วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

D.I.Y GPS โจรสลัดทางทะเล ของกัปตัน แ จ็ ค ส แ ป ร์ โ ร ว์ ภาค 2 ตอนไอแพ็ดตลุยมหาสมุทรสุดขอบฟ้า

D.I.Y GPS โจรสลัดทางทะเล ของกัปตัน แ จ็ ค ส แ ป ร์ โ ร ว์ ภาค 2 ตอน ไอแพ็ดตลุยมหาสมุทรสุดขอบฟ้า



แนะนำเครื่องมือที่ใช้ในการเดินเรือ โดยใช้ iPad ครับ บทความนี้เหมาะสำหรับท่านที่มี iPad, iPad mini รวมทั้งพวกตระกูล iPhone ที่มีอยู่แล้ว หากเบื่อเล่นเกมส์หรือจีบสาว เอามาใช้ช่วยในการเดินเรือดีกว่า

   iPad หรืออะไรที่คล้ายๆแบบนี้ รวมทั้ง Iphone ด้วย จริงๆ แล้วมันคือคอมพิวเตอร์ตัวนึง ซึ่งประสิทธิภาพของมันดีจน GPS รุ่นที่แพงกว่ายังต้องเหลียวมามองเชียวล่ะ เพราะมันทำใด้ตั้งแต่สากกระบือ ยังเรือรบ

เราจะใช้ไอแพ็ดใช้ในการเดินเรือทำอะไรได้บ้าง
  • ได้แผนที่รุ่น Bluechart ปี 2013 หรือใหม่กว่า และระบบการแสดงผลบนหน้าจอรวดเร็วทันใจวัยรุ่น
  • การใช้ระบบสัมผัสเบาๆ เขี่ยไปเขี่ยมาบนหน้าจอ จะย่อจะขยายแบบติดมือ ใช้นิ้วทุกนิ้วให้มีประโยชน์ ทำให้การใช้งานง่ายและรวดเร็ว ไม่ต้องงง... กับปุ่มกด เมนูวนไปวนมา
  • มีระบบ Garmin Marine Network เชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ ของ Garmin เช่น Radar , Chartpotter ,Autopilot ,GPS device, ect
  • Bluetooth Device เชื่อมต่ออุปกรณ์บลูทูช
  • Active Captain 
  • Vessel Profile
  • Chart Option
  • ระบบ Premium Weather แจ้งสภาพอากาศแบบ Realtime (เสียดายเมืองไทย ใช้ไม่ได้) แต่มีทางออกเนื่องจาก iPad สามารถเชื่อมตัวเองกับ Internet ได้ตลอดเวลา โลกทั้งใบก็อยู่ที่ปลายนิ้ว สามารถเช็คสภาพอากาศ จากดาวเทียมของสถานีตรวจอากาศทั่วไทยได้ตลอดเวลา อัปเดททุกๆ 3 ชั่วโมง เกือบๆ Realtime แล้ว
  • Routes,Waypoint ,วัดระยะทาง,ร่องน้ำ,ระดับน้ำทะเล,แนวสายเคเบิ้ลใต้น้ำ,บอกความลึก,จุดเรือจม ,แนวหินโสโครก,ท่าเรือต่างๆ เยอะแยะมากมาย
  • ในกรณีเดินทางเป็นกลุ่ม ใช้ค้นหาเพื่อนๆ เราก็จะเห็นว่าเพื่อนๆอยู่ตรงไหนในแผนที่ ใช้ ระบบ GPS Tracking ทำเอง และใช้ฝากข้อความ หรือคุยข้อความกัน
  • แผนที่แม่น้ำคูคลอง D.I.Y GPS แผนที่แม่น้ำคูคลองสยาม ร.ศ.233
  • ใช้หาและสั่งนำทางไปยังแร็มป์ทั่วประเทศ จาก รวมแร็มป์
  • ใช้หาหมายตกปลาทั่วประเทศ และพิกัดตัวเองลงใน Map จาก รวมหมายตกปลาทะเล
  • แจ้งพิกัดของเรือในระบบ Ais Traffic Marrine บนแผนที่โลก ทำให้เรือลำอื่นเห็นเรือเราบนแผนที่ และเราก็เห็นเรือลำอื่นในแผนที่ พร้อมทิศทางเดินเรือ ความเร็วเดินเรือทั่วโลกเหมือนกัน
  • เช็คระดับน้ำขึ้นน้ำลง จากในโปรแกรมเอง และจาก ตารางน้ำรายชั่วโมง พร้อมกระแสน้ำไหล เช็คลม สภาพอากาศหรืออะไรที่อยากจะรู้
  •  ดูทีวี ดูหนัง ฟังเพลง อ่านข่าว เล่นเน็ต เล่นไลน์ เฟสบุ๊ค สารพัด ฯลฯ มากมายก่ายกอง

