ความสุข จะมีความหมายแท้จริง เมื่อได้แบ่งปัน ... The simple life-ชีวิตที่เรียบง่าย Adventurous-รักการผจญภัย Brave heart-ใจกล้าหาญ Creative-มีความคิดสร้างสรรค์ ...

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2559

D.I.Y. เทรลเลอร์เรือ Advance Boat Trailer ง่ายด้วยตัวเอง ตอน Double Boat Trailer

D.I.Y. เทรลเลอร์เรือ Advance Boat Trailer ง่ายด้วยตัวเอง ตอน Double Boat Trailer
D.I.Y. Advance Boat Trailer episode Double Boat Trailer



เทรลเลอร์แบบ Advance Boat Trailer ซึ่งจะบรรจุเรือได้หลายๆลำบนเทรลเลอร์ตัวเดียวกัน ในรูปแบบ Double Boat Trailer ซึ่งจะเป็นเทรลเลอร์ที่มี 2 ชั้น โดยสามารถปรับยกเทรลเลอร์พร้อมกับเรือขึ้นด้วยระบบไฟฟ้า



 จุดประสงค์บทความนี้ก็เพื่อ ช่วยให้นักเล่นเรือสามารถทำอุปกรณ์ที่ใช้กับเรือได้ด้วยตัวเองได้ การที่ทำเอง ใช้เองได้ นับเป็นความภูมิใจและเป็นคุณค่าทางจิตใจอย่างหนึ่ง นอกเหนือประโยชน์ที่ได้รับจากการใช้งาน



การเล่นเรือจะมีข้อดีอย่างคือ อุปกรณ์เรือส่วนใหญ่จะสามารถทำใช้เองได้ เช่น
  • เทรลเลอร์เรือ
  • ตัวบอดี้เรือ
  • ใบเรือ 
  • การหล่อไฟเบอร์ 
  • อุปกรณ์เดินเรือ Autopilot 
  • อุปกรณ์เดินเรือ GPS 
  • ระบบไฟฟ้าในเรือ 
โอ้ย!!!! มากมากกายกอง แล้วแต่ว่าจะมีเวลาทำหรือเปล่า หรืออย่างเครื่องยนต์เรือที่เป็นเครื่องยนต์ 2 จังหวะ ซึ่งใช้เทคโนโลยี่พื้นฐานแบบมอเตอร์ไซค์ ทำให้ซ่อมแซมแก้ไขเองได้ โดยใช้แค่เครื่องมือพื้นฐานงานซ่อม

บทความตอนนี้ เป็นบทความตอนที่ 2 ต่อจากบทความตอนแรก : D.I.Y. ทำเทรลเลอร์เอนกประสงค์สำหรับนักเดินเรือ ... ง่ายด้วยตัวเอง ตอน Beginner Trailer

เทรลเลอร์ตัวนี้ แนวความคิดในการออกแบบตั้งแต่แรกคือ ให้ใช้กับเรือได้หลายแบบซึ่งกว้างมากๆ ได้แก่
  • เรือคายัค
  • เรือแคนนู
  • เรือใบ
  • เรือเจ็ตสกี
  • เรือยาง
  • เรืออลูมิเนียม
  • เรือตกปลา
  • เรือแบส
  • เรือสปีดโบ๊ท
 ฉะนั้นอุปกรณ์จุดยึดต่างๆ จึงสามารถถอดออก ปรับเลื่อน ใส่ใหม่ ย้ายจุด เพิ่ม เสริม หรือเอาออกได้ ฉะนั้นทุกสิ่งจึงสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการหรือความเหมาะสม



ตอนที่เริ่มทำเทรลเลอร์ Beginner Boat Trailer ครั้งแรก ก็คิดว่าการเชื่อมเหล็กจะยาก แต่พอเชื่อมจุดแรก ก็คิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่จะดูเหมือนว่ายาก น่าจะเป็นในเรื่อง ความละเอียดความเที่ยงตรง และความพิถีพิถันต่างหาก เราก็ไม่ได้แข่งกับอะไร แม้กระทั้งแข่งกับเวลาที่มันเดินไม่ยอมหยุด ปล่อยมันไป ทำวันละนิดวันละหน่อยพอ



พอมาทำตอนที่ 2 Advance Boat Trailer งานเหล็กก็ง่ายกว่าเดิมอีกเพราะเทรลเลอร์ชั้น 2 ขนาดเหล็กเล็กและเบากว่าเดิมครึ่งนึง ถ้าดูตามโครงสร้างและวิธีการยกเทรลเลอร์ เหมือนบานพับตัวนึง ไม่มีอะไรยุ่งยาก

แค่กลไกง่ายที่มองแล้วเข้าใจไม่ยาก แต่พอทำมันซับซ้อนในเรื่องของการแปลงมุมของแรง เพราะมันคือ ระบบกลไก (Mechanical Systems) และผลของแรงที่เกิดจากมุม (Force of Angle) ที่จะทำให้เกิดการแรงยกในระบบกลไก โดยใช้แรงดึงไปข้างหน้า แล้วทำให้เกิดแรงยกขึ้นข้างบน



