ความสุข จะมีความหมายแท้จริง เมื่อได้แบ่งปัน ... The simple life-ชีวิตที่เรียบง่าย Adventurous-รักการผจญภัย Brave heart-ใจกล้าหาญ Creative-มีความคิดสร้างสรรค์ ...

วันอาทิตย์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ตารางน้ำรายชั่วโมง 2015 (2558)

ตารางน้ำรายชั่วโมง 2015 (2558)
Support smartphone version

แบ่งต่ามพื้นที่ คลิกเลือกจุดที่ต้องการ ตารางน้ำรายชั่วโมงในแผนที่

จุดประสงค์ การพัฒนาระบบข้อมูลตารางน้ำรายชั่วโมง (Water Tide Table)

   เพื่อพัฒนาเครื่องมือที่เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยในการเดินเรือ ให้อยู่ในรูปแบบข้อมูลอิเลกทรอนิกส์  โดยการเข้าถึงข้อมูล ได้จากทุกที่ ทุก Platform ทุก OS โดยใช้งานผ่านระบบ Web Browser  จากทุกผู้ผลิตที่ให้บริการ และสามารถใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ตได้ทุกระบบ โดยปัจจุบันอาศัยข้อมูลฐานจาก Water Tide Table จากกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ประเทศไทย

  เนื่องจากในปัจจุบัน ฐานข้อมูลที่อยู่ในรูปตารางน้ำรายชั่วโมง ยังอยู่ในรูปแบบที่ใช้สำหรับ การจำหน่ายโดย กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ โดยปรกติตารางน้ำรายชั่วโมง หรือ มาตราน้ำ จะมีการเผยแพร่ทั่วไปบนอินเตอร์เน็ต หลังจากเริ่มจำหน่าย หลังเดือนมกราคม ไปแล้ว

  เพื่อมิให้ขัด และ มีผลต่อการจัดจำหน่าย ตารางน้ำรายชั่วโมง หรือ มาตราน้ำ จึงจำเป็นต้องมีการเข้ารหัสผ่าน โดยมีการจำกัดการเข้าถึง ในรูปแบบ Shareware โดยการแบ่งปันทดลองใช้ในวงที่จำกัด อาจมีข้อที่ไม่สะดวกบ้าง ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ และไม่มีการบริการ ในรูปแบบการ Copy หรือ Download ข้อมูล จึงเรียนมาเพื่อทราบข้อจำกัดด้วยครับ

   ในการจัดทำได้ทำการแบ่ง และจัดทำ เป็น 29 หมวดจุดตรวจวัด  และ 348 Tide Table เพื่อสะดวกในการใช้งาน หากท่านทดลองใช้งาน แล้วเห็นว่าดี มีประโยชน์ สิ่งที่ทำเพื่อ พัฒนาเครื่องมือที่ช่วยในการเดินเรือ เป็นบริการฟรีทางสังคม สนใจรายละเอียดสามารถสอบถาม หรือแนะนำข้อมูลได้ที่ : datum2514@gmail.com

ท่านอาจติดต่อขอ สั่งซื้อหรือช่วยสนับนุนกิจการ การจำหน่ายแผนที่ และบรรณสารทางการเดินเรือ <--คลิก



รหัสแม่กุญแจหลัก (อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม)
เดือนมกราคม  คือ วันปีใหม่ 
เดือนกุมภาพันธ์  คือ วันศิลปินแห่งชาติ
เดือนมีนาคม   คือ  วันอนุรักษ์น้ำโลก
เดือนเมษายน   คือ  วันสงกรานต์
เดือนพฤษภาคม  คือ วันฉัตรมงคล
เดือนมิถุนายน   คือ วันทะเลโลก
เดือนกรกฏาคม  คือ วันภาษาไทยแห่งชาติ
เดือนสิงหาคม  คือ วันแม่แห่งชาติ
เดือนกันยายน  คือ วันอนุรักษ์รักษาคูคลอง
เดือนตุลาคม  คือ วันปิยะมหาราช
เดือนพฤศจิกายน  คือ วันกองทัพเรือ
เดือนธันวาคม  คือ วันพ่อแห่งชาติ
   
บทความที่เกี่ยวข้อง เรื่องของน้ำขึ้น น้ำลง และวิธีคาดการณ์ระดับน้ำ ด้วยตัวเอง , ตารางน้ำรายชั่วโมง รายวัน

การเดินทางของเทรลเลอร์

การเดินทางของเทรลเลอร์ (Journey of Trailer)


   ประสบการณ์การลากเทรลเลอร์ หลายหมื่นกิโลเมตร คงน่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่เล่นเรือ หลายท่านก็จะคงต้องผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ ยิ่งลากไกลเท่าได หรือเล่นเรือนานเท่าไหร่ ก็มักจะต้องเจอเหตุการณ์ที่คล้ายๆ กัน การเล่นเรือต้องการ ความสามารถในการช่วยเหลือตนเองอย่างสูง และบางปัญหาบางอย่างมีเวลาน้อยมาก ที่จะแก้ปัญหาลองมาดูปัญหา วิธีลดปัญหา และวิธีแก้ปัญหา ของ Trailer กัน

เทรลเลอร์ เป็นอุปกรณ์ที่ทำให้ข้ามขีดจำกัด ของสถานที่เล่นเรือไปได้ เรียกว่าเป็นคู่หูของเรือเลยทีเดียวจะอยู่จังหวัดอะไร จะมีแหล่งน้ำสำหรับเล่นเรือหรือไม่ ขอให้ชอบที่จะเล่นและสนุกกับเรือ เราก็สามารถสนุกกับการเล่นเรือได้ทั้งนั้น เพราะเราสามารถลากเรือไปหาอ่างเก็บน้ำ แม่น้ำคูคลอง หรือทะเลอันกว้างใหญ่ได้ ปรกติจะไปไหนก็ขับรถไปอยู่แล้ว ก็แค่พ่วงเรือลากไปก็แค่นั้น ...

