ความสุข จะมีความหมายแท้จริง เมื่อได้แบ่งปัน ... The simple life-ชีวิตที่เรียบง่าย Adventurous-รักการผจญภัย Brave heart-ใจกล้าหาญ Creative-มีความคิดสร้างสรรค์ ...

วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

เรื่องของระบบทริม (Trim) และการใช้ Rudder แก้เอียง ... ผู้ช่วยในการเดินเรือทะเล

เรื่องของระบบทริม (Trim) และการใช้ Rudder แก้เอียง ... ผู้ช่วยในการเดินเรือทะเล

โดยส่วนใหญ่ เรือที่สามารถปรับหางขึ้นลงได้ จะมีความสามารถพิเศษในการควบคุมเรือดีกว่า เรือที่หางติดตั้งคงที่ โดยเราใช้วิ่งบนยอดคลื่น ไต่คลื่นได้ ลองติดตามชม ...


เข้าใจระบบการควมคุมทิศทางกันก่อน

ตัวอย่างแรก เป็นระบบการควมคุมทิศทางของเครื่องบิน


ระบบการควบคุมทิศทาง ของเครื่องบินจะใช้หางเสือ ที่เป็นแพนหาง

หน้าที่หลักของแพนหางเครื่องบินคือ ควบคุมทิศทางแนวระนาบ (Rudder) ให้ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา ที่เป็นเสากระโดงตั้งขึ้นมา โดยกระดกซ้าย ขวา โดย กระดกซ้าย จะเลี้ยวขวา กระดกขวา จะเลี้ยวซ้าย

กับควบคุมทิศทางในแนวดิ่ง ( Elevator) คือ ยกหัวเครื่องบินขึ้น หรือกดเครื่องบินหัวลง โดยการกระดกแพนหางแนวราบกระดกขึ้น จะเป็นการยกหัวเครื่องขึ้น หรือ ถ้ากระดกลงจะเป็นการกดหัวเครื่องบินลง

เครื่องบินใช้หลักการควบคุมแค่นี้ในการบินจริงๆ เครื่องบินบางลำอาจมีปลายปีกเล็กๆ ด้านหน้ากระดกขึ้นลง (Aileron) ใช้เพื่อช่วยให้การเลี้ยวมีประสิทธิภาพมากขึ้น เท่านั้นเอง



 ระบบการควมคุมทิศทางของเรือ 

เรืออะไรก็ตาม ที่มีความสามารถ ในการปรับมุมหรือหางเสือเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาได้ กระดกหางขึ้นลง และปรับค้างหรือหยุดเป็นจังหวะได้ จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการเดินเรือ ในทะเลเป็นอย่างมาก

ระบบการควบคุมทิศทาง ทางเรือ ก็เป็นดังเช่นระบบการควบทิศทางของเครื่องบิน



ระบบการเลี้ยวในแนวระนาบ จะใช้วิธีปรับมุมของหางเสือ ทำให้เกิดการเลี้ยวในแนวระนาบ

การเลี้ยวโดยส่วนใหญ่เราจะปรับให้มีมุมเลี้ยวอยู่ที่ ประมาณไม่เกิน35 องศา

รวมเลี้ยวซ้าย ขวา คือประมาณ 70 องศา



ระบบการควบคุมเรือแนวดิ่ง

เครื่องมือที่ใช้ในการปรับหัวเรือให้ขึ้น หรือลง ก็คือ ทริม นั่นเอง ทริมทำงานในแบบหางของเครื่องบิน (Elevator)

แรงที่ใช้ในการยกหัวเรือ ให้ขึ้นหรือลง ขึ้นอยู่กับ

- ความเร็วของเรือที่วิ่ง ณ ขณะนั้นๆ
วิ่งเร็วมาก แรงยกก็มาก วิ่งช้าแรงยกน้อย

- น้ำหนักของตัวเรือเอง
เรือที่มีน้ำหนักเบา จะปรับยกหัวเรือได้ง่าย กว่าเรือที่มีน้ำหนักเยอะ

- การบาลานซ์ น้ำหนักเรือ
เรือที่น้ำหนักอยู่ที่หัวเรือมาก จะยกหัวเรือได้ยากกว่าเรือที่มีน้ำหนักหัวเรือน้อย