เดี๋ยวจะหาว่าโม้... ลองดู Video ของ Garmin อันไหนที่ทำตามที่คุยไม่ได้ ก็ใช้ Software เสริม Third party ... iPad คือคอมพิวเตอร์มันทำได้ทุกอย่าง เพราะมันเป็น มัลติฟังค์ชั่นตั้งแต่เกิด อยู่ที่ Software ครับป๋ม


 
วิธีการใช้งานของ iPad ด้วยการสัมผัสบนหน้าจอ ณ ขณะนี้ถือเป็นวิธีการติดต่อกับผู้ใช้ที่ใช้ควบคุมที่ดีที่สุดในโลกนี้... นึ่จึงเป็นเหตุผลสุดยอดที่ทำให้ Apple เป็นบริษัท ที่เป็นบริษัทติดอันดับต้นๆของโลก

โปรแกรมตัวนี้ สามารถ Download ได้ฟรีบนไอแพ็ด ใช้งานได้ทุกฟังค์ชั่น มีแผนที่ Base Map ให้มา ถ้าใช้น้ำจืดแค่นี้ก็ใช้ได้พอแล้ว

แต่ถ้าใช้กับทะเลและต้องการแผนที่ละเอียด รุ่นล่าสุด สามารถ Donwload โดยเสียเงินเฉพาะค่า Map ราคา 69.99$ หรือเงินไทยประมาณ 2200-2300 บาท ลิขสิทธิ์ถูกต้องใช้งานแบบเต็มฟังค์ชั่น


ลองมาเริ่มกันเลย!!!!


หน้าจอหลักใด้ทำการ add แผนที่อ่าวไทย ทั้ง  2 ฝั่ง จนถึงสิงค์โปร์ เราสามารถเลือก map ได้โดยจะเป็น Block เล็กๆ เพื่อจะได้ไม่เปลีองหน่วยความจำ สามารถโหลดเพิ่มเติมได้ หรือเอาออกได้


   Map ไหนเราซื้อ ก็จะมีปุ่ม Download จะสังเกตุว่า Map ที่ซื้อ ครอบคลุม Afica ,Peninsula ,Persian Gulf ,India ,Sri lanka , South-East Asia ,Indonesia , Australia , New Zealand , Chaina , Taiwan , South Korea Numerous Micronesian and Polynesian Islands ใ้ห้มามากมายกายกอง
   
รายละเอียดเมนู และปุ่มควบคุม

     -เมนูที่อยู่ด้านบนสุด 
1.เปิดเมนูตั้งค่า
2.เปิด Mark(เครื่องหมายตำแหน่ง) ตำแหน่ง GPS
3.สลับแผนที่ระหว่าง Trace up(หันตาม Trace) และ North up(หันตามทิศเหนือ)
4. Record Track (บันทึกทางเดิน) กิจกรรมการเดินทาง
5. ค้นหา Point (จุดสัญลักษณ์) ที่น่าสนใจ

     -เมนูด้านล่างสุด 
1.รายละเอียดเรือของคุณบนแผนที่
2.Measure (มาตรวัดระยะทางบนแผนที่)
3.เปิดเมนูเนื้อหา เช่น  Routes (เส้นทาง) ,Tracks (ทางเดิน),Waypoint (เส้นทางจุดสัญลักษณ์),Catches(จุดจับปลา),List (รายการ)
4.เปิดเมนู Tides (น้ำขึ้นน้ำลง) และ Currents (กระแสน้ำ)
5.เปิดเมนู Chart Content (เนื้อหาแผนที่)