เทรลเลอร์ที่ใช้กัน มีแบบไหนบ้าง

1.เทรลเลอร์อลูมิเนียม (แบบนี้ส่วนใหญ่ จะเป็นเทรลเลอร์ที่มาจากต่างประเทศ)

  • การผุกร่อนน้อย (เครื่องยนต์เรือก็ทำจากอลูมิเนียมเหมือนกัน)
  • อาจมีระบบเบรค บางรุ่นก็ไม่มี ทำให้การหยุดทำได้ดีกว่าเทรลเลอร์ที่ไม่มีเบรค แต่ต้องคอยหมั่นตรวจเช็คระบบเบรคว่าทำงานถูกต้อง หรือเบรคค้างหรือไม่
  • การบาลานท์น้ำหนักทำได้ดี เพราะส่วนใหญ่มาพร้อมกับเรือ
  • เหมาะสำหรับลากเดินทางไกล
  • อุปกรณ์อะไหล่บางตัว อาจหายาก
  • ใช้กับเรือขนาดใหญ่
  • อายุการใช้งานยาวนาน
2.เทรลเลอร์เหล็ก (ส่วนใหญ่จะชุบกัลวาไนซ์ หรือพ่นสีเพื่อกันสนิม )


  • มีการทนต่อการกัดกร่อน เนื่องจากมีสารเคลือบผิวเหล็กไว้ ส่วนใหญ่จะชุบเฉพาะโครงที่เป็น แชสซีส์ (CHASSIS)
  • ซ่อมแซมหรือปรับปรุง ดัดแปลงแก้ไข ง่าย
  • อะไหล่หาง่าย ช่างซ่อมหาง่าย มีปัญหาที่ไหนซ่อมง่าย
  • ไมมีระบบเบรค พึงพาความสามารถในการเบรคจากรถที่ใช้ลาก
3.เทรลเลอร์ไม้ ส่วนใหญ่ที่เห็นจะใช้กับเรือ Speed boat ขนาดใหญ่ที่ใช้รับจ้างให้เช่า เพื่อการพาณิชย์ ที่ต้องเอาเรือขึ้นลงทุกวัน


  • สาเหตุที่ต้องเป็นไม้น่าจะเป็นเรื่องของการทนต่อการกัดกร่อน เพราะใช้ในทะเลทุกวัน ลดการใช้เหล็ก
  • ค่าบำรุงรักษาต่ำ ส่วนใหญ่จะใช้ลากใกล้ๆ เป็นหลัก
  • เวลาขึ้นลง หากท้องเรือกระแทกกับเทรลเลอร์ไม้ จะลดความเสียหายจะการกระแทกได้มาก เพราะไม้กระแทกกับไม้มัน ค่าความแข็งไม่ต่างกันมาก มีการให้ตัวได้ ลดการเสียหายจากการกระแทก 

ผมจะขอพูดถึงเทรลเลอร์เหล็ก ที่เราใช้กันเยอะสุด และผมก็ใช้มายาวนาน จนพอจะพูดอะไรเป็นเรื่องราวได้บ้าง




ความจำเป็นในการถ่วงล้อเทรลเลอร์

   เคยถามที่ศูนย์ล้อต่างๆ หลายๆ ที่นะครับ เค้าจะบอกว่าไม่จำเป็นต้องถ่วงล้อ ถ้าเทียบกับรถยนต์ส่วนใหญ่จะถ่วงเฉพาะล้อหน้า ส่วนล้อหลังถ้าวิ่งไม่สั่นก็จะไม่ถ่วง การถ่วงล้อคือการทำให้เกิดการหมุนสมดุล ไม่มีแรงเหวี่ยงหนีศูนย์ ทำให้ไม่เกิดการแกว่งจากการหมุน แต่จากการสังเกตุจากการใช้งาน และระบบกันสะเทือนของล้อรถยนต์ส่วนใหญ่ในด้านหลัง ส่วนใหญ่เวลามีการกระแทกจะมีการขึ้นลงในแนวระนาบเดียว หากล้อมีการเสียสมดุล แกว่งหรือ สั่น เพียงเล็กน้อย ยางรถยนต์จะช่วยซับแรงสั่นได้ ล้อหลังจึงไม่ค่อยสั่นเวลาไม่ถ่วงล้อ ส่วนล้อหน้า เนื่องจากมีระบบเลี้ยวซ้ายขวากับต้องกระแทกขึ้นลงระบบรับแรงกระแทก จึงให้ตัวได้ 2 ระนาบ หากล้อไม่สมดุลเพียงเล็กน้อย จะเกิดอาการสั่นเวลาวิ่ง เนื่องจากมีข้อต่อจำนวนมากในระบบ การสั่นเพียงเล็กน้อย พอถึงความเร็วบางจังหวะจะเกิดการเรโซแนนซ์ (นึกถึงเสียงระฆังที่มันกังวาน ที่มีเสียงสูงและความดังเป็น 2 เท่ามากกว่าปรกติ ทั้งที่แหล่งกำเหนิดก็ไห้เสียงที่เท่าเดิมเพียงแค่เปลี่ยนจังหวะการให้ความถี่) จะมีการสั่นเพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าของปรกติ ล้อหน้าจึงจำเป็นต้องถ่วงล้อ


ส่วนเทรลเลอร์ที่เราลากเรือ หากเราถ่วงล้อ จะมีอาการวิ่งนิ่งเรียบขึ้น ไม่มีอาการสั่นหรือเต้น พอวิ่งเรียบขึ้นลูกปืนล้อก็มีอายุยาวนานขึ้น หน้ายางเทรลเลอร์ก็สึกเสมอกัน เพราะมันหมุนสมดุลไม่แกว่งหรือเหวี่ยว อาการนี้จะสัมพันธ์กันกับโช้คอัฟด้วย ,,,


ระบบแหนบของเทรลเลอร์เรือ

   ผมเคยใช้เทรลเลอร์มา 2 ชุด เปลี่ยนแหนบไป 4 ชุด ระบบแหนบที่ใช้กับเทรลเลอร์จะมีความยาวของแหนบที่ไม่เท่ากัน ถ้าตัวแหนบยาว (ตัวแหนบที่ยาวที่สุด) เทรลเลอร์จะมีความนิ่มนวล นึกถึงแหนบรถกระบะ แต่ถ้าแหนบสั้น (นึกถึงแหนบสิบล้อ) แบบเทรลเลอร์เรือ ความนิ่มนวลจะน้อย แต่จะไ้ด้ความแข็งแรงเพิ่มขึ้น ส่วนจำนวนชั้นของตับแหนบจะเป็นตัวทำให้แหนบรับน้ำหนักได้เยอะเท่าใด




