วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557

เรื่องของเมฆ ...สวรรค์บนชั้นฟ้า กับการพยากรณ์ด้วยตาเปล่า

เรื่องของเมฆ กับการพยากรณ์ด้วยตาเปล่า

การดูเมฆ ทำให้เรารู้ว่า
  • มีไอน้ำในอากาศมากน้อยแค่ไหน
  • รู้ทิศทางลม กับความเร็วลม โดยดูจากการเคลื่อนที่ของเมฆ
  • รู้กว่าอีกสักพัก ไม่นานจะมีฝนตก หรือกำลังจะมีพายุ หรือถ้าฝนตกจะตกนานมั้ย
  • รู้ว่าวันนี้อากาศจะดีมั้ยหนอ


ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจเมฆก่อน เมฆซึ่งเกิดขึ้นในธรรมชาติมี 2 รูปร่างลักษณะคือ เมฆก้อน และเมฆแผ่น


เมฆก้อน หรือ Cumulus Clouds
เมฆแผ่น หรือ Stratus Clouds

เราเรียกเมฆก้อนว่า “เมฆคิวมูลัส” (Cumulus) และเรียกเมฆแผ่นว่า “เมฆสเตรตัส” (Stratus)
หากเมฆก้อนลอยชิดติดกัน เรานำชื่อทั้งสองมารวมกัน และเรียกว่า “เมฆสเตรโตคิวมูลัส” (Stratocumulus) 


ในกรณีที่เป็นเมฆฝน เราจะเพิ่มคำว่า “นิมโบ” หรือ “นิมบัส”  (Nimbus) ซึ่งแปลว่า “ฝน” เข้าไป
เช่น เราเรียกเมฆก้อนที่มีฝนตกว่า “เมฆคิวมูโลนิมบัส” (Cumulonimbus)
และเรียกเมฆแผ่นที่มีฝนตกว่า “เมฆนิมโบสเตรตัส” (Nimbostratus)


คิวมูลัส/คิวมูโล  (Cumulus/Cumulo) = ก้อน หรือทับถมกันเป็นกอง
สเตรตัส/สเตรโต (Stratus/Strato) = แผ่น หรือ ลักษณะเป็นชั้นๆ

อัลโต (Alto) = กลาง
เซอโร/เชอรัส (Cirro) = สูง

นิมโบ/นิมบัส (Nimbo/Nimbus) = ฝน

พอรู้รากศัพท์แล้ว ก็น่าจะนำไปใช้ได้ไม่ยากเพราะจะเอาคำต่างๆมาผสมกันเป็นชื่อเมฆแบบต่างๆ ถ้าจะไม่ให้งงกับชื่อเมฆ ให้จำรากศัพท์ด้านบนเป็นเกณฑ์นะครับ...



เมฆคิวมูโลนิมบัส Cumulonimbus clouds
เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus) ก็คือ คิวมูโล (ก้อน) + นิมบัส (ฝน) แสดงว่าเป็นเมฆฝนที่เป็นก้อน ซึ่งจะทำให้เกิดฝนตกหนัก

เมฆนิมโบสเตรตัส Nimbostratus clouds
นิมโบสเตรตัส (Nimbostratus) ก็คือ นิมโบ (ฝน) + สเตรตัส (แผ่น) แสดงว่าเป็นเมฆฝนที่เป็นแผ่นๆ ซึ่งหากมีฝนตกก็คงไม่แรงเท่าไร เพราะเป็นแบบแผ่นๆ ไม่ใช่แบบเป็นก้อน


เมฆเซอโรสเตรตัส Cirrostratus clouds
เมฆเซอโรสเตรตัส (Cirrostratus) ก็คือ เซอโร (สูง) + สเตรตัส(แผ่น) แสดงว่าเป็นแผ่นเมฆที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเมฆที่อยู่สูงๆ

เพื่อให้จำง่ายในมาในรูปแบบบทกลอน

เมฆเป็นก้อน เขาเรียก คิวมูลัส               สเตรตัส เป็นแผ่น ชั้นไสๆ
เมฆเซอรัส คล้ายขนสัตว์ ริ้วพิมพ์ใจ      ทรงกลดไซร์ เมฆเซอโร สเตรตัส
ฝนตกหนัก พายุ ฟ้าคะนอง                    ขอบอกน้อง คิวมูโล นิมบัส
ฝนพรำๆ ฉ่ำทั่ว แต่ไม่หนัก                     เมฆนิมโบ สเตรตัส ชัดเจนเอย...