     -เมนูด้านข้าง

1.Measure (มาตรวัดระยะทางบนแผนที่)
2.GPS Heading (แสดงหรือซ่อนเข็มทิศบนแผนที่)
3.Record Track (บันทึกทางเดิน) กิจกรรมการเดินทาง
4.Track Up (สลับแผนที่ระหว่าง) Trace up และ North up
5.Chart Contents (เปิดเมนูเนื้อหาแผนที่)
ุ6.เปิด/ปิด เมนูด้านข้าง

กรณีใช้ iPhone เมนูด้านล่าง
1.Chart (แสดงแผนที่)
2.My Content(เปิดเมนูเนื้อหา) เช่น  Routes (เส้นทาง) ,Tracks (ทางเดิน),Waypoint (จุดเส้นทางที่ทำเครื่องหมายไว้),Catches(จุดจับปลา),List (รายการ)
3.Tides เปิดเมนู Tides (น้ำขึ้นน้ำลง) และ Currents (กระแสน้ำ)
4.Search ค้นหา Point(จุดสัญลักษณ์) ที่น่าสนใจ
5.Settings เปิดเมนูตั้งค่า

Redial Menus เมนูรีไดอัล(เมนูวงกลมหมุน คล้ายที่หมุนโทรศัพท์สมัยก่อน) จิ้มบนแผนที่ก็จะปรากฏ
1.แสดงข้อมูลเกี่ยวกับ Point (จุดสัญลักษณ์)
2.แสดงพิกัดจุดตรงกลางของเมนูรีไดอัล (เมนูวงกลมหมุน)
3.ย้ายเมนูรีไดอัล(เมนูวงกลม)โดยการลากมันไปตำแหน่งอื่น คุณสามารถซ่อนเมนูรีไดอัล โดยกดเลือกจุดอื่นๆในแผนที่นอกเมนู
4.New Route สร้างเส้นทางใหม่
5.บรรจุการดำเนินการส่วนเพิ่ม และข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่
6.Marks a Waypoint ( ทำเครื่องหมายตำแหน่งจุดเส้นทางที่ทำเครื่องหมายไว้บนแผนที่)

ตั้งค่าคุณสมบัติเรือ Vessel Profile
1.เปิดเมนูตั้งค่า
2.เลือก Vessel Profile
  • Initial Fuel กำหนดน้ำมันที่มีบนเรือ
  • Cruising Speed กำหนดความเร็วเฉลี่ยสำหรับเดินทาง เช่น สำหรับการเดินทางในทะเลค่าที่เหมาะ คือประมาณ 30 km/h
  • Burn Rate (L/Hr) กำหนดอัตราสิ้นเปลืองเฉลี่ยของเรือ เช่น กี่ลิตรต่อชั่วโมง
  • Auto Safety Depth (m) ระบบเตือนความลึกอัตโนมัติ
  • Vessel Icon เลือกรูปเรือ มีตั้งแต่เรือยอชจ์ เรือเคบิน เรือเซนเตอร์คอนโทรล เจ็ตสกี เรือคายัค ฯลฯ


ตั้งค่าเนื้อหา My Content
  • Share Catch Location แบ่งปันตำแหน่งที่ตั้ง (เลือกเปิด-ปิด)
  • Geotag Photos ป้ายตำแหน่งรูปภาพ (เลือกเปิด-ปิด)



ตั้งค่าหน่วย Unit
  • Air Pressure หน่วยนับความกดอากาศ
  • ฺBoat Speed หน่วยนับความเร็วเรือ
  • Depth หน่วยนับความลึก
  • Distance หน่วยนับระยะทาง
  • Fuel Burn Rate หน่วยนับอัตราสิ้นเปลืองเชื้อเพลิง
  • Liquid Volumn หน่วยนับ ของเหลว
  • Position รูปแบบพิกัด
  • Temperature หน่วยนับอุณหภูมิ
  • Water Current หน่่วยความเร็วกระแสน้ำ
  • Weight หน่วยนับน้ำหนัก
  • Wind Speed หน่วยนับ ความเร็วลม