รายการอุปกรณ์

  • เหล็กตัวยู ขนาด 3" หนา 6 mm 2 เส้น
  •  เหล็กตัวยู ขนาด 1.5" หนา 3 mm 5 เส้น
  • เหล็กตัวยูสั่งพับ ขนาดร่องในกว้างสวมเหล็กตัวยู 1.5 ได้พอดี กว้างวงใน 1.6 นิ้ว หนา 6 mm ยาว 1 m
  • เสาวินส์ เหล็กกล่อง 3" ยาว 130 cm
  • แผ่นเพลตยึดวินส์ไฟฟ้า ขนาด 4.5" x 7.5" หนา 6 mm x1
  • แผ่นเพลตล๊อคเสาวินส์ ขนาด 4.5" x 4.5" หนา 6 mm x3
  • วินส์ไฟฟ้าขนาด 2000 ปอนด์ สายสลิง พร้อมรีโมท
  • ยูโบล์ 2" 1/2 x 6 ตัว
  • ยูโบล์ 2 "1/4 x 10 ตัว
  • ยูโบล์ 2 " x 10 ตัว
  • ไม้แปรหน้า 3" ยาว 2.5m x 3 ตัว
  • น๊อตสแตนด์เลส m8 ยาว 1.5" พร้อมหัวน๊อตกันคลาย x25 ตัว
  • น๊อตสแตนด์เลส m8 ยาว 3" พร้อมหัวน๊อตกันคลาย x8 ตัว
  • ท่อเหล็กหนา 6 mm รูใน 2 หุน (เท่ากับขนาดน๊อต M8) 1
  • น๊อตดำ M16 ยาว 4" พร้อมน๊อต x4 พร้อมแหวนใหญ่ x8
  • โช๊คอัฟ Kayaba Super หนึบ x2
  • แผ่นเพลตขนาด 3"x 3.5" หนา 6 mm x 4

การตัดแผ่นเพลต จะใช้แท่นเครื่องตัดเหล็ก ซึ่งตัดง่ายมากเหมือนตัดกระดาษ จะเอาขนาดเท่าไหร่ ความหนาเท่าไหร่ ก็สั่งตัดแบบรอรับได้เลย การคิดเงินใช้ชั่งน้ำหนักเหล็กกับค่าตัดชิ้นงาน



เครื่องพับเหล็ก เนื่องจากต้องทำแขนกลแบบมีข้อต่อซึ่งต้องฟิตพอดีกันเพื่อบังคับไม่ให้มีมีระยะฟรีตัวของแขนกล จึงต้องสั่งพับเหล็กโดยใช้เครื่องพับเหล็ก ตามขนาดที่ต้องการ


เหล็กที่ใช้ทำข้อแขนกล เป็นเหล็กพับรางตัวยู หนา 6mm ใช้สำหรับครอบเหล็กรางตัวยูขนาด 1.5" มันจะเอามาซ้อนกันพอดี



ท่อเหล็กหนา (Metal Pipe) 6mm รูใน 2 หุน รูตรงกลางจะสามารถเอาน๊อตสแตนเลส M8 มาร้อยแบบฟิตพอดีๆ ใช้เป็นส่วนประกอบของข้อต่อแขนกล ใช้เพื่อเวลาขันน๊อตแน่น รางเหล็กตัวยูจะไม่พับตามแรงการขันน๊อต จริงๆใช้นิดเดียว แต่ร้านตัดแบ่งขายเป็นเมตร เหลือไม่เป็นไร เอามาใช้ทำปืนไทยประดิษฐ์ได้ เพราะรูเท่ากับลูกปืน .22 ไว้ใช้ยิงปลา




โช๊คอัพ (Shock Absorber) KAYABA SUPER หนึบ เนื่องจากเทรลเลอร์ชั้น 2 ระดับความสูงจะเท่ากับหลังคารถ SUV หรือรถที่ใส่ Rack หลังคา โช๊คอัพคู่นี้จะทำให้วิ่งนิ่งเรียบเนียน ไม่โยน ไม่เด้ง ไม่แกว่ง ไม่วูบวาบ ลดแรงกระเด้งของแหนบในแบบสปริง หรือกรณีวิ่งในทางขรุขะ ถนนไม่เรียบเป็นหลุมเป็นบ่อ จะวิ่งแบบรูดได้ ถ้าแบบเทรลเลอร์ชั้นเดียวจะไม่ไส่ก็ได้เพราะแหนบชุดนี้ค่อนข้างนิ่ม แต่ถ้าใส่จะวิ่งดีขึ้น เดินทางไกลเรือไม่เขย่า



