วันพฤหัสบดีที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2560

ทริปชายสามอ่าว ลา ดา ดี ลา ดา ดี ดู ตาม่องล่าย

ทริปชายสามอ่าว ลา ดา ดี ลา ดา ดี ดู ตาม่องล่าย




ทริปสำรวจเมืองสามอ่าว ทริปเบาๆ เมืองชายทะเล หมู่บ้านชาวประมง และวิถีชีวิตชาวเล เมืองที่เงียบสงบ ชีวิตที่เรียบง่าย ค่าครองชีพต่ำ ของกินของใช้ถูก เวลากินก็ไม่ต้องแย่งกันกิน ซื้อของก็ไม่ต้องเข้าคิวแย่งกันซื้อของ นอนก็ไม่ต้องรีบตื่น ส่วนใหญ่จะมีต่างชาติมาอยู่กับแบบ Long Stay มาใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ (Slow life) อย่างแท้จริง





ทริปนี้เป็นทริปลองเรือ สำรวจหาแร็มป์ ปีนเขา แล่นเรือ ดำน้ำ ตกปลา

ผู้ร่วมผจญภัย (ตามรูป) น้าตุ้ม น้าบวร น้าเอี้ยง



ตำนานทางทะเล "ตาม่องล่าย"
 

ตำนาน นิทานพื้นบ้าน ของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ก็มีเช่นเดียวกัน เป็นตำนานที่เล่าขานกันติดต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาล และยังเล่าต่อกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ คือเรื่อง “ตาม่องล่าย”

อดีตกาลนานมาแล้ว ณ ภาคพื้นริมชายทะเลประจวบคีรีขันธ์ มีบ้านหลังหนึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาริมหนองน้ำบ้านอ่าวน้อย ในท้องที่อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (ปัจจุบันสถานที่ตั้งบ้านและหนองน้ำยังมีปรากฏอยู่บนเนินเขาตาม่องล่าย) เป็นที่พำนักอาศัยของครอบครัวครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวคือตาม่องล่าย ซึ่งนัยว่ามีเชื้อสายจีน เมียของตาม่องล่ายชื่อนางรำพึง บ้างว่าเป็นชาวบ้านอ่าวมะนาว อำเภอบางสะพาน มีลูกสาวคนหนึ่งชื่อสาวยมโดย มีอาชีพทำประมงและทำไร่

สาวยมโดย เป็นคนขยันขันแข็ง รูปร่างหน้าตาสะสวยงดงามยากที่จะหาสาวใดเปรียบได้ เป็นที่เลื่องลืออยู่ในละแวกบ้านอ่าวน้อยและบ้านใกล้เคียง เป็นที่หมายปวงของชายหนุ่มทั้งใกล้ไกล

ชาวเรือประมงและพ่อค้าวานิชที่จับปลาค้าขายผ่านไปมา เมื่อได้ยลโฉมความงามของสาวยมโดย ก็ต้องตา พึงใจ กันแทบทุกคน จึงเล่าลือกันต่อ ๆ ไป เลื่องลือไปจนเป็นที่รู้จักกันในท้องถิ่นแถบชายฝั่งทะเลแถบนี้

มีหมู่บ้านหนึ่งไกล้แดนเมืองเพชรบุรี ชาวบ้านตั้งถิ่นฐานทำมาหากินในที่ดินที่อุดมสมบูรณ์ริมขุนเขา มีเจ้าบ้านปกครองอยู่กันมาด้วยความร่มเย็นเป็นสุข เจ้าบ้านมีลูกชายคนหนึ่งชื่อว่าเจ้าลาย มีรูปร่างหน้าตาหล่อเหลาเป็นเยี่ยมในถิ่นนั้น

ครั้น”เจ้าลาย” ได้ยินกิตติศัพท์เลื่องลือถึงความงามของสาวยมโดย ทำให้เจ้าลายอยากจะเห็นโฉมของสาวยมโดย ว่าจะมีโฉมงามสมดั่งคำเล่าลือจริงหรือไม่ จึงปลอมตัวเป็นชาวเรือประมงเที่ยวหาปลาและแวะขึ้นฝั่งไปค้าขายปลา ณ หมู่บ้านอ่าน้อยที่ตาม่องล่ายอาศัยอยู่

ชาวบ้านอ่าวน้อย เมื่อได้เห็นรูปร่างหน้าตาอันหล่อเหลาของเจ้าลาย ก็นำไปเล่าขานกันจนกระทั่งรู้ไปถึงหูยายรำพึงและสาวยมโดย และอยากจะเห็นเจ้าลายว่าจะมีรูปร่างหน้าตาตามคำเล่าลือหรือไม่ จึงออกอุบายให้ชาวบ้านบอกแก่เจ้าลายให้นำปลามาขายที่บ้านของนาง จนได้รู้จักกัน เมื่อสาวยมโดยและเจ้าลายได้พบกัน ต่างรู้สึกพอใจซึ่งกันและกัน เหมือนรักแรกพบ

นับตั้งแต่นั้นมา เจ้าลายก็หมั่นไปมาหาสู่สาวยมโดย อย่างสม่ำเสมอ และเมื่อมาครั้งใดก็จะมีข้าวของมาฝากยายรำพึงเสมอ ๆ จนเป็นที่คุ้นเคย สนิทสนมเป็นอันดี และเป็นที่โปรดปราณของยายรำพึงยิ่งนัก

