คลองแสนแสบ
เดินเรือ คลองแสนแสบ ในแผนที่ GPS
ประวัติ
คลองแสนแสบ เป็นคลองขุดที่มีความยาวมากที่สุดของประเทศไทย เป็นคลองที่เชื่อมต่อจากคลองมหานาค ตรงบริเวณตลาดโบ๊เบ้ไปทางทิศตะวันออก จนไปทะลุออกแม่น้ำบางปะกงที่ฉะเชิงเทรา โดยแบ่งเป็น 2 ช่วง
ช่วงแรกเริ่มจากจุดเชื่อมต่อกับคลองมหานาคไปจนถึงหัวหมาก
ช่วงที่สองช่วงปลาย เริ่มจากหัวหมากไปออกแม่น้ำบางปะกง
สันนิษฐานกันว่าคลองแสนแสบช่วงต้นถูกขุดขึ้นหลังจากได้ขุดคลองมหานาคในสมัยรัชกาล พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจะฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ส่วนคลองแสนแสบช่วงที่สอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โปรดเกล้าฯ ให้ พรยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษา (ทัต บุนนาค) เป็นแม่กลองในการขุดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2380 เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง ใช้ขนส่งไพร่พล ยุทโธปกรณ์ และเสบียงอาหารในสงครามระหว่างไทยกับเวียดนาม หรือที่เรียกกันว่า อันนัมสยามยุทธ
การขุดคลองเริ่มตั้งแต่หัวหมากไปจนถึงบางขนาก เป็นระยะทาง 1337 เส้น 19 วา 2 ศอก โดยคลองมีความลึก 4 ศอก กว้าง 6 ศอก และแก้คลองพระโขนงไปพร้อมกันด้วย สิ้นเงินไปทั้งสิ้น 1206 ชั่ง 13 ตำลึง 2 บาท 1 สลึง 1 เฟื่อง ขุดอยู่ 3 ปี ก็แล้วเสร็จ เรียกคลองขุดใหม่นี้ว่า คลองบางขนาก หรือคลองแสนแสบช่วงปลายนั่นเอง
ส่วนที่มาของชื่อคลองแสนแสบนั้น น่าจะมาจากสภาพแวดล้อมของพื้นที่ที่คลองนี้ไหลผ่าน ซึ่งเป็นที่ราบลุ่มเต็มไปด้วยทุ่งหญ้า มีน้ำขังเจิ่งนองตลอดปี จึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงแหล่งใหญ่ ทุ่งเหล่านี้มีหลายแห่ง เช่น ทุ่งบางกะปิ ทุ่งคลองตัน ทุ่งมีนบุรี ทุ่นหนองจอก และจากหลักฐานสำคัญ คือ รายงานการเดินทางของ นาย ดี.โอคิง (D.O.King) นักสำรวจชาวอังกฤษ แห่งกรุงลอนดอน มีความตอนหนึ่งที่เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของผู้คนแถบคลองแสนแสบนี้ว่า
"...คลองนี้มีความยาว 55 ไมล์ เชื่อมนครกรุงเทพฯ กับแม่น้ำบางปะกง ผ่านบริเวณที่ราบชนบท ซึ่งใช้สำหรับการเพาะปลูกข้าวโดยเฉพาะ คนพื้นเมืองเป็นคนเชื้อสายมาเลย์ เช่นเดียวกับชาวสยามอื่นๆ พื้นบ้านของคนเหล่านี้ทำด้วยไผ่ยกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 4 ฟุต เสื้อผ้าที่สวมใส่เป็นผ้ารัดเอวธรรมดาๆ และไม่ว่าพวกเขาจะทำอะไรอยู่ก็ตาม มือข้างหนึ่งจะต้องใช้ปัดยุงเสมอ..."
คลองแสนแสบเป็นแหล่งชุกชุมของยุงจริงๆ ความเจ็บปวดของชาวบ้าน หรือผู้สัญจรผ่านไปมาที่เกิดจากยุงกัด จึงเป็นที่มาของชื่อ "แสนแสบ" นั่งเอง
อีกข้อสันนิฐาน "แสนแสบ" เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาเขมรว่า "แสสาบ" เพราะในสมัยหนึ่งคนไทยเคยเรียกทะเลว่า "เส" หรือ "แส" ส่วนคำว่า "สาบ" เป็นภาษาเขมรแปลว่า "จืด" คำนี้คนไทยยืมมาใช้เรียกทะเลน้ำจืดว่า "ทะเลสาบ"อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน ดังนั้น "แสสาบ" หรือที่แปลว่า ทะเลน้ำจืด อาจถูกนำมาใช้เรียก คลองน้ำจืดอันกว้างและยาวแห่งนี้ แล้วเสียงเพื้ยนกลายมาเป็น "แสนแสบ"
ต่อมารัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมหาราช (รัชกาลที่ 5) ได้โปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมแก้ขนาดปากคลองจากเดิมกว้าง 6 วา เป็น 8 วา กับให้มีสะพานโยงทั้งสองฝั่งคลอง ฝั่งคลองละ 6 ศอก เพื่อสนับสนุนการคมนาคมและการค้าขาย ทำให้ชุมชนริมคลองแสนแสบยิ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว
เนื่องจากคลองแสนแสบเป็นคลองหลักในการคมนาคมระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยากับลุ่มน้ำบางปะกง จึงมีการขุดคลองซอยแยกออกจากคลองแสนแสบเป็นจำนวนมาก เช่น คลองจั่น คลองกุ่ม คลองบางชัน คลองสามวา คลองสิบสาม คลองสิบสี่ คลองสิบห้า คลองตัน คลองกะจะ คลองหัวหมาก คลองสะพานสูง คลองลาดบัวขาว คลองสี่ คลองบ้านเกาะ คลองนครเนื่องเขต เป็นตัน
ตำนานที่ทำให้คลองแสนแสบเป็นที่รู้จักของคนไทยแทบทุกคนก็คือ ตำนานแผลเก่า เป็นเรื่องราวความรักของ ไอ้ขวัญ - อีเรียม แห่งทุ่งบางกะปิ ความรักที่เกิดจากการเล่นน้ำในคลองแสนแสบด้วยกัน แต่เป็นความรักที่เต็มไปด้วยอุปสรรคขวากหนาม จนทำให้ต้องจบชีวิตด้วยการจมน้ำตายที่คลองแห่งนี้