กลไกระบบแขนกล Mechanical Arm สำหรับการยกเทรลเลอร์ขึ้นลง




 วินซ์ไฟฟ้า ตัวนี้เป็นขนาด 2000 ปอนด์ เป็นตัวที่เล็กสุดแล้ว จริงๆ แล้วใช้วินซ์ธรรมดาก็ได้ แต่มันไม่เท่ห์!!! ตอนเก็บเรือครับ ตอนเอาเรือขึ้นเทรลเลอร์ชั้น 2 มีเวลาเก็กหล่อกดปุ่มรีโมท  เทรลเลอร์มันจะแปลงกายเป็นทรานฟอร์เมอร์ ... จัดไป




 ข้อดีของวินซ์ตัวนี้คือ
  •  ราคาถูก เพราะต้องคุมราคาค่าใช้จ่ายในการทำเทรลเลอร์
  •  สายเป็นลวดสลิง แข็งแรง สายสลิงค่อนข้างยาว ถ้ารถติดหล่มเอาเทรลเลอร์มาวินซ์ช่วยรถลากได้
  •  มีแขนสำหรับหมุนมาให้ด้วย กรณีไม่มีไฟ 12v ก็เอามือหมุนเอง ก็สามารถหมุนเอาเรือขึ้นได้ และก็มีคลัชไว้สำหรับล๊อคเหรือเบรค

พอซื้อมาเสร็จผมก็จัดการรื้อเป็นชิ้นๆ เพื่อดูระบบการทำงานของมัน (ต้องทำให้มันพังก่อน) ระบบการทำงานของเครื่องจะใช้มอเตอร์และตลับลูกปืนหมุนทางเดียวติดอยู่ที่แกนคอมอเตอร์ ระบบนี้ดีตรงไม่ต้องใช้มอเตอร์ตัวใหญ่ เพราะมอเตอร์หมุนทางเดียว ไม่ต้องใช้แรงหมุนเพื่อเบรค และเมื่อหยุดหมุนมันจะเป็นเบรคกันการหมุนกลับอัตโนมัติ โดยมีเฟืองช่วยทดอีกหลายตัวเพิ่มกำลัง เท่ากับว่าไม่ต้องกลัวว่าขณะวินซ์เรือขึ้นแล้ววินซ์ไม่ไหวแล้วมันจะไหลกลับได้ เพราะหมุนได้เท่าไหนมันก็เบรคเท่านั้น หรือถ้าเราไม่กดปุ่มมันก็จะเบรคค้างได้

ข้อเสีย
  • ไม่มีระบบมอเตอร์หมุนกลับเพื่อสั่งงานตอนเอาเทรลเลอร์ลง เวลาเอาลงต้องหมุนลงเอง แต่ไม่ยากแต่เพราะน้ำหนักถ่วงเทรลเลอร์ต้องไหลลงอยู่แล้ว ต้องปรับคลัชให้เกือบฝึดสุด แล้วค่อยๆหมุนปล่อยมันลงช้าๆ โดยมีคลัชช่วยเบรคมันก็จะลงอย่างนิ่มนวล อาจใช้วินซ์มือตัวล่างอีกตัวเป็นตัวช่วยจำกัดการใหลลงของเทรลเลอร์ให้เป็นอยู่ในระยะ Safety ได้
  • ถ้าต้องการวินซ์กดปุ่มตอนเอาเทรลเลอร์ลง ต้องใช้รุ่นใหญ่กว่านี้ ก็จะสั่งขึ้น สั่งลง สั่งเบรคจากรีโมทได้ (หรูเกิน ... จอดเทรลเลอร์ทิ้งวินซ์หาย ... เหอๆ)

 
แบบแปลน Double Boat Trailer



ระยะในแบบแปลนเทรลเลอร์

ระยะ A ถึง M เป็นระยะของ Plan เทรลเลอร์ตัวล่าง (Beginner Boat Trailer)

A = ความกว้างเฟรมเทรลเลอร์ 1.60 เมตร
B = ความกว้างฐานล้อ 2.07 เมตร (ยาง 195/60 R14)
C = ระยะห่างล้อจากฐานหลัง 1.30 เมตร
D = ความยาว Center bar 2.30 เมตร
E = ความยาวถึงจุด Cross Bar  3.58 เมตร
F = ความยาวเทรลเลอร์ถึงจุดกลางหัวบอล 4.97 เมตร (ถ้ารวมหัวบอลทั้งหมด 5 เมตร)
G = ความยาวส่วนหัวเทรลเลอร์ถึงแขนเทรลเลอร์ 1.05 เมตร
H = ความยาวถึงจุดเชื่อมเฟรมเทรลเลอร์  3.92 เมตร
I =  ความสูงล้อยางจากฐานเฟรม Chassi 0.08 เมตร
J =  ความยาวส่วนหัวเทรลเลอร์ถึง Cross bar 1.40 เมตร
K = ความยาว Cross bar วงใน 0.50 เมตร
L = ความยาวตำแหน่งหูแหนบหน้า 1.625 เมตร (กลางหูแหนบ) 1.68 เมตร ปลายหูแหนบ
M = ความยาวแกนล้อ 1.80 เมตร

