ความสุข จะมีความหมายแท้จริง เมื่อได้แบ่งปัน ... The simple life-ชีวิตที่เรียบง่าย Adventurous-รักการผจญภัย Brave heart-ใจกล้าหาญ Creative-มีความคิดสร้างสรรค์ ...

วันพฤหัสบดีที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2559

D.I.Y. ทำเทรลเลอร์เอนกประสงค์สำหรับนักเดินเรือ ... ง่ายด้วยตัวเอง ตอน Beginner Trailer

D.I.Y. ทำเทรลเลอร์เอนกประสงค์สำหรับนักเดินเรือ ... ง่ายด้วยตัวเอง ตอน Beginner Trailer
D.I.Y. Mutipurpose Boat Trailer ... Episode Beginner Trailer


จุดประสงค์บทความนี้ เพื่อทำเทรลเลอร์เอนกประสงค์สำหรับนักเล่นเรือ ที่มันใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย และใช้กับเรือได้ทุกขนาดตั้งแต่ เรือคายัค เรือแคนนู เรือใบ เจ็ตสกี เรือยาง เรืออลูมิเนียม เรือตกปลา เรือแบส เรือสปิดโบ๊ท หรือแม้กระทั้งนำเทรลเลอร์มาใส่กระบะขนของ โดยมีขนาดได้สูงสุด 16 ฟุต หรือไม่เกิน 800 กิโลกรัม หรือแล้วแต่จะนำไปประยุกต์ใช้งาน


บทความจะแบ่งเป็น 2 ตอน คือ

บทความตอนแรก จะเป็น Single Boat Trailer ก็จะเป็นเทรลเลอร์แบบที่เราๆ ใช้กัน หรือคล้ายๆกับที่มีขายทั่วๆไป  บทความนี้เหมาะสำหรับ Beginner Boater หรือท่านที่สนใจจะมาเล่นเรือ ไม่ว่าจะเป็นเรือชนิดไหน หรือนักเล่นเรือที่ต่อเรือเอง ก็จะต้องต่อเทรลเลอร์ด้วย หรือแม้กระทั้งนักเล่นเรือรุ่น Advance Boater ที่เล่นเรือมานาน หรือท่านที่มีเรือหลายลำ เราไม่จำเป็นต้องมีเทรลเลอร์ให้เท่ากับเรือที่เรามี ถ้าเรามีเทรลเลอร์เอนกประสงค์แบบนี้ มันก็จะใส่เรือที่เราจะไปเล่นได้ทุกลำ โดยเรือที่ไม่ได้ใช้ ก็จอดบนขาสกีสำหรับจอด ส่วนใหญ่จะเน้นใช้กับเรือที่ลำไม่ใหญ่มาก ซึ่งก็แบบแบบที่พวกเราใช้กันอยู่แล้ว

บทความตอนที่สอง จะเป็น Double Boat Trailer จะเป็นเทรลเลอร์ที่สามารถบรรจุเรือได้หลายๆ ลำบนเทรลเลอร์ตัวเดียวกัน โดยมีระบบช่วยอำนวยความสะดวกในการปรับยกเรือขึ้น-ลงเทรลเลอร์  -> D.I.Y. เทรลเลอร์เรือ Advance Boat Trailer ง่ายด้วยตัวเอง ตอน Double Boat Trailer


ตัวอย่างเรือที่สามารถนำมาใช้ได้
  • ใส่ เรือใบ 1 ลำ กับ เรือใบ 1 ลำ
  • ใส่ เรือเจ็ตสกี  1 ลำ กับ เรือใบ 1 ลำ
  • ใส่ เรือเจ็ตสกี 1 ลำ กับ เรือคายัคหรือเรือแคนนู 2 ลำ
  • ใส่ เรือใบ 1 ลำ กับ เรือคายัคหรือเรือแคนนู 2 ลำ
  • ใส่ เรือเจ๊ตสกี 1 ลำ กับ เรือยาง 1 ลำ
  • ใส่ เรือยาง 1 ลำ กับ เรือยาง 1 ลำ
  • ใส่ เรือยาง 1 ลำ กับ เรือคายัคหรือเรือแคนนู 2 ลำ
  • ใส่ เรือยาง 1 ลำ กับ เรือใบ 1 ลำ
  • ใส่ เรือสปีดโบ๊ต 1 ลำ
  • ใส่ เรืออลูมิเนียม 1 ลำ กับ เรืออลูมิเนียม 1 ลำ
  • ใส่ เรืออลูมิเนียม 1 ลำ กับ เรือใบ 1 ลำ
  • ใส่ เรืออลูมิเนียม 1 ลำ กับ เรือยาง 1 ลำ
  • ฯลฯ มากมายกายกอง หรือจะบรรทุกเรืออย่างไรก็ได้ สลับกันอย่างไรก็ได้ ไปได้ทีละ 2-3 ลำ ขึ้นอยู่กับขนาดเรือ



ถ้าเราสังเกตุเทรลเลอร์ส่วนใหญ่ที่มีขายในท้องตลาดในปัจจุบัน ที่ราคาครบชุดพร้อมใช้ ราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ 25,000-55,000 บาท (เมื่อ 10 ปีที่แล้วราคาเทรลเลอร์ครบชุดพร้อมใช้ อยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นบาท) จะเป็นเทรลเลอร์แบบ Single ฺBoat Trailer

หลายคนจ่ายเงินกับเทรลเลอร์เพื่อตอบสนองการใช้งานที่จะใช้กับเรือเพียง 1 ลำ จริงๆแล้วนักเล่นเรือจริงๆ ต้องการเทรลเลอร์ในแบบ Advance Trailer ที่มันจะใช้ตอบสนองความต้องการที่หลากหลาย ในแบบที่ไม่มีข้อจำกัด วิธีที่ดีและได้ผลคือ คือ ต้องลงมือทำเอง เพราะรายละเอียดการใช้งานที่กว้างและหลากหลายแบบนี้ ไม่มีใครมาแก้งานเทรลเลอร์เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอดเวลาให้เราได้ และแถมเป็น Double Boat Trailer พร้อมระบบการปรับระดับเทรลเลอร์ขึ้นลงอีก หากไม่ทำเองค่่าใช้จ่ายคงบานปลายไปไกล

เนื่องจากผมไม่เคยเชื่อมเหล็ก Welding มาก่อน จึงต้องเรียนรู้และเข้าใจการเชื่อมเหล็กก่อน ซึ่งก็ไม่ยากอะไร ในการทำเทรลเลอร์ เราจะใช้การเชื่อมเทรลเลอร์แบบงานจุด กับ การเชื่อมแบบเดินแนวเส้น

ศึกษาการเชื่อม




บอกตามตรงดูแค่ 2 คลิปก็ Get เชื่อมได้แล้ว และไม่ต้องกังวลว่างานเชื่อมจะไม่สวยเพราะยังไงเราก็ต้องเจียร์ทิ้งให้เรียบในส่วนด้านบนเทรลเลอร์อยู่แล้ว อยากให้งานเชื่อมสวยก็แค่วนหมุนปลายลวดเชื่อม รอยเชื่อมจะดูเป็นเกล็ดๆ เทรลเลอร์ตัวนี้ผมใช้เวลาว่าง ทำวันละ 1 ชั่วโมง ทำไปประมาณ 1 เดือน บางวันก็ไม่ได้ทำเพราะฝนตก เชื่อมวันละจุด ตัดเหล็กวันละชิ้น เราจะไม่มีทางที่เราจะเข้าใจอะไรได้อย่างถ่องแท้ ถ้าไม่ได้ลงมือทำ