- ขนาดของแพนหาง ที่หางเรือ (ดูรูปหางเครื่องบิน แนวระนาบ)
เรือที่มีขนาดแพนหาง แนวระนาบใหญ่ จะมีแรงยกหัวเรือมากกว่าแพนหางเล็ก
ส่วนใหญ่จะแปรผันตามขนาดเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ยิ่งใหญ่ แพนหางก็จะใหญ่ตาม

-แก้อาการบางอาการของเรือเอง เช่น เรือบางลำมีอาการมุดคลื่น หรือ แก้บางอาการของเรือบางแบบที่ออกตัวแล้วหัวเชิดมาก

-แก้อาการเรือวิ่งแล้วเอียง เรือที่ดีจะต้องวิ่งไม่เอียง ถ้ามีการบาลานส์น้ำหนักเรือดีเรือต้องไม่เอียงเวลาวิ่ง แต่ใช้หางเสือแก้ได้ แต่จะสูญเสียความเร็วสูงสุดของเรือที่ควรจะได้ เพราะต้องใช้แรงต้านในการทำให้ตรงไม่เอียง



       การควบคุมเรือในแนวดิ่ง 

ทำให้เราสามารถทำได้ทั้ง ยกหัวเรือขึ้น และกดหัวเรือลง

ประโยขน์ของการปรับทริม

- ความเร็วปลายสูงขึ้น โดยใช้รอบเครื่องเท่าเดิม อาจเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 5-10 km/h

- ประหยัดน้ำมันมากขึ้น

-ถึงที่หมายเร็วขึ้น

-ลดการกระแทกจากคลื่น



มันคงดูตลก ถ้าคลื่นมีน้อย หรือไม่มี แต่เรือกระโดดเป็นโลมา หรือเรือจะวิ่งหัวตั้งหัวโด่อย่างเดียว
 



การใช้แบบทั่วไปของ Trim และ Tilt


การตั้งทริมค่าปรกติ จะตั้งขนานกับตัวเรือ 



สังเกตุ ฟิน (แพนหางแนวระนาบ) จะขนานกับน้ำ แบบนี้จะไม่ยกหัวเรือ และกดหัวเรือ

สังเกตุทิศทางน้ำ ลูกศรสีแดง น้ำวิ่งผ่านแนวตรงทั้งด้านบน และด้านล่าง


เมื่อเรา Trim down ผลจะเป็นดังรูป


เมื่อเรือวิ่งไปข้างหน้า กระแสน้ำด้านบนจะวิ่งผ่านฟินไปปรกติ

ส่วนกระแสน้ำด้านล่าง (ตามลูกศรล่าง) จะมีแรงดันฟินด้านล่าง ส่งผลให้มีแรงดันงัดเครื่องขึ้น ส่งผลให้กดหัวเรือลง

เรือบางลำที่มีอาการออกตัวหัวเชิด อาจเอาวิธีนี้ไปใช้ตอนออกตัว ใช้แก้ขัด

แต่การแก้จริง ควรบาลานท์น้ำหนักให้อยู่กลางเรือแล้วแลยไปทางหน้าเรือมากกว่า


 เวลาเราใช้รถ สิ่งที่รับแรงกระแทก หรือซับความสั่นสะเทือน ก็คือ โช้คอัพ

ถ้าเอาใช้โช้คอัพที่แข็งเกิน ถนนเรียบก็เหมือนนั่งเกวียน

แต่ถ้าโช้คอัพอ่อนเกิน ถนนเรียบๆ ก็จะเกิดอาการโยนไปโยนมา


ทริม = โช้คอัพ

การใช้ทริมเพื่อลดการกระแทก

ตัวอย่างเช่น ในสภาวะคลื่นหยาบ หรือมีคลื่นหยุบยับ ไม่เกิน 0.5 เมตร ดังรูป


แค่กดทริมดาว์นที่ละกิ๊กๆ แล้วรูดคลื่นเลย ไม่ต้องเบาเครื่อง  หัวเรือจะวิ่งแล้วกดไว้กับน้ำตลอด

ส่วนจะกดแค่ไหนแล้วแต่เรือ แล้วแต่ความเร็ว แล้วแต่น้ำหนัก หาจุดที่ดีที่สุด 




 การทริมอัพ ดังรูป


เมื่อเรือวิ่งไปข้างหน้า กระแสน้ำด้านบนจะวิ่งดันฟินด้านบน ทำให้ให้มีแรงดันกดลงที่ฟินด้านบน ส่งผลให้หัวเรือยกขึ้น หรือสูงขึ้น

ส่วนกระแสน้ำด้านล่างจะวิ่งผ่านไปปรกติ


 ผลของการทริมอัพ

-ความเร็วเพิ่มขึ้น

กดคันเร่งทำเดิม เพิ่มแค่ทริมอัพขึ้นเล็กน้อย ความเร็วก็จะค่อยๆ เพิ่มขึ้น

สาเหตุที่เวลาทริมอัพ แล้วความเร็วเพิ่มขึ้นเพราะเมือหัวเรือถูกยกขึ้น ท้องเรือจะแตะน้ำน้อยลง

ความฝืดจากความเสียดทานของเรือ กับน้ำจะลดลง เรือจึงวิ่งได้เร็วขึ้น


-ประหยัดน้ำมันมากขึ้น

เนื่องจากเรือวิ่งเร็วขึ้น โดยใช้คันเร่งเท่าเดิม ทำให้เวลาเดินทางสั้นลง จึงประหยัดน้ำมันมากขึ้น

การทริมอัพ จะได้ผลกรณีคลื่นน้อย หรือไม่มีคลื่น

แต่ถ้าไปทริมอัพ ตอนมีคลื่น ก็กลายเป็นตบคลื่น หรือวิ่งเอาหัวเรือตีคลื่นไปเรื่อยๆ

ซึ่งกินน้ำมันมาก เพราะพลังงานที่ใช้ในการขับเคลื่อน หายไปกับการตีคลื่น/ตบคลื่น แล้วก็เริ่มสะสมพลังงานใหม่ วนไปเรื่อยๆ

ดูตัวอย่างการวิ่งทริมอัพ สังเกตุมุมท้ายเครื่องยนต์ กับ มุมยกของหัวเรือ และน้ำที่แตะท้องเรือ จะเหมือนวิ่งแบบบินๆ ไป


อาการมุดคลื่น 

เรือ บางลำ จะมีอาการมุดคลื่น อาการนี้ไม่ได้เป็นทุกลำ ส่วนใหญ่เป็นที่การออกแบบ,เรือน้ำหนักเยอะเกิน หรือการจัดวางอุปกรณ์บาลานส์น้ำหนักต่างๆ ยังไม่ดีพอ


วิธีทดสอบว่าเรือเรามุดคลื่นหรือเปล่า ก็ดูทิศทางคลื่นก่อน วิ่งสวนคลื่นทางตรง กดคันเร่งให้เรือขึ้นน้ำ

เลือกคลื่นลูกใหญ่ ลองวิ่งชนคลื่นดู ไม่ต้องเบาคันเร่งเวลาชนคลื่น ถ้ามีอาการไหลวืดๆ เหมือนหัวจะจม  เหมือนถูกดูดเข้าไป (มันจะเสียว แว๊ปๆ)

แสดงว่าเรือท่านมีอาการมุดคลื่น


ถ้าทราบว่าเรือมีอาการมุดคลื่น วิธีแก้จากทริม คือ ให้ทริมอัพให้สูงกว่าเรือปรกติ จะทำให้อาการมุดน้ำน้อยลง ควรบาลานส์น้ำหนักเรือจากจุด CG ให้ถอยมาทางท้ายเรือ

และจะใช้ความเร็วเวลามีคลื่นลมไม่ค่อยดี เร่งเครื่องมากไม่ค่อยได้

แต่ถ้าเรือที่ดีๆ เวลาเจอคลื่นแบบนี้ หัวเรือจะแหวกคลื่น และจะมีอาการเด้งสวนคลื่นไม่ไช่มุด ถ้าเจอเรือแบบนี้ แสดงว่า มีอาวุธวิเศษในการออกทะเล แล้วครับ






การขับเรือแบบมีการปรับการเอียง

ถ้าเราสังเกตุเวลาเราเลี้ยว ซ้าย หรือเลี้ยวขวา ลำตัวเรือจะเอียงรับกับวงเลี้ยวด้วย อันนี้เกิดจากมุมของ Rudder หรือมุมเลี้ยวของหางเสือนั่นเอง

มุมเลี้ยวมาก ก็เอียงมาก ความเร็วมาก ก็เอียงมาก (ต้องมีมุมเลี้ยวด้วยนะครับ)
เราจึงใช้ประโยชน์อันนี้มาใช้ในการการปรับเอียงเวลาขับในคลื่นลม

ส่วนใหญ่เราจะไม่ขับเรือในมุมตรงคลื่น หมายความว่า การวิ่งขับชนคลื่นเต็มๆ มันจะเกิดแรงกระแทกค่อนข้างมาก และทำความเร็วไม่ค่อยดี แถมถ้าเจอะลูกใหญ่ๆ ระรอกสั้นๆ เรือจะบินทั้งลำเลย

ผมมีวิธีที่ทำความเร็วได้ในคลื่นลมที่ได้ผล คือ การขับชนลูกคลื่นคลื่นแบบเฉียง คนส่วนใหญ่อาจไม่เคยขับแบบนี้นะครับ เพราะมันจะทำให้เรือเอียงตามลูกคลื่น ถ้าขับไม่เป็นมันดูเหมือนจะเสียการควบคุม แต่จริงๆ มันยังอยู่ในการควบคุมได้

การขับแบบเฉียงๆ บนลูกคลื่น ทำให้ลดแรงกระแทกไปได้มาก ทำให้เราไม่ต้องเบาคันเร่ง บางจังหวะจะต้องเพิ่มและเบาคันเร่งตามลูกคลื่นด้วย

การแก้เอียง

คือการปรับตัวเรือไม่ให้เอียงตามลูกคลื่น ต้องอาศัยความเร็วเดินทางพอประมาณหรือเร่งคันเร่งเป็นจังหวะนะครับ
  • ถ้าเรือเอียงซ้ายตามลูกคลื่น ให้เราทำการเลี้ยวขวาเร็วๆ (เลี้ยวช้าแก้เอียงไม่ทันนะครับ) มุมประมาณ 20 นาฬิกา ( คือการบอกมุมตามรูปแบบนาฬิกา หรือประมาณมุม 120 องศา) 
  • ถ้าเรือเอียงขวาตามลูกคลื่น ให้เราทำการเลี้ยวซ้ายเร็วๆ มุมประมาณ 20 นาฬิกา
ตัวเรือจะไม่เอียงตามลูกคลื่น เราจึงทำความเร็วได้ โดยที่จะเห็นลูกคลื่นผ่านท้องเรือไปซ้าย ไปขวา ตามมุมที่วิ่ง 

เรือที่มีอาการมุดคลื่น จะทำแบบนี้ หรือวิ่งแบบนี้ไม่ได้นะครับ เรือที่มีน้ำหนักเบาจะปรับเอียงง่ายกว่า เรือที่มีน้ำหนักมาก และถ้าไม่เข้าใจและไม่ชำนาญพอ และอย่าใช้ความเร็วมากเกินไป อาจทำให้เรือพลิกคว่ำได้ครับ ต้องฝึกฝนกับคลื่นไม่ใหญ่ก่อน ประสาทต้องไวคลื่นวิ่งผ่านท้องเรือใช้เวลาไม่กี่วินาที มันเหมือนเล่นกับคลื่น สนุกกับมัน ไม่ต้องเครียดครับ

ลองดูถ้าเจอคลื่นลูกใหญ่ๆ อาการเรือเป็นอย่างไร อยู่ใกล้ๆ กันหลายลำ ลำสีแดง 15 ฟุต ลำสีฟ้า 14 ฟุต (ทรงคล้ายๆโมลโต้ง) ลำสีเขียว 20 ฟุตสู้คลื่นเร่งเครื่องแรงไป ... เกือบ



การขับเรือในคลื่นลม ถ้าขับเป็น สนุกนะครับ เพราะได้ใช้มือเต็มที่ทั้งซ้ายและขวา ยิ่งเวลาไต่ลูกคลื่น เล่นกับคลื่นเป็น มันส์จริงๆ

บทความที่เกี่ยวข้อง : ซ่อมชุดควบคุมทริม Yamaha ง่ายด้วยตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น