ระยะ N ถึง W เป็นระยะ Plan เทรลเลอร์ตัวบน (Double Boat Trailer)

N = ความยาว Chassi 2.10 เมตร
O = ความยาวส่วนหัวเทรลเลอร์ถึง Cross bar 0.80 เมตร
P = ความยาวแขนเทรลเลอร์ถึงถึง Cross bar 0.45 เมตร
Q = ความยาว Cross bar 0.40 เมตร
R = ระยะห่าง Center bar 1.70 เมตร
S = ระยะห่างแขนกลหน้า 1.9 เมตร
T = ระยะห่างแขนกลหลัง 0.7 เมตร

U = ระยะห่างแขนกลเทียบกับศูนย์กลางล้อ 0.60 เมตร
V = ความยาวแขนเทรลเลอร์ถึง Cross bar 0.40 เมตร
W = ความยาว Chassi ช่วงหัว 0.70 เมตร


ชมภาพรีวิว Advance Boat Trailer ก่อน

วินซ์หัวเรือ


ด้านหน้าเทรลเลอร์



ด้านข้างเทรลเลอร์



ด้านบนเทรลเลอร์



ระบบช่วงล่างเทรลเลอร์




ด้านหลังเทรลเลอร์




เทรลเลอร์ Double Boat Trailer นี้เป็นการทำในรูปแบบ Do it yourself คือ สามารถทำได้ด้วยตัวเองถ้ามีทักษะงานช่างและการใช้เครื่องมือบ้าง ตัวเทรลเลอร์สามารถใช้งานตามแนวความคิดได้ 100% ในส่วนตัวมีความพอใจเทรลเลอร์นี้ในระดับ 80% อย่างน้อยลากไปไหนไม่เหมือนใคร มันจะต้องมีลูกบ้าถึงขีดสุดจริงๆ เนื่องจากมันไม่ใช่ Commercial Trailer (เทรลเลอร์ที่ทำมาเพื่อเชิงพาณิชย์ ทำมาเพื่อไว้ขายซึ่งต้องดีสมราคา) อย่างน้อยก็เป็นแนวทางให้เพื่อนๆใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไป บางอย่างอาจต้องนำไปดัดแปลง เพิ่มเติมเพื่อให้เหมาะกับการใช้งานในรูปแบบพิเศษของแต่ละท่าน

จุดที่เพิ่มเติมจากเทรลเลอร์ Beginner Boat Trailer ที่ทำเพิ่ม คือ


  • เพิ่ม Center bar ด้านหลังอีกอยู่ระหว่างล้อกับท้ายเทรลเลอร์ (ในเรือที่น้ำหนักเยอะมากๆ บางแบบเช่น สปีดโบ๊ท อาจมีความจำเป็นต้องเพิ่ม Center bar ด้านหน้าล้อเพิ่มอีกอัน) เนื่องจากจังหวะการยกเทรลเลอร์ขึ้นจะมีแรงบิดเทรลเลอร์ส่วนท้ายมาก จึงต้องเสริม Center bar เพิ่มความแข็งแรงอีกอัน และ Center bar อันนี้ยังช่วยเฉลี่ยรับน้ำหนักเรือจากด้านท้ายอีกด้วย
  • เพิ่มความเข็งแรงในส่วนหัวช่วงดัดโค้งของเทรลเลอร์ เนื่องจากจังหวะวินซ์ทำการดึงเทรลเลอร์ชั้นสองขึ้น จะมีแรงกระทำในส่วนหัวเทรลเลอร์มากมาย (การแก้ไขมีหลายวิธี) แต่เนื่องจากผมไม่ต้องการให้มีเสาค้ำไปที่ส่วนหน้าอีก ซึ่งมันจะดูว่ามีเสาเยอะเกิน และเวลาไม่ใช้เทรลเลอร์ชั้น 2 เมื่อถอดออก มันจะดูเสาค่ำเสาวินซ์แปลกๆตลกๆ ถ้าเทียบกับเทรลเลอร์ปรกติ จึงต้องทำชุดด้านหน้าเทรลเลอร์ให้แข็งแรง โดยใช้วิธีเพิ่มความแข็งแรงตรงส่วนโค้ง ซึ่งก็มีผลดีทางอ้อมคือ น้ำหนักเทรลเลอร์ตัวล่างเพิ่มขึ้น ทำให้จุด CG ของเทรลเลอร์ดีขึ้น


ขั้นตอนการทำเทรลเลอร์

1. ทำโครงเทรลเลอร์ 

เนื่องจากเหล็กรางตัวยู 1.5" เล็กและบางทำให้ดัดโค้งไม่ได้ จึงใช้วิธีตัดเหล็กเป็นเส้นตรงมาประกอบกัน 
  • เหล็ก Cross bar ยาว 40 cm 
  • เหล็กส่วนต่อกับ Cross bar กับแนว Chassi ยาว 70 cm 2 ชิ้น
  • เหล็กส่วนโครง Chassi ยาว 2.1 m 2 ชิ้น
  • เหล็ก Real bar ยาว 1.6 m
นำมาวางทาบวัดกับแปลนเหล็กฉาก ทำการแต้มแต่งระยะต่างๆ