นอกจากทำเทรลเลอร์แล้ว เรายังได้ประโยชน์เล็กๆจากงานเชื่อม ในระยะยาวประหยัดไปหลายแสน เช่น ซ่อมรั้ว ซ่อมประตู ซ่อมประตูรั้ว ซ่อมหลังคา ซ่อมโครงเฟอร์นิเจอร์ ซ่อมชั้นวางของ ซ่อมเตียง ซ่อมโครงเหล็กหน้าต่าง ซ่อมกันชนรถ ฯลฯ ลองดูซิในบ้านมีอะไรเป็นเหล็กบ้าง ...เยอะมาก

เรืออะไรบ้างที่ใช้กับเทรลเลอร์นี้ได้
  • เรือคายัค
  • เรือแคนนู
  • เรือใบ
  • เรือเจ็ตสกี
  • เรือยาง
  • เรืออลูมิเนียม
  • เรือตกปลา
  • เรือแบส
  • เรือสปีดโบ๊ท
ในเรือแต่ละแบบจะมีความแตกต่างกันในด้านมิติ คือ
  • ความยาวเรือ
  • ความกว้างเรือ
  • ความสูงเรือ
  • น้ำหนักเรือ
  • จุด CG เรือ

อุปกรณ์ที่ใช้ทำเทรลเลอร์
1.เครื่องเชื่อมไฟฟ้า Welding แบบ Inverter พร้อมหน้ากากเชื่อม
2.เครื่องตัดเหล็ก
3.ลูกหมู
4.สว่าน
5.ฉากวัด
6.ตลับเมตร
7.ค้อนปอนด์


ตัวอย่าง การสร้างเทรลเลอร์เอนกประสงค์ เอามาใช้กับเรือใบ Hobie Cat
ความยาว 3.65 เมตร
กว้าง 1.35 เมตร
น้ำหนัก 88.5 กิโลกรัม

มาช่วยวิ่งวน รอบเทรลเลอร์

ขาสกีแบบถอดได้จะปรับตามยาวตัวเรือ หรือปรับตามขวางตัวเรือ ตามแบบของเรือ
Plan Multipurpose Boat Trailer
Plan Multipurpose Boat Trailer

แบบแปลนเทรลเลอร์นี้ จุดรับน้ำหนักใช้วิธีคำนวนเฉลี่ยน้ำหนัก กระจายจุดรับน้ำหนักต่างๆ โดยใช้วิธีคานสมดุล

A = ความกว้างเฟรมเทรลเลอร์ 1.60 เมตร
B = ความกว้างฐานล้อ 2.07 เมตร (ยาง 195/60 R14)
C = ระยะห่างล้อจากฐานหลัง 1.30 เมตร
D = ความยาว Center bar 2.30 เมตร
E = ความยาวถึงจุด Cross Bar  3.58 เมตร
F = ความยาวเทรลเลอร์ถึงจุดกลางหัวบอล 4.97 เมตร (ถ้ารวมหัวบอลทั้งหมด 5 เมตร)
G = ความยาวส่วนหัวเทรลเลอร์ถึงแขนเทรลเลอร์ 1.05 เมตร
H = ความยาวถึงจุดเชื่อมเฟรมเทรลเลอร์  3.92 เมตร
I =  ความสูงล้อยางจากฐานเฟรม Chassi 0.08 เมตร
J =  ความยาวส่วนหัวเทรลเลอร์ถึง Cross bar 1.40 เมตร
K = ความยาว Cross bar วงใน 0.50 เมตร
L = ความยาวตำแหน่งหูแหนบหน้า 1.625 เมตร (กลางหูแหนบ) 1.68 เมตร ปลายหูแหนบ
M = ความยาวแกนล้อ 1.80 เมตร

การปรับ Balance เทรลเลอร์ใช้วิธีการปรับที่เลื่อนหน้า เลื่อนหลังที่เสาวินซ์ซึ่งเป็นจุดยางรับหัวเรือ กับจุดยึดยางอะไหล่

ครั้งแรกกะว่าจะใช้วิธีการปรับ Balance โดยวิธีการเลื่อนชุดแหนบ แต่หลังจากทำการวัดระยะ และเช็คการตั้งมุมล้อ ผู้ปรับตั้งการเลื่อนแหนบจะต้องมีความละเอียดในการวัดมากจริง การวัดหรือตั้งระยะต้องทำการวัดตั้งระยะจากด้านหน้าเทรลเลอร์ เพื่อให้ล้อสัมผัสถนนพร้อมๆกัน แต่การวัดจากด้านหน้าเทรลเลอร์จะยากกว่าวัดจากด้านหลัง (ฉะนั้นถ้าทำการวัดระยะแหนบจากด้านหลัง การทำเทรลเลอร์จะต้องทำบาร์ยึดเฟรมด้านท้าย Real Bar (A) ให้มีความเที่ยงตรงมากที่สุด เพื่อเวลาวัดจะได้วัดจากด้านท้าย ซึ่งจะให้ผลการวัดเหมือนกันกับการวัดจากด้านหน้า การวัดจากด้านหลังเทรลเลอร์จะง่ายกว่าด้านหน้ามาก) เนื่องจากเฟรมเทรลเลอร์ด้านหน้าโค้งเข้าหากัน ไม่เป็นมุมฉาก หากการวัดมีความผิดพลาดเพียง 0.5 เซนติเมตร ยิ่งฐานล้อแคบเท่าใด ยิ่งทำให้เกิดมุมผิดพลาดยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ทำให้เกิดการกินยาง ผลคือหน้ายางไม่เท่ากัน และไม่เกาะถนน สรุปเลยไม่ใช้วิธี Balance เทรลเลอร์โดยวิธีปรับเลื่อนแหนบ ใช้วิธีเชื่อมหูแหนบกับ Chassi เลย

ระบบกันสะเทือนแบบแหนบ (Trailer Suspension System)

B = ความยาวหูแหนบ 65 cm
N = จำนวนแหนบใช้ 3-5 ชั้น ยิ่งจำนวนชั้นของแหนบเยอะ จะรับน้ำหนักได้มาก ของผมใช้แหนบ 4 ชั้น

รายการอะไหล่อุปกรณ์

1.เหล็กรางตัวยู ขนาด 3 นิ้ว x 1.5 นิ้ว หนา 0.6 มิลลิเมตร 3 เส้น x 850 = 2,550

2.ท่อเหล็กแป็ปสเตย์ ขนาด 2 1/2 (เส้นรอบวงนอก 2.5นิ้ว) ยาว 180 cm หนา 6mm (แกนเพลาล้อ)หนัก 18.4กิโล x75บาท/กิโลกรัม = 1380
ปรกติเพลาล้อเทรลเลอร์ส่วนใหญ่ที่ทำขาย ใช้เพลาหนา 3mm ซึ่งถูกกว่านี้มาก เพราะขายเป็นเส้น เอามาตัดทำเพลาเทรลเลอร์ได้ 3 เพลา แต่หาของไม่ได้ที่นี่มีแต่ขนาด 2.4 เลยใช้ 6mm



