วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การจอดเรือ วิธีจอดเรือ จอดเรือโดยสมอ

การจอดเรือ วิธีจอดเรือ จอดเรือโดยสมอ (Mooring and anchorage)

    เราจะใช้อุปกรณ์ 2 อย่างในการจอดเรือ คือ เชือก กับสมอเรือ  เรือจะใช้เวลาส่วนใหญ่จอดมากกว่าวิ่ง จริงแล้วการจอดเรือมีความสำคัญเท่าๆ กับที่มันวิ่งไปถึงที่หมายทีเดียว ซึ่งต่างจากรถ หรือเครื่องบิน จอดแล้วดับเครื่องก็จบตรงนั้น ไม่ไปไหนแต่เรือไม่ใช่ มัดไม่ดีก็หาย สมอเกาก็หาไม่เจอ

เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนไหนจอดเรือเป็นไม่เป็น ก็ดูตรงเวลานำเรือขึ้นจากน้ำ ถ้าเห็นท้องเรือลายหรือเจลโค๊ดแตกละก็ เหอๆ ...ใช่เลย การจะซ่อมไฟเบอร์ให้สวยเหมือนเดิม มีเหนื่อย...

    ผิวเรือไฟเบอร์ที่ดี คือ พื้นผิวของเจลโค๊ด ซึ่งก็คือเนื้อไฟเบอร์ที่มีสีผสมในตัวนั่นเอง เนื่องจากงานไฟเบอร์จะเป็นพื้นผิวที่เรียบ เงาเป็นมัน ลื่นเรียบ แข็งแรง และเป็นรอยยาก ในทางกลับกันเวลาเป็นรอยกลับลบรอยได้ไม่ยากนัก และสวยเหมือนเดิม ฉะนั้นผิวเรือไฟเบอร์ที่ดี คือผิวเจลโค๊ด ไม่ใช่ผิวสีพ่น


เราจอดเรือได้แบบไหนบ้าง
  • การจอดเรือที่แม่น้ำ คูคลอง
  • การจอดเรือที่ทะเล
วิธีจอดเรือที่ดีที่สุด คือ ทำอย่างไรก็ได้จอดเรือให้เรือลอยบนน้ำ โดยไม่โดนหรือไปกระแทกกับอะไร วิธีนี้ท้องเรือ กาบเรือไม่มีโอกาสที่จะเป็นรอย หรือกระแทกกับ ดิน หิน หรือทราย

การจอดเรือที่แม่น้ำ คูคลอง
   เนื่องจากแม่น้ำ คูคลอง จะมีน้ำไหลเป็นทิศทางเดียว คือจากต้นน้ำไปปลายน้ำ ยกเว้นปากแม่น้ำที่ออกทะเล อาจมีน้ำไหลเข้า และไหลออกตามน้ำขึ้นหรือน้ำลง ส่วนใหญ่จะจอดเรือที่โป๊ะ แพลอยน้ำหรือท่าที่จอดเรือ การเข้าจอดแบบนี้กรณีมีกระแสน้ำไหล จะใช้หันหัวเรือ ขับเรือสวนกระแสน้ำไหล แล้วเดินเบา ค่อยๆ เข้าไปจอด




ลักษณะแพที่ใช้เทียบท่าเรือจะคล้ายๆ กัน คือ จะมีบันไดเดินลงจากฝั่ง ตัวแพจะลอยน้ำและจะขึ้นลงตามระดับน้ำ จะมีเสาหรือหลักไว้ผูกเรือ ส่วนด้านข้างรอบๆแพอาจมีทุ่นกันกระแทก



ข้อควรคำนึงเวลาจอดเรือ คือ ควรผูกเรือให้แน่น กรณีผูกแล้วเรือหลุด การจะตามหาเรือยากมาก และเสี่ยงมีอุบัติเหตุสูง เพราะมันจะลอยไปแบบ ไร้การควบคุม ควรศึกษา เชือกเงื่อนที่ใช้กับเรือและวิธีการใช้งาน