ส่วนตาม่องล่ายไม่ใคร่จะเห็นด้วยเท่าใดนัก จึงแสดงออกถึงความรังเกียจเจ้าลายอย่างออกหน้าออกตาให้กับยายรำพึงเห็นเสมอ ๆ และในช่วงนั้นสองตายายโกรธกันและแยกกันอยู่คนละบ้าน ส่วนสาวยมโดยนั้นพักอยู่กับแม่ ซึ่งอยู่ไม่ห่างไกลกันมากนัก

ในที่สุด ทั้งเจ้าลายและสาวยมโดย ต่างก็มีความรักใคร่ต่อกันอย่างลึ้กซึ้ง ความรักของคนทั้งสองเริ่มมีอุปสรรค เมื่อกิตติศัพท์ความงามของสาวยมโดยแพร่สะพัดไปเรื่อย ๆ จนไปถึงหูของวานิชหนึ่งเจ้าของเรือสำเภาใหญ่ ซึ่งเคยนำสำเภามาจอด ณ บ้านอ่าวน้อยหลายครั้งหลายคราว ชาวบ้านรู้จักนายสำเภาชาวจีนผู้นี้เป็นอันดีว่าชื่อ “เจ้ากรุงจีน”

คำเล่าลือความงามของสาวยมโดยรู้ถึงเจ้ากรุงจีน ก็อยากจะยลโฉมงามสาวยมโดยเป็นอย่างยิ่ง จึงสอบถามถึงที่อยู่และพงศ์พันธ์ของนาง เมื่อทราบแล้ว เจ้ากรุงจีนได้พยายามหาวิถีทางผูกมิตรไมตรีกับตาม่องล่าย และนำของมาขายที่บ้าน ตาม่องล่าย

เมื่อเจ้ากรุงจีนได้ยลโฉมสาวยมโดยเข้า ก็หลงใหลในความงามของนางก็ผูกมัดรัดตรึงใจเจ้ากรุงจีน ยิ่งนัก โดยที่เจ้ากรุงจีนไม่ใส่ใจยายรำพึงนัก

ตั้งแต่นั้นมา เจ้ากรุงจีนก็พยายามแวะเวียนมาเยี่ยมเยือน และแสดงไมตรีอันดีกับตาม่องล่ายอยู่เสมอ มาครั้งใดก็จะมีแก้วแหวนเงินทองมาฝากตาม่องล่ายเสมอ ๆ แต่มิได้มีโอกาสติดต่อกับยายรำพึงเลย

เมื่อถึงคราวจะเกิดเหตุใหญ่ ฝ่ายเจ้าลาย ส่งผู้ใหญ่มาสู่ขอสาวยมโดยต่อยายรำพึง ซึ่งมีความพอใจเจ้าลายอยู่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ตกปากรับคำยกสาวยมโดยให้แก่เจ้าลาย และรับสินสอดทองหมั้นไว้โดยมิได้บอกตาม่องล่าย

ข้างฝ่ายเจ้ากรุงจีน ก็แต่งเถ้าแก่มาสู่ขอสาวยมโดยเช่นกัน โดยมาสู่ขอกับตาม่องล่าย ตาม่องล่าย ก็รับปากตกลงยกสาวยมโดยให้แก่เจ้ากรุงจีน โดยมิได้ปรึกษายายรำพึงเช่นกัน

เหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อทั้งสองฝ่ายทั้งยายรำพึงและตาม่องล่ายได้นัดวันแต่งงานสาวยมโดย ตรงกันวันเดียวกัน ถึงวันแต่งงานขบวนขันหมากทั้งสองฝ่ายก็แห่กันมาอย่างอึกทึกครึกโครม ขบวนช้างม้า หาบเงินหาบทองของฝ่ายเจ้าลาย ขบวนเรือขันหมากปานประหนึ่งทัพน้ำของเจ้ากรุงจีนก็ยกมาจนเนืองอ่าว แขกของงานทั้งสองฝ่ายก็มาพร้อมกันมากมาย

ครั้นขันหมากสองขบวนมาประจันหน้ากัน เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ตาม่องล่ายและยายรำพึง ต่างก็เกิดทะเลาะทุ่มเถียงกัน ยายรำพึงก็อ้างว่า “ลูกสาวของข้าจะยกให้เจ้าลาย” ตาม่องล่ายก็ไม่ยอม อ้างว่าสาวยมโดยก็เป็นลูกสาวของตนเหมือนกัน “ข้าจะยกให้เจ้ากรุงจีน”

ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน เกิดการทะเลาะกันเสียงอื้ออึง ยายรำพึง ฉุนโกรธเต็มที่ ฉวยหมวกได้ก็กว้างเข้าใส่ตาม่องล่าย หมวกลอยไปตกชายทะเลไกล้ ๆ ละแวกบ้านอ่าวน้อยนั้นกลายเป็น “เขาล้อมหมวก” อยู่บริเวณชายทะเลอ่าวเกาะหลักหรืออ่าวประจวบ อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์นั่นเอง

ตาม่องล่ายฉุนโกรธขึ้นมาบ้าง คว้ากระบุงที่วางอยู่ใกล้ ๆ ตัว ขว้างยายรำพึงด้วยแรกโกรธสุดขีด กระบุงเลยลอยไปตกไกลถึงจังหวัดตราด กลายเป็น “เกาะกระบุง” อยู่ในกิ่งอำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด

ยายรำพึง คว้างอบได้ก็ขว้างเข้าใส่ตาม่องล่ายอย่างแรงเช่นกัน งอบเลยกระเด็นไปตกกลายเป็น ”แหลมงอบ” อยู่ในอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด

ตาม่องล่ายบันดาลโทษะจัด ฉวยสากได้ก็ไล่ตียายรำพึง ยายรำพึงวิ่งหนี ตาม่องล่ายเลยเอาสากขว้างตามไป สากไปโดนเกาะชายทะเลทำให้เกาะทะลุเป็นช่องโหว่ จึงเรียกเกาะนี้ว่า “เกาะทะลุ” มาจนทุกวันนี้ ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนสากนั้นยังไม่สิ้นแรงลอยไปตกยังชายทะเลตะวันออก กลายเป็น “เกาะสาก” อยู่ในอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี

ฝ่ายยายรำพึงเกิดความกลัวตาม่องล่ายที่จะทำร้ายตน จึงหนีตาม่องล่ายมุ่งหน้าไปยังบ้านเดิมของนางและไปรำพึงรำพันด้วยความเศร้าโศรกเสียใจอยู่ใกล้อ่าวชายทะเลบางสะพานจนตัวตายกลายเป็น “เขาแม่รำพึง” อยู่เคียงข้างอ่าว อ่าวนั้นได้ชื่อว่า “อ่าวแม่รำพึง” อยู่ในท้องที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ตาม่องล่ายโกรธจัดเลยพาลพาโล ขาดสติ ว่าเหตุที่เกิดยุ่งก็เพราะสาวยมโดยคนเดียวแท้ ๆ ยายรำพึงผู้เป็นแม่ก็ยกให้แก่เจ้าลาย ตนเองก็ยกให้แก่เจ้ากรุงจีน ไหน ๆ ต่างก็ยกให้กันแล้ว เพื่อไม่ให้เสียวาจา ก็เลยคิดจะแบ่งให้ทั้งสองฝ่าย เพื่อมิให้ได้เปรียบเสียเปรียบกัน ว่าแล้วก็จับสาวยมโดยฉีกออกเป็นสองซีก ขว้างไปทางทิศเหนือซึ่งเป็นบ้านของเจ้าลายซีกหนึ่ง ไปตกกลายเป็น “เกาะนมสาว” อยู่ที่บ้านบางปู ปัจจุบันอยู่ในอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกซีกหนึ่งขว้างไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นทิศทางบ้านของเจ้ากรุงจีน ไปตกกลายเป็น ”เกาะนมสาว” อยู่ในเขตอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

โอ้น่าอนารถใจนัก ลูกก็ตาย เมียก็ตาย ความกลุ้มของตาม่องล่ายก็ถึงขีดสุด หมากพลู ขนมจีน จาน กระจก ตะเกียบ ขันหมากและสิ่งของต่าง ๆ ตาม่องล่ายก็หยิบขว้างกระจัดกระจายจนหมดสิ้น บ้างก็ไปตกในทะเล บ้างก็ไปตกในพื้นแผ่นดินยังสถานที่ต่าง ๆ กลายเป็นสิ่งต่าง ๆ เกิดขึ้น เช่น

“มวนพลู” ที่นำมาในคราวงาน กลายเป็นหอยมวนพลูที่มีอยู่ทั่วไปตามชายทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
“ขนมจีน” กลายเป็นสาหร่ายทะเล ซึ่งเรียกว่าเส้นขนมจีนเจ้าลาย
“หวีกล้วย” กลายเป็นตัวหวีกล้วย ซึ่งเกาะหินอยู่ใต้น้ำ
“ขันหมาก” เมื่อไปตกลงพื้นดินกลายเป็นเทือกเขาขันหมาก (ซึ่งภายหลังรู้จักกันนามเขาสามร้อยยอด) ปัจจุบันอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด (อุทยานแห่งชาติชายทะเลแห่งแรกของประเทศไทย) อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
“ แก้ว แหวน เงิน ทอง ทับทิม “ กลายเป็นหอยต่าง ๆ เปลือกหอยมีรูปร่างสวยงามเหมือนเพชรพลอยทับทิม ฯลฯ อยู่ตามชายหาด
“ ปูทอด “ กลายเป็นปูหิน
“กระจก” ของสาวยมโดย ตาม่องล่ายก็กว้างไปถูกเขาจนทะลุเป็นช่องโหว่ เรียกว่าเขาช่องกระจก อยู่กลางเมืองประจวบคีรีขันธ์นั่นเอง
“ตะเกียบ” ลอยไปตกชายทะเลกลายเป็นเขาตะเกียบ ในท้องที่อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
“จาน” ลอยไปตกเป็นเกาะจาน อยู่ในท้องที่อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

ส่วนแขกที่มาร่วมงาน เห็นเหตุการณ์โกลาหลวุ่นวาย ไม่สามารถหยุดความบ้าคลั่งของตาม่องล่ายได้ เห็นตาม่องล่ายอาละวาดใหญ่ ต่างก็พากันแยกย้ายกลับบ้านของตน

เจ้าลายและเจ้ากรุงจีน เห็นพิธีมงคลเสีย ก็พาสมัครพรรคพวกของตนกลับถิ่นฐานบ้านเดิมของตน

เจ้าลาย เสียใจเพราะรักสาวยมโดยมาก เมื่อกลับถึงบ้านของตนก็ไม่ยอมกินข้าวปลาอาหาร เศร้าโศรกเสียใจจนตัวตายกลายเป็น “เขาเจ้าลาย” อยู่ในท้องที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