พอระยะต่างๆถูกต้อง ให้ทำการเชื่อมนอก-ใน ให้ครบทุกจุด ทำการเจียร์แต่งเรียบ


พอทำเสร็จลองทาบกับตัวเทรลเลอร์หลัก เช็คระยะความถูกต้อง


สังเกตุ Chassi Real bar หลังจะเท่ากัน แต่ด้านหน้าต่างกันนิดหน่อย เนื่องจากโครง Chassi เทรลเลอร์ตัวหลักด้านหน้าจะลู่เข้าหากันนิดหน่อยก่อนถึงแนวโค้ง จึงต้องทำการปรับเทรลเลอร์ให้โครง Chassi ตัวบนให้เท่ากันกับตัวล่าง โดยทำการตัดเหล็กตรงมุมส่วนต่อกับ Cross bar กับแนว Chassi ออกข้างละหน่อย และเชื่อมโครง Chassi กันใหม่ Chassi ทั้งคู่ก็จะทาบกันได้สนิท



 2. ชุดแขนกล (Mechanical Arm) 

สำหรับการยกเทรลเลอร์ขึ้น-ลง ของผมทำสำหรับเรือใบ เผื่อเจ็ตสกี และเรือประเภทอื่นๆ ตัวต้นแบบใช้ความสูงแขนกล 110 cm ตัวแขนตัวนี้ให้ตัดความสูงตามการใช้จริง แขนสั้นเทรลเลอร์ก็จะต่ำ การเหวี่ยง การโยนจะน้อยกว่า อยู่ที่น้ำหนักเรือที่บรรทุกด้านบนด้วย


เหล็กแขนกล ใช้เหล็กตัวยูขนาด 1.5" ความยาว 110 cm จำนวน 4 อัน ทำการเจียร์ปลายทั้ง 2 ด้านให้โค้งมล ทำการเจาะรูสำหรับการร้อยน๊อต การเจาะรูน๊อตถ้าต้องการความเที่ยงตรง ให้ใช้สว่านดอกเล็กเจาะก่อน แล้วตามด้วยดอกสว่านขนาดที่ต้องการเจาะ รูที่เจาะก็จะตรงตามตำแหน่ง ลบคมเหล็กด้วยใบเจียร์กระดาษทรายละเอียด




ทำการพ่นสีเก็บนอก-ใน เป็นอันเสร็จการทำแขนกลทั้ง 4




3. ข้อต่อบานพับ (Hinge joint) 

การทำข้อต่อบานพับใช้เหล็กตัวยูที่สั่งพับมา มาตัดที่ความยาว 5 cm จำนวน 8 ชิ้น ใช้ทำข้อต่อบานพับ ทำการเจาะรูเพื่อสวมกับบานพับ ส่วนอีก 2 ชิ้นเป็นใช้ทำตัวจำกัดลิมิตการหยุดเทรลเลอร์ตัวบน



ทำการแป๊ปท่อตัดเหล็กหนา 6mm ความยาว 3.5 cm จำนวน 8 อัน ข้อต่ออันนี้ใช้สำหรับร้อยน๊อต เป็นจุดหมุนของข้อแขนกล โดยได้เปลี่ยนมุมการยึดจากแบบแปลนแขนกลนิดหน่อย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของจุดเชื่อมของข้อแขน

ตัวอย่าง ข้อต่อบานพับด้านหน้า และการทำงานของจุดหมุน จะเชื่อมเหล็กอีกชิ้นสำหรับจำกัดระยะเดินหน้า เพื่อเป็นระยะหยุดทำเฉพาะคู่หน้า ให้ตัดเหล็กให้ครบก่อนเดี๋ยวค่อยเชื่อมทีเดียวตอนทำขายึด



ตัวอย่างข้อต่อบานพับอันอื่น จะเหมือนกัน พอต่อเสร็จจะเป็นตามรูป 
ใช้ยูโบล์ทด้านข้าง Chassi ใช้ทำเป็นที่ห่วงสำหรับเชื่อกมัดเรือ






4. ทำฐานยึดบานพับ (Hinge Bracket) 

ในครั้งแรกทำฐานยึดบานพับแบบถอดได้ แต่จากการทดลอง ฐานยึดบานพับแบบถอดได้ไม่แข็งแรงพอ ทนแรงบิดไม่ไหว จึงเปลี่ยนเป็นใช้วิธีการเชื่อมฐานยึดบานพับกับ Chassi ซึ่งจะแข็งแรงกว่ามาก