  ส่วนใหญ่เทรลเลอร์เรือจะให้ชุดแหนบที่ความยาวของตัวแหนบสั้น ซึ่งจะมีข้อดีคือ ระยะยุบตัวจะน้อย เวลาเรืออยู่บนเทรลเลอร์ จะยุบตัวน้อยกว่าชุดแหนบที่มีความยาวตัวแหนบความยาวกว่า ทำให้การประมาณความสูง เวลามีน้ำหนักเรือบรรทุกบนเทรลเลอร์ง่ายกว่า เลยไม่ต้องมาแก้โตงเตงในกรณีที่ พอวางเรือรับน้ำหนักบนเทรลเลอร์แล้ว มันดูเทรลเลอร์ห้อยต่ำไปแบบรถบรรทุกหนัก และแหนบสั้นจะมีข้อดี คือระยะให้ตัวจะน้อย ทำให้เวลารับน้ำหนักเทรลเลอร์จะไม่ให้ตัวต่ำลงมาก ทำให้ไม่ต้องใช้โช้คอัพลดแรงสั่นสะเทือน เนื่องจากการแกว่งตัวขึ้นลงของแหนบในแบบสปริงมีน้อย


โช็คอัพเทรลเลอร์เรือ

   เทรลเลอร์นอก และเทรลเลอร์ไม้ส่วนใหญ่ ไม่ได้ติดโช้คอัพ อาจเนื่องจากเทรลนอกส่วนใหญ่จะเป็นเรือขนาดใหญ่ วิ่งช้า น้ำหนักเยอะ เลยไม่ต้องคำนึงถึงความนิ่มนวลมาก เพราะยังไงก็ไม่สามารถลากเร็วได้อยู่แล้ว ส่วนเทรลเลอร์ไม้ก็เป็นเรือใหญ่ใช้เชิงพาณิชย์กันส่วนมาก ลากกันไม่ไกลมาก ก็ไม่รู้จะใส่โช้คอัพไปทำไมให้ผุ เพราะอยู่กับทะเล


   หน้าที่ของโช็คอัพคือ ดูดซับ ลดการสั่นสะเทือน โดยใช้ความหนืด เวลาวิ่งทางขรุขระล้อจะเต้นขึ้นลง โช้คอัพก็ใช้ความหนืดทำให้ลดอาการเต้นหรือสั่นลดลง ผลก็คือ จะมีอาการนิ่งมากขึ้นเวลาวิ่ง สังเกตุง่ายๆ เวลารถยนต์ไปเปลี่ยนโช้คอัพที่หนึดมากขึ้น รถจะวิ่งเร็วและเรียบขึ้น วูปวาบน้อยลง หรืออยากรู้ว่าโช๊คอัพมีผลอย่างไร ท่านอาจทดลองถอดโช๊คอัพคู่หลังของรถที่ใช้ลากเรือออก แล้วลองวิ่งดู ก็จะเข้าใจ แจ่มแจ้ง
   อย่างตัวอย่างกรณีรถสิบล้อ ล้อชุดหลังจะไม่มีโช้คอัพ เป็นตับแหนบทั้งหมด เวลาขับตามรถสิบล้อรถเบา (ไม่บรรทุก) แล้วรถวิ่งเร็วจะเห็นเวลากระแทกหรือเจอหลุมบ่อ จะมีอาการท้ายดิ้นกระโดดๆ แต่ถ้าสิบล้อรถหนักหรือบรรทุก อาการดิ้น/กระโดดจะหายไปเพราะน้ำหนักบรรทุกจำนวนมากกดทับอยู่จนติดแนบถนนตลอดเวลา
   เทรลเลอร์เรือก็เช่นเดียวกัน อย่างกรณีเรือญี่ปุ่นเรือนอก หรือเรือที่ขนาดไม่ใหญ่มาก น้ำหนักเรือจะน้อยบนเทรลเลอร์ หรือยิ่งเห็นผลชัด  คือ เรืออย่างเรืออลูมิเนียม น้ำหนักจะเบา ถ้าใส่โช้คอัพ จะเห็นอาการชัดเจน ว่าเทรลเลอร์เกาะถนนมากขึ้น 
   การติดโช้คอัพที่เทรลเลอร์เรือ จะมีผลคือ จะวิ่งเรียบและนิ่งขึ้นมาก ใช้ความเร็วได้สูงขึ้น แต่ไม่ควรใช้ความเร็วสูงในการลากเรือ ควรระลึกไว้เสมอ!!!  มันอันตรายกับเราเองและคนอื่น หากเกิดอุบัติเหตุ และความเสียหายจะรุนแรง และจะต้องมีความรับผิดชอบสูง ต่อความเสียหายนั้นๆ




การเปลี่ยนจารบีดุมล้อ



   เวลาเราลากเรือไปให้ตามศูนย์ล้อ ให้เขาเปลี่ยนจารบีดุมล้อ มักจะได้รับคำตอบว่า ไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยน มันก็ถูกของเขา แต่ของเรามันไม่ใช่ ...


   เนื่องจากดุมล้อที่ใช้กับรถยนต์ ใช้บนพื้นถนนปรกติ ถึงแม้ดุมล้อจะมีระบบซีลมิดชิดน่าจะกันน้ำได้แล้วก็ตาม แต่เราเองต่างหากที่ใช้ในโหลดที่มากกว่าปรกติ อย่างเช่น เวลาเอาเรือลงล้อจมน้ำ ดุมล้อก็จะต้องจมน้ำ จะน้ำจืดหรือน้ำทะเลก็ตาม คงไม่มีใครขับรถยนต์ไปจมน้ำแบบนั้น น้ำมีโอกาศเข้าไปในดุมล้อสูงมาก ข้างในดุมล้อจะมีตลับลูกปืน หากลูกปืนชุดนี้มีปัญหา จะทำให้วิ่งไปแล้วล้อหลุด นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ทำไมเทรลเลอร์เรือจึงต้องมีการเปลี่ยนจารบีดุมล้อ เพราะมันจะเป็นการเช็คตลับลูกปืนดุมล้อว่ายังสมบูรณ์หรือไม่ ส่วนเรื่องจารบีกลายเป็นเรื่องรอง เพราะมันแค่เป็นอายุการใช้งานว่าสั้นหรือยาวเท่านั้น