การเปลี่ยนแปลงหน่วยต่างๆ จะมีผลกับข้อมูลที่ใช้บนแผนที่

ตั้งค่าตัวเลือกเมนูแผนที่ Chart Options
  • Symbols ตั้งสัญลักษณ์ แบบ NOAA กับ IALA
  • Detail ตั้งความละเอียด ตั้งแสดงแบบน้อยจนถึงมากสุด
  • Map Marker and Route Line Size เครื่องหมายบนแผนที่ และ แสดงขนาดเส้นทางบนแผนที่


วิธีดูน้ำขึ้นน้ำลง และกระแสน้ำ
1.เลือกจุดที่จะดู โดยการซูมเข้า ซูมออก ในตำแหน่งที่ต้องการ
2.กดปุ่ม Tides ปุ่มที่เป็นรูปคลื่น

3.เลือกจากตัวเลือก จากสถานีตรวจวัดที่ใกล้ที่สุด เลือกที่จะดูระดับน้ำ หรือ กระแสน้ำ

4.เลือกดูข้อมูลวันที่ต้องการ



Marine Gps VS Chart Plotter ต่างกันอย่างไร
ถ้าพูดถึง Marine Gps ในความหมาย จะหมายถึงเครื่อง Gps ที่ใช้บอกพิกัดอย่างเดียวไม่มี Map ละเอียด

ส่วน Chart Plotter จะหมายถึง Marine Gps ที่มี Map อย่างละเอียดด้วย ในบ้านเราส่วนมากจะเรียก Marrine Gps เฉยๆ แต่จริงๆ ฝรั่งจะเรียกว่า Chart Plotter ฉะนั้น ในบ้านเราที่วางขายติดเรือ มันก็คือ Chart Plotter นั่นเอง


ปัญหาของ Chart Plotter คือ ตัวเครื่องติดตั้งในเรือ ทำให้การใช้ Chart Plotter ขาดความ Flexible หรือความสะดวกคล่องตัวไปบ้าง จะมีบางยี่ห้อที่อาจมีระบบ Network อื่นๆ เพื่อแชร์ข้อมูลบางอย่าง เพื่อใช้ร่วมกันกับ Chart Plotter ตัวอย่างเช่น ยี่ห้อ Garmin ทำให้ลดข้อจำกัดของ Chart Plotter ในการนำข้อมูลเข้า

iPad ที่เราเอามา D.I.Y. เป็น GPS มันก็เป็น Chart Plotter ตัวหนึ่งนั่นเอง และถูกวางตัวเป็น เครื่องมือสำหรับการวางแผน เพราะมันสะดวกใช้ แล้วก็เอามาโอนข้อมูลเข้า Chart Plotter บนเรือ เพราะตัวเครื่องสามารถเชื่อมต่อ Online Internet ทำให้มันมี Feature เก่งกว่า Chart Plotter ตัวจริง และ Realtime กว่าเยอะ

ตัวอย่างเช่น ในแผนที่ต่างๆ ที่แสดงใน Blog นี้ , จุดที่น่าสนใจต่างๆ , จุดจอดเรือ , ทุ่นจอดเรือ หรืออะไรๆ อีกในอนาคต สามารถดึงเข้าไปเปิด Map ใน iPad แล้วใช้ได้เลย เพราะสามารถสลับใช้โปรแกรมต่างๆ อย่างง่าย แค่นี้วเขี่ยไปเขี่ยมา

แต่ Chart Plotter ก็มีข้อดีกว่า iPad คือ จอใหญ่ มีความพร้อมใช้ตลอดเวลา มีไฟเลี้ยง ทนต่อการกัดกร่อน ทนน้ำ ความเสถียรในการทำงาน (เพราะทำงาน Function เดียว) ฯลฯ




ตัวอย่างกล่องเก็บ iPad บนเรือ ก็แล้วแต่ใครจะประยุกต์อย่างไร เรือที่มีเคบินจะได้เปรียบกว่า เรือพวก Center Control เพราะโอกาศจะโดนน้ำจะน้อยมาก



การติดตั้ง iPad บนหน้าปัดเรือ รู้สึกกว่าจะดูดีเกินหน้าเกินตา Chart Plotter ไปหน่อย อุอุ




หมายเหตุ บทความนี้อาจมีการเพิ่มเติมเนื้อหา เพื่อความสมบูรณ์อาจมีการเพิ่มรายละเอียดอื่นๆ อีก