ส่วนตาม่องล่าย ก็เสียใจที่ตนบันดาลโทษะจนทำให้เสียลูกเสียเมียไป ก็คว้าไหเหล้าไปนั่งดื่มคนเดียวบนไหล่เขาด้วยความกลุ้มใจหมดสติและตายคาไหเหล้ากลายเป็นก้อนหินอยู่ข้างไหล่ภูเขา เขาลูกนี้ก็ได้ชื่อว่า “เขาตาม่องล่าย” ปรากฏให้เห็นอยู่จนทุกวันนี้

ตำนานนิทานเรื่องตาม่องล่าย ไม่ปรากฏหลักฐานว่าผู้ใดแต่งขึ้นมา แต่ก็มีเล่ากันมาเป็นตำนาน เป็นนิทานคู่บ้านคู่เมืองประจวบคีรีขันธ์ สันนิษฐานว่าผู้แต่งต้องเป็นผู้ที่รอบรู้ภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ แถบชายทะเลตะวันออกนี้เป็นอย่างดี จึงสามารถผูกเรื่องราวต่าง ๆ ให้เข้ากับชื่อสถานที่ต่าง ๆ รอบบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดใกล้เคียง ได้อย่างน่าทึ่ง




เนื่องจากเป็นทริปสำรวจ ตอนลากเรือมาก็ยังไม่รู้ว่าแร็มป์อยู่ตรงไหน เป็นอย่างไรเลย กะว่าถ้าไม่มีแร็มป์จริงๆ ก็เอาเรือลงหน้าหาดทราย ส่วนเรือก็ได้แต่รันอินบนบก เพราะตอนนี้น้ำแห้งหมดแล้ว เลยไม่มีที่ลองเรือ รันอินสะสมเวลาได้ซัก 4 ชั่วโมง ประเทศไทยช่วงหลังจะมีภูมิอากาศแบบสุดขั้วเป็นแบบนี้ คือ หน้าฝนก็น้ำท่วมจนต้องประกาศภัยอุทกภัย ส่วนหน้าแล้งน้ำก็น้อยมากจนเป็นภัยแล้ง

ได้สอบถามจากน้าปาการังฟิชชิ่ง บอกมีแร็มป์ที่แถวเกาะหลัก แต่ก็ยังไม่รู้อยู่ตรงไหน จะมีแร็มป์หรือไม่มีถ้าลากมาถึงก็คงหาวิธีเอาเรือลงจนได้

แล้วก็ได้แร็มป์มาฝากเพื่อนๆ แร็มป์เกาะหลัก <-คลิก

น้ำมันขึ้นไม่ถึงแร็มป์ ... มันก็ไม่ต่างจากเอาเรือลงหน้าหาดทรายเลย 555 ... แต่ทรายแน่นดี





แต่ก็วางแผนว่าจะหาที่เอาเรือลงแถวๆ ที่จอดเรือ ซึ่งก็คือ ตาม่องล่าย นั่นเอง ครั้งแรกตั้งใจลงหน้าหาดทราย เพราะตรงนี้จะเหมาะจอดเรือตอนกลางคืน อ่าวหลบคลื่นลมได้ดี

น้าเอียงบ้านอยู่ใกล้สุดไปถึงก่อน ผมเลยบอกให้น้าเอี้ยงลองวิ่งสำรวจดูว่ามีแร็มป์เรือว่าอยู่ตรงไหน และยังมีที่อื่นอีกหรือเปล่า ปรากฏว่ามีแร็มป์จริงๆ ด้วย แร็มป์ตาม่องล่าย <-คลิก


ลักษณะพื้นทะเลของประจวบจะเป็นลักษณะพื้นทะเลความลาดเอียงต่ำมาก ฉะนั้นน้ำขึ้นน้ำลงจึงมีผลอย่างมากในการเอาเรือขึ้นลง แร็มป์ตาม่องล่ายนี้สามารถเอาเรือขึ้นลงได้ที่ ระดับน้ำ 1.8-1.9m

แต่มาไม่ทันน้ำขึ้นตอนเช้า น้ำขึ้นอีกทีตอนเย็น น้ำลงสุดตอนเที่ยง มาถึงก็ 10 โมง เลยตัดสินใจเอาเรือลงตอนน้ำลงต่ำสุดนี่แหละ ไม่งั้นจะเสียเวลาไปอีกครึ่งวัน ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันก่อน


ตัดสินใจลงที่แร็มป์เกาะหลัก เพราะพื้นทรายแน่น ส่วนแร็มป์ตาม่องล่ายพื้นเป็นโคลนเลน ลงตอนน้ำลงไม่ได้

การเอาเรือลงหน้าหาดทราย ถ้าจะเอาเรือลงให้ง่าย เทรลเลอร์ต้องบาลานซ์ ต้องสามารถยกเทรลเลอร์กระดกขึ้นได้

ผมจัดการเอาเรือผมลงก่อนเลยถอยไปจนล้อรถลากจมไปครึ่งล้อ แล้วหันไปมองเทรลเลอร์ เอ้ามันก็จมไปครึ่งล้อเหมือนกัน มันแทบไม่มีความชันเลย เรือก็ยังลอยบนขาสกีเหมือนเดิมห่างอีกเยอะ เหอๆ เลยจัดการปลดเทรลเลอร์ แล้วก็เอาน้ำวิดใส่ขาสกีเพิ่มความลื่น ปลดสายยึดหัวเรือ แล้วบอกให้น้าเอี้ยงมาช่วยกันกระดกเทรลเลอร์ แล้วช่วยกันดันเรือออก เรือก็ไหลลงจากเทรลเลอร์ เป็นอันเอาเรือลงทะเลได้ 1 ลำ วิธีนี้เป็นวิธีเอาเรือลงแบบไม่สนใจระดับน้ำแบบนุ่มนวล อย่างน้อยตอนน้ำลงสุดๆก็เอาเรือลงน้ำได้ ผมก็ว่าผมเทพแล้วนะ
 