การจอดเรือที่ทะเล

   การจอดเรือที่ทะเลมีข้อคำนึง คือ น้ำทะเลจะมีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ชั่วโมงเนื่องจากน้ำขึ้นน้ำลง หากจอดเรือในจุดที่น้ำตื้นเวลาน้ำลง เรือจะเกยตื้นไปไหนไม่ได้ หรือถ้าจอดเรือในจุดน้ำลึกเกิน เรือจะจอดไกล เวลาไปหาเรือจะต้องว่ายน้ำไกลมาก บางครั้งอาจไกลถึง 100-200 เมตรเลย
   ส่วนใหญ่ก่อนจะจอดเรือ เราจะดู ตารางน้ำรายชั่วโมง ก่อนจอดเราก็จะรู้ว่าน้ำจะขึ้นสุด ลงสุดตอนไหน สมมุติจะจอดเรือสัก 3 ชั่วโมง ข้างหน้า น้ำจะขึ้นลงไปเท่าได ซึ่งผมจะทำประจำก่อนจอดเรือทุกครั้ง

การจอดเรือที่สะพานจอดเรือ
 
   การจอดแบบนี้เราก็เผื่อเชือก
  • สมมุติกรณีจอดเรือน้ำขึ้น เราก็เผื่อเชือกไว้ให้มากพอ เวลาน้ำลงเชือกจะได้ไม่รั้งเรือ จะได้ไม่ตะแคงเอียง เพราะรั้งโดยเชือก แล้วก็เช็คความลึกจาก Sounder ว่าตอนจอดเรือระดับน้ำเท่าใด เวลาผ่านไปจะได้ประมาณถูกว่าระดับน้ำจะเป็นเช่นไร
  • กรณีน้ำลง ให้เช็คระดับน้ำจาก Sounder แล้วเช็คจากตารางน้ำว่าน้ำจะลงไปเท่าใด  จะเหลือระดับน้ำเท่าได โดยอาจให้เรืออยู่สูงจากระดับน้ำสัก 30-40 cm.จากท้องเรือเมื่อน้ำลง  (แล้วแต่เรือว่ากินน้ำลึกเท่าไหร่) แค่นี้ท้องเรือก็ไม่ถึงพื้นที่อยู่ใต้น้ำแล้วครับ  
เราสามารถรู้ว่า พื้นหาดมีความชันอย่างไรจากสะพานที่ใช้ผูกเรือนี่แหละ
   ถ้าสะพานจอดเรือทางเดินยาว แสดงว่าว่าหาดนั้นความชันน้อย สะพานจอดเรือจึงทอดยาวไปในทะเลเยอะ แต่ถ้าสะพานจอดเรือสั้น แสดงว่าหาดนั้นความชันเยอะ จึงจอดเรือง่ายกว่า เพราะน้ำลึก

การจอดเรือโดยผูกกับทุ่นจอดเรือ
  การจอดแบบนี้แค่ผูกกับทุ่นให้แน่นอย่างเดียว ไม่ต้องกังวลกับระดับน้ำ เพราะทุ่นจอดเรือจะออกแบบเผื่อเรือที่กินน้ำลึกอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ตำแหน่งทุ่นจอดเรือ จะอยู่ในจุดปลอดภัย ใช้หลบคลื่นลมได้ ทุ่นจอดเรือส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติทางทะเล ทั่วประเทศ

เราสามารถหาทุ่นจอดเรือ ได้จาก อุทยานแห่งชาติทางทะเลและทุ่นจอดเรือ <-คลิก


การจอดเรือหน้าหาด
 
   การจอดเรือแบบนี้จะใช้สมอในการจอดเรือ สำหรับการจอดเรือในทะเล ควรจะใช้สมอ 2 ตัว ในการจอดเรือ โดยมีวิธีโยนสมอ 2 แบบ คือ