การทำจุดยึดเหล็กฐานขาบานพับ

ใช้เศษรางตัวยู 3" x 2 " หนา 6 mm จำนวน 4 แผ่น มาแปะที่โครง Chassi ตามระยะตามแปลน เพิ่มความแข็งแรง ขาฐานยึดบานพับจะนำไปเชื่อม 4 จุดตามตำแหน่งลูกศร




ทำขาฐานยึดบานพับ ใช้รางเหล็กตัวยู 1.5" ขาชุดหน้ายาว 7" ชุดขาหลังยาว 5" โดยยึดตามความสูง Chassi เชื่อมจุดยึดโดยรอบ





การยึดเทรลเลอร์ชั้นบนกับชั้นล่าง

ก่อนอื่น ให้ทำเทรลเลอร์ชั้นบนก่อน โดยพลิกเทรลเลอร์หงายเทรลเลอร์ให้ทำการยึดหูบานพับ 4 อัน (คล้ายๆ ยึดหูแหนบ)

พอยึดเสร็จเอาน๊อตพร้อมแขนกลมาขันยึดให้ครบ 4 แขนพร้อมหูยึดตัวล่างที่ไว้ยึดกับขาฐานยึดบานพับ (ติดอยู่กับตัวเทรลเลอร์ตัวล่าง)

แล้วเอาเทรลเลอร์ตัวบนคว่ำมาวางบนฐานขายึดบานพับ แล้วทำการเชื่อมดังรูป เวลาเชื่อมก็กดให้สนิทแล้วไล่เชื่อมโดยรอบ





เนื่องจากเราใช้วิธีการยกเทรลเลอร์ โดยใช้แรงดึงเทรลเลอร์ไปด้านหน้า แล้วแปลงแรงดึงไปข้างหน้าไปเป็นแรงยกเทรลเลอร์ขึ้นข้างบน

ถ้ามุมของแขนกลเป็นมุมราบ จะเกิดมุม Angle Lock มันเป็นตำแหน่งที่วินซ์ไม่ขึ้น เพราะแขนกลมันจะล๊อค ไม่สามารถเดินหน้าและไม่สามารถขึ้นบน แขนกลต้องมีมุมเล็กน้อย และตำแหน่งแขนกลต้องไม่เป็นมุมราบเกิน เทรลเลอร์จึงจะสามารถยกขึ้นได้



ทำ Center bar เพิ่ม

เนื่องจากจังหวะยกเทรลเลอร์ สร้างแรงบิดกับเทรลเลอร์มาก จึงต้องเพิ่ม Center bar อีกอันหลังล้อ โดยมีระยะห้อยต่ำ 15 cm Center bar ชิ้นกลางยาว 45 cm ชิ้นด้านข้าง 2 ชิ้นยาวประมาณ 55 cm (ตัดเหล็กมา 60 cm เพื่อสอดตัดแต่งไปใน Chassi)




5. เสาวินส์ไฟฟ้า (Shaft Electric Winch)

ใช้เหล็กกล่อง 3 " ยาว 2.10 เมตร ความสูงกำลังพอดีที่จะสามารถวินซ์มือได้กรณีไม่ใช้ไฟ 12v

เชื่อมแผ่นเพลทด้านบน ขนาด 4.5" x 7.5" (ยึดกับ eWinch) เจาะ 2 รู ส่วนเพลทด้านล่าง ขนาด 4.5" x 4.5" เจาะ 4 รูสำหรับใช้ยูโบลท์ร้อยยึดกับเทรลเลอร์



แขนวินซ์ (Arm Winch)


แขนวินซ์ ใช้เหล็กรางตัวยู 3" ยาว 1.00 เมตร เชื่อมกับแผ่นเพลทขนาด 4.5"x4.5" พร้อมรูเจาะ
ขาค้ำแขนวินซ์ ใช้เหล็กรางตัวยู 3" ยาว 0.70 เมตร เชื่อมกับแผ่นเพลท 4.5x4.5" พร้อมรูเจาะ





ส่วนปลายเทรลเลอร์ จุดที่มาสวมกับแขนวินส์

ใช้เหล็กรางพับ หนา 6 mm ยาว 30 cm มาตัดบากดังรูป (ก่อนตัดแล้วปรับระดับความสูงจุดที่มาสอดกัน) แล้วเชื่อมใหม่โดยรอบแล้วก็เจียร์จนหัวกลมเพียว (คล้ายๆหัวเต่า) เวลาวินซ์เทรลเลอร์ขึ้นเทรลเลอร์จะสอดประกบกับ แขนวินซ์พอดี แล้วใช้น๊อตสแดนเลสยึดเข้าด้วยกัน

เทรลเลอร์ชั้นบนพอเวลามาประกบกับ เทรลเลอร์ส่วนด้านหน้า มีผลให้เทรลเลอร์มีความแข็งแรงมาก มันเหมือนเกาะกันเป็นโครงสร้างที่เฉลี่ยการรับแรงและรับน้ำหนักไปทุกส่วนของเทรลเลอร์




6.ทำข้อต่อจุดยึดต่างๆ โดยใช้ยูโบลท์ (U bolt joint)