   หากลากเรือไปออกทริปแล้วล้อเทรลเลอร์หลุด ลองนึกดู ... ว่ามันจะดูไม่จืดขนาดไหน การเช็คลูกปืนดุมล้ออย่างง่าย ก็ใช้แม่แรงยกล้อเทรลเลอร์ขึ้น แล้วจับล้อลองโยกซ้ายขวาดูว่ามีระยะฟรีมั้ย ลองหมุนล้อเร็วๆ ดูว่ามีอาการแกว่งมั้ย ถ้ามีอาการให้ทำการเปลี่ยนดุมล้อ หรือเปลี่ยนลูกปืนดุมล้อได้เลย การมีระยะฟรี หรือมีการแกว่งเพียงเล็กน้อย พอยิ่งวิ่งเร็วมาก การแกว่งยิ่งมาก มันจะแกว่งจนตลับลูกปืนร้อนจนสึก พอตลับลูกปืนสึกถึงจุดหนึ่ง มันจะแกว่งจนสะบัด จนล้อหลุดวิ่งแซงเทรลเลอร์ไปเลย


การถอดน๊อตล้อ

   ต้องมีการไล่ขันน๊อตให้มีความแน่นระดับนึง การขันให้แน่นโดยใช้ปะแจขันน๊อตล้อรูปตัวแอลด้วยแรงมือไม่แน่นพอ เคยขันแน่นระดับนั้นแล้ววิ่งไป ประมาณ 900 กิโลเมตร น๊อตคลายตัว ก่อนล้อหลุด จะมีการสั่นก่อนแล้วล้อก็สะบัดหลุดออกไป น๊อตล้อสะบัดขาด การขันน๊อตล้อต้องการความแน่นโดยการต่อเหล็กกับปะแจขันน๊อตล้อ แล้วใช้น้ำหนักตัวเหยียบจนมีเสียงเอี้ยด ต้องแน่นระดับนี้ถึงใช้ได้


เรื่องของยาง



  ยางของเทรลเลอร์ หากมีการจอดนาน จะเกิดปัญหาคือ จะมีการแตกลายงาเป็นริ้วๆ หากจอดนานมากยางส่วนที่รับน้ำหนักจะเบี้ยวผิดรูป วงล้อจะไม่กลมจุดตรงกลางจะไม่ได้ศูนย์ หรือล้อจะป่องด้านนึงทำให้วงรอบล้อเบี้ยวผิดรูป การแก้ไขคือ ควรจะสูบลมยางให้แข็งกว่าปรกติ ควรมีการขยับเดินหน้าถอยหลังเทรลเลอร์บ้าง หรือขึ้นขาหยั่งให้ยางลอยเหนือพื้นไว้ ไม่ให้ยางรับน้ำหนักโดยตรงตรงจุดเดียวกันเป็นเวลานาน
   ยางที่มีปัญหาแบบนี้จะมีอาการเวลาวิ่งมันจะมีอาการสั่น อาจมีอาการสั่นที่บางความเร็ว การสั่นนี้เกิดจากยางผิดรูป พอวิ่งๆ ไปเกิดความร้อน ก็จะทำให้ยางบวม ทำให้จุดอื่นเป็นปัญหาอีก

ปัญหาของยาง
  • ยางแตกลายงา ทำให้วิ่งไปยางมีโอกาศระเบิด ร่อนเป็นแผ่นๆ
  • ลมยางอ่อน วิ่งไปทำให้เกิดความร้อน ร้อนมากๆ ยางก็จะระเบิด
  • ยางเบี้ยวผิดรูป  ทำให้วิ่งไปเกิดอาการสั่น พอสั่นยางจะร้อน พอร้อนยางจะเริ่มบวม ถ้าไม่ระเบิดก่อนมันจะสั่นจนทำให้แหนบหัก
  • อายุยางใช้กับเทรลเลอร์จะประมาณ 2-3 ปี ถึงแม้จะยังมีดอกยาง แต่ถ้าใช้มาจนถึงอายุยางควรเปลี่ยนใหม่
  • การมีปัญหาเกี่ยวกับล้อและยาง อาจมีความเสียหายรุนแรง ตามความเร็วที่ใช้ลาก

ขาหยั่งยกเทรลเลอร์
   ใช้กรณีจอดเทรลเลอร์นาน จะทำให้ยางเทรลเลอร์มีอายุยาวนานขึ้น ลดปัญหาเกี่ยวกับยาง



ขาสกีและล้อหน้า

   ล้อหน้าช่วยในการดันเรือ กับค้ำวางเวลาจอด ส่วนขาสกีใช้เอาเรือขึ้น โดยไม่ใช้แร็มป์ กรณีที่พื้นเป็นพื้นทราย หรือพื้นดินอ่อนตัว ขาสกีจะไม่จมพื้นทรายใช้เชือกยาวผูกลากเทรลเลอร์ โดยไม่เอารถลงไป ใช้ลากระยะไกล อาจให้วินซ์ไฟฟ้าลากขึ้นก็ได้
   รถ 4x4 ดินอ่อน ล้อจมติดทุกคัน ถ้าฝึกเอาเรือลงแบบไม่ใช้แร็มป์ปูนได้ ก็จะเอาเรือขึ้นลงแบบไม่มีแร็มป์ได้









การป้องกันสนิม



ปัจจุบันการป้องกันสนิมสามารถทำได้ 3 วิธีใหญ่ๆ  ดังนี้
1. การเคลือบผิว
- การพ่นโฟมกันสนิม
- การ  ทาสี/พ่นสี  กันสนิม
- การชุบซิ้ง (Electro Plated Galvanized)
- การชุบ Hot-Dip Galvanized
- การชุบโลหะอื่นๆ  เช่น ดีบุก
2. การทำเหล็กกล้าไร้สนิม (Stainless Steel)
การทำเหล็กกล้าไร้สนิม  สามารถทำได้โดยการเพิ่มส่วนผสมอื่นๆเข้าไป  ทำให้เกิดเป็นฟิล์มบางๆ  บนผิวเหล็ก  เช่น  นิเกิล (Ni) โครเมียม (Cr)  ทั้งนี้  แผ่นฟิล์มที่เคลือบเหล็กจะช่วยป้องกันเหล็กสัมผัสกับบรรยากาศโดยตรง

3. การใช้กระแสไฟฟ้า
ทำได้โดยการทำให้เหล็กมีศักย์ไฟฟ้าสูงกว่าบริเวณโดยรอบ  ทำให้เหล็กนั้นไม่สูญเสียอิเลกตรอน  ให้กับบรรยากาศซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดสนิม  วิธีการนี้สามารถทำได้ในทุกสภาวะแวดล้อม  แต่มีค่าใช้จ่ายสูง  เหมาะกับโครงการที่เสี่ยงต่อการเกิดสนิมอย่างรุนแรง  เช่น  ท่อเดินน้ำมันในทะเล  เป็นต้น