แบ่งเมฆตามระดับความสูง

             เมฆยังอาจแบ่งเป็น 4 กลุ่ม ตามระดับความสูงของเมฆ โดยระดับความสูงของเมฆนี้จะวัดจากฐานของก้อนเมฆ ไม่ได้วัดจากยอด โดย Luke Howard เป็นผู้นำเสนอวิธีการแบ่งกลุ่มแบบนี้ แก่ Askesian Society ในปี ค.ศ. 1802


             ซึ่ง การแบ่งตามระดับความสูงจะใช้ในการตรวจและแบ่งชนิดของเมฆทางอุตุนิยมวิทยา สำหรับเป็นมาตรฐานเดียวกันเพื่อผลทางการวิเคราะห์สภาพลมฟ้าอากาศในการ พยากรณ์ โดยใช้ความสูงของฐานเมฆเป็นหลักในการแบ่งชนิด ซึ่งลักษณะของเมฆแต่ละชนิดนั้นสามารถที่จะบอกให้ทราบถึงแนวโน้มลักษณะของ สภาวะอากาศที่จะเกิดขึ้นล่วงหน้าได้ เช่น ถ้าในท้องฟ้ามีเมฆก่อตัวในทางแนวตั้งแสดงว่าอากาศกำลังลอยตัวขึ้น หมายถึง สภาวะของอากาศก่อนที่จะเกิดลมพายุ

             หรือถ้าเมฆในท้องฟ้าแผ่ตามแนวนอนเป็นชั้นๆ หมายถึง สภาวะอากาศที่สงบและจะมีกระแสลมทางแนวตั้งเล็กน้อย หรือถ้าเมฆในท้องฟ้าก่อตัวทางแนวตั้งสูงใหญ่ จะหมายถึงลักษณะของเมฆพายุฟ้าคะนอง ที่เรียกว่า เมฆคิวมูโลนิมบัส ฝนจะตกหนักและมีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง บางครั้งอาจมีฟ้าผ่าลงมายังพื้นดินด้วย ซึ่งเมฆพายุฟ้าคะนองนี้เป็นอันตรายเพราะจะมีลมกรรโชกแรง คลื่นแปรปรวน





1. เมฆชั้นต่ำ (Low Clouds) เกิดขึ้นที่ระดับต่ำกว่า 2 กิโลเมตร 

เมฆสเตรตัส (Stratus) 
เมฆสเตรตัส (Status Clouds)
เมฆแผ่นบาง ลอยสูงเหนือพื้นไม่มากนัก มีลักษณะเป็นแผ่นหนาๆ สม่ำเสมอในชั้นต่ำของบรรยากาศ ใกล้ผิวโลกเหมือนหมอก มีสีเทา มองไม่เห็นดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ ไม่ทำให้เกิดวงแสง (Halo) เว้นแต่เมื่อมีอุณหภูมิต่ำมากก็อาจเกิดได้ ลอยปกคลุมยอดเขามักเกิดขึ้นตอนเช้า หรือหลังฝนตก บางครั้งลอยต่ำปกคลุมพื้นดิน เราเรียกว่า “หมอก” 


เมฆสเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus หรือมาจาก Strato + Cumulus) 
เมฆสเตรโตรคิวมูลัส (Stratocumulus)
เมฆก้อน ลอยติดกันเป็นแพ ลักษณะอ่อนนุ่ม ไม่มีรูปทรงที่ชัดเจน เป็นก้อนกลมเรียงติดๆ กัน ทั้งทางแนวตั้งและทางแนวนอนมีช่องว่างระหว่างก้อนเพียงเล็กน้อย ทำให้มองเห็นเป็นลอนเชื่อมติดต่อกันไป  มักเกิดขึ้นเวลาที่อากาศไม่ดี และมีสีเทา เนื่องจากลอยอยู่ในเงาของเมฆชั้นบน


เมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus หรือมาจาก Nimbo + Stratus) 
เมฆนิมโบสเตรตัส (Nimbostratus)
มีลักษณะเป็นแผ่นหนาสีเทาดำ เป็นแนวยาวติดต่อกันแผ่กว้างออกไป เกิดขึ้นเวลาที่อากาศมีเสถียรภาพ ทำให้เกิดฝนพรำๆ หรือฝนตกแดดออก ไม่มีพายุฝนฟ้าคะนอง  เมฆชนิดนี้จะไม่มีฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าผ่ามักปรากฏให้เห็นสายฝนตกลงมาจากฐานเมฆ เป็นเมฆที่ทำให้เกิดฝนตก จึงเรียกกันว่า เมฆฝน เกิดเฉพาะในเขตอบอุ่นเท่านั้น



2. เมฆชั้นกลาง (Middle Clouds) เกิดขึ้นที่ระดับสูง 2 - 6 กิโลเมตร 

เมฆอัลโตคิวมูลัส (Altocumulus หรือมาจาก Alto + Cumulus) 
เมฆอัลโตคิวมูลัส (Altocumulus)
มีลักษณะอยู่เป็นกลุ่มๆ คล้ายฝูงแกะ มีสีขาว บางครั้งสีเทา มีการจัดตัวเป็นแถวๆ หรือเป็นคลื่น เป็นชั้นๆ มีเงาเมฆ มีลักษณะเป็นเกล็ดเป็นก้อนม้วนตัว (roll) อาจมี 2 ชั้น หรือมากกว่านั้น อาจมีแสงทรงกลด (Corona)


เมฆอัลโตสเตรตัส (Altostratus หรือมาจาก Alto + Status) 
เมฆอัลโตสเตรตัส (Altostratus Clouds)
มีลักษณะเป็นแผ่นหนา บางสม่ำเสมอในชั้นกลางของบรรยากาศ มองดูเรียบเป็นปุยหรือฝอยละเอียดแผ่ออกเป็นพืด ปกคลุมเต็มท้องฟ้า มีสีเทาหรือน้ำเงินอ่อน และอาจมีบางส่วนที่บางจนแสงอาทิตย์จะส่องผ่านลงมายังพื้นดินได้บ้าง อาจมีแสงทรงกลด (Corona) เกิดขึ้นปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้างมาก หรือปกคลุมท้องฟ้าทั้งหมด 


3. เมฆชั้นสูง (High Clouds) เกิดขึ้นที่ระดับสูงมากกว่า 6 กิโลเมตร 

เมฆเซอโรคิวมูลัส (Cirrocumulus หรือมาจาก Cirro + Cumulus) 
เมฆเซอโรคูมูลัส (Cirrocumulus)
เมฆสีขาว เป็นผลึกน้ำแข็ง มีลักษณะเป็นริ้วคลื่นเล็กๆ เป็นเกล็ดบางๆ สีขาว บางตอนอาจแยกจากกันแต่จะอยู่เรียงรายกันอย่างมีระเบียบ โปร่งแสง อาจมองเห็นดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ได้ มักเกิดขึ้นปกคลุมท้องฟ้าบริเวณกว้าง 


เมฆเซอโรสเตรตัส (Cirrostratus หรือมาจาก Cirro + Stratus) 
เมฆเซอโรสเตรตัส (Cirrostratus)
เมฆแผ่นบาง สีขาว เป็นผลึกน้ำแข็ง ปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง โปร่งแสง 
บางครั้งหักเหแสง ทำให้เกิดดวงอาทิตย์ทรงกลด และดวงจันทร์ทรงกลด เป็นรูปวงกลม สีคล้ายรุ้ง 


เมฆเซอรัส (Cirrus Clouds)
เมฆเซอรัส

เมฆริ้ว สีขาว รูปร่างคล้ายขนนก เป็นผลึกน้ำแข็ง มักเกิดขึ้นในวันที่มีอากาศดี ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าเข้ม 