ในเทรลเลอร์ตัวนี้จุดยึดต่างๆ นอกจากจุดที่ใช้เชื่อมแล้ว จุดที่เหลือทั้งหมดจะใช้ยูโบลท์ยึดทั้งหมด ซึ่งจะมีข้อดี คือ ชิ้นต่างๆ จะถอด ปรับ ขยับ ย้าย เอาออก เพิ่มเติมได้ ข้อดีอีกอย่างคือ เวลาใช้ไปนานๆ ชิ้นไหนผุ ก็เปลี่ยนเป็นชิ้นๆ ได้ และตัว Chassi เทรลเลอร์ทั้งตัว ใช้เหล็กตัวยูทำให้ดูแลป้องกันสนิมง่ายมองเห็นทุกซอกทุกมุม

แต่เนื่องจากเหล็กโครง Chassi ขนาด 3" และ 1.5" จะมีรูปทรงสี่เหลี่ยม และสแควร์โบลท์ หาซื้อยากและมีราคาแพงกว่ายูโบลท์มาก (ยูโบลท์ซื้อมาตัวละ 5 บาท,7 บาท,15 บาท)

ผมจึงใช้วิธีแปลงยูโบลท์ เป็นสแควร์โบลท์ หลังจากทำเทรลเลอร์ตัวนี้เสร็จแล้ว ผมนี่เป็นผู้เชี่ยวชาญในการแปลง จากเจ้ายูโบลท์หน้ากลม เป็นเจ้าสแควร์โบลท์หน้าเหลี่ยมไปเลย



วิธีการแปลงยูโบลท์
  • เอายูโบลท์วางคว่ำไปบนเศษเหล็กรางตัวยู 3" ค้อนปอนด์ตอกลงไปหน่อย ยูโบลท์จะขากางนิดนึงแล้ว
  • ใช้แผ่นเพลทขนาด 4.5"x4.5" ที่เจาะรู 4 รูแล้วนั้น เอายูโบลท์มาร้อยกับแผ่นเพลท โดยเหล็กตัวยูอยู่ตรงกลาง ถ้าขากางไปก็ใส่น๊อตปลายขาแล้วเคาะตอกให้แคบลง ที่ต้องใส่น๊อตเพื่อกันเกลี่ยวน๊อตเสียเวลาตอก
  • แล้วจัดการเคาะแต่งจนได้รูปสแควร์ไม่จำเป็นต้องเหลี่ยมมาก เพราะตอนใส่เคาะแต่งได้อีก
  • การจับยึดอาจใช้คีมล๊อคช่วยในการจับกับรางตัวยู 3" (ใช้ก็ได้ ไม่ใช้ก็ได้) หรือใช้ช่วยบีดกดตรงส่วนโค้งก็ได้

ทำขายึดขาสกี ขารองรับเรือ

ใช้เหล็กรางตัวยู 1.5 นิ้ว ตัดตามความยาขาที่ต้องการ แล้วตัดเหล็กรางตัวยู 1.5 นิ้ว ยาว 2.5 นิ้ว สำหรับรองรับไม้ขาสกี เจาะรูเพื่อทำจุดยึดต่างๆ ขนาดรู M8 พร้อมรูสำหรับยึดขาสกี เก็บงานพ่นสี พอเสร็จก็พร้อมใส่กับเทรลเลอร์



การใช้ยูโบลท์ในรูปแบบต่างๆ

ขาสกี ขารองรับเรือ (ฺBoat Bracket)




ขารับแขนกล (Arm Bracket)



จุดมัดเชือก หูรัดเรือ



รัดเสาวินซ์ ควบคุมสายสลิง และจุดดึงยกเทรลเลอร์





7.ไม้ขาสกี ไม้วางเรือ

การใช้ไม้ขาสกีใช้ไม้ที่มีอายุ เป็นไม้เก่าจะดีกว่าไม้ไหม่ ดีตรงที่ไม้มันจะไม่บิด ไม่งอ ไม่ให้ตัว เมื่อโดนความชื้น ความร้อน ความเย็น ใช้ยาว 2.1 เมตร

เจาะรูขนาด M8 ทะลุแล้วใช้ดอกคว้าน หรือสว่านดอกใหญ่ เพื่อฝังหัวน๊อตให้จมเวลาใส่น๊อต ใช้ค้อนปอนด์เคาะให้หัวน๊อตจม แล้วใช้เหล็กช่วยตอกให้จมลึกกว่าผิวไม้นิดหน่อย


ตัดเป็นชิ้นๆ ตามต้องการ แล้วเจาะฝังน๊อตสแตนเลส



ตัดพรมตามขนาดไม้เผื่อให้พรมทับกัน แล้วใช้กาวยางทาให้ทั่วทั้งไม้และพรม ทากาวทีละด้าน พอกาวเริ่มเกือบแห้ง ให้นำไม้กับพรมมาติดกันจะแน่นมาก เคาะแต่งด้วยค้อนยางเพื่อพื้นผิวแนบแน่นสนิท