วันเสาร์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2557

อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ระนอง

อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ระนอง


นำทาง อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี ในแผนที่ GPS

ลักษณะภูมิประเทศ 


1. สภาพพื้นที่
อุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี มีพื้นที่โดยรวม 160 ตารางกิโลเมตร หรือ 100,000 ไร่ ประกอบด้วย
1.1 ลำน้ำกระบุรี เป็นแม่น้ำที่กั้นระหว่างประเทศไทยและประเทศสหภาพพม่า มีพื้นที่รวมในเขตอุทยานแห่งชาติลำน้ำกระบุรี 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่หรือประมาณ 40,000 ไร่ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาภูเก็ตไหลมาทางทิศตะวันตกผ่านอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง และไหลผ่านไปทางทิศใต้ผ่านอำเภอละอุ่น ลงสู่ทะเลอันดามันที่ปากแม่น้ำกระบุรี อำเภอเมือง จังหวัดระนอง ซึ่งมีระยะทางประมาณ 60 กิโลเมตร ช่วงกว้างที่ประมาณ 6 กิโลเมตร
1.2 ป่าชายเลน ครอบคลุมริมฝั่งแม่น้ำกระบุรีและบริเวณหมู่เกาะในลำน้ำกระบุรี อันประกอบ ด้วย
เกาะขวาง เกาะยาว เกาะปลิง เกาะโชน เกาะเสียด และเกาะนกเปล้า ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 15,000 ไร่
1.3 ป่าดิบชื้น ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 3 แห่ง
- ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองลำเลียง - ละอุ่น
- ป่าสงวนแห่งชาติป่าคลองเส็ตกวด ป่าเขาหินช้างและป่าเขาสามแหลม
- ป่าสงวนแห่งชาติป่าละอุ่นและราชกรูด
ซึ่งอยู่ในท้องที่อำเภอกระบุรี อำเภอละอุ่น อำเภอเมือง จังหวัดระนองมีพื้นที่โดยรวม 45,000 ไร่
2. อาณาเขต
ทิศเหนือ จดอำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
ทิศใต้ จดอำเภอเมือง จังหวัดระนอง
ทิศตะวันออก จดอำเภอละอุ่น จังหวัดระนอง
ทิศตะวันตก จดประเทศสหภาพพม่า

ลักษณะภูมิอากาศ


ลักษณะอากาศทั่วไป
เนื่องจากจังหวัดที่อยู่ทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก ได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้อย่างเต็มที่จึงมีฝนตกชุกหนาแน่นกว่าจังหวัดอื่นและตกเกือบทั่วไป ส่วนฤดูหนาวอากาศไม่หนาวจัด เพราะอยู่ไกลจากอิทธิพลของอากาศหนาวพอสมควรแต่บางครั้งอาจมีฝนตกได้ เนื่องจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยเอาฝนมาตกปริมาณน้อยกว่าจังหวัดที่อยู่ทางด้านตะวันออกของภาคใต้
- อุณหภูมิ เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ตั้งอยู่ในคาบสมุทรที่เป็นแหลมยื่นออกไปในทะเลจึงได้รับลมมรสุมอย่างเต็มที่คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมากอุณหภูมิเฉลี่ยจึงสูงไม่มากนัก และอากาศไม่ร้อนจัดในฤดูร้อน อากาศจะอบอุ่นในช่วงฤดูฝน ส่วนในฤดูหนาวอากาศจะเย็นบ้างเป็นบางครั้ง อุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีประมาณ 27.6 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงที่สุดเฉลี่ย 34.8 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 22.5 องศาเซลเซียส เดือนเมษายนเป็นเดือนที่ร้อนที่สุด ที่ผ่านมาวัดอุณหภูมิสูงสุดได้ 39.6 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2526 และวันที่ 19 เมษายน 2516 อุณหภูมิต่ำสุดวัดได้ 13.7 องศาเซลเซียส
- ความชื้นสัมพัทธ์ ความชื้นสัมพัทธ์กับมวลอากาศมีอิทธิพลกับลมมรสุมเป็นสำคัญ ตลอดทั้งปีของจังหวัดระนองจะมีความชื้นสัมพัทธ์อยู่ในเกณฑ์สูงเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมทั้งสองฤดูอย่างเต็มที่ ลมมรสุมนี้ก่อนจะพัดเข้าสู่บริเวณจังหวัดได้พัดผ่านทะเลและมหาสมุทรจึงได้พัดพาเอาไอน้ำและความชื้นมาด้วยทำให้บริเวณจังหวัดระนองมีความชุ่มชื้นและความชื้นสัมพัทธ์สูงเป็นเวลานาน ความชื้นสัมพัทธ์ตลอดทั้งปีปริมาณ 79.2%
ฤดูกาลของจังหวัดระนองแบ่งตามลักษณะลมฟ้าอากาศของประเทศไทย แบ่งออกได้เป็นสามฤดู
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างมรสุม จะมีลมทิศตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุม ทำให้อากาศร้อนทั่วไป อากาศร้อนที่สุดในเดือนเมษายน
แต่ไม่ร้อนมากนักเนื่องจากเป็นภูมิประเทศในคาบสมุทรอยู่ใกล้ทะเล กระแสลมและไอน้ำทำให้อากาศคลายความร้อนลงไปมาก
- ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย และร่องความกดอากาศต่ำจะพัดผ่านประเทศไทยเป็นระยะๆ ทำให้ฝนตกมากตลอดฤดูฝนและเดือนสิงหาคมจะมีฝนตกมากที่สุดในรอบปี
ฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออก -เฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งจากประเทศจีนพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากจังหวัดระนองอยู่ใกล้ทะเลอุณหภูมิลดลงเล็กน้อยเป็นครั้งคราว อากาศไม่หนาวเย็นมากนัก และตามชายฝั่งจะมีฝนตกทั่วไปแต่มีปริมาณไม่มากนัก 