แหนบเทรลเลอร์หัก 



เกิดจากสาเหตุ
  •  การผุของแหนบ (แหนบเทรลเลอร์จะไม่ได้ชุบกัลวาไนซ์) การชุบกัลวาไนซ์ ก็คือการใช้ฟิลม์บางเคลือบผิวเหล็กนั่นเอง เพื่อไม่ให้เกิดอ๊อกไซค์
  • ระบบล้อหรือยางมีปัญหา ทำให้เกิดการสั่น การสั่นจะมีผลกับจุดอ๊อกต่างๆ บนเทรลเลอร์ และการสั่น จะทำให้แหนบหัก นึกถึงเวลาเอาแผ่นเหล็กมางอขึ้นลงไปเรื่อยๆ เหล็กจะหักออกจากกัน
การแก้ไข
  • คงไม่มีใครเอาแหนบสำรองติดไปด้วยกับการออกทริป ฉะนั้นเวลาแหนบหัก แหนบกับโตงเตงจะแยกจากกัน ให้หาไม้ชิ้นใหญ่ๆ เหล็ก สมอเรือ หรืออะไรก็ได้ที่แข็งแรงพอ เอาเชือกมัดเข้าด้วยกันก็จะวิ่งไปได้

สายวินซ์หัวเรือขาด



   สายวินซ์จะใช้ล๊อคที่หัวเรือกับเทรลเลอร์ เนื่องจากการล๊อคให้แน่นจะต้องใช้แรงดึงที่วินซ์กับหัวเรือให้ตึงตลอดเวลา ความยาวสายช่วงนี้จะเป็นช่วงที่มีความเครียดจากการดึงสูง กรณีสายวินซ์ตากแดดตากฝนเป็นเวลานาน หรือตามอายุการใช้งาน จะทำให้สายวินซ์ขาดขณะลากเรือ (เวลาปรกติไม่ขาด จะขาดเฉพาะตอนที่ลากเรือ เดินทางออกทริป)
   เวลาสายวินซ์ขาด วิธีสังเกตุคือ ตัวเรือจะถอยหลังทำให้หัวเรือไม่ได้ล๊อคกับลูกยางที่ใช้ล๊อคหัวเรือ จะมีผลคือ จะมีอาการกระโดด หรือหัวเรือเด้ง หัวเรือจะโยกขึ้นลงแนวดิ่ง เหมือนกับมีการขย่มที่ท้ายรถ ถ้าเทรลเลอร์มีอาการนี้ให้จอดเช็คดูสายวินซ์หัวเรือ หรือเรืออาจเลื่อนถอยหลังจากเทรลเลอร์

วิธีแก้ไข
  • ให้เพิ่มระบบล็อคหัวเรือ โดยใช้ระบบล๊อคหัวเรือด้วยโซ่ หรือ ตัวปรับให้ตึง หากสายวินซ์ขาด ก็ยังมีัสายล็อกอีกชั้น
  • กรณีสายวินซ์ขาด ก็เก็บตะขอเกี่ยวขอ ที่หัวเรือไว้ (เอาไปให้ร้านที่เย็บผ้าใบหลังคา/หลังคาเต็นท์เย็บให้ใหม่ได้ เสร็จแล้วใช้ได้อีกหลายปี) แล้วเอาสายวินซ์ ร้อยมัดกับเหล็กตัวยู ที่หัวเรือเลย มัดแค่ทบเดียวแน่นมากแกะไม่ออกเลย เวลาจะปล่อยเรือออกจากเทรลเลอร์ก็ทำพิธีตัดสายวินซ์โดยใช้มีด นึกว่าเป็นริบบิ้นก็แล้วกัน เป็นการปล่อยเรือที่เท่ห์มาก ... อุอุ

เทรลเลอร์ใหม่ หรือเหล็กครอบหัวบอลตัวใหม่




   เทรลเลอร์ที่ต่อใหม่ เนื่องจากอุปกรณ์ยังใหม่อยู่หลายอย่าง โดยเฉพาะน๊อตล็อคจุดต่างๆ ทั้งเทรลเลอร์อาจคลายตัว โดยเฉพาะที่เหล็กครอบหัวบอล กับน๊อตทั้งหมดที่ยึดชุดแหนบ มันจะค่อยๆคลายตัวได้ ที่สำคัญเหล็กครอบหัวบอลอันใหม่ น๊อตส่วนใหญ่ยังอาจปรับไม่ดีพอ ที่เจอปัญหาส่วนใหญ่คือ น๊อตล๊อคด้านใต้หัวบอลคลายตัว จะทำให้ลากไปแล้วเทรลเลอร์หลุด หรือเวลากระแทก หรือโยนตัวแรงๆ สปริงที่ล็อกหัวบอลเด้งหลุด ส่วนน๊อตยึดชุดแหนบทั้งหมด ถ้าป้องกันการคลายตัว อาจใช้สลักล๊อคกันคลายตัว

สลักล๊อคกันน๊อตคลายตัว การล๊อคแบบนี้จะจำกัดการคลายตัวของน๊อต ส่วนใหญ่ใช้ล๊อกในชุดล๊อกหัวบอล แหนบเทรลเลอร์ โตงเตง หรือจุดที่มีการให้ตัวได้ตลอดเวลา



การแก้ไข
  • ให้ปรับน๊อตหัวบอลให้พีระยะฟรีที่น้อย ให้ปรับระยะให้ถูกต้อง ลองยกเทรลเลอร์ดู
  • กรณีต่อเทรลเลอร์ใหม่ให้จอดเช็คบ่อยๆ อาจเติมน้ำมันหรือแก๊สไม่ต้องเยอะ จะได้จอดบ่อยๆ เช็คเทรลเลอร์ไปในตัว
  • วิธีแก้ปัญหาน๊อตคลายตัว ก็ให้มันโดนน้ำบ้าง น้ำทะเลยิ่งดี พอมันเป็นสนิมนิดหน่อย มันจะไม่คลายตัวเลย ใช้ประแจขันบางทียังไม่ค่อยจะออกเลย
  • มีระบบโซ่ล็อกกรณีหัวบอลหลุดก็ยังคงประคับประคองเทรลเลอร์ได้
  • หรือใช้ตัวกดหัวบอลล๊อคบนหัวบอล ระบบนี้จะมีเหล็กกดบนตัวล๊อคหัวบอล ระบบนี้มีข้อดีคือ หัวบอลจะไม่หลุดจากตัวล๊อคเลย ไม่มีทางหลุดจริงๆ แต่ระบบนี้อาจจะมีข้อเสีย คือ ถ้าน้ำหนักเรือ หนักมากกว่า น้ำหน้กรถที่ใช้ลาก กรณีเกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำ จะทำให้รถที่ลากคว่ำไปด้วย นึกถึงรถไฟ ถ้าโบกี้แรกคว่ำ โบกี้ที่ตามมาจะคว่ำตาม หรือลองดูสิบล้อพ่วงก็ได้ เวลารถคว่ำจะคว่ำทั้งตัวแม่และตัวลูก