8.ระบบช่วงล่างระบบแผ่นสปริง Leaf Spring

ระบบช่วงล่างของเทรลเลอร์แบบนี้เรียกว่า ระบบช่วงล่างแบบคานแข็ง Leaf Spring โดยมีโช้คอัป Shock Absorbers




ระบบช่วงล่างหลังรถกระบะ






ในระบบช่วงล่างหลัง ของรถกระบะจะเป็นโช้คอัปไขว่ คือ นอกจากช่วยลดแรงกระแทกแล้ว ยังลดแรงบิดด้วย เนื่องจากการขับเคลื่อนรถกระบะจะใช้เพลาหมุนที่ล้อหลัง เวลาเดินหน้าหรือเวลาเบรค จะมีแรงบิดมาบิดที่แหนบจะมีผลคือ เพลามันบิดไปบิดมาทำให้แหนบบิดตัวตามเพลา

โช้คอัปไขว่จึงมาให้แก้อาการบิดตัวของแหนบเวลาออกตัว เร่งเครื่อง และเวลาเบรค มันจะมีโช้คตัวหน้าอัน โช้คตัวหลังอัน พอเพียงสำหรับแก้การบิดตัวของแหนบ แต่ไม่สมมาตร 100 % ถ้าจะให้สมมาตรเต็ม ต้องโช้คอัฟ 4 ตัว การผลิตรถยนต์เพื่อขายจึงมีโช้คอัปมาให้แค่ 2 ตัว เพราะมันเพิ่มต้นทุน ถ้าทำให้สมมาตร 100% ทำรถ 1 ล้านคัน จะต้องเพิ่มต้นทุนโช้คอัปอีก 2 ล้านตัว ถ้าเราสังเกตุดูรถแต่ง จะสังเกตุว่ามีโช้คอัปเพิ่มอีกเพียบ เพื่อแก้อาการบางอย่าง


แต่ระบบเทรลเลอร์ การขับเคลื่อนมาจากรถลากด้านหน้า และสำหรับเทรลเลอร์เรือขนาดเล็ก ระบบเบรคจึงไม่จำเป็นเพราะน้ำหนักเรือไม่มาก เทรลเลอร์จึงถูกลากอย่างเดียว ไม่มีแรงบิดกระทำมากที่เพลาเทรลเลอร์ ระบบโช้คอัปจึงใช้สำหรับแก้อาการโคลง ลดการเต้นหรือสั่นของล้ออย่างเดียว จึงไม่จำเป็นต้องไขว่




แต่ถ้าโช้คอัปคู่เดียวยังแก้อาการโยน โยก หรือเหวี่ยงไม่พอ ยังสามารถเพิ่มโช้คได้อีก 2 ตัวด้านหน้า เป็น 4 ตัว ... สมมาตร 100% โหดไปเลย





9. ห่วงโซ่ Safety

ระบบเซฟตี้ป้องกันเทรลเลอร์หลุดจากรถลากใช้ระบบโซ่ Safety




ปัญหาและอุปสรรค์

  • ขณะกำลังวินซ์ยกเทรลเลอร์ขึ้น แขนกลซ้าย แขนกลขวาเดินหน้า-ขึ้นลงไม่เท่ากัน แก้ไขโดยเพิ่มเหล็กราง 1.5" เชื่อมให้แขนกลซ้ายกับแขนกลขวาติดกัน



  •   ขณะกำลังวินซ์เทรลเลอร์ขึ้น Chassi หลัก รับแรงบิดไม่ดี การแก้ไขคือ ทำ Center bar เทรลเลอร์ตัวล่างอีกอัน ระยะห้อยต่ำ 15 cm Center bar ชิ้นกลางยาว 45 cm ชิ้นด้านข้าง 2 ชิ้นยาวประมาณ 55 cm (ตัดเหล็กมา 60 cm เพื่อสอดไปใน Chassi เชื่อมนอกใน) ทำให้มีจุดรับน้ำหนักเรือ 3 จุด คือ หน้า กลาง หลัง




  • แก้ปัญหามุม Angle lock ที่ทำให้วินส์ยกเทรลเลอร์ไม่ขึ้น โดยทำขายึดฐานล้อหน้า-หลัง มีระยะความสูงไม่เท่ากัน พร้อมกับจำกัดระยะลิมิตจุดต่ำของเทรลเลอร์



  • แก้ไขการแบ่งแรงดึงและแรงยกให้เป็น 2 จุด โดยแรงดึงไปข้างหน้าจะไปอยู่ที่ Center bar และจุดรับแรงสำหรับการยกเทรลเลอร์ขึ้นอยู่ที่ Cross bar





ได้เทรลเลอร์ตัวนึง เย้ ... ใครๆก็ทำได้จริงๆ



เครื่องมือออกทะเลอีกชุด ... ไปทะเลดีกว่า