3.ไม้หน้า 3 นิ้ว ยาว 170 cm 2 ตัว  +ไสเรียบ 75บาท x 2ตัว =150

4.เหล็กกล่อง 3นิ้ว x 3นิ้ว ความหนา 3 mm ยาว 70 cm 100บาท x 1 อัน = 100 (เสาวินส์)

5.กระทะล้อเหล็กใหม่ + ยางใหม่ 1100 x 2 = 2200 แถมถ่วงล้อให้ฟรี



6.ชุดแหนบยาว 65cm 4แผ่น +หูยึดแหนบ +โตงเตง 1250บาท x
2 = 2500




7.ดุมล้อใหม่พร้อมหน้าแปลน 4รู 100mm หน้าแปลนรูแป็ป 2.5นิ้ว 1100บาท x 2 =2200



8.ล้อหน้าเทรลเลอร์ 1000ปอนด์ 1400บาทx1ตัว =1400


9.พรมหุ้มขาสกีสีเขียว กว้าง1.5m xยาว 1m 108บาทx1เมตร = 108

10.ยูโบลท์ (U bolt) 2 1/4นิ้ว  4 ตัว (เอามาแปลงเป็นสแควร์โบ้ว ยึดขาสกี) 6บาทx4ตัว =24

10.ยูโบลท์  (U bolt) 3 นิ้ว 2 ตัว  6mm (เอามาแปลงเป็นแควร์โบ้ว ยึดชุดขายึดวินส์) 15บาทx2ตัว =30

11.น๊อตดำ M10x100 +น๊อตหัวM10 +แหวน (ยึดกับเหล็กครอบหัวบอล) 11บาทx5ตัว =55

12.น๊อตสแตนเลส M8x30 +น๊อตกันคลาย M8 +แหวนสแตนเลส  (ยึดปรับขาสกี กับยึดไม้ขาสกี) 9บาท x8ตัว = 72

13.เหล็ก 4.5x4.5นิ้ว หนา 6mm เจาะรูพร้อม พร้อมยูโบ้วยึดแหนบ 4อัน (ชุดสำเร็จ) 250บาท x2ตัว = 500


14.เหล็ก 4.5x4.5นิ้ว หนา 6mm พร้อมเจาะรู 4 รู (แผ่นเหล็กยึดเสาวินส์กับเทรลเลอร์) 100บาทx1 ตัว = 100

15.เหล็ก 4.5x5.5นิ้ว หนา 6mm พร้อมเจาะรู 3 รู (แผ่นเหล็กยึดวินส์) 100บาทx1 ตัว=100
16.วินส์มือขนาด 1600ปอนด์ 850บาทx1ตัว =850
17.ฝาครอบหัวบอล ซื้อมาสำรองประมาณ 10 ปี ตัวเก่าไม่ยอมเสียสักที คิดค่าเสือมราคาคงเหลือ 0 บาท


ขั้นตอนการทำเทรลเลอร์

1.ทำ แปลนเหล็กฉาก แบบสำหรับวัดเทรลเลอร์ แปลนเหล็กฉากตัวนี้สำคัญเพราะใช้ทาบวัดกับเทรลเลอร์ ทำให้เวลาต่อเทรลเลอร์แล้วเทรลเลอร์ไม่เอียง หรือเบี้ยว และฉากด้านหน้ายังใช้สำหรับวัดระยะด้านหน้าเทรลเลอร์ (เหล็กเส้นแบนเหลือจากทำรั้วบ้าน)



2.นำเหล็กรางตัวยู 3 นิ้ว มาดัดกับเสารั้วดัด 2 เส้น ขั้นตอนนี้ต้องใช้แรงคน 2 คน เวลาดัดให้ดันมุมให้ขนานกับเสาที่ดัด มุมจะได้ไม่เอียงบิด พอดัดได้มุมสวยงามก็เอาอีกอันมาดัดให้ได้มุมเท่ากัน เวลาเอามาวางทาบกันต้องขนานกัน เน้นมุมโค้งต้องเท่ากัน (2 คนนี้ก็ไม่เคยดัด ไม่เคยเชื่อม)


3.ทำ เหล็กส่วนหัวลากเทรลเลอร์ ใช้เหล็กตัวยู 3 นิ้ว ตัดมา 140 cm มา 2 อัน แล้วนำมาประกบกันให้สนิท แล้วทำการเชื่อมแต้มให้ติดกันก่อน แล้วทำการเชื่อมแบบลากเป็นช่วงๆ หัว กลาง ท้าย แค่นี้ก็แข็งแรงมากแล้ว (เชื่อมเหล็กกันครั้งแรกกันทุกคน ใครอยากลองเชื่อมก็ให้เชื่อม น้องนักศึกษาฝึกงาน เทคนิคนครสวรรค์มาลองเชื่อมเหล็ก) ผมบอกน้องเชื่อมตามสบาย ไม่สวยก็เจียร์ทิ้งได้


4.นำเหล็กที่ดัดมาวางทาบบนแบบทำการตัดหัว ตัดท้ายตามแปลน แล้ว ทำหล็ก Rear Bar (A) โดยใช้เหล็กตัวยู 3 นิ้ว ตัดตรงมา 60 cm ก็จะได้ชิ้นกลาง เนื่องจากเทรลเลอร์กว้าง 160 cm เท่ากับต้องมีชิ้นด้านข้างอีก 50 cm (60+50+50 =160) แต่ชิ้นด้านข้างให้ตัดเผื่อสัก 10 cm เท่ากับชิ้นซ้ายและขวาความยาว 60cm (สรุปตัดเหล็กยู 60 cm เท่ากัน 3 ชิ้น) เพราะจะต้องเผื่อตัดเอียงทำมุมเพื่อให้ห้อยต่ำ และจะต้องตัดปลายซ้าย-ขวา เพื่อสอดประกบกันกับเฟรมเทรลเลอร์ให้สนิทเวลาเชื่อม


เนื่องจากต้องทำชิ้นกลางห้อยให้ต่ำลงเพื่อรับกับท้องเรือ ด้านท้ายจะไม่ทำห้อยต่ำลงมากเนื่องจากเวลาเวลาเลี้ยวเข้าบ้านหรือขึ้นเนินฟุตบาท ถ้าทำต่ำมากท้ายมันจะติด และตอนนำเรือลง-ขึ้นจากแร็มป์มุมของแร็มป์จะทำให้ท้ายเรือจมน้ำไปมากที่สุดอยู่แล้ว Rear Bar ชิ้นนี้จึงไม่ต้องทำห้อยต่ำลงมาก เหล็ก Rear Bar ตัวนี้ใช้ระยะห้อยต่ำที่ 8 cm แล้วทำการตัดชิ้นซ้ายขวาให้มีมุมเอียงที่ได้ความสูง 8 cm จึงทำการเชื่อม


เสร็จแล้วนำ Rear Bar มาวัดกับเหล็กแปลนฉาก ให้ทำการ Mark จุดศูนย์กลางเทรลเลอร์ขีดไว้ที่ เหล็กแปลนเหล็กฉาก และ Mark จุดศูนย์กลาง Rear Bar วางให้ตรงกัน ทำการ Mark ปลายทั้งสองให้เท่ากับเฟรมเทรลเลอร์ แล้วทำการตัดปลายซ้าย-ขวา เสร็จแล้วทำการตัดแต่งปลายบน-ล่างเพื่อให้สอดเข้าไปในเหล็กเฟรมเทรลเลอร์ เวลาเชื่อมท้ายจะได้ดูเต็มๆ สวยๆ และแข็งแรง