การบาลานซ์น้ำหนักเทรลเลอร์

   การบาลานซ์น้ำหนักของเทรลเลอร์ คือ การที่สามารถยกเทรลเลอร์กระดกขึ้นได้ด้วยมือข้างเดียว แล้วกระดกค้างได้ ปรกติ ท่าวางเทเลอร์จะทำใด้ 2 ท่าคือ


  • ท่าวางตัวแนวราบขนานกับพื้น แบบนี้คือท่าปรกติของเทรลเลอร์ ส่วนใหญ่จะวางตัวบนล้อหน้า แบบนี้ จะเป็นท่าจอดปรกติของเทลเลอร์ ใช้สำหรับดัน หรือเคลื่อนย้ายเทรลเลอร์ เดินหน้า ถอยหลัง หรือ ดันไปต่อกับรถลาก
  • ท่ากระดกเทรลเลอร์ขึ้นค้าง แบบเปิดฝากระโปรงรถ โดยการใช้มือข้างเดียวยกขึ้น แล้วปล่อยเทรลเลอร์จะค้างอยู่ท่านั้น ท่านี้ใช้สำหรับไล่น้ำ ที่ค้างในเรือ ค้างในท้องเรือ และยังใช้สำหรับการเอาเรือลงแบบไม่ใช้แร็มป์อีกด้วย
เทรลเลอร์ที่บาลานซ์ ทำให้เราทราบว่า จุด C.G. หรือจุดศูนย์ถ่วงเรือเราอยู่ตรงไหน ใช้สำหรับบาลานซ์น้ำหนักเรือ กรณีต้องการให้เรือวิ่งดี เราจำเป็นต้องรู้จุด C.G. ของเรือ เพื่อบาลานซ์น้ำหนักถูก อย่างโมลทรงที่ผมใช้ จุด C.G. อยู่ตรงที่นั่งคนขับพอดี ฉะนั้นน้ำหนักคนขับ ก็จะไม่มีผลต่ออาการเรือ และตรงจุด C.G. จะมีอาการเมาคลื่นน้อย


การเอาเรือลงทะเล โดยไม่ใช้แร็มป์
 
   ใช้คนสัก 3 คนดันลงทะเลเลย วิธีนี้เหมาะสำหรับพื้นทรายที่แน่น ไม่ยุบตัว ถ้าดันไปแล้วล้อไม่จมถึงว่าใช้ได้ ดันไปแค่ให้น้ำท่วมเลยครึ่งล้อไปหน่อย เสร็จแล้วปลดสายวินซ์หัวเรือ แล้วกระดกเทรลเลอร์ขึ้นเลย เรือจะไหลลงทะเล เป็นอันจบ

   การเอาเรือลงโดยไม่ใช้แร็มป์ อย่าไปเอาลงตอนน้ำขึ้นสูงสุดนะครับ ให้เอาลงตอนน้ำทะเลต่ำๆ นั่นแหละดี เพราะถ้าเอาเรือลงไม่สำเร็จ ก็ปล่อยเรือคาเทรลเลอร์อย่างนั้น เดินไปกินเบียร์สัก 2 กระป๋อง กลับมาน้ำขึ้นเรือลอยพอดี ไม่มีอะไรง่ายไปกว่านี้แล้ว



เทรลเลอร์ส่วนใหญ่ไม่มีเบรค ยกเว้นเทรลเลอร์นอก
  • เทรลเลอร์จะอาศัยเบรคจากรถที่ใช้ลาก ระบบเบรคจะแปรตามน้ำหนักรถ น้ำหนักบรรทุก เช่น รถยนต์สำหรับนั่ง ระบบเบรคจะมีประสิทธิภาพต่ำกว่ารถที่ใช้บรรทุก เพราะรถบรรทุกจะออกแบบมาเผื่อสำหรับเวลาบรรทุกด้วย ระบบเบรคจึงดีกว่า
  • รถที่น้ำหนักตัวเยอะ จะมีระบบเบรคมีประสิทธิภาพดีกว่ารถน้ำหนักตัวน้อย
  • เวลาลากเรือแล้วเบรค จะรู้สึกเหมือนแรงมาดันท้ายรถตอนเบรค
  • รถลากเรือที่น้ำหนักน้อยกว่าเรือที่ลาก เวลาเบรค ถ้าเบรคแรงล้ออาจจะหยุดหมุนก็จริง แต่เรืออาจดันไห้มีการลื่นไหลไปข้างหน้าได้ จะรู้สึกเหมือนเบรคไม่ค่อยอยู่ ทั้งๆ ที่ล้อหยุดหมุน

รถที่เหมาะใช้ลากเรือ
  • ควรจะใช้รถ 4x4
  • รถยนต์เครื่องใหญ่ แรงม้าสูง เวลาลากจะไม่ค่อยรู้สึกว่า กำลังเครื่องตก
  • ระบบเกียร์ควรจะระบบอัตโนมัติ เพราะถ้าใช้เกียรธรรมดา โหลดเพิ่มขึ้นเลยต้องเปลี่ยนเกียร์บ่อย
  • ควรจะมีระบบล็อคความเร็วในการเดินทาง Cruise Control เหมาะเดินทางไกล ลดความเครียด
  • รถที่น้ำหนักตัวน้อยจะลากเรือไม่ค่อยดี ทั้งออกตัว และตอนเบรค

อุปกรณ์สำรองของเทรลเลอร์
  • ล้อสำรอง จะได้น๊อตล้อสำรองไปในตัว
  • ดุมล้อสำรอง พร้อมน๊อตยึดดุมล้อ
  • อุปกรณ์เครื่องมือ ประแจ คีม ไขควง สายไฟ ฯลฯ