4. เมฆก่อตัวในแนวตั้ง (Clouds of Vertical Development) 

เมฆคิวมูลัส (Cumulus)
เมฆคิวมูลัส (Cumulus Clouds)
เมฆก้อนปุกปุย สีขาวเป็นรูปกะหล่ำ ก่อตัวในแนวตั้ง เกิดขึ้นจากอากาศไม่มีเสถียรภาพ
ฐานเมฆเป็นสีเทาเนื่องจากมีความหนามากพอที่จะบดบังแสง จนทำให้เกิดเงา
มักปรากฏให้เห็นเวลาอากาศดี ท้องฟ้าเป็นสีฟ้าเข้ม


เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus)
เมฆคิวมูโลนิมบัส (Cumulonimbus)
เมฆก่อตัวในแนวตั้ง พัฒนามาจากเมฆคิวมูลัส มีขนาดใหญ่มากปกคลุมพื้นที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด
ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หากกระแสลมชั้นบนพัดแรง ก็จะทำให้ยอดเมฆรูปกะหล่ำ กลายเป็นรูปทั่งตีเหล็ก ต่อยอดออกมาเป็น เมฆเซอโรสเตรตัส หรือเมฆเซอรัส




ข้อสังเกตุ

  • ช่วงกลางคืนสามารถสังเกตเมฆก่อตัวในแนวตั้งได้ด้วยการดูฟ้าแลบในกลุ่มก้อนเมฆ ถ้าฟ้าแลบในแนวตั้งมากกว่าแนวนอนแสดงว่า กลุ่มเมฆฝนกำลังเคลื่อนตัวเข้ามาหาเรา แต่ถ้าฟ้าแลบ ในแนวนอน มากกว่าแนวตั้งแสดงถึงกลุ่มเมฆฝนเหล่านั้นกำลังเคลื่อนตัวไปจากพื้นที่ซึ่งเรายืนอยู่
  • การก่อตัวของเมฆในแนวตั้งจะใช้เวลาไม่เกิน 2-3 ชั่วโมง หากเราเห็นการก่อตัวของเมฆเหล่านี้ควรเตรียมตัวเก็บข้าวของที่อยู่บนเรือ หรือหากไม่ออกเรือไปไหนควรเตรียมหาที่จอดเรือที่ดี หรือมีที่กำบัง เพราะเมื่อเกิดฝนจะมีฟ้าผ่า และมีลมกรรโชก
  • ถ้าเกิดฟ้าผ่าควรอยู่ในที่กำบัง เช่น อาคาร ไม่ควรอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ซึ่งจะเป็นจุดเสี่ยงที่ฟ้าจะผ่า และควรถอดเครื่องประดับที่เป็นสื่อนำ เช่น แหวน สร้อย ทองแดง ออกจากร่างกาย  และปิดมือถืองดการใช้วิทยุสื่อสาร
  • หากเมฆสูงเป็นริ้วเหมือนหางม้าแสดงว่า อากาศวันนั้นดี แต่ถ้าท้องฟ้าเหลือง- แดง ลมสงบให้เตรียมตัวเพราะไม่นานจะมีพายุฝนเกิดขึ้น