อุทยานแห่งชาติหาดนวกร

อุทยานแห่งชาติหาดนวกร


นำทาง อุทยานแห่งชาติหาดนวกร ในแผนที่ GPS

ข้อมูลทั่วไป 

อุทยานแห่งชาติหาดวนกร ชายหาดอันลือชื่อของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ที่ทอดตัวเป็นแนวยาวลงไปในทะเล ทิวทัศน์ที่เงียบสงบ หาดทรายขาวสะอาด บนฝั่งมีทิวสนทะเลและสนประดิพัทธ์เป็นแนวขนานกับทะเล มีพื้นที่ทั้งหมด ประมาณ 23,750 ไร่ หรือ 38 ตารางกิโลเมตร ในเขตตำบลห้วยทราย ตำบลคลองวาฬ อำเภอเมือง และตำบลห้วยยาง อำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พันธุ์ไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้ที่ปลูกขึ้นใหม่ได้แก่ สนทะเล สนประดิพัทธ์ สะเดา เป็นต้น


ลักษณะภูมิประเทศ 

อุทยานแห่งชาติหาดวนกร ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง และอำเภอทับสะแก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีทางรถไฟสายใต้ผ่านตอนกลางของพื้นที่ มีอาณาเขตทิศเหนือติดที่ดินกรรมสิทธิ์บ้านวังด้วน และค่ายตำรวจตระเวนชายแดน ทิศใต้จดห้วยคอกม้า และสถานีฝึกนิสิตคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทิศตะวันออกจดทะเลอ่าวไทย และทิศตะวันตกจดถนนเพชรเกษม โดยทั่วไปอุทยานแห่งชาติหาดวนกรเป็นที่ราบหลังชายหาด มีเกาะเล็กๆ 2 เกาะ คือ เกาะจาน และเกาะท้ายทรีย์ ลำห้วยที่สำคัญได้แก่ ห้วยคลองหินจวง ซึ่งไหลผ่านตอนกลางของพื้นที่ แต่ปริมาณน้ำมีน้อย ในฤดูแล้งขาดเป็นช่วงๆ

ลักษณะภูมิอากาศ 

พื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดวนกรตั้งอยู่ในเขตภาคใต้ของประเทศไทย และมีพื้นที่อยู่ติดชายฝั่งทะเล ลักษณะในแต่ละฤดูกาลจึงไม่แตกต่างกันมากนัก สภาพภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน เริ่มต้นเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทย และยังมีร่องความกดอากาศต่ำพัดผ่านภาคใต้เป็นระยะๆ ต่อจากนั้นถึงเดือนพฤศจิกายนซึ่งเป็นระยะแรกที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้ยังคงมีฝนตกชุกต่อเนื่องจนถึงเดือนธันวาคม ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีมากกว่า 1,100 มิลลิเมตร ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไป และมีอากาศหนาวเย็นเป็นครั้งคราว โดยอุณหภูมิจะลดลงต่ำสุดในเดือนธันวาคมและมกราคม อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนมกราคม 20 องศาเซลเซียส ฤดูร้อน เริ่มต้นตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงเปลี่ยนฤดู ระยะนี้เป็นช่องว่างของลมมรสุมหลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิจะเริ่มสูงขึ้น อากาศจะเริ่มร้อนโดยเฉพาะในเดือนมีมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนเมษายนประมาณ 29 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 27 องศาเซลเซียส

อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่

นำทาง อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ในแผนที่ GPS


ข้อมูลทั่วไป 

แต่เดิมเป็นเพียงวนอุทยานป่าชายทะเลเขาหลัก ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองอุทยานแห่งชาติ ต่อมา ในปี 2527 ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 2 ตำบลกะปง จังหวัดพังงา ได้มีหนังสือเรียนรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า พื้นที่บริเวณ ตำบลกะปง จังหวัดพังงา น้ำตกลำรู่ เป็นน้ำตกที่สวยงาม ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติเทือกเขากะได บริเวณรอบๆ ยังมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่านานาชนิด ควรอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าไว้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีบันทึกให้กรมป่าไม้พิจารณา กองอุทยานแห่งชาติได้มีหนังสือเสนอกรมป่าไม้ ให้มีคำสั่งให้ เจ้าหน้าที่ออกไปทำการสำรวจบริเวณดังกล่าว ปรากฏว่า พื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ

 ลักษณะภูมิประเทศ 

ภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสูงชันสลับซับซ้อน ได้แก่ เขาหลัก เขาลำรู เขาแสงทอง เขาไม้แก้ว และเขาปลายบางโต๊ะ มียอดเขาสูงที่สุดประมาณ 1,077 เมตร จากระดับน้ำทะเล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสายสำคัญ ๆ ของจังหวัดพังงา ได้แก่ แม่น้ำตะกั่วป่า และแม่น้ำพังงา และยังประกอบด้วยคลองและลำห้วยลำเล็กๆ มากมาย ส่วนบริเวณที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาหลัก–ลำรู่ เป็นพื้นที่ชายฝั่งที่ติดกับทะเล เป็นระบบนิเวศหาดหิน ระบบนิเวศหาดทราย และกลุ่มประการัง

 ลักษณะภูมิอากาศ 

อุทยานแห่งชาติเขาหลัก-ลำรู่ ตั้งอยู่ทางฝั่งทะเลตะวันตกของฝั่งทะเลอันดามัน จึงได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีฝนตกเกือบตลอดทั้งปี มีฤดูกาลเพียง 2 ฤดู คือฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนธันวาคม โดยจะมีฝนตกชุก

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด


นำทาง อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ในแผนที่ GPS

ข้อมูลทั่วไป 

โถงถ้ำแห่งเทือกเขาริมอ่าวไทย 

เขาสามร้อยยอดเป็นชื่อที่มีตำนานเล่าว่า พื้นที่แถบนี้เคยเป็นทะเลมีหมู่เกาะน้อยใหญ่เรียงรายกัน ครั้งหนึ่งเคยมีเรือสำเภาจีนแล่นผ่านมาประสบลมพายุรุนแรงจนเรือใกล้อับปาง จึงแวะหลบภัยเข้ามาตามร่องน้ำด้านทิศตะวันตกของเกาะ แต่เนื่องจากไม่ชำนาญพื้นที่ เรือได้ชนกับหินโสโครกอับปางลง ผู้คนจมน้ำตายจำนวนมากที่เหลือรอดตายขึ้นมาอาศัยอยู่บนเกาะประมาณ 300 คน จึงได้ตั้งชื่อว่า “เกาะสามร้อยรอด” ต่อมาระดับน้ำทะเลได้ลดลง เกาะกลายเป็นภูเขา ชาวบ้านเรียกคลาดเคลื่อนเป็น “เขาสามร้อยยอด” บริเวณที่สันนิษฐานว่าเรือจมนั้นชาวบ้านเรียกว่า “อ่าวทะเลสาบ” เคยมีผู้พบซากเสากระโดงเรือโบราณในบริเวณนี้ด้วย บางข้อสันนิษฐานว่า เป็นเพราะมีต้นสามร้อยยอดขึ้นอยู่ หรือมียอดเขามากมายถึง 300 ยอด 