ตอนนั้นมีเรือเจ้าถิ่นมาพอดี เขาไม่ได้เอาเรือลงแบบผม

เค้าแนะนำให้น้าบวร ปลดสายยึดหัวเรือ แล้วใช้วิธีถอยเรือเร็วๆ พอล้อแตะน้ำสักครึ่งล้อ ให้เหยียบเบรคแรงๆ ใช้แรงเฉื่อยทำให้เรือใหลลงต่อ ขณะที่รถลากกับเทรลเลอร์หยุด เรือน้าบวรใช้วิธีนี้ ใช้ได้ผลแฮ่ะ ไม่ต้องสนใจการบาลานซ์เทรลเลอร์ พอรถเบรคปุ๊บเรือพุ่งลงน้ำเลย วิธีนี้รุนแรงกว่าหน่อยแต่ก็เทพเหมือนกัน พอเรือหลุดไหลลงน้ำ ผมก็กระโดดขึ้นเรือน้าบวรไปทิ้งสมอจอดเรือให้


ที่ประจวบจะมีเกาะที่สำคัญเกาะนึง คือ เกาะหลัก


 ในปี พ.ศ.2453 (ค.ศ. 1910) เสาวัดระดับน้ำได้ถูกติดตั้งที่เกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในเดือนกันยายน ความสำคัญของเกาะหลัก คือ ค่าตัวเลข "เกาะหลัก 1915" ซึ่งก็คือค่าตัวเลขที่เก็บสถิติระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยของประเทศไทย เป็นเกาะแรกที่จัดทำตารางน้ำ และเป็นค่ามาตรฐานระดับน้ำทะเลปานกลางให้กับจุดตรวจวัดอีก 29 จุดตรวจวัดทั่วประเทศ ห่างสังเกตุค่าตัวเลขในตารางน้ำทุกแห่ง ระดับน้ำต่ำสุดจะไม่มีค่าตัวเลขติดลบ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ประวัติงานน้ำขึ้นน้ำลงในประเทศไทย TIDAL WORK IN THAILAND

มีเกาะเล็กๆ แห่งนึงที่ชื่อ เกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ เกาะเกาะสัปทานรังนกโดยอยู่ในความดูแลของ อุทยานแห่งชาติหาดวนกร ครั้งแรกคิดว่าคงไปคนเดียวเอาเรือใบไปลงที่หาดวนกร เกาะนี้ห่างฝั่งประมาณ 8 กิโลเมตร หน้าหาดวนกรมีความชันต่ำเรือใหญ่ลงยาก พอดีมีเพื่อนน้าบวรอยากออกทริปทะเลด้วย เลยเปลี่ยนเอาสปีดโบ๊ทไปแทน ไปลงที่ประจวบ เกาะนี้จะห่างจากฝั่งประจวบ 25 กิโลเมตร



ผมก็เลยสอบถามน้าปาการัง เรื่องเกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ ได้ความว่า เกาะนี้ห้ามเรือเข้าไป และกลางคืนถ้าเข้าไปใกล้เกาะก็จะมียิงปืนขู่หรือยิงไล่ ห้ามตกปลาหรือเอาเรือเข้าใกล้เกาะ

โก๋เจ้าถิ่น ชาวประมงและนักตกปลาโดนขู่ ... หงอไปหมด โดยให้คำแนะนำว่าควรไปขึ้นเรืออุทยานหัวละ 600 ไปเท่านั้น

มีนักแล่นเรือหลายท่าน อาจจะเข้าใจว่าอุทยานแห่งชาติทุกที่เหมือนกันหมด แต่จริงๆ จากประสบการ์ณ การไปอุทยานแห่งชาติแต่ละที่ จะมีกฏระเบียบที่หัวหน้าอุทยานตั้งขึ้น เข้มงวดไม่เท่ากัน และมาตรฐานไม่เหมือนกัน

ผมเลยรวบรวบกฏหมายเกี่ยวกับอุทยานแห่งชาติมาให้อ่านกัน เราอยู่ในประเทศที่ใช้กฏหมายตัวเดียวกัน ควรจะเข้าใจเหมือนกัน ไม่ใช่ให้คนที่รู้กฏหมายฝ่ายเดียวขู่หงอ และกฏหมายและกฏระเบียบมันก็มีไม่กี่ข้อ


ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ประเทศไทย


หลักเกณฑ์ในการทำความเข้าใจกฎหมาย

กฎหมายนั้น เราแบ่งกฎหมายที่จัดการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลไว้โดยทั่วไปเป็น 2 แบบ คือ


1. กฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชน ซึ่งเป็นกฎหมายที่ว่า ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนด้วยกันที่จะมีสิทธิระหว่างกันอย่างไร อันนี้เราเรียกว่า "กฎหมายแพ่ง"


2. กฎหมายที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับเอกชน อันนี้เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกันกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างรัฐกับเอกชน โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

2.1 กฎหมายที่มีการบัญญัติหน้าที่ให้กับเอกชน ซึ่งหากไม่ทำตามจะมีโทษทางอาญา คือประหารชีวิต จำคุก ปรับ หรือริบทรัพย์สิน ซึ่งเราเรียกว่า "กฎหมายอาญา"





2.2 กฎหมายที่ว่าด้วยการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกคำสั่งที่มีผลกระทบกับเอกชน อันนี้เรียกว่า "กฎหมายปกครอง"