ปัจจัยทำให้เกิดฝนที่ไม่สามารถสังเกตด้วยตาเปล่า
  1. มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นำความร้อนจากคาบสมุทรอินเดียมาไทย ส่วนใหญ่ตกในภาคใต้และภาคตะวันออก จะตกในช่วงบ่ายและค่ำ มีโอกาสที่จะก่อตัว เป็นเมฆในแนวตั้ง 
  2. ร่องมรสุม เกิดจากกระแสลม  ฝั่งเหนือและใต้พัดเข้าหากัน จนมีการยกตัวของอากาศ   ทำให้ฝนตกทั้งวันทั้งคืน แต่ ไม่มีลมแรง ถ้าเป็นมรสุมแรงจะเกิดฟ้าผ่าได้
  3. พายุหมุนเขตร้อน เกิดจากพายุไต้ฝุ่น-ดีเปรสชัน-ไซโคลน ทำให้ฝนตกหนักเป็นบริเวณกว้างหลายจังหวัด ซึ่งถ้ามีการประสานของสองพายุจะทำให้มีความแรงขึ้น
 สีของเมฆ
   สีของเมฆนั้นบ่งบอกถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายในเมฆ ซึ่งเมฆเกิดจากไอน้ำลอยตัวขึ้นสู่ที่สูง เย็นตัวลง และควบแน่นเป็นละอองน้ำขนาดเล็ก ละอองน้ำเหล่านี้มีความหนาแน่นสูง แสงอาทิตย์ไม่สามารถส่องทะลุผ่านไปได้ไกลภายในกลุ่มละอองน้ำนี้ จึงเกิดการสะท้อนของแสงทำให้เราเห็นเป็นก้อนเมฆสีขาว ในขณะที่ก้อนเมฆกลั่นตัวหนาแน่นขึ้น และเมื่อละอองน้ำเกิดการรวมตัวขนาดใหญ่ขึ้นจนในที่สุดตกลงมาเป็นฝน ในระหว่างกระบวนการนี้ละอองน้ำในก้อนเมฆซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นจะมีช่องว่าง ระหว่างหยดน้ำมากขึ้น ทำให้แสงสามารถส่องทะลุผ่านไปได้มากขึ้น ซึ่งถ้าก้อนเมฆนั้นมีขนาดใหญ่พอ และช่องว่างระหว่างหยดน้ำนั้นมากพอ แสงที่ผ่านเข้าไปก็จะถูกซึมซับไปในก้อนเมฆและสะท้อนกลับออกมาน้อยมาก ซึ่งการซึมซับและการสะท้อนของแสงนี้ส่งผลให้เราเห็นเมฆตั้งแต่ สีขาว สีเทา ไปจนถึง สีดำ

โดยสีของเมฆนั้นสามารถใช้ในการบอกสภาพอากาศได้

  • เมฆสีเขียวจางๆ นั้น เกิดจากการกระเจิงของแสงอาทิตย์เมื่อตกกระทบน้ำแข็ง เมฆคิวมูโลนิมบัส ที่มีสีเขียวนั้นบ่งบอกถึงการก่อตัวของ พายุฝน พายุลูกเห็บ ลมที่รุนแรง หรือ พายุทอร์นาโด
  • เมฆสีเหลือง ไม่ค่อยได้พบเห็นบ่อยครั้ง แต่อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงปลายฤดูใบไม้ผลิไปจนถึงช่วงต้นของฤดูใบไม้ร่วง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดไฟป่าได้ง่าย โดยสีเหลืองนั้นเกิดจากฝุ่นควันในอากาศ
  • เมฆสีแดง สีส้ม หรือ สีชมพู นั้นโดยปกติเกิดในช่วง พระอาทิตย์ขึ้น และ พระอาทิตย์ตก โดยเกิดจากการกระเจิงของแสงในชั้นบรรยากาศ ไม่ได้เกิดจากเมฆโดยตรง เมฆเพียงเป็นตัวสะท้อนแสงนี้เท่านั้น แต่ในกรณีที่มีพายุฝนขนาดใหญ่ในช่วงเดียวกันจะทำให้เห็นเมฆเป็นสีแดงเข้ม เหมือนสีเลือด


การดูเมฆเป็นการพยากรณ์อย่างง่าย ๆ ซึ่งนักเล่นเรือควรสนใจ เพราะใช้เพียงการสังเกตและดูปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่อยู่รอบๆตัวเราอย่างเข้าใจ การเดินทางทางน้ำ โดยเฉพาะทางทะเล มีข้อให้คำนึงมากกว่าการเดินทางด้วยวิธีอื่น สิ่งสำคัญคือ ธรรมชาติมีการบอกเตือนเราล่วงหน้าก่อนเสมอ  ด้วยวิธีการแบบธรรมชาติ เพียงแต่เราจะมีความรู้สึก รับสัมผัส สังเกตุเห็น และเรียนรู้มากพอที่จะเข้าใจธรรมชาติหรือเปล่า ...

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับสำหรับข้อสรุป ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น

    ตอบลบ