ในที่สุดก็เป็นปัญหาระดับชาติ วิกฤติกลืนกินแผ่นดิน นับแสนๆไร่ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลประเทศไทย
ตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ชายฝั่งจากการกัดเซาะไปแล้วกว่าหนึ่งแสนไร่ ทะเลค่อยๆรุกคืบเข้ามาหาเราอย่างเชื่องช้าแต่ทว่าเกรี้ยวกราด ชุมชนหนึ่งที่ได้รับเคราะห์กรรมนี้อย่างแสนสาหัสคือ ชุมชนขุนสมุทรจีน จังหวัดสมุทรปราการ ที่นี่ถูกกัดเซาะด้วยอัตรา 30 เมตรต่อปี คุณสมร เข่งสมุทร ผู้ใหญ่บ้านหญิงชาวขุนสมุทรจีนเล่าให้ฟังทั้งน้ำตาว่า ชุมชนบ้านเกิดของชาวบ้านถูกทะเลรุกคืบจนหายไปร่วมห้ากิโลเมตรแล้ว แม้ว่าชาวบ้านได้พยายามต่อกรอย่างถึงที่สุด ตั้งแต่ทิ้งเขื่อนหิน สร้างกำแพง ไปจนถึงปักเสาไฟฟ้า แต่ก็ไม่สามารถทานพละกำลังของธรรมชาติได้เลย
ชายฝั่งทะเลของประเทศไทยทั้งอ่าวไทยและอันดามัน ประสบปัญหาการกัดเซาะตลอดแนวชายฝั่ง โดยมีระดับความรุนแรงและสาเหตุที่แตกต่างกันจากปัจจัยทางธรรมชาติ
- ความเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำทะเล
- สภาวะคลื่นลมรุนแรงผิดปรกติ
- สาเหตุจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การก่อสร้างชายฝั่งรุกล้ำลงไปในทะเล การขุดลอกทรายชายฝั่งทะเล การใช้ประโยชน์ที่ดินชายฝั่งทะเล
กรมโยธาธิกาและผังเมือง ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ออกแบบและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝังทะเล เพื่อป้องกันทรัพย์สินของราชการและของประชาชนมิให้คลื่นกัดเซาะ จมลงไปในทะเล
แม้ว่าโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่ติดแนวชายฝั่ง ไม่เข้าข่ายประเภทโครงการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศ และขนาดโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2556 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2556 ก็ตาม
แต่เพื่อให้การดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะฝั่งทะเล ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมชุมชนและวัฒนธรรม อาชีพ ความปลอดภัย วิถีชีวิตน้อยที่สุด กรมโยธาธิการและผังเมือง จึงมีความจำเป็นต้องทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นควบคู่ไปกับการสำรวจออกแบบรายละเอียดเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้วย โดยแต่ละแบบจะมีข้อดี ข้อด้อยต่างกัน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างกันตามลักษณะพื้นที่ด้วย
ตัวอย่างแนวทางเลือกโครงสร้างป้องกันชายฝั่ง แนวทางแก้ไขและปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
1.การเสริมทรายชายหาด (ฺBeach Nourishment)
2.เขื่อนถุงทราย (Geotextile Sand Containers)
3.เขื่อนหินใหญ่เรียง (Revetment)
4.เขื่อนหินเกเบี้ยน (Gabion)