5.ทำการเชื่อมโครง เฟรมเทรลเลอร์ โดยทำการเชื่อมส่วนหัวก่อน ให้ทำการเชื่อมลากแต้มก่อน ยังไม่เอาแน่น ที่ผมเคยบอกว่าการวัดจากส่วนหัวมันยาก เพราะส่วนหัวมันโค้ง และการเชื่อมเหล็กเวลาเชื่อมจะมีการรั้ง เนื่องจากการเชื่อมใช้วิธีทำให้อุณหภูมิสูงจัด จนทำให้เหล็กที่แข็ง ละลายกลายเป็นของเหลวเหมือนน้ำ แล้วหลอมติดกันเป็นเนื้อเดียวกัน ตอนเหล็กร้อนมันก็ขยาย พอเหล็กเย็นมันก็หดตัวมันจึงมีการรั้ง ส่วนด้านหลัง Rear Bar จะดูง่ายเพราะมันเป็นฉากเท่ากันกับเทรลเลอร์ เชื่อมให้ครบทุกด้านก่อน ลองสังเกตุดูเห็นอะไรผิดมั้ย


ต้องวัดเทียบหลายๆจุด และดูให้ดีๆ เหล็กส่วนหัวลากเทรลเลอร์มันเอียงหน่อยนึง ให้ใช้ค้อนปอนด์ จัดการเคาะให้เข้าที่ ให้ตรงแล้วนำมาทาบในแปลนเหล็กฉากอีก วัดมันให้ตรงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สำหรับการทำเทรลเลอร์ การทำ Rear Bar ต้องทำให้มีความถูกต้องมากที่สุด ผิดพลาดไม่ควรเกิน 1 mm (แต่ของผมทำมันเท่ากันเปี๊ยะ) เพราะถ้าเราทำแหนบแบบปรับเลื่อนได้ หากระยะไม่แม่นยำ ความผิดพลาดหมายถึงการกินยางและการไม่เกาะถนน เพราะเวลาเราปรับแหนบเพื่อตั้งการบาลานซ์ คุณจะวัดระยะจากไหนด้านหน้าก็วัดยากเพราะเทรลเลอร์ไม่ได้ทาบแปลนเหล็กฉาก จะวัดด้านหลังหากช่างที่ทำเทรลเลอร์ชุ่ย มักง่าย ไม่เห็นความสำคัญของความเที่ยงตรง Rear Bar จะไม่ได้ฉากเท่ากับด้านหน้า ระยะทุกอย่างจะเพี้ยนไปหมด แม้กระทั้ง Center Bar



6.ตัดเหล็กตัวยู 3 นิ้ว ยาว 60 cm เพื่อทำ Cross Bar ตัดเจียร์ปลาย Cross Bar ทั้งสองด้านให้สอดเข้าใปในรางเฟรม ตัดแต่งหรือเจียร์ให้ใกล้เคียงที่สุด แล้วทำการเชื่อม Cross Bar ให้รอบใน-นอก ถ้าส่วนไหนตัดมากมากเกิน จนเป็นช่องว่างมากเกินไม่เป็นไร ให้เอาเศษเหล็กก้อนเล็กๆที่เหลือจากการตัดมาช่วยเติมเนื้อเหล็กเพราะเนื้อเหล็กจากลวดเชื่อมจะไม่พอ เวลาเชื่อมมันจะละลายเป็นน้ำเหล็กเติมจนเต็มเอง ท่าที่เชื่อมง่ายสุดคือ แนวราบ จึงใช้วิธีตะแคงเทรลเลอร์เชื่อม ในจุดเชื่อมที่เป็นโครงสร้างเฟรมเทรลเลอร์จะใช้กำลังไฟจากเครื่องเชื่อมที่ 75



7. ตัดเหล็กตัวยู 3 นิ้ว ยาว 40 cm เพื่อทำ Center Bar ชิ้นกลาง แล้วทำการตัด Center Bar ชิ้นข้างซ้ายและขวายาว 70 cm จำนวน 2 อัน เนื่องจากเทรลเลอร์ออกแบบกว้างๆ เผือเรือท้อง V หรือสปีดโบ๊ต จึงต้องทำอกให้ลึก โดยใช้ระยะห้อยต่ำลงมาที่ 20 cm ทำการตัดเอียงแขน Center Bar ซ้ายขวาเพื่อทำมุมห้อยต่ำ แล้วทำการเชื่อม ขั้นตอนนี้เหมือนกับทำ Real Bar พอเชื่อมเสร็จ ให้ทำการ Mark Center ที่ Center Bar ชิ้นกลาง แล้วทำการขีด Mark Center ที่พื้นที่อยู่ในแปลนเหล็กฉาก แล้วทำการตั้ง Center วัดระยะให้ตรงกัน ตัดแต่งปลายทั้ง 2 ข้างให้สวมเข้าไปในเฟรมเทรลเลอร์ได้พอดี แล้วทำการเชื่อมกับเฟรมเทรลเลอร์ ทำการเชื่อมนอก-ใน ให้ครบทุกด้าน



8.พอถึงตอนนี้เราจะได้ Chassi เทรลเลอร์ครบแล้ว ต่อไปเป็นการไล่เชื่อมทุกจุดเก็บรายละเอียด เก็บทั้งด้านนอก ด้านใน เชื่อมให้เต็มทุกจุด ตรงไหนไม่ดีก็เจียร์ทิ้งเชื่อมใหม่ พอเชื่อมถึงขั้นนี้ก็จะเริ่มเชื่อมเหล็กเก่งแล้ว

เชื่อมเยอะๆ ไปก่อน

แล้วก็เจียร์ทิ้งไป ก็จะเรียบ และสวย เทรลเลอร์ด้านบนจะเจียร์สวยเรียบกริบ ส่วนด้านล่างให้เจียร์แต่งสวยโดยให้มีเนื้อเหล็กนูนๆ นิดหน่อยจะช่วยเพิ่มความแข็งแรง

นี่แหละที่ผมบอก ท้ายเต็มๆ มันจะไม่มีรู
น้องสาม รออย่างใจเย็น... เธอเป็นสาวมาจากออสเตเรีย ขาว สวย หุ่นเพรียว เธอตัดสินใจย้ายมาอยู่เมืองไทยเพราะ หลงรักทะเลไทย เธอบอกทะเลเมืองไทยสวย
9.การเชื่อมเพลาหน้าแปลนดุมล้อ เนื่องจากผมใช้หน้าแปลนยึดดุมล้อสำเร็จรูป ซึ่งมีขนาด 4.5" หนา 1 " ตามรูป ที่หน้าแปลนยึดดุมล้อจะมีการกลึง 2 ด้าน ด้านนึงจะกลึงพอดีกับดุมล้อจะสวมได้พอดี ส่วนอีกด้านจะกลึงเพื่อสวมท่อเหล็กแป็ปสเตย์ (แกนเพลา) โดยจะสวมเข้าไปได้นิดหน่อย รูกลึงด้านที่สวมกับแป็ปสเตย์ตรงนี้สำคัญมาก หากไม่มีเบ้ากลึงรับการเชื่อม จุดเชื่อมต่อจะรับแรงไม่ดี เวลากระแทกแรงมีโอกาศจุดเชื่อมแตก แล้วล้อหลุดยกเบ้า