การทำความเข้าใจกฏหมาย สิ่งสำคัญที่สุดของการออกกฏหมาย คือ  "เจตนารมย์" ของกฎหมายฉบับนั้นๆ ฉะนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกฏหมายในกฏหมาย ที่เรียกว่า การตีความ

โดยกำหนดให้ต้อง "ตีความกฎหมายโดยเคร่งครัด" ซึ่งหมายถึงว่า การตีความจะต้องไม่ตีความกฎหมายให้นอกเหนือจากความหมายเท่าที่อ่านแล้วเข้าใจกันโดยทั่วไป จะไปขยายออกให้กว้างขึ้นกว่าจากการที่อ่านตามคนสามัญเค้าอ่านกันแบบเนี่ยก็ไม่ได้


วัตถุประสงค์ของ พรบ. อุทยานแห่งชาติ

 การจะใช้กฎหมายฉบับไหนก็ต้องดูวัตถุประสงค์ของการเอากฎหมายนั้นออกมาประกาศใช้ก่อน ซึ่ง พรบ. ฉบับนี้ เค้าก็เขียนเอาไว้ในตอนท้ายของการประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า "เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เพื่อคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ เช่น พันธุ์ไม้และของป่า สัตว์ป่า ตลอดจนทิวทัศน์ ป่าและภูเขา ให้คงอยู่ในสภาพธรรมชาติเดิม มิให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลงไป เพื่ออำนวยประโยชน์ทั้งทางตรงและทรงอ้อมแก่รัฐและประชาชนสืบไป" ซึ่งก็หมายความว่า กฎหมายฉบับนี้มีมาเพื่อที่จะคุ้มครองรักษาทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลายหรือเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้น การใช้กฎหมายฉบับนี้ก็ต้องใช้ด้วยเจตนาที่จะรักษาและคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติเป็นหลัก

 
หลักในการตีความกฏหมาย
  • การตีความกฎหมายจะต้องไม่ทำให้เกิดการขัดแย้งกับหลักเกณฑ์หลักของกฎหมายนั้น และต้องไม่ขัดแย้งกับมาตราที่เป็นมาตราหลักของกฎหมายฉบับนั้นเอง
  • การตีความกฎหมายจะต้องตีความแล้ว ไม่มีผลของการตีความที่แปลกประหลาดผิดสามัญสำนึกของกฎหมายนั้น
  • การตีความกฎหมายจะต้องตีความให้กฎหมายฉบับนั้นสามารถใช้ได้ทั้งฉบับ ไม่ใช่ใช้ได้บางมาตรา และต้องให้กฎหมายนั้นไม่เกิดการขัดแย้งกันเอง
  • การตีความกฎหมายนั้นมีเจตนาที่จะอุดช่องว่างของกฎหมาย ดังนั้น การตีความกฎหมายจะต้องไม่ก่อให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายขึ้นเสียเอง
  • การตีความกฎหมายฉบับใดจะต้องไม่ทำให้เกิดช่องว่างทางกฎหมายในกฎหมายที่มีหลักเกณฑ์เดียวกันหรือมีวัตถุประสงค์เดียวกัน และต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างกฎหมายที่ตีความกับกฎหมายฉบับอื่นที่ใช้หลักเกณฑ์เดียวกันหรือเกี่ยวเนื่องกัน

ที่พูดมาทั้งหมดมันไม่ยุ่งยากเลย ถ้าเรามีบรรทัดฐานในการตัดสินใจ และเข้าใจคำว่า "ปรมัตถ์"

ปรมัตถ์ คือ ความจริงแท้ ... ทุกสิ่งบนโลกจะประกอบด้วยความจริง แบ่งได้เป็น 2 ระดับ

1.ความจริงระดับสมมุติ
กฏหมาย กฏเกณฑ์ ข้อบัญญัติ วัฒนธรรม ประเพณี สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงระดับสมมุติ ตั้งขึ้นมาแล้วบอกว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ต้องปฏิบัติ ในกลุ่มชนนั้นๆ เป็นความจริงระดับนึงที่มีการเปลี่ยนแปลงตามสังคมนั้นๆ และสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาในอนาคต

อย่างเช่น
  • กฏหมายผู้โดยสารตอนหลัง  บอกนั่งกระบะหลังไม่ได้ พอสงกรานต์ก็อนุโลม บังคับให้ผู้โดยสารตอนหลังต้องรัดเข็มขัดนิรภัย แต่รถกระบะแค็ปไม่มีเข็มขัด ก็ต้องอนุโลมไป
  • ถ้าอยู่เมืองจีนสูบบุหรี่ในร้านอาหารเป็นเรื่องปกติ แต่อยู่บางประเทศอาจถูกจับปรับ ติดคุก
  • อยู่อาหรับมีภรรยา 4 คนเป็นเรื่องธรรมดา อยู่บางประเทศเป็นเรื่องผิดปรกติ

2 .ความจริงแท้ระดับปรมัตถ์
คือความจริงแท้ในระดับที่ไม่เปลี่ยนแปลง และสามารถคาดการณ์ได้ เช่น อีก 24 ชั่วโมงพระอาทิตย์จะขึ้นอีกครั้ง อีกประมาณ 23 ชั่วโมงพระจันทร์จะตกอีกครั้ง  มันจะไม่เปลี่ยนแปลงตราบที่คุณยังมีชีวิตอยู่