5.เขื่อนกำแพงคอนกรีตกันคลื่น (Concrete Revetment)
6.เขื่อนคอนกรีตขั้นบันได (Stepped Sloping Concrete Revetment)
การเสริมทรายชายหาด (Beach Nourishment)
งบประมาณ 20 ล้านต่อกิโลเมตร อยู่ได้ประมาณ 1 ปี หรือแล้วแต่มรสุม เป็นโครงสร้างแบบอ่อนใกล้ ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมเดิม
ข้อดี คือ โครงสร้างทรายหาดจะมีลักษณะใกล้เคียงของเดิม ดัดแปลงธรรมชาติน้อย ผลกระทบสิ่งแวดล้อมจึงน้อยสุด แต่ต้องมีงบประมาณบำรุงรักษาทุกๆปี
ตัวอย่างการเสริมทรายหาดสมิลา-ชลาทัศน์ สงขลา
เลื่อนหน้า ขึ้น-ลง ใช้ แถบด้านข้าง หรือใช้เมาส์ Scroll ขึ้นลง
เขื่อนถุงทราย (Geotextile Sand Containers)
งบประมาณ 30 ล้านต่อกิโลเมตร อยู่ได้ประมาณ 2 ปี
เขื่อนถุงทราย ซึ่งมีข้อเด่น คือ ความสอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์หาดทราย ก่อสร้างง่าย และเร็วแหล่งทรายในบริเวณพื้นที่โครงการสามารถหาง่ายและมีราคาก่อสร้างที่ถูก ส่วนข้อเสีย คือ ถุงทรายต้องการการบำรุงรักษามาก เนื่องจากวัสดุที่นำมาใช้ในถุงทรายมีความต้านทานต่อแสงแดดไม่สูงนัก และมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากน้ำมือมนุษย์สูง
เขื่อนหินใหญ่เรียง (Revetment)
งบประมาณ 60 ล้านต่อกิโลเมตร อยู่ได้ประมาณ 50 ปี เนื่องจากเป็นโครงสร้างแบบแข็ง ฉะนั้นต้องมีมาตรการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เขื่อนหินใหญ่เรียง ข้อดี สามารถสลายพลังงานคลื่นได้ดีมาก คลื่นจะแตกตัวบนเขื่อน และซึมผ่านรูโพรงของเขื่อน และเขื่อนหินใหญ่เรียงยังมีข้อเด่นอื่นๆ อีก คือ สอดคล้องกับสภาพหาดทรายมีความแข็งแรงทนต่อความเสียหายไม่ว่าจะเป็นความเสียหายจากธรรมชาติ หรือ น้ำมือมนุษย์ แหล่งหินสามารถหาง่าย และไม่ต้องการการบำรุงรักษามาก แต่ก็มีข้อเสีย คือ ก็สร้างยาก และมีราคาก่อสร้างค่อนข้างสูงเนื่องจากและต้องมีการเรียนเห็นเป็นชั้น ๆ หินชั้นเปลือกจะต้องมีขนาดใหญ่มาก เขื่อนหินอาจจะกีดขวางการลงหาดของผู้คน และกีดขวางการนำเรือขึ้นลงหาด
เขื่อนหินเกเบี้ยน (Gabion)
งบประมาณ 90 ล้านต่อกิโลเมตร อยู่ได้ประมาณ 3-5 ปี เป็นโครงสร้างแบบแข็ง ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
เขื่อนหินเกเบียน ก่อสร้างจากกล่องลวดตาข่ายนั้นมีความแข็งแรง คลื่นจะแตกตัวบนเขื่อน และซึมผ่านรูโพรงของเขื่อน เนื่องจากเขื่อนก่อสร้างจากหินจึงสามารถลดคลื่นที่กระโจนไปทางด้านหลังได้ดี ทำให้สลายพลังงานคลื่นได้ดี หินที่บรรจุในกล่องเกเบียนนั้นจะมีขนาดเล็กกว่า จึงอาจทำให้หาแหล่งวัสดุก่อสร้างได้ง่ายกว่า แต่เขื่อนหินเกเบียนมีข้อเสีย คือ ก่อสร้างยาก และมีราคาค่อนข้างสูง การบรรจุหินลงในกล่องนั้นจะต้องใช้ความระมัดระวัง เนื่องจากหากบรรจุหินไม่แน่น หรือการกระจายตัวของหินที่บรรจุอยู่ด้านในไม่เป็นไปตามที่ออกแบบไว้ กล่องเกเบียนจะบิดเบี้ยวเสียรูปทรง และมากขึ้นมากระทบกับกล่องหินที่อยู่ด้านในจะสั่นจนบาดลวดทำให้กล่องขาด หินเล็กๆ ที่บรรจุด้านในกล่องจะหล่นกระจัดกระจาย ทำให้ชายหาดไม่เหมาะสมกับการเดินเล่น หรือท่องเที่ยว และจะต้องบำรุงรักษากล่องทุก 3-5 ปี