  จากการลากเรือมาหลายหมื่นกิโลเมตร สิ่งที่จะทำให้รอดตัวจากอุปสรรค์ และสามารถผ่านปัญหาได้ทั้งปวง ก็คือ อุปกรณ์สำรอง 
   อุปกรณ์สำรองในความหมายของผม ก็คือ ของที่มีมากกว่า 1 สิ่งขึ้นไป เวลาสถานการ์ณคับขัน สิ่งที่่จะทำให้ให้คุณสามารถผ่าน ฝ่าฟันอุปสรรค์ทั้งปวง คือ ความพร้อมในตัวคุณ

เตรียมตัว ... รับมือกับปัญหา ดีกว่า แก้ปัญหาโดยอาศัยโชคช่วย

ทริปเรือจะสำเร็จ หรือล้มเหลว ส่วนหนึ่งก็มาจาก ... เทรลเลอร์


วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

I hate Thailand

ฉันเกลียดประเทศไทย (I hate Thailand)



“ผมชื่อเจมส์นะ ผมมาเที่ยวเมืองไทยครั้งแรก จริงๆ ผมตั้งใจจะมาอยู่แค่อาทิตย์เดียว ผมนึกว่าการทริปครั้งนี้จะสนุก เมื่อคืนก่อนมีคนขโมยกระเป๋าผมไป ดูสิ เมืองไทยเหลือของให้ผมแค่เนี่ยะ ผมเกลียดที่นี่ โคตรเกลียดประเทศไทยเลย!”


วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การจอดเรือ วิธีจอดเรือ จอดเรือโดยสมอ

การจอดเรือ วิธีจอดเรือ จอดเรือโดยสมอ (Mooring and anchorage)

    เราจะใช้อุปกรณ์ 2 อย่างในการจอดเรือ คือ เชือก กับสมอเรือ  เรือจะใช้เวลาส่วนใหญ่จอดมากกว่าวิ่ง จริงแล้วการจอดเรือมีความสำคัญเท่าๆ กับที่มันวิ่งไปถึงที่หมายทีเดียว ซึ่งต่างจากรถ หรือเครื่องบิน จอดแล้วดับเครื่องก็จบตรงนั้น ไม่ไปไหนแต่เรือไม่ใช่ มัดไม่ดีก็หาย สมอเกาก็หาไม่เจอ

เราจะรู้ได้ยังไงว่าคนไหนจอดเรือเป็นไม่เป็น ก็ดูตรงเวลานำเรือขึ้นจากน้ำ ถ้าเห็นท้องเรือลายหรือเจลโค๊ดแตกละก็ เหอๆ ...ใช่เลย การจะซ่อมไฟเบอร์ให้สวยเหมือนเดิม มีเหนื่อย...

    ผิวเรือไฟเบอร์ที่ดี คือ พื้นผิวของเจลโค๊ด ซึ่งก็คือเนื้อไฟเบอร์ที่มีสีผสมในตัวนั่นเอง เนื่องจากงานไฟเบอร์จะเป็นพื้นผิวที่เรียบ เงาเป็นมัน ลื่นเรียบ แข็งแรง และเป็นรอยยาก ในทางกลับกันเวลาเป็นรอยกลับลบรอยได้ไม่ยากนัก และสวยเหมือนเดิม ฉะนั้นผิวเรือไฟเบอร์ที่ดี คือผิวเจลโค๊ด ไม่ใช่ผิวสีพ่น


เราจอดเรือได้แบบไหนบ้าง
  • การจอดเรือที่แม่น้ำ คูคลอง
  • การจอดเรือที่ทะเล
วิธีจอดเรือที่ดีที่สุด คือ ทำอย่างไรก็ได้จอดเรือให้เรือลอยบนน้ำ โดยไม่โดนหรือไปกระแทกกับอะไร วิธีนี้ท้องเรือ กาบเรือไม่มีโอกาสที่จะเป็นรอย หรือกระแทกกับ ดิน หิน หรือทราย

การจอดเรือที่แม่น้ำ คูคลอง
   เนื่องจากแม่น้ำ คูคลอง จะมีน้ำไหลเป็นทิศทางเดียว คือจากต้นน้ำไปปลายน้ำ ยกเว้นปากแม่น้ำที่ออกทะเล อาจมีน้ำไหลเข้า และไหลออกตามน้ำขึ้นหรือน้ำลง ส่วนใหญ่จะจอดเรือที่โป๊ะ แพลอยน้ำหรือท่าที่จอดเรือ การเข้าจอดแบบนี้กรณีมีกระแสน้ำไหล จะใช้หันหัวเรือ ขับเรือสวนกระแสน้ำไหล แล้วเดินเบา ค่อยๆ เข้าไปจอด




ลักษณะแพที่ใช้เทียบท่าเรือจะคล้ายๆ กัน คือ จะมีบันไดเดินลงจากฝั่ง ตัวแพจะลอยน้ำและจะขึ้นลงตามระดับน้ำ จะมีเสาหรือหลักไว้ผูกเรือ ส่วนด้านข้างรอบๆแพอาจมีทุ่นกันกระแทก



ข้อควรคำนึงเวลาจอดเรือ คือ ควรผูกเรือให้แน่น กรณีผูกแล้วเรือหลุด การจะตามหาเรือยากมาก และเสี่ยงมีอุบัติเหตุสูง เพราะมันจะลอยไปแบบ ไร้การควบคุม ควรศึกษา เชือกเงื่อนที่ใช้กับเรือและวิธีการใช้งาน






การจอดเรือที่ทะเล

   การจอดเรือที่ทะเลมีข้อคำนึง คือ น้ำทะเลจะมีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ชั่วโมงเนื่องจากน้ำขึ้นน้ำลง หากจอดเรือในจุดที่น้ำตื้นเวลาน้ำลง เรือจะเกยตื้นไปไหนไม่ได้ หรือถ้าจอดเรือในจุดน้ำลึกเกิน เรือจะจอดไกล เวลาไปหาเรือจะต้องว่ายน้ำไกลมาก บางครั้งอาจไกลถึง 100-200 เมตรเลย
   ส่วนใหญ่ก่อนจะจอดเรือ เราจะดู ตารางน้ำรายชั่วโมง ก่อนจอดเราก็จะรู้ว่าน้ำจะขึ้นสุด ลงสุดตอนไหน สมมุติจะจอดเรือสัก 3 ชั่วโมง ข้างหน้า น้ำจะขึ้นลงไปเท่าได ซึ่งผมจะทำประจำก่อนจอดเรือทุกครั้ง

การจอดเรือที่สะพานจอดเรือ
 
   การจอดแบบนี้เราก็เผื่อเชือก
  • สมมุติกรณีจอดเรือน้ำขึ้น เราก็เผื่อเชือกไว้ให้มากพอ เวลาน้ำลงเชือกจะได้ไม่รั้งเรือ จะได้ไม่ตะแคงเอียง เพราะรั้งโดยเชือก แล้วก็เช็คความลึกจาก Sounder ว่าตอนจอดเรือระดับน้ำเท่าใด เวลาผ่านไปจะได้ประมาณถูกว่าระดับน้ำจะเป็นเช่นไร
  • กรณีน้ำลง ให้เช็คระดับน้ำจาก Sounder แล้วเช็คจากตารางน้ำว่าน้ำจะลงไปเท่าใด  จะเหลือระดับน้ำเท่าได โดยอาจให้เรืออยู่สูงจากระดับน้ำสัก 30-40 cm.จากท้องเรือเมื่อน้ำลง  (แล้วแต่เรือว่ากินน้ำลึกเท่าไหร่) แค่นี้ท้องเรือก็ไม่ถึงพื้นที่อยู่ใต้น้ำแล้วครับ  
เราสามารถรู้ว่า พื้นหาดมีความชันอย่างไรจากสะพานที่ใช้ผูกเรือนี่แหละ
   ถ้าสะพานจอดเรือทางเดินยาว แสดงว่าว่าหาดนั้นความชันน้อย สะพานจอดเรือจึงทอดยาวไปในทะเลเยอะ แต่ถ้าสะพานจอดเรือสั้น แสดงว่าหาดนั้นความชันเยอะ จึงจอดเรือง่ายกว่า เพราะน้ำลึก

การจอดเรือโดยผูกกับทุ่นจอดเรือ
  การจอดแบบนี้แค่ผูกกับทุ่นให้แน่นอย่างเดียว ไม่ต้องกังวลกับระดับน้ำ เพราะทุ่นจอดเรือจะออกแบบเผื่อเรือที่กินน้ำลึกอยู่แล้ว และส่วนใหญ่ตำแหน่งทุ่นจอดเรือ จะอยู่ในจุดปลอดภัย ใช้หลบคลื่นลมได้ ทุ่นจอดเรือส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณอุทยานแห่งชาติทางทะเล ทั่วประเทศ

เราสามารถหาทุ่นจอดเรือ ได้จาก อุทยานแห่งชาติทางทะเลและทุ่นจอดเรือ <-คลิก


การจอดเรือหน้าหาด
 
   การจอดเรือแบบนี้จะใช้สมอในการจอดเรือ สำหรับการจอดเรือในทะเล ควรจะใช้สมอ 2 ตัว ในการจอดเรือ โดยมีวิธีโยนสมอ 2 แบบ คือ

  • ทิ้งสมอแบบหัวท้าย แบบนี้ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับจอดหน้าหาดแบบ ลงท้ายเรือก็ถึงหาดเลย เท้าจุ่มน้ำหน่อยเดียว (วิธีนี้อาจใช้สมอตัวเดียวก็ได้ หากกระแสน้ำ ทิศทางลมเป็นใจ)
  •  ควรจะให้ความยาวเชือกสมอให้มากพอที่จะให้มุมของจุดที่ทิ้งสมอไม่เป็นมุมตั้งชัน ยิ่งมุมแนวราบเท่าใดสมอยิ่งเกายาก เวลาน้ำขึ้นจะทำให้มุมตั้งชันมากขึ้น สมอจะเกาง่ายถ้าความยาวเชือกไม่มากพอ มุมยิ่งราบ จะทำให้สมอเกายากขึ้น
สามารถทำได้คนเดียวนะครับ เข้าเกียร์ว่างก่อน แล้วก็โยนสมอไปก่อน จะโยนจะเหวี่ยงท่าไหนตามถนัด อาจกระตุกสมอเพื่อช่วยให้สมอกินพื้นทรายเร็วขึ้น  แล้วก็เผื่อเชือกพอประมาณ หันไปดูระยะที่ห่างหาดก็ได้ ไม่ต้องเป๊ะ เพราะปรับทีหลังได้ แล้วก็ล๊อกไว้ที่หัวเรือ



เสร็จแล้วก็เข้าเกียร์ถอยหลังรอบต่ำสุด ยกหางขึ้น เช็ค Sounder ระยะความลึกด้วย เรือจะค่อยๆ ถอยหลังมาเรื่อยๆ จนใกล้หาด ไม่จำเป็นที่ต้องถอยจนท้ายเรือถึงหาดก็ได้ แล้วแต่ความชำนาญ ไม่ต้องกังวลเพราะเรามีสมออีกตัวโยนไปบนหาด แล้วดึงเรือเข้าหาด ดับเครื่อง ปรับเชื่อกหัวเรือ ท้ายเรือ ให้พอดี


จะให้ห่างหาดแค่ไหนก็ปรับเชือกหัวเรือเอา ไม่ยากครับ ... อุอุ

  • ทิ้งสมอหัวเรือจุดที่ไกล้เคียงกัน จะใช้ความยาวเชือกใกล้เคียงกัน ผูกเชือกหัวเรือจุดเดียวกัน แบบนี้จะใช้สำหรับ กันสมอเกา (หมายถึงสมอไม่ติด) ถ้าสมอเกาเรือจะไหลไปเรื่อยๆ แล้วแต่คลื่นแล้วแต่ลม ห่างกังวลคลื่นลมแรง หรือกังวลสมอจะเกา ก็ทิ้งจุดที่ไม่ไกลกันมาก เพื่อหากสมอตัวนึงเกา อีกตัวก็จะเกาะแทน 
การที่สมอเกา อันตรายมาก เพราะเรือจะไปในทิศที่คลื่น และลมพัดไป ท้องเรืออาจเสียหาย หรือเราอาจหาเรือเราไม่เจอ เพราะมันลอยไปไหนก็ไม่รู้ ซึ่งสร้างความเสียหายได้มากมาย



วิธีหาเรือเมื่อ ผูกแล้วหลุดเ สมอเกา เราก็รู้ ...เรืออยู่ไหน (โปรดติดตามตอนต่อไป)

ขอบคุณ นายแบบผู้มีิใจเอื้อเฟื้อเผือแผ่ และใจดี น้าพงศธร ด้วยครับ ...