  • ทิ้งสมอแบบหัวท้าย แบบนี้ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับจอดหน้าหาดแบบ ลงท้ายเรือก็ถึงหาดเลย เท้าจุ่มน้ำหน่อยเดียว (วิธีนี้อาจใช้สมอตัวเดียวก็ได้ หากกระแสน้ำ ทิศทางลมเป็นใจ)
  •  ควรจะให้ความยาวเชือกสมอให้มากพอที่จะให้มุมของจุดที่ทิ้งสมอไม่เป็นมุมตั้งชัน ยิ่งมุมแนวราบเท่าใดสมอยิ่งเกายาก เวลาน้ำขึ้นจะทำให้มุมตั้งชันมากขึ้น สมอจะเกาง่ายถ้าความยาวเชือกไม่มากพอ มุมยิ่งราบ จะทำให้สมอเกายากขึ้น
สามารถทำได้คนเดียวนะครับ เข้าเกียร์ว่างก่อน แล้วก็โยนสมอไปก่อน จะโยนจะเหวี่ยงท่าไหนตามถนัด อาจกระตุกสมอเพื่อช่วยให้สมอกินพื้นทรายเร็วขึ้น  แล้วก็เผื่อเชือกพอประมาณ หันไปดูระยะที่ห่างหาดก็ได้ ไม่ต้องเป๊ะ เพราะปรับทีหลังได้ แล้วก็ล๊อกไว้ที่หัวเรือ



เสร็จแล้วก็เข้าเกียร์ถอยหลังรอบต่ำสุด ยกหางขึ้น เช็ค Sounder ระยะความลึกด้วย เรือจะค่อยๆ ถอยหลังมาเรื่อยๆ จนใกล้หาด ไม่จำเป็นที่ต้องถอยจนท้ายเรือถึงหาดก็ได้ แล้วแต่ความชำนาญ ไม่ต้องกังวลเพราะเรามีสมออีกตัวโยนไปบนหาด แล้วดึงเรือเข้าหาด ดับเครื่อง ปรับเชื่อกหัวเรือ ท้ายเรือ ให้พอดี


จะให้ห่างหาดแค่ไหนก็ปรับเชือกหัวเรือเอา ไม่ยากครับ ... อุอุ

  • ทิ้งสมอหัวเรือจุดที่ไกล้เคียงกัน จะใช้ความยาวเชือกใกล้เคียงกัน ผูกเชือกหัวเรือจุดเดียวกัน แบบนี้จะใช้สำหรับ กันสมอเกา (หมายถึงสมอไม่ติด) ถ้าสมอเกาเรือจะไหลไปเรื่อยๆ แล้วแต่คลื่นแล้วแต่ลม ห่างกังวลคลื่นลมแรง หรือกังวลสมอจะเกา ก็ทิ้งจุดที่ไม่ไกลกันมาก เพื่อหากสมอตัวนึงเกา อีกตัวก็จะเกาะแทน 
การที่สมอเกา อันตรายมาก เพราะเรือจะไปในทิศที่คลื่น และลมพัดไป ท้องเรืออาจเสียหาย หรือเราอาจหาเรือเราไม่เจอ เพราะมันลอยไปไหนก็ไม่รู้ ซึ่งสร้างความเสียหายได้มากมาย



วิธีหาเรือเมื่อ ผูกแล้วหลุดเ สมอเกา เราก็รู้ ...เรืออยู่ไหน (โปรดติดตามตอนต่อไป)

ขอบคุณ นายแบบผู้มีิใจเอื้อเฟื้อเผือแผ่ และใจดี น้าพงศธร ด้วยครับ ...

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ24 กันยายน 2566 เวลา 20:08

    ท้องเรือที่เจลโค๊ดแตกหรือท้องเรือลาย ไม่ได้แปลว่าจอดเรือไม่เป็นนะครับ เพราะบางทีเรือขึ้นเทรลเลอร์บ่อย เวลาขึ้นหน้าหาด มีปัญหาเรื่องท้องลายได้ครับ

    ตอบลบ