หน้าแปลนยึดดุมล้อสำเร็จรูป จะมีแบบกลึงแกนเพลาแล้ว กับแบบยังไม่ได้กลึงแกนเพลา ซึ่งดีคนละอย่าง แบบกลึงแล้วส่วนใหญ่จะมีขนาด 2.5" กับ 3" ส่วนแบบที่ยังไม่ได้กลึงจะดีตรงที่ใช้กับท่อแป๊ปขนาด 2.4" (หนา 3mm) ต้องเอามากลึงเอง ซึ่งมีเยอะเพราะมันเป็นขนาดใช้กับท่อไอเสียรถยนต์ แล้วแต่ๆละจังหวัด ว่ามีท่อแป๊ปขนาดไหนขายบ้าง


ทำการเชื่อมแป็ปสเตย์กับดุมล้อ ดันให้สนิทแล้วทำการแต้มล๊อค 2 จุดตรงข้ามกัน ยังไม่เชื่อมเยอะ ลองเช็คบาลานซ์เอาไปกลิ้งบนเทรลเลอร์ดูก่อน มันแกว่งหน่อยๆ ยังใช้ไม่ได้ มีอะไรผิดพลาด ... ติ๊กต๊อกๆๆๆ

การเชื่อมหน้าแปลนดุมล้อนี้ สำคัญกว่าการตั้งแหนบอีก จะทำอย่างไงดีให้หน้าแปลนตั้งฉาก ... มันต้องมีอะไรผิดพลาด

เลยจัดการเอาเพลาไปโรงกลึงที่ใหญ่น่าจะที่สุดในจังหวัด ในโรงกลึงมีเครื่องกลึงเกือบ 20 ตัว (เจ้าของโรงกลึงมาดูชิ้นงาน ค่ากลึงพร้อมเชื่อมเพลา บอกช่างคิดราคา 200 บาท หูไวได้ยินพอดี) ช่างกลึงกลิ้งดูสักพักเห็นไม่ได้ศูนย์ เอาค้อนเคาะออกเลย จัดการเอาแป๊ปสเตย์ใส่เครื่องกลึง พอหมุนเท่านั้นแหละถึงบางอ้อ ...

แป๊ปที่ตัดโดยเครื่องตัดที่มองแล้วได้ฉาก แต่พอเอามาเช็คกับเครื่องกลึง จริงๆตัดมาไม่ได้ฉาก พอไม่ได้ฉากประกบกับหน้าแปลนยึดดุมอย่างไงก็ไม่มีทางตรง ช่างก็จัดการปาดหน้าแปลนเหล็กแป็ปสเตย์ ทั้งสองข้าง


ผมก็บอกให้ช่างแต้มที่เครื่องกลึงเลย แล้วค่อยถอดมาเชื่อมอีกที่ข้างนอกทั้ง 2 ข้าง แต่ ... มีข้อจำกัดอีก เครื่องกลึงทั้งร้านไม่มีตัวไหนใหญ่แท่นใหญ่พอที่จะยัดหน้าแปลนดุมล้อขนาด 4.5" เข้าไปได้ จะใส่ไปได้แค่ข้างเดียวเท่านั้น เท่ากับว่าจะทำการแต้มหน้าแปลนยึดดุมล้อทำได้แค่ข้างเดียวจากแท่น

นี่คือโลกแห่งความจริงไง เครื่องกลึงที่เราเห็น 100 ตัว  จะมีแค่ 1 ตัวที่ทำได้ ร้านนี้มีเครื่องกลึงเกือบ 20 ตัว ยังไม่มีเครื่องกลึงแท่นใหญ่ขนาดนั้นเลย ต้องเป็นเครื่องกลึงแท่นใหญ่จริงๆ จึงสามารถยัดเจ้าหน้าแปลนดุมข้างนึงเชือมแล้วพลิกยัดหน้าแปลนดุมอีกข้างเข้าไปเชื่อมได้

ถ้าเราไม่สนใจในเรื่องความเที่ยงตรง จริงๆ จะเชื่อมอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าเทรลเลอร์เรานิ่งเรียบ ไม่แกว่งหรือสั่น เทรลเลอร์เราการทรงตัวจะสุดยอด การเกาะถนนจะดี เวลาลากจะไม่น่ากลัว และสามารถใช้ความเร็วสูงในการลากได้



งานนี้เลยต้องใช้ประสบการณ์ช่างกลึงล้วนๆ สำหรับการเชื่อมดุมล้ออีกข้าง โดยใช้วิธีเชื่อมแต้มแล้วทำการวัดฉาก 4 ด้าน แล้วเอาแกนเพลามาหมุนแบบเครื่องกลึง โดยใช้เข็มตั้งชิ้นงานของเครื่องกลึงมาช่วยเช็ค แล้วทำการเคาะแต่งดุม แล้วก็เอามาหมุนอีกเคาะแต่งจนดุมบาลานซ์ จึงทำการเชื่อมจริง

เห็นความพยายามของช่างกลึงทั้ง 2 แล้วกะว่าจะให้ทิปอีกคนละ 100 เลย เจ้าของโรงกลึงก็เข้ามาคุยถามว่าเพลาอันนี้เอาไปทำอะไร ก็ตอบไปว่าทำรถลาก พอดีลูกน้องดันปากไว บอกว่าจะเอาไปทำรถลากเรือ ตอนคิดเงินเลยโดนข้อหาลากเรือ โดนไป 500 เลย แต่เจ้าโรงกลึงบอกเราว่าเขาจะให้ทิปลูกน้องเขาเองคนละ 100 ก็โอเคเพราะเราจะให้เขาอยู่แล้ว ดูจากวิธีการทำน่าจะโอเค แต่ต้องลองวิ่งจริงดูก่อน ถ้าไม่นิ่งค่อยตัดทิ้งทำใหม่

ขั้นตอนการเชื่อมดุมเพลาจะใช้ไฟแรงประมาณ 120 เพื่อให้เหล็กหลอมละลายกว่าปรกติ ให้เป็นเนื้อเหล็กเดียวกัน


สมมุติว่า ถ้าผมต่อเทรลเลอร์อีก จะแก้ปัญหาในเรื่องความเที่ยงตรงของหน้าแปลนยึดดุมล้ออย่างไร 

ตัวอย่างการตัดเหล็กด้วยพลาสม่า ร้านขายส่งเหล็กต่างจังหวัดก็มีเยอะ ไปร้านขายส่งเหล็กตัดเหล็กวงกลมเส้นผ่าศูนย์กลาง 4.5" หนา 1.5" เอา 2 อัน เค้าจะคิดค่าน้ำหนักเหล็กกับค่าตัด


เอาก้อนเหล็กชิ้นนี้ไปโรงกลึง โดยเอาดุมล้อไปด้วย ด้านนึงกลึงเท่ากับดุมล้อ อีกด้านกลึงโดยเอาแป๊ปสเตย์ขนาด 2.5" สามารถสอดเข้าไปได้ลึก 0.5 นิ้ว พร้อมเจาะรูให้เท่ากับดุมล้อ เพียงเท่านี้เราก็จะเชือมเองได้โดยไม่ต้องกลัวรั้งเอียง เพราะเหล็กสอดกันพอดีแบบลูกสูบกับปลอกสูบ ค่าใช้จ่ายอาจสูงกว่าดุมล้อสำเร็จ แต่เชือมเหล็กง่ายกว่ากันมาก ไม่ต้องกลัวรั้งและศูนย์ได้ฉากเปี๊ยบ เนื่องจะระยะที่ฟิตพอดีของช่องแบบลูกสูบกับปลอกสูบ


10.ทำระบบช่วงล่าง เนื่องจากต้องการใช้กับเรือที่หลากหลายทุกชนิด ในเรือที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ จุด CG เรือจะอยู่ตรงกลาง ส่วนในเรือที่มีเครื่องยนต์จุด CG จะอยู่ค่อนด้านท้ายโดยส่วนใหญ่ เนื่องจากต้องการตัดปัญหาในเรื่องความเที่ยงตรงการตั้งมุมล้อ ลดการบำรุงรักษาสนิมในเกลียวน๊อต จุดซ่อนเร้นที่เหล็กมาประกบกันทำให้สะสมความชื้น ทำความสะอาดยาก จุดที่เหล็กเสียดสีกันจุดนั้นจะเคลือบอะไรก็เคลือบกันสนิมไม่ได้ และการเชื่อมจะเพิ่มความแข็งแรงช่วงล่าง จึงใช้วิธีการยึดช่วงล่างด้วยแบบการเชื่อม (จุดอ่อนของระบบแหนบแบบปรับเลื่อนได้ คือ สนิม ในจุดซ่อนเร้น)


เชื่อมหูแหนบทำการวัดและทำการเชื่อมหูแหนบหน้าก่อน โดยถอดเฉพาะหูแหนบหน้ามาเชื่อม เวลาเทรลเลอร์ลากจะถูกลากไปด้านหน้า ล้อหน้าทั้งคู่จะต้องสัมผัสถนนพร้อมๆกัน การเชื่อมระบบช่วงล่างให้ใช้ไฟแรง 120


แล้วทำการเชื่อมหูแหนบหลัง ทำการตั้งวางมุมโตงให้มีมุมเอียงนิดหน่อย เพื่อระยะการยุบตัวของแหนบ การเชื่อมหูแหนบทุกตัวให้ทำการเชื่อมโดยรอบ ปิดอย่าให้มีรูเพราะต้องการไม่ให้น้ำเข้าใปช่องสัมผัสระหว่างหูแหนบกับเฟรมเทรลเลอร์ สนิมจะแอบกินใน


แล้วพลิกมาเชื่อมหูแหนบทุกตัวด้านบนอีก ใช้กระดาษทรายขัดเหล็กเบอร์ละเอียดขัดสนิมแดงออกที่เฟรมเทรลเลอร์ เก็บงานพื้นผิว


ตัดเหล็กทำการเสริมเฟรม Chasis เพิ่มความแข็งแรง ขนาด 2" x 3" จำนวน 4 ตัว เพื่อค้ำหูแหนบทุกตัวป้องกันเฟลมเทรลเลอร์บิดหรือพับ สังเกตุจะไม่ทำปิดกว้างมากเน้นเหล็กหนามากกว่า เพราะต้องการดูแลรักษาและตรวจเช็คป้องกันสนิม


ตัดเหล็กตัวยู 3" ยาว 2" มา 2 อัน ทำการเจาะรูตรงกลางขนาดประมาณ 2 cm เหล็กตัวนี้ใช้ทำ ขาล็อคแกนเพลาล้อ กันแกนเพลาล้อหมุนตามหรือให้ตัวและยังเพิ่มความแข็งแรงในการยึดระหว่างชุดแหนบกับแกนเพลาล้อ การเจาะรูจะใช้สว่านเจาะ หรือใช้เครื่องเชื่อมเจาะก็ได้ การใช้เครื่องเชื่อมเจาะโดยการทำแบบการเชื่อมใช้ไฟแรง 120 พอเหล็กละลายเป็นของเหลวให้เอาลวดเชื่อมดันลงมันก็จะเป็นรู แต่งรูโดยการเชื่อมวนๆ



นำชิ้นส่วนเข้ามาประกอบเป็นเทรลเลอร์ นำขาล็อคแกนเพลาล้อมาใส่ระหว่างเพลากับแหนบ แล้วทำการขันน๊อตสาแหรกให้แน่นทั้ง 2 ข้าง ใส่ดุมล้อขันให้แน่น ใส่ล้อพร้อมขันน๊อตล้อพอประมาณ

ทำการเชื่อมขาล็อคแกนเพลาล้อทั้ง 2 ด้าน ทั้งล้อด้านซ้ายและล้อด้านขวา


พอเสร็จก็จะได้เพลาพร้อมใช้งาน พอถึงขั้นตอนนี้ เนื่องจากฝนตกเกือบทุกวันจึงทำการเริ่มเก็บสีเพื่อป้องกันสนิม เนื่องจากขัดสนิม ลบคม จนเทรลเลอร์ลื่นปึ้ดเรียบปึ้ดแล้ว



พิสูจน์ ความความผิดเพี้ยนการตั้งเพลาเอียง ด้วยทฤษฎีบทพีธากอรัส (Pythagorus)

ความสัมพันธ์ของด้าน 3 ด้านของ สามเหลี่ยมมุมฉาก ทฤษฏีนี้ถูกคิดค้นมาแล้ว 2598 ปี เราสามารถวัดความสูง หรือความยาวของสิ่งหลายสิ่ง โดยที่ไม่ต้องไปวัดจริงๆ หรือวัดจากความสัมพันธ์เชิงมุมได้





เรื่องของการป้องกันสนิม

ทดสอบการเป็นสนิมโดยเอาเหล็กทิ้งให้โดนฝน เมื่อเหล็กสัมผัสกับน้ำ และออกซิเจน จะมีปฏิกริยาซึ่งเกิดขึ้นช้าๆ โดยมีเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง จะเกิดเป็นคราบสีแดงส้ม ที่เรียกว่า สนิม สิ่งเหล่านี้ คือกฏธรรมชาติ


เหล็กชิ้นเดียวกันนี้นำมาขัดกระดาษทราย เมื่อเราขัดไปเรื่อยๆ เหล็กจะมีลักษณะเงางามคล้ายกระจก หลายคนมักจะสงสัย โดยเฉพาะคนที่เพิ่งเริ่มเล่นเรือและจะกังวลว่า เรือและเทรลเลอร์จะมีอายุได้กี่ปี เพราะทุกคนรู้ว่าทุกสิ่ง ทุกอย่างไม่คงทน

ผมเลยถามเจ้าก้อนเหล็กที่เงางามนี้ว่า

"จะเกิดอะไรขึ้น ... เมื่อเจ้าของความฝันนั้นจากไป"

เพื่อนๆ ก็จะมาร่วมแสดงความเสียใจ "ขอแสดงความเสียใจ ต่อการจากไปของ ..."

สักพักก็เห็นเรือประกาศขาย แล้วเรือก็ไปอยู่กับเจ้าของใหม่

บอกตามตรง ความฝันนั้นยังคงอยู่ เรือก็ยังคงโลดแล่นบนผิวน้ำ ส่วนเทรลเลอร์ก็ยังพาเรือไปในทุกๆที่ๆ กับเจ้าของใหม่

เรือและเทรลเลอร์ที่ทำมาดี และมีการบำรุงรักษา จะมีอายุยืนยาวกว่าเจ้าของความฝัน ...

ในเทรลเลอร์ที่มีการชุบเคลือบกัลวาไนซ์ (คือการเคลือบด้วยสังกะสีที่หลอมเหลว) จะมีอายุได้ประมาณ 20 ปี  ส่วนเทรลเลอร์ที่เคลือบด้วยสี (ด้วยการทา หรือพ่น) ปีละ 1 ครั้งจะมีอายุประมาณ 15 ปีหรือมากกว่าอยู่ที่การดูแลรักษา (การทาสีเทรลเลอร์ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง)



พอได้เฟรมเทรลเลอร์ครบ อาจนำไปโรงชุบ เพื่อเคลือบกัลวาไนซ์ โรงชุบไม่ได้มีทุกจังหวัดนะครับ ผมเลยใช้วิธีทาสีเทรลเลอร์ แต่เนื่องจากพื้นผิวเหล็กเรียบเนียนมาก เลยเปลี่ยนเป็นใช้วิธีพ่นแทน วิธีเก็บงานสีที่ง่ายสะดวกสุดคือ สีสเปร์ย เทรลเลอร์ตัวนึงใช้ประมาณ 4 กระป๋อง (กระป๋องละ 40 บาท) จะพ่นทับได้ประมาณ 3 รอบ ถ้าจะให้สีปกป้องอย่างสมบูรณ์ต้องพ่นประมาณ 5 รอบ จะได้ชิ้นงานเหมือน Chassi รถป้ายแดงทีเดียว


วิธีทดสอบเทรลเลอร์จากสนิมแดงคือ ให้จอดเทรลเลอร์ตากฝนถ้าฝนไม่ตกก็เอาน้ำฉีดให้ทั่ว แล้วปล่อยทิ้งไว้สักครึ่งวัน ถ้าตรงไหนมีสนิมแดงขึ้น นั่นหมายความว่าตรงจุดนั้นยังพ่นไม่ดี ส่วนใหญ่จะเป็นตามซอก ตามมุมต่างๆ อาจต้องพ่นหลายครั้งหลายๆมุม ให้ไล่ความชื้น ใช้แปรงสีฟันขัดคราบอ๊อกไซด์ แล้วจัดการพ่นทับอีกสัก 2 รอบ

งานพ่นสี กับงานทาสี จะต่างกันนิดหน่อย ถ้าพื้นผิวเรียบใช้งานพ่นชิ้นงานจะสวย แต่งานพ่นความหนาของชั้นฟิลม์เคลือบจะสู้แบบทาไม่ได้ ถ้าใช้งานทาสี ทาแค่ 2-3 รอบความหนาชั้นฟิลม์ได้เลย

ข้อดีของการพ่นสี หรือทาสีเทรลเลอร์ คือ เทรลเลอร์จะเหมือนเทรลเลอร์ใหม่ตลอดเวลา ทุกครั้งหลังจากการพ่นสีหรือทาสี เวลาเทรลเลอร์ถลอกขูดขีด ก็แค่พ่น หรือทาทับก็จะปกป้องสนิมได้อย่างสมบูรณ์

11.ทำเสาวินซ์ ให้เอาเหล็กกล่อง 3"x 3" ยาว 70 cm พอตัดแต่งก็จะเหลือ 60 cm เนื่องจากออกแบบมาเผื่อ Double Boat Trailer จึงทำให้ยาวกว่าปรกตินิดหน่อย ถ้าเพื่อนๆทำ Single Boat Trailer ใช้เหล็กยาว 60 cm  ก็พอเดียวสูงไปวินซ์ลำบาก นำเหล็กมาตัดที่มุม 15 องศาหัวท้าย (15-30 องศา แล้วแต่แบบของเรือ) พอตัดแต่งก็จะเหลือประมาณ 50cm

แล้วทำการเชื่อมกับเหล็กแผ่น 4.5" x 4.5" เหล็กชิ้นนี้ใช้ล๊อคกับกับส่วนหัวเทรลเลอร์ ใช้การบาลานซ์เทรลเลอร์โดยการปรับเลื่อนหน้าหลังที่เสาวินซ์ กับจุดยึดยางอะไหล่ ส่วนเหล็กขนาด 4.5" x 5.5" ที่เจาะ 3 รู อีกด้านอันนี้อยู่ด้านบนใช้ขันล็อคกับวินซ์ เวลาเชื่อมเหล็กยึดวินซ์ไห้ดูให้ดีด้วยมันมีด้านหน้า ด้านหลังให้เอาส่วนที่เจาะรูเดียวไว้หน้า ที่เจาะ 2 รูไว้ด้านหลัง


ทดสอบการวินซ์แห้ง คือการเอาเรือขึ้นเทรลเลอร์โดยไม่ใช้แร็มป์ ไม่ใช้น้ำช่วย ทำบนบก


การขันล็อค จะใช้ยูโบลท์ (U bolt) 3 นิ้ว 2 ตัว เนื่องจากเหล็กส่วนหัวเทรลเลอร์จะมีความแข็งแรงมาก จึงใช้เหล็กหัวเรือนี้แปลงยูโบลท์เป็นสแควร์โบลท์ โดยการขันยูโบลท์จนสุด ขันทั้ง 2 ขาให้เท่าๆ กันพอขันตึงมือแล้ว ให้ใช้ค้อนปอนด์ทำการเคาะส่วนโค้งของยูโบลท์ แล้วก็ขันอัดจนให้แน่น พอขันแน่นก็ทำการเคาะที่ยูโบลท์อีก ทำไปเรื่อยๆ ยูโบลท์ ก็จะกลายเป็นสแควร์โบลท์ จะเอาเหลี่ยมจัดขนาดไหนก็อยู่ที่เรา อยู่บ้านนอกนี่ลำบาก หาซื้อทองง่ายกว่าสแควร์โบลท์ เลยต้องแปลงเอาเอง (จากตัวละ 70-80 บาท เหลือตัวละ 6 บาท กับ 15 บาท ก็โอเค)


ในเรือที่มีน้ำหนักมาก หรือเรือสปีดโบ๊ท จำเป็นต้องมีเสาสำหรับค้ำหัวเรือด้วย เพื่อล็อคหัวเรือให้แน่น และยังทำให้เทรลเลอร์ไม่เด้งเวลาลาก ชุดค้ำหัวเรือจะทำต่อจากเสาวินซ์ประมาณรูป แต่ถ้าเป็นเรือขนาดเล็ก หรือเรือที่มีน้ำหนักเบา เช่น เรือคายัค เรือแคนนู เรือใบ เรือยาง เรืออลูมิเนียม จะทำเสาค้ำหัวเรือหรือไม่ทำก็ได้ อันนี้ไม่ได้ทำให้ดู แต่การทำประมาณนี้

เวลาทำเหล็กค้ำหัวเรือจะต้องนำเรือขึ้นมาทดลองบาลานซ์เทรลเลอร์ด้วย ถ้าบาลานซ์ถูกต้องจะต้องสามารถยกเทรลเลอร์กระดกขึ้นได้ด้วยมือเพียงข้างเดียว และเทรลเลอร์ก็จะกระดกค้างแบบเปิดฝากระโปรงหน้ารถได้เมื่อปล่อยมือ



12.การทำขาสกี จะใช้เศษเหล็กรางตัวยู 3" เอามาทำ โดยชิ้นหน้ายาว 9" จำนวน 2 อัน ชิ้นหลัง ยาว 6 " จำนวน 2 อัน ส่วนขารองรับไม้สกีใช้เหล็กตัวยู 3" ยาว 2.5" จำนวน 4 อันมาประกอบกัน การยึดจะใช้สแควร์โบลท์ที่แปลงมาจากยูโบลท์ การทำสแควร์โบลท์ ให้เอาเศษรางตัวยู 3 นิ้วมาทำแบบ เอาค้อนปอนด์ปรับรูปให้เป็นสแควร์ เคาะข้างนอกพอได้อย่างที่ต้องการจึงค่อยนำไปร้อยใส่


การทำการยึดจะใช้ล๊อคกับ Center Bar และ Rear Bar ทำให้เราสามารถปรับขาสกีได้อย่างที่ต้องการ โดยขาที่สำหรับยึดขาสกี สามารถปรับให้ขาสกีให้เป็นแบบตามความยาวเทรลเลอร์ และปรับให้ขาสกีเป็นแบบตามขวางเทรลเลอร์แบบที่ผมใช้ได้ แล้วแต่ใช้กับเรืออะไร (ขาสกีอันนี้เป็นอันที่ทำใช้ชั่วคราว จึงยังไม่ได้หุ้มพรม และร้อยน๊อตสแตนด์เลส แต่ก็ใช้งานได้ดี)



ทดสอบเทรลเลอร์

ผมได้สัญญากับน้องสี่เอาไว้ว่าจะไปรับเธอ หลังจากผมเสร็จธุระ สัญญาต้องเป็นสัญญา โดยผมจะต้องลากเทรลเลอร์เปล่า เป็นระยะทาง 540 กม. ไปบ้านกรูดเพื่อแวะรับเธอ จึงทำการปรับลมยางเทรลเลอร์เป็น 32 ปอนด์ นึกในใจสงสัยเทรลเลอร์เปล่าคงกระเด็งเป็นเจ้าเข้าแน่เพราะน้ำหนักบรรทุกก็ไม่มี โช้คก็ไม่มี (เทรลเลอร์ตัวใช้กับ 17 ฟุตมีโช้ค 4 ตัว) เทรลเลอร์ตัวนี้ตั้งใจเลยให้ฐานล้อกว้าง 2.07 เมตร ซึ่งจะมีข้อดี คือ ล้อจะล้นมากกว่าตัวรถลาก เวลาลาก จะมองเห็นล้อเทรลเลอร์ทั้งซ้ายขวาจากกระจกมองข้าง (เทรลเลอร์ 17 ฟุตฐานล้อกว้าง 2.30 เมตร) และเทรลเลอร์ตัวนี้จะเป็นแบบ Double Boat Trailer ฐานล้อต้องกว้างๆไว้ เพื่อการเกาะถนน

ผลการลากน่าดีใจจนน่าใจหาย ไม่กระเด้งกระดอนเลย เพราะถ้าเทรลเลอร์กระเด้งจะทำความเร็วไม่ได้เลย เพราะเทรลเลอร์จะไม่เกาะถนน และจะปาดไปปาดมา ล้อก็ไม่สั่นด้วย สามารถทำความเร็วสูงได้ ลองทดสอบช่วงสั้นๆ วิ่งที่ความเร็ว 140 กม/ชั่วโมง (ส่วนใหญ่วิ่งที่ 120) ไม่มีอาการน่ากลัว วิ่งได้แบบปรกติแบบรถเปล่า นี่น่าจะเป็นผลจากแป๊ปสเตย์หนัก 18.4 kg แน่ๆเลย ไม่เสียแรงที่ควบคุมคุณภาพความเที่ยงตรงทุกขั้นตอน ผลเป็นอย่างงี้นี่เอง

ที่บ้านกรูด ทะเลเรียบกริบ
ส่วนขากลับนี่ยิ่งดีใหญ่ เพราะมีน้ำหนักถ่วงอีก 88.5 kg ขับแบบสบายๆ เหมือนไม่ได้ลากเทรลเลอร์ ต้องขอบคุณ คุณแอนดรู ที่ยกเจ้าสาวชาวออสเตเรีย Busty Girl คู่แฝดมาให้ถึง 2 คน สาว 2 คนนี้ชอบท้าลม ชมคลื่น

ถนนที่บ้านกรูดมันจะเป็นทางโค้งไปเลี้ยวมาเยอะ แอนดรูขับ Camry ตามท้ายมาส่งน้องสี่ แอนดรูบอกเทรลเลอร์วิ่งเกาะถนน เกาะโค้งดีมาก เทรลเลอร์ของเค้าวิ่งไม่เกาะถนนแบบนี้ จนหาว่าผมเป็นโรงงานทำเทรลเลอร์ไปนั่น ...


จบเรื่องการทำเทรลเลอร์ ตอน Beginner Trailer แล้วครับ

แล้วพบกันใหม่ เมื่อเวลาหมุนมาบรรจบกัน




บทความที่เกี่ยวข้อง




10 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับความรู้และขั้นตอนงานDIYที่ละเอียดยิบ ขออณุญาตดัดแปลงไปใช้กับเทรลเลอร์เพื่อการเกษตรครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. ดีใจครับที่ได้ประโยชน์หลายๆด้าน โดยเฉพาะเทรลเลอร์เพื่อการเกษตร เทรลเลอร์เรือเป็นเทรลเลอร์ที่ออกแบบมาให้ลากที่ความเร็วสูงได้ (ความเร็วตามกฏหมายกำหนดนี่สบายๆ) โดยไม่น่ากลัว มีอาการนิ่ง เรียบ ไม่แกว่ง ไม่เต้นหรือไม่โยน เพราะส่วนใหญ่เรือจะลากกันทีระยะทางค่อนข้างไกล

      ลบ
  2. อยากถามว่า ชุดแหนบตามรูปข้างบน หาซื้อได้ที่ไหนครับ รบกวนขอที่ซื้อหน่อยนะครับ authanawat@gmail.com ขอบคุณมากครับ

    ตอบลบ
  3. มีเบอรฺ์โทรติดต่อไหมครับ สนใจต้องการสั่งชุดแหนบ 1 คู่ 1250 *2= 2500 บาท ติดต่ออย่างไร จ่ายเงินอย่างไรครับ เบอร์ผม 095 410 4845

    ตอบลบ
  4. สอบถามชุดแหนบหน่อยครับ หาซื้อได้ที่ไหนครับ ส่งรายละเอียดมาที่ 9pakornkit@gmail.com ขอบคุณล่วงหน้าครับ

    ตอบลบ
  5. ไม่ระบุชื่อ17 เมษายน 2563 เวลา 21:40

    สวัสดีครับ ขออนุญาตสอบถามชุดแหนบครับ หาซื้อได้ที่ไหนครับ tantikorn.s@gmail.com ขอขอบคุณล่วงหน้าครับ

    ตอบลบ
  6. สนใจชุดแหนบครับสั่งได้ทางใหนครับ เบอร์โทรผม 0873159936

    ตอบลบ
  7. ความคิดเห็นนี้ถูกผู้เขียนลบ

    ตอบลบ
  8. ไม่ระบุชื่อ16 กันยายน 2565 เวลา 14:46

    ถ้าจะถามว่าพอจะมีแบบมั้ยครับ...คือพวกผมเป็นอาสาสมัครดับเพลิงอยากได้แบบไปต่อเทรเลอร์ไว้ขนเรือ เพื่อออกไปช่วยเหลือปชช.ตอนน้ำท่วมตามที่ต่างๆครับ

    ตอบลบ