เขื่อนกำแพงคอนกรีตกันคลื่น (Concrete Revetment)
งบประมาณ 90 ล้านต่อกิโลเมตร ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
กำแพงกั้นคลื่นแนวดิ่ง เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่ทนทานต่อน้ำทะเลจึงมีความแข็งแรงไม่ต้องการบำรุงรักษามาก โครงสร้างประเทศกำแพงนี้มีความสวยงามกว่าโครงสร้างจากหิน และสอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตแบบชุมชนเมือง โครงสร้างในแนวดิ่งจะไม่รุกล้ำเข้าไปในทะเล ทำให้ชายหาดมีความกว้างเท่าเดิม อย่างไรก็ตามก็ยังมีส่วนเสีย ซึ่งรวมไปถึงวิธีการขั้นตอนการก่อสร้างที่ยากโดยจะต้องมีการตอกเสาเข็ม หล่อคอนกรีต รอเวลาให้คอนกรีตเซตตัว ทำการรัดตัวเสาเข็ม จึงทำให้ราคาในการก่อสร้างค่อนข้างสูง คลื่นด้านหน้ากำแพงจะมีความสูงเพิ่มขึ้นประมาณเท่าตัว จนพื้นที่ด้านบนอาจถูกคลื่นไถลซัดขึ้นไปจนเสียหาย ส่วนชายหาดด้านหน้าจะชันขึ้นเนื่องจากคลื่นสะท้อน จึงทำให้ต้องมีการซ่อมแซมพื้นที่ด้านหลังแนวเขื่อนอยู่บ่อยครั้ง
เขื่อนคอนกรีตขั้นบันได (Stepped Sloping Concrete Revetment)
งบก่อสร้างประมาณ 100 ล้านต่อกิโลเมตร ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม
กำแพงกั้นคลื่นบันได ซึ่งมีข้อเด่น คือ สอดคล้องกับสภาพชายหาดท่องเที่ยว การที่เขื่อนเป็นขั้นบันไดจะสามารถลงชายหาดได้ง่าย โครงสร้างเขื่อนก่อสร้างจากคอนกรีตที่ทนน้ำทะเลจึงมีความแข็งแรงไม่ต้องการการบำรุงรักษามาก และวัสดุก่อสร้างหาได้ง่ายไม่ว่าจะเป็นคอนกรีต หรือ เสาเข็ม แต่อย่างไรก็ตามกำแพงกันคลื่นบันไดนั้นมีข้อเสีย คือ อาจต้องสูญเสียความกว้างของชายหาดไปบ้าง การก่อสร้างเขื่อนนั้นยาก และมีราคาค่าก่อสร้างสูง ซึ่งรวมไปถึงวิธีการขั้นตอนการก่อสร้างที่ซับซ้อนโดยต้องมีการตกเสาเข็ม หล่อคอนกรีต รอเวลาให้คอนกรีตเซตตัว ในขณะเดียวกันพื้นที่ด้านบนสันเขื่อนอาจถูกคลื่นซัดขึ้นไปจนก่อให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งปลูกสร้างด้านบนได้ แต่ผิวของเขื่อนที่เป็นขั้นบันไดนั้นจะสามารถลดปริมาณคลื่นที่จะกระโจนข้ามไปด้านหลังได้บ้าง จึงอาจต้องมีการซ่อมแซมพื้นที่ด้านบนสันเขื่อนบ้าง
เอกสารอ้างอิง : โครงการออกแบบสันเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเล
-กรมโยธาธิการและผังเมือง
-บริษัท เอส ที เอส เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด
-บริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัด