วันจันทร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คลองบางกอกน้อย

คลองบางกอกน้อย

เดินเรือ คลองบางกอกน้อย ในแผนที่ GPS

ประวัติ
ในปี 2065 สมเด็จพระไชยราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาโปรดเกล้าฯ ให้ขุด คลองลัดเจ้าพระยา ตรงคลองบางกอกใหญ่ตรงส่วนที่แคบที่สุด ซึ่งก็คือบริเวณปากคลองบางกอกน้อยไปถึงปากคลองบางกอกใหญ่ ส่วนที่กลายเป็นลำน้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันคือ หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือหน้าสถานีรถไฟบางกอกน้อยถึงวัดอรุณฯ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมที่ผ่านย่านบางกอกได้กลายเป็น “ คลองบางกอกน้อย” และ “ คลองบางกอกใหญ่”

เมื่อครั้งยังเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา “ คลองบางกอกน้อย” เป็นเพียงเขตเกษตรกรรม ชุมชนริมคลองจึงมีวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นภายหลังจากการขุดคลองลัดที่ย่านบางกอก ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยย่นระยะทางเท่านั้น แต่ยังทำให้ชุมชนขยายกลายเป็นเมืองอยู่บริเวณสองฟากฝั่งคลอง

ในปี 2515 มีการรวมกรุงเทพฯ กับธนบุรีขึ้นเป็นเมืองหลวง การตัดถนนหลายสายที่ฝั่งธนบุรี นำสาธารณูปโภคสาธารณูปการและความสะดวกสบายมาพร้อมกับการเข้ามาอยู่ของผู้คน จากเดิมที่เป็นชุมชนย่อยก็ได้กลายเป็นชุมชนใหญ่ พื้นที่นาและสวนผลไม้เปลี่ยนเป็นบ้านจัดสรร โรงงานและอาคารพาณิชย์

อย่างไรก็ตามยังมีบริเวณริมคลองบางกอกน้อยที่เคยเป็นแหล่งศิลปวัฒนธรรมและศาสนาสถาน เช่น ชาวตรอกบ้านบุ วัดศรีสุดาราม วัดสุวรรณาราม ฯลฯ ที่ยังคงดำรงอยู่และมีวิถีชีวิตประจำวันเหมือนดังเช่นเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมา คลองบางกอกน้อยเป็นเส้นทางล่องเรือยอดนิยมของชาวต่างประเทศ สามารถชมวิถีชีวิตริมคลอง และแวะชมแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย

วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คลองบางกอกใหญ่

คลองบางกอกใหญ่

เดินเรือ คลองบางกอกใหญ่ ในแผนที่ GPS

ประวัติ
คลองบางกอกใหญ่ หรือ คลองบางหลวง เดิมเคยเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำเจ้าพระยามาก่อน กล่าวคือบริเวณตั้งแต่ปากคลองบางกอกน้อย ตรงข้ามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปจนถึงปากคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบันนั้น ยังเป็นแผ่นดินอยู่ แม่น้ำเจ้าพระยาเดิมจะอ้อมเลี้ยวจากหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคุ้งกว้างมาทะลุออกข้างวัดท้ายตลาด ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระไชยราชาธิราช (พ.ศ. 2077 - 2089) โปรดเกล้าให้ขุดคลองลัดระหว่างคุ้งแม่น้ำทั้งสองเพื่อย่นระยะทางและอำนวยความสะดวกให้กับบรรดาพ่อค้าทูตานุทูตชาวตะวันตกที่เริ่มเข้ามาติดต่อค้าขายและเจริญสัมพันธไมตรีกับอาณาจักรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในสมัยนั้น ต่อมา คลองลัดเจ้าพระยา เริ่มกว้างใหญ่ขึ้นกลายเป็นแม่น้ำ ส่วนแม่น้ำเจ้าพระยาเดิมก็เล็กลงกลายเป็นคลองบางกอกน้อยและคลองบางกอกใหญ่ ถึงสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสิน ราชสำนักย้ายมาอยู่ที่กรุงธนบุรี คลองบางกอกใหญ่กลายมาเป็นชุมชนของข้าหลวง และโปรดเกล้าให้บรรดาคนจีนซึ่งได้เคยช่วยเหลือพระองค์มาตั้งบ้านเรือนอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกกันติดปากว่า คลองบางข้าหลวง หรือ คลองบางหลวง สืบมาถึงในปัจจุบัน


วันพฤหัสบดีที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คลองลัด แม่น้ำเจ้าพระยา

คลองลัด แม่น้ำเจ้าพระยา
แม่น้ำเจ้าพระยา เกิดจากการรวมกันของแม่น้ำ 4 สาย คือ ปิง วัง ยม น่าน และเป็นที่ตั้ง ของ เมืองหลวงของไทยถึง  ๓  เมืองหลวง ได้แก่


  • พระนครศรีอยุธยา
  • กรุงธนบุรี
  • กรุงเทพมหานคร  
บริเวณตั้งแต่ใต้อยุธยาลงมาถึงกรุงเทพ ฯ   เป็นช่วงที่แม่น้ำเจ้าพระยา ไหลอ้อมมาก บางช่วงคตเคี้ยวมากจึงมีการขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ภายหลังแม่น้ำเจ้าพระยาสายเดิมก็ตื้นเขิน กลายเป็นคลองไป ส่วนคลองลัดที่ขุดใหม่ก็กว้างขึ้นจนกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาปัจจุบัน

การขุดคลองลัดแม่น้ำเจ้าพระยามีครั้งสำคัญๆ อยู่ 4 ครั้ง

   คลองขุดครั้งแรก ขุดในสมัยสมเด็จพระชัยราชาธิราช พ.ศ. 2065 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดจากปากคลองบางกอกน้อย ถึงปากคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)  เรียกว่า "คลองลัดบางกอก"(คลองขุดหมายเลข 1 ในรูป) และสมัย พ.ศ. 2081 สมัยสมเด็จพระจักรพรรดิ์ ได้มีการขุดคลองลัดบางกรวย

   คลองลัดที่ขุดขึ้นช่วยย่นระยะเวลาเดินทางได้ 1 วัน ต่อมากระแสน้ำส่วนใหญ่ได้ไหลเข้าสู่คลองลัด ทำให้คลองลัดกว้างและลึกขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างในปัจจุบัน ส่วนเจ้าพระยาเดิมที่ไหลคดโค้ง ก็ค่อยๆ เล็กแคบลงเป็น คลองบางกอกน้อย คลองชักพระ และคลองบางกอกใหญ่

   คลองขุดครั้งที่สอง ขุดในสมัยพระเจ้าพระมหาจักรพรรดิ์ พ.ศ. 2081 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองลัดบางกรวย จากบริเวณคลองบางกรวย ถึงคลองบางกอกน้อย เรียกว่า "คลองลัดบางกรวย" (คลองขุดหมายเลข 2 ในรูป)

   คลองขุดครั้งที่สาม ขุดในสมัยพระเจ้าปราสาททอง พ.ศ. 2139 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุด "คลองลัดนนท์"  (คลองขุดหมายเลข 3 ในรูป)

   คลองขุดครั้งที่สี่ ขุดในสมัยพระเจ้าท้ายสระ พ.ศ. 2265 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ขุด "คลองลัดเกร็ด" ทำให้ปากเกร็ดเป็นเกาะกลางแม่น้ำเจ้าพระยา จนเป็นเกาะเกร็ดดังปัจจุบัน

  การล่องเรือในลำน้ำเจ้าพระยา แม่น้ำคูคลองต่างๆ จะเต็มไปด้วยสถานที่สำคัญ ที่มีคุณค่าทาง ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม และจุดท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดวาอารามต่างๆ สิ่งก่อสร้างที่มีการผสมผสานจากหลายๆกลุ่มวัฒนธรรม จนรวมมาเป็นชนชาติไทย ซึ่งเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก

คลองประเวศบุรีรมย์

คลองประเวศบุรีรมย์
จากคลองพระโขนงไปเชื่อมกับคลองด่าน ออกสู่แม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

เดินเรือ คลองประเวศบุรีรมย์ ในแผนที่ GPS


คลองท่าถั่ว หรือชื่อทางการคือคลองประเวศบุรีรมย์ เรือที่จะสัญจรผ่านประตูน้ำท่าถั่วต้องจอดรอเวลาการเปิดบานประตูที่ด้านนอกบานประตู 


ประวัติ
คลองประเวศน์บุรีรมย์ เป็นคลองยุทธศาสตร์ เป็นคลองที่เริ่มต้นขุดจากกรุงเทพมหานคร สาเหตุให้มีการขุดคลองนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมันนั้นทำสงครามกับญวน โดยรบกันในดินแดนลาวและเขมร โดยการนำทัพของเจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) รบกับญวนถึง 15 ปี หากขุดคลองประเวศบุรีรมย์สำเร็จ จะเป็นทางลำเลียงกำลังบำรุงจากเมืองหลวงไปสู่สนามรบได้รวดเร็วและสะดวกที่สุด นับว่าเป็นคลองขุดยุทธศาสตร์ (เฉพาะช่วงแรก) ขนานกับคลองแสนแสบ เริ่มต้นขุดต่อจากคลองพระโขนง ที่เป็นคลองธรรมชาติแยกมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดโดยหวังจะไปบรรจบกับแม่น้ำบางประกง พอผ่านเข้าเขตลาดกระบังจึงเรียกว่า คลองประเวศน์ แต่ยังไม่ทันเสร็จ รัชกาลที่ 3 เสด็จสวรรคตก่อน 

จากคำบอกเล่าต่อกันมาว่า ก่อนหน้าที่จะขุดคลองประเวศบุรีรมย์ พื้นที่แถบนี้เป็นป่าโปร่ง มีผู้คนอาศัยอยู่เบาบางมาก ในประวัติศาสตร์ได้มีกองทัพช้างศึกของพระยาตากเดินผ่าน โดยมาพักที่บริเวณวัดคู้ ลาดกระบัง แล้วจึงเดินทัพผ่านคลองหลวงแพ่ง คลองสวน เทพราช ประเวศ ถึงแม่น้ำบางปะกง มารวมทัพกันที่ป่าต้นจันทร์ หรือสนามจันทร์ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บ้านโพธิ์ และได้เดินเลาะไปตามชายน้ำบางปะกง ไปพักในเขตอำเภอบางคล้า และสนามชับเขต ตามลำดับ

ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสแผ่อำนาจจักรวรรดินิยม รุกยึดได้ญวน และได้ยึดเอาพื้นที่บางส่วนในเขมรและลาว ที่อยู่ในปกครองของไทยไปด้วย ไทยจึงมองเห็นภัยจากการรุกรานจากฝรั่งเศส จึงต้องเตรียมป้องกันภัยที่จะรุกของประเทศตะวันตกเข้ามาทางด้านตะวันออกของไทย

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในราวปี 2420 (ปีหลังจากฝรั่งเศสยึดครองญวน และตราด ประมาณปี 2376 และในปี พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้นำทหารญวนเข้ายึดจังหวัดจันทบุรี) ได้ทรงประกาศใช้พระราชบัญญัติ "ประกาศขุดคลองคลอง พ.ศ.2420" โปรดเกล้าฯให้ขุดคลองจากพระโขนงเชื่อมกับแม่น้ำเชื่อมกับแม่น้ำบางปะกง ต่อจากคลองที่ได้ขุดค้างไว้แต่รัชกาลที่ 3 จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความยาวทั้งสิ้น 1150 เส้น หรือ 46 กิโลเมตร ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ พระยาดำรงราชพลขันธ์ เป็นแม่กลองขุด และ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยรัฒน์ เป็นผู้อำนวยการขุด เริ่มขุดในปี 2421 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2423 ใช้เวลาขุด 3ปีเศษ โดยมีวัตถุประสงค์ในการขุด คือ เพื่อการคมนาคม ระหว่างเมืองนครเขื่อนขันธ์ (จ.สมุทรปราการ) และเมืองฉะเชิงเทรา และเพื่อเปิดพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น บริเวณสองฝั่งคลอง ในการขุดนี้ใช้ที่มาของเงินทุน 3 แหล่ง คือ พระราชทานเงินจากกระทรวงพระคลังมหาสมบัติ 80,000 บาทเศษ เพื่อจ้างจีนขุด มีการจ่ายเนื้อฝิ่นเป็นค่าจ้างขุดให้แก่พวกจีน และทรงอนุญาติให้ราษฏรช่วยออกค่าใช้จ่ายในการขุดคลอง รวมเป็นเงิน 32,752 บาท โดยผู้ออกค่าใช้จ่ายจะได้จับจองที่ดินอยู่อาศัยและทำกินเป็นการตอบแทนตามอัตราที่ได้จ่ายเงินช่วยเหลือ

พระราชบัญญัติ "ประกาศขุดคลอง" นั้นทำให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกออกไปอย่างกว้างขวางตามความต้องการของรัฐบาล ราษฏรหลายพันครอบครัวได้เข้าไปทำการเพาะปลูกตลอดแนวสองฝั่ง คลองประเวศฯ และคลองแยก จึงน่าจะนับว่าเป็นโครงการแรกที่รัฐบาลในสมัยรัชกาลที่ 5 ประสพความสำเร็จในการพัฒนาที่ดินให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยประชาชนได้มีส่วนร่วม นอกจากนี้พระองค์ยังได้ออกกฏหมายห้ามราษฏรปลูกอาคารชิดริมคลอง ต้องถอยร่น 3 วา (6 เมตร) ซึ่งแรกติดปากว่า "กฏหมาย 3 วา" แต่ด้วยคลองได้ขยายออกไปเพราะตลิ่งพังทลาย ทั้งมีได้มีการบังคับกฏหมายกันอย่างจริงจัง กฏหมาย 3 วา จึงไม่มีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน

คนเก่าแก่ในพื้นที่ได้เล่าสืบต่อกันมาว่าก่อนปี พ.ศ. 2420 พระยาประเวศบุรีรมย์ ได้รับมองหมายให้เป็นแม่กองคุมคนจีนขุดคลองเชื่อมแม่น้ำสองสาย คือแม่น้ำเจ้าพระยาตรงพระโขนงกับแม่น้ำบางปะกงตรงท่าถั่ว ปัจจุบัน คือ ประตูน้ำท่าถั่ว คลองขุดที่มีขนาดกว้าง 4 วา (ปัจจุบันกว้างราม 20 วาเศษ) ขุดตามวิถีกระสุนปืนใหญ่ที่ยิงไป ซึ่งเป็นการขุดคลองนี้ เป็นการขุดอย่างมีการรังวัดแนวคลองเป็นเส้นตรง ทำให้ย่นระยะทางเดินทางให้สั้นมากที่สุด และให้ขุดคลองแยกจากคลองประเวศบุรีรมย์ อีก 4 คลอง คือ คลองหนึ่ง คลองสอง คลองสาม และคลองสี่ เพื่อเป็นการขยายที่แหล่งทำกินให้เพียงพอกับความต้องการของราษฏร และในกาลต่อมาได้มีคลองอื่นๆ มาตัดอีกหลายคลอง เช่น คลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เป็นต้น

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ พระราชทานนามคลองตามชื่อนายกองคุมขุดคลองว่า คลองประเวศบุรีรมย์ ชาวไทย ชาวจีน ไทยจีน ไทยมุสลิม รามัญ เขมร พากันจับจองที่ดินสองฝั่งคลองเป็นที่ทำกิน กลายเป็นชุมชนริมคลองที่หลากหลายวัฒนธรรม จนทุกวันนี้ ในอดีด การเดินทางจากฉะเชิงเทราเข้ากรุงเทพฯ การเดินทางโดยเรือจะสะดวกและรวดเร็วที่สุด โดยเรือเมล์ขาวของนายเลิศ ที่มีเพียงลำเดียวรับคนจากประตูน้ำท่าถั่ว (ฉะเชิงเทรา) ผ่านตลาดคลองสวน ก่อนแล่นเข้าประตูน้ำ (วังสระประทุม) กรุงเทพฯ 



คลองสำโรง

คลองสำโรง เป็นเส้นทางเชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยา กับแม่น้ำบางปะกง คลองสำโรง เป็นคลองที่สำคัญของจังหวัดสมุทรปราการ และจังหวัดฉะเชิงเทรา สันนิษฐานว่าเป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยขอมเรืองอำนาจ ระหว่าง พ.ศ.  978 - พ.ศ.1700 ถือว่าเป็นคลองประวัติศาสตร์คลองหนึ่ง มีอายุประมาณ 800 ปี เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวอำเภอบางพลี เป็นเส้นทางคมนาคม การเกษตร อุปโภค บริโภค และเป็นเส้นทางยุทศาสตร์ในอดีต

เดินเรือ คลองสำโรง ในแผนที่ GPS


ประวัติ
คลองสำโรงเป็นคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง มีความยาวประมาณ 55.650 กิโลเมตร ขุดในสมัยขอมเรืองอำนาจ ระหว่างพ.ศ.978 ถึง1700 หลักฐานที่พบคือ คำดั้งเดิมซึ่งเป็นภาษาขอม เช่น ทับนาง หนามแดง บางโฉลง ผู้เชี่ยวชาญทางภาษาขอมชี้แจงว่า "โฉลง" เพี้ยนมาจากคำว่า จรรโลง แปลว่า ยก (ยกในที่นี้ อาจบ่งถึงสภาพท้องถิ่น มีการยกยออยู่ตามลำคลองหรือมีการยกเรือ ลากเรือในช่วงหน้าแล้ง)

ราว พ.ศ.2041 เชื่อกันสืบมาว่าสมเด็จพระรามาธิบดี (ที่ 2 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2034-2072) โปรดให้ขุดลอกชำระคลองสำโรงกับคลองทับนางให้กว้างขึ้น แล้วเรียกชื่อเดียวทั้งสายว่า คลองสำโรง เชื่อมแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง

 สำโรง หมายถึง ต้นสำโรง เป็นคำมาจากภาษาเขมรว่า สํโรง (อ่านว่า ซ็อมโรง)
 ชุมชนในคลองสำโรงมีเทวสถานตั้งรูปเคารพในศาสนาพราหมณ์ ครั้นขุดลอกชำระเมื่อ พ.ศ.2041 จึงพบเทวรูปสัมฤทธิ์ 2 องค์ เรียกภายหลังว่า พระยาแสนตา องค์หนึ่ง กับ บาทสังขกร อีกองค์หนึ่ง

 เทวรูปสัมฤทธิ์ 2 องค์นี้ คนสมัยหลังเรียกด้วยภาษาปาก (ชาวบ้าน) ว่า พระประแดง มีรากจากภาเขมรว่า “กมรเตง” เป็นชื่อยศใช้เรียกพราหมณ์แบบเขมรโบราณสมัยนครธม มีศาลอยู่ตรงโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา (กระเพาะหมู) ตรงข้ามปากคลองสำโรง เรียก ศาลพระประแดง

 ต่อมายุคปลายอยุธยายาเรียกบ้านเมืองบริเวณปากน้ำว่า เมืองพระประแดง และ ปากน้ำพระประแดง (ขณะนั้นยังไม่มีชื่อเจ้าพระยา) ครั้นยุครัตนโกสินทร์ยกเป็นชื่อ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

สถานที่ท่องเที่ยว
ตลาดน้ำโบราณบางพลี
น้าทวน น้าฐา น้านิด

รูปในหลวง ไม่ไหม้ไฟ จากเหตุการ์ณไฟไหม้ตลาดน้ำบางพลี

คลองแสนแสบ

คลองแสนแสบ

เดินเรือ คลองแสนแสบ ในแผนที่ GPS

ประวัติ
  คลองแสนแสบ เป็นคลองขุดที่มีความยาวมากที่สุดของประเทศไทย เป็นคลองที่เชื่อมต่อจากคลองมหานาค ตรงบริเวณตลาดโบ๊เบ้ไปทางทิศตะวันออก จนไปทะลุออกแม่น้ำบางปะกงที่ฉะเชิงเทรา โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง
  ช่วงแรกเริ่มจากจุดเชื่อมต่อกับคลองมหานาคไปจนถึงหัวหมาก 
  ช่วงที่สองช่วงปลาย เริ่มจากหัวหมากไปออกแม่น้ำบางปะกง

สันนิษฐานกันว่าคลองแสนแสบช่วงต้นถูกขุดขึ้นหลังจากได้ขุดคลองมหานาคในสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจะฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ส่วนคลองแสนแสบช่วงที่สอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ ให้ พรยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กลองในการขุดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2380 เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง ใช้ขนส่งไพร่พล ยุทโธปกรณ์ และเสบียงอาหารในสงครามระหว่างไทยกับเวียดนาม หรือที่เรียกกันว่า อันนัมสยามยุทธ

การขุดคลองเริ่มตั้งแต่หัวหมากไปจนถึงบางขนาก เป็นระยะทาง 1337 เส้น 19 วา 2 ศอก โดยคลองมีความลึก 4 ศอก กว้าง 6 ศอก และแก้คลองพระโขนงไปพร้อมกันด้วย สิ้นเงินไปทั้งสิ้น 1206 ชั่ง 13 ตำลึง 2 บาท  1 สลึง 1 เฟื่อง ขุดอยู่ 3 ปี ก็แล้วเสร็จ เรียกคลองขุดใหม่นี้ว่า คลองบางขนาก หรือคลองแสนแสบช่วงปลายนั่นเอง

ส่วนที่มาของชื่อคลองแสนแสบนั้น น่าจะมาจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่คลองนี้ไหลผ่าน ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเต็มไปด้วยทุ่งหญ้า มีน้ำขังเจิ่งนองตลอดปี จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงแหล่งใหญ่ ทุ่งเหล่านี้มีหลายแห่ง เช่น ทุ่งบางกะปิ ทุ่งคลองตัน ทุ่งมีนบุรี ทุ่นหนองจอก และจากหลักฐานสำคัญ คือ รายงานการเดินทางของ นาย ดี.โอคิง (D.O.King) นักสำรวจชาวอังกฤษ แห่งกรุงลอนดอน มีความตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของผู้คนแถบคลองแสนแสบนี้ว่า

"...คลองนี้มีความยาว 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณที่ราบชนบท ซึ่งใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวโดยเฉพาะ คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ เช่นเดียวกับชาวสยามอื่นๆ พื้นบ้านของคนเหล่านี้ทำด้วยไผ่ยกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 4 ฟุต เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นผ้ารัดเอวธรรมดาๆ และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ..."

คลองแสนแสบเป็นแหล่งชุกชุมของยุงจริงๆ ความเจ็บปวดของชาวบ้าน หรือผู้สัญจรผ่านไปมาที่เกิดจากยุงกัด จึงเป็นที่มาของชื่อ "แสนแสบ" นั่งเอง

อีกข้อสันนิฐาน "แสนแสบ" เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเขมรว่า "แสสาบ" เพราะในสมัยหนึ่งคนไทยเคยเรียกทะเลว่า "เส" หรือ "แส" ส่วนคำว่า "สาบ" เป็นภาษาเขมรแปลว่า "จืด" คำนี้คนไทยยืมมาใช้เรียกทะเลน้ำจืดว่า "ทะเลสาบ"อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน ดังนั้น "แสสาบ" หรือที่แปลว่า ทะเลน้ำจืด อาจถูกนำมาใช้เรียก คลองน้ำจืดอันกว้างและยาวแห่งนี้ แล้วเสียงเพื้ยนกลายมาเป็น "แสนแสบ"

ต่อมารัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช (รัชกาลที่ 5) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมแก้ขนาดปากคลองจากเดิมกว้าง 6 วา เป็น 8 วา กับให้มีสะพานโยงทั้งสองฝั่งคลอง ฝั่งคลองละ 6 ศอก เพื่อสนับสนุนการคมนาคมและการค้าขาย ทำให้ชุมชนริมคลองแสนแสบยิ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว

เนื่องจากคลองแสนแสบเป็นคลองหลักในการคมนาคมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับลุ่มน้ำบางปะกง จึงมีการขุดคลองซอยแยกออกจากคลองแสนแสบเป็นจำนวนมาก เช่น คลองจั่น คลองกุ่ม คลองบางชัน คลองสามวา คลองสิบสาม คลองสิบสี่ คลองสิบห้า คลองตัน คลองกะจะ คลองหัวหมาก คลองสะพานสูง คลองลาดบัวขาว คลองสี่ คลองบ้านเกาะ คลองนครเนื่องเขต เป็นตัน

ตำนานที่ทำให้คลองแสนแสบเป็นที่รู้จักของคนไทยแทบทุกคนก็คือ ตำนานแผลเก่า เป็นเรื่องราวความรักของ ไอ้ขวัญ - อีเรียม แห่งทุ่งบางกะปิ ความรักที่เกิดจากการเล่นน้ำในคลองแสนแสบด้วยกัน แต่เป็นความรักที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม จนทำให้ต้องจบชีวิตด้วยการจมน้ำตายที่คลองแห่งนี้

วันพฤหัสบดีที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2557

คลองพระโขนง

คลองพระโขนง เชื่อมคลองหนองบอนกับแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวประมาณ 10 กิโลเมตร คลองพระโขนงไปเชื่อมกับคลองด่าน ออกสู่แม่น้ำบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา และเชื่อมกับ คลองประเวศบุรีรมย์

เดินเรือ คลองพระโขนง ในแผนที่ GPS

ประวัติ
คลองพระโขนง เดิมเป็นคลองธรรมชาติมีลำน้ำคดเคี้ยว เป็นคลองที่เชื่อมต่อคลองหนองบอนกับแม่น้ำเจ้าพระยา ความยาวประมาณ 10 กม. มีการขุดคลองพระโขนงในสมัยรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าให้พระยาศรีพิพัฒน์ (ทัต บุนนาค) ซึ่งต่อมาได้เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ (ในสมัย ร.4) เป็นผู้ดำเนินการขุดในปี พ.ศ. 2380 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2383 เพื่อประโยชน์ในการคมนาคมโดยจ้างแรงงานชาวจีนขุด 

ประตูระบายน้ำคลองพระโขนง

คลองสรรพสามิต-คลองสหกรณ์

คลองสรรพสามิต เป็นคลองขุดเชื่อมบริเวรปากแม่น้ำเจ้าพระยา และไปเชื่อมกับคลองสหกรณ์ จนถึงแม่น้ำท่าจีน ระยะทางรวม จากปากน้ำเจ้าพระยา ถึงปากน้ำท่าจีน ประมาณ 30 กม

เดินเรือ คลองสรรพสามิต ในแผนที่ GPS

ประวัติ
คลองสรรพสามิตขุดขึ้นในปีพ.ศ. 2482 โดยรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในสมัยนั้น เพื่อใช้ลำเลียงขนส่งเกลือซึ่งเป็นสินค้าที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีตามพระราชบัญญัติเกลือ พ.ศ.2481 โดยปากคลองเริ่มจากริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่บ้านแหลมฟ้าผ่า ไปถึงปลายคลองบางปลากดบริเวณหมู่บ้านสาขลา ความยาวประมาณ 8 กิโลเมตร กว้างประมาณ 16 เมตร ต่อมาได้มีการขุดคลอง คลองสหกรณ์ทะลุออกยังแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสาคร เพื่อเชื่อมต่อและบรรจบกับแม่น้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม รวมความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร