นำทาง อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ภูเก็ต ในแผนที่ GPS
ข้อมูลทั่วไป
อุทยานแห่งชาติสิรินาถมีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลบริเวณชายฝั่งด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะภูเก็ต ประกอบด้วยป่าสนทะเลธรรมชาติ หาดทรายขาวสะอาด แนวปะการังที่สวยงาม และที่วางไข่ของเต่าทะเล กับจักจั่นทะเลจำนวนมาก ตลอดจนหอยทะเลที่หายากหลายชนิด อุทยานแห่งชาติสิรินาถอยู่ห่างจากสนามบินภูเก็ตเพียง 1 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 56,250 ไร่ หรือ 90 ตารางกิโลเมตร
ลักษณะภูมิประเทศ
อุทยานแห่งชาติสิรินาถประกอบด้วยผืนน้ำประมาณ 76 เปอร์เซ็นต์ และผืนดินประมาณ 24 เปอร์เซ็นต์ มีลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญ คือ ป่าเขารวกเขาเมือง เขาใสครู ซึ่งมีลักษณะธรณีสัณฐานเป็นภูเขาหินแกรนิต และเชิงเขาซึ่งถูกกระบวนการผุพังและกัดกร่อน โดยมียอดเขาใสครูความสูง 335 เมตร และยอดเขาเมืองหรือเขาม่วงสูง 295 เมตร ธรณีสัณฐานที่ชายฝั่ง ซึ่งเกิดจากการทับถมของตะกอนชายฝั่งทะเลรูปแบบต่างๆ โดยสามารถจำแนกเป็น หาดทราย ได้แก่ หาดท่าฉัตรไชย หาดทรายแก้ว หาดไม้ขาว ซึ่งยาวต่อเนื่องจากทิศเหนือลงมาถึงหาดในยางทางทิศใต้ ซึ่งมีลักษณะเป็นหัวแหลมยื่นไปในทะเลเนื่องจากการงอกของทรายด้านหลังแนวปะการังซึ่งลดความรุนแรงของคลื่นมากกว่าบริเวณอื่น ความยาวรวมกันประมาณ 13 กิโลเมตร ต่อมายังหาดทรายที่อ่าวทุ่งหนุงซึ่งเป็นที่ราบทราย-ทรายแป้ง กว้างประมาณ 1 ตารางกิโลเมตร และมีระดับเหนือน้ำในเวลาน้ำลง เป็นทางออกของคลองพะม่าลงหรือเรียกว่า ปากคลองปากบาง ซึ่งแต่เดิมในบริเวณทางออกจะเป็นพื้นที่ราบน้ำขึ้นถึงของปากคลองและมีสภาพเป็นป่าชายเลนและที่ลุ่มน้ำกร่อยอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่ปัจจุบันถูกบุกรุกถมดินทำให้หมดสภาพไป
นอกจากนี้ในอุทยานแห่งชาติ ยังมีหาดทรายสั้นๆ ระหว่างหัวแหลมผาชัน เกิดจากการสะสมของทรายจากการกร่อนของหน้าผาหินโดยคลื่นและกระแสน้ำเลียบฝั่ง ได้แก่ หาดในทอน หาดในทอนน้อย หาดที่อ่าวหินกรวย ส่วนบริเวณเกาะทะทางทิศใต้เป็นหาดทรายที่ต่อเนื่องขึ้นมาจากหาดบางเทาพบว่า กำลังเกิดลักษณะของสันดอนทรายงอกเชื่อมจากแผ่นดินไปยังเกาะทะ ส่วนชายทะเลบริเวณเขาใสครูและเขาม่วงมีลักษณะส่วนใหญ่เป็นหน้าผาหิน หาดหิน และลานตะพักหิน ที่เกิดจากการกระทำของคลื่น
ลักษณะภูมิอากาศ
อุทยานแห่งชาติสิรินาถอยู่ในบริเวณเส้นศูนย์สูตรด้านชายฝั่งทะเลฝั่งตะวันตก จึงเป็นบริเวณที่มีฝนตกชุกตลอดปี และมีอุณหภูมิค่อนข้างสูง เนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นำลมร้อนชื้นมาจากมหาสมุทรอินเดีย ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน ในช่วงนี้จึงมีฝนตกมาก และในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายนเป็นช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อ่อนตัวก็จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นฤดูหนาวพัดเข้ามาแทนที่ อุณหภูมิในช่วงนี้ไม่ลดมากแต่ยังมีฝนที่พัดผ่านอ่าวไทยมา อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายน 29 องศาเซสเซียล อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนธันวาคม 27 องศาเซสเซียล
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น