝนหนักจริงๆ จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมต่อกันไปจนถึงเดือนตุลาคม สิ้นเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมปริมาณฝนจะลดลงสำหรับฤดูร้อนจะปรากฏเป็นช่วงสั้น ๆ ในเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระยะการเปลี่ยนแปลงฤดูมรสุม จากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนช่วงการเปลี่ยนแปลงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนตุลาคมนั้นทำให้สภาพภูมิอากาศของพื้นที่แตกต่างกันไปบ้างแต่ไม่เด่นชัดนัก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น