เมื่อเข้าใจดีแล้วก็ออกเรือไปอุทยานแห่งชาติกัน





น้าบวรใช้เรือ SRV 20 ฟุต ทรงนี้เหมาะตกปลาดี ไปได้ทุกที่ ทรงเรือสวยอ่อนช้อยเหมือนสาวสวย ไม่ดูทื่อๆ ลอยน้ำสวย เดินได้รอบลำ หัวเรือท้องวี ท้ายเรือท้องแบน แบบเรือน้าพงศธร เวลาจอดเรือเดินบนเรือเลยไม่ค่อยโคลง ไม่ได้มาขายเรือนะครับ ชอบดูทรงเรือ


ใช้เครื่อง 50 แรง 4 จังหวะ ลงตัวสำหรับนักตกปลาดี ได้ความเร็วประมาณ 40-45 km/h วิ่งในคลื่นลมดีสำหรับคนที่เล่นเรือเพื่อตกปลาถ้าใช้เรือเครื่องเกิน 90 แรงผมว่าไม่ค่อยเหมาะกับตกปลา ค่าปลาที่ตกได้ไม่ค่อยคุ้มกับค่าน้ำมันเรือ เดินไปซื้อปลาที่ตลาดถูกกว่าไปตกเอง ไม่ต้องเสียเวลาไปอีกเป็นวันๆด้วย




หมู 80 ตัวของผมได้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง กำลังยังเหลืออีกเยอะ

น้าบวรถามผมว่าใช้รอบเครื่องที่เท่าไหร่ ของผมวิ่งที่ 3000-3500 รอบ เรือน้าบวรใช้รอบเครื่องที่ 4000-4500 รอบ ที่ความเร็วเท่ากัน


เรือและผมมีชะตาชีวิตที่เหมือนกัน

"เราไม่กลัวตายอีกต่อไป ... เพราะเราเคยตายมาแล้ว" 






เกาะที่ประจวบ จะมีลักษณะอย่างเดียวกับเกาะแถวหมู่เกาะชุมพร จะเป็นภูเขาหินโผล่ในทะเล




ลักษณะที่พิเศษของอ่าวที่นี่ซึ่งแตกต่างจากที่อื่นคือ จะมีภูเขาหินขนาดใหญ่ยื่นไปในทะเล ค่อนข้างมาก ทำให้วิวทิวทัศน์ในมุมสูงดูอลังการงานสร้างจากธรรมชาติมาก



บางจุดจะมีชายหาดเล็กๆ และมีโพรงถ้ำ เหมาะมาตั้งแค้มป์






ขับเลาะตามไหล่เขา




มาถึงคลองวาฬ ...  เคยสงสัยว่า ที่คลองวาฬ มีแร็มป์หรือเปล่า ลองเข้าไปดู


ระดับน้ำในคลองลึกประมาณ 2 เมตร


เจอคานเรือ ไม่เจอแร็มป์


ขับเรือกลับที่พัก แล้วไปลากเทรลเลอร์ที่แร็มป์เกาะหลัก มาเก็บ


เช่าบ้านเป็นหลัง มี 2 ห้องนอน  1 ห้องน้ำ 1 ห้องครัว มีห้องโถงตรงกลาง ต้อนรับน้องหมา สุนัขพักได้ด้วย มีแต่ต่างชาติพัก เป็นบ้านพักแบบ Long Stay



 คืนนี้เรือนอนทะเลหน้าที่พัก


น้าเอี้ยง อาสานอนเรือ



ที่เขาดาม่องล่าย สุดทางจะเป็นวนอุทยานตาม่องล่าย อยู่ติดทะเล เป็นแหลมภูเขายื่นไปในทะเล



ที่พักอุทยาน บ้านเป็นหลังใหญ่ 3 ห้องนอน อยู่ตรงเนินเขา ที่ประจวบที่พักจะถูกทุกที่ เทศกาลก็ไม่มีบวกเพิ่ม อาหารทะเลก็ถูก สบายๆ


แล้วก็ได้ที่กางเต็นท์ติดทะเลอีกแห่ง : กางเต็นท์ตาม่องล่าย



จุดชมวิวตาม่องล่าย


ตอนเช้าไปเกาะจาน กับเกาะท้ายทรีย์กัน


แล้วก็ได้วิดีโออีกอัน

สร้างจากเรื่องจริง

I will be your man ตาม่องล่าย : https://youtu.be/nJ5bdJQcF4I




เกาะจานและเกาะท้ายทรีย์ อยู่ในความดูแลของ อุทยานแห่งชาติหาดวนกร


จะมีเจ้าหน้าที่มาพร้อมกับ คนที่ดูแลบนเกาะ มาแจ้งข้อมูลว่า พูดเสียงแข็งมาเลยแนวโหด

"เกาะนี้ห้ามเรือเข้า มิฉะนั้นจะถูกยึดเรือ พร้อมกับแนะนำคนที่ดูแลบนเกาะ และแจ้งว่า กลางคืนห้ามมาจอดเรือใกล้เกาะ มิฉะนั้นจะถูกยิงไล่"

ผมก็รอให้เขาพูดทั้งหมดให้จบก่อน แล้วผมค่อยพูด เอากันคนละหมัด ผมก็ทำหน้าเฉยๆ เค้าไม่รู้ว่าผมเป็นพวกเด็กเนิร์ด ( ความหมายของเนิร์ด Nerd ) คำพูดก็เหมือนเดิมที่น้าปาการังบอกไว้เปี๊ยบ กลัวก็ไม่มาจิ

นึกในใจ ถ้าผมถูกยึดเรือ เพื่อนเล่นเรือคงฮาขี้แตกกันทั่วประเทศ 555 ... ซึ่งเขาพูดไม่ถูกทั้งหมดไง มันไม่มีกฏหมายเขียนไว้ว่า ห้ามเอาเรือเข้าอุทยานแห่งชาติ มิฉะนั้นจะถูกยึดเรือ ... มั่ว

กฏหมายเขียนไว้แต่ห้ามตกปลา หรือจับสัตว์ในเขตอุทยาน และเจ้าหน้าที่สามารถยึดอุปกรณ์ที่จับปลาทั้งหมดได้ รวมทั้งเรือที่ใช้ตกปลา

พอดีเจ้าหน้าที่เค้าเห็นเบ็ดตกปลาหลายคันที่เรือน้าบวร หลายคัน ซึ่งจริงๆเรือผมมีอาวุธหนักกว่าเบ็ดตกปลาอีก แต่ไม่โชว์หรา ปืนยิงปลาจากนอกอย่างดี มีคนให้ยืมมาทดลองใช้ เพราะเค้ามาหาอะไหล่เรือ ผมมีลูกสูบเก่าถอดออก เค้าขอซื้อ ... ผมเลยให้ฟรีไป 3 ลูก พร้อมยางพัดน้ำเก่า

พอเจ้าหน้าที่ พูดจบก็ถึงเวลาผมพูดบ้าง "ผมบอกมาดำน้ำ ชมปะการัง ผมทำเวปเกี่ยวกับประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวทางน้ำ ผมไปมาทั่วประเทศเกือบทุกอุทยานแห่งชาติทางทะเล ... แล้วก็พูดเหตุผลต่างๆ ไปเรื่อย" คนละหมัด

เจ้าหน้าที่ถาม "อุทยานแห่งชาตินี้มีพื้นที่คุ้มครองรัศมีจากเกาะเท่าใด"

ผมตอบ "ประมาณ 3 กม ถึง 5 กม" จริงๆผมไม่รู้ขนาดแน่นอน แต่จากการไปอุทยานแห่งชาติหลายๆแห่งทั่วประเทศเลยประมาณขนาดพื้นที่ และก็เป็นแบบนั้นจริงๆด้วย ในแผนที่อุทยานหาดวนกร เกาะจาน เกาะท้ายทรีย์ มีพื้นที่คุ้มครองขนาด 3x5 กม

ถึงตอนนี้เจ้าหน้าที่พูดเสียงอ่อนแล้วครับ ผมจะพูดด้วยเหตุผลและไม่หักหน้าเจ้าหน้าที่บางเรื่องที่เขาพูดไม่ถูกนะ ผมเลยได้มีรูปมาฝากเพื่อนๆ นักแล่นเรือไง

โดยใช้กฏของปรมัตร์ เรื่องนี้มันเป็นเรื่องของความจริงระดับสมมุติ ห้วหน้าอุทยานจะตั้งกฏอะไรออกมาก็ได้ แต่ถ้ามันไม่จริงแท้ระดับปรมัตร์ มันก็เปลี่ยนแปลงได้


ขากลับแวะตกปลา เกาะพิง จนน้าเอี้ยงบอกจะเมาเรือ


 แวะอ่าวมะนาว เติมน้ำมัน กินข้าว ที่อ่าวมะนาวผมก็เพิ่งรู้ว่า ห้ามเรือจากที่อื่นเข้ามาในเขตอ่าวมะนาวที่เป็นพื้นที่ของทหาร

ก็เข้าไปขออนุญาติกับหัวหน้า บอก "ขออนุญาติจอดเรือ และแวะมาซื้อน้ำมันมาเติมเรือครับ หัวหน้าก็ไม่ว่าไร"

ผ่านตลอด ....

แวะกินส้มตำ ต้มยำ จนหน่ำใจ ... กับน้าเอี้ยง อิ่มม๊าก ... เอ๊กๆๆ


ขึ้นเขาหามุมสูง


ปีนเขาแข่งกับลิง




เอกสารอ้างอิง
  • ตำนานนิทาน ตาม่องลาย : บ้านจอมยุทธ โดย รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประจวบคีรีขันธ์
  • กฏหมายสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ โดย คุณพิไชยอินทรา


วันอังคารที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2560

แร็มป์ ตาม่องล่าย

แร็มป์ ตาม่องล่าย

เครดิต น้าเอี้ยง




หน้าแร็มป์เป็นโคลนเลน ระดับความชันน้อยมากเป็นร้อยเมตร ฉะนั้นต้องใช้ระดับน้ำขึ้นสูงสุดเป็นหลักในการขึ้นลง

วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560

แร็มป์ เกาะหลัก

แร็มป์ เกาะหลัก





แร็มป์นี้น้ำขึ้นไม่ถึงแร็มป์ ต้องลงที่ชายหาด ลักษณะพื้นทะเลลาดชันน้อยมาก ต้องใช้น้ำขึ้นช่วย เครดิตน้าปาการังฟิชชิ่ง คลองวาฬ

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ประเทศไทย

พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ประเทศไทย พ.ศ.2504
Thailand National Park Act






เลื่อนหน้า ขึ้น-ลง ใช้ แถบด้านข้าง หรือใช้เมาส์ Scroll ขึ้นลง


ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ประเทศไทย

ระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ ว่าด้วยการเข้าไปในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ประเทศไทย
Rules of getting into The Marine Thailand National Park






เลื่อนหน้า ขึ้น-ลง ใช้ แถบด้านข้าง หรือใช้เมาส์ Scroll ขึ้นลง