ลักษณะภูมิประเทศ 

อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด มีสภาพภูมิประเทศเป็นภูเขาหินปูนยุคเพอร์เมียน มีอายุประมาณ 280 - 230 ล้านปีมาแล้ว ที่มีความสูงชันริมฝั่งทะเลผสมกับที่ราบริมฝั่งทะเลที่เป็นหาดเลนและห้วงน้ำทะเลตื้น รวมตลอดถึงเกาะหินปูนที่ตั้งเรียงรายใกล้ชายฝั่งทะเลซึ่งยาวจากเขากระโหลกทางทิศเหนือถึงเขาแร้งทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร ได้แก่ เกาะโครำ เกาะนมสาว เกาะระวาง เกาะระวิง เกาะสัตกูด และเกาะขี้นก 

มีพื้นที่ราบที่มีน้ำขังตลอดปีอยู่ทางด้านตะวันตกของอุทยานแห่งชาติคือ ทุ่งสามร้อยยอด ซึ่งในอดีตเคยเป็นทะเลหรืออ่าว ต่อมาถูกปิดกั้นด้วยตะกอนและสันทราย ทะเลถอยร่นออกไป ได้รับอิทธิพลน้ำจืดจากแผ่นดิน มีการสะสมของตะกอนที่ราบลุ่ม ค่อยๆ กลายเป็นทุ่งน้ำกร่อยและทุ่งน้ำจืดตามลำดับ น้ำจืดในทุ่งสามร้อยยอดส่วนหนึ่งมีแหล่งกำเนิดมาจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลผ่านห้วยโพระดก ห้วยขมิ้น ห้วยหนองคาง ห้วยไร่ตาพึง แล้วระบายลงสู่ทะเลตามคลองเขาแดง อีกส่วนหนึ่งไหลจากเทือกเขาสามร้อยยอด ทุ่งสามร้อยยอดมีระดับน้ำลึกเฉลี่ย 3 เมตร 

เนื่องจากสภาพทางธรณีของเขาสามร้อยยอดเป็นหินปูนที่มีความลาดชันสูง ทำให้เกิดเป็นหน้าผาสูงชันและหุบเหวลึก มีความสูงของยอดเขาที่สูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติถึง 605 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดเขาที่สำคัญได้แก่ ยอดเขาชโลงฟาง เขากระโจม เขาใหญ่ เขาถ้ำประทุน เขาแดง เขาเทียน เขาหุบจันทร์ และเขาขั้นบันได ฯลฯ บริเวณนี้มีสภาพธรณีเป็นหินปูน มีหลายแห่งที่หินปูนถูกอิทธิพลของธรรมชาติกัดเซาะหรือผุกร่อนกลายเป็นถ้ำหรือปล่องหุบเหวขนาดใหญ่ ที่สำคัญได้แก่ ถ้ำแก้ว ถ้ำไทร ถ้ำพระยานคร เป็นต้น 

อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพงัน

อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพงัน


นำทาง อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพงัน ในแผนที่ GPS

ข้อมูลทั่วไป     

ในปี 2510 พระครูสุภัทรธรรมาภิรม (วิธูร ธรรมวโร) เจ้าอาวาสวัดราษฎร์เจริญ ตำบลเกาะพะงัน อำเภอเกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้ริเริ่มก่อตั้ง “วนอุทยานการุณเมตต์น้ำตกแพง” ขึ้นในบริเวณน้ำตกแพง บ้านมะเดื่อหวาน ตำบลเกาะพะงัน โดยเห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความอุดมสมบูรณ์ มีน้ำตกสวยงาม มีสัตว์ป่าชุกชุม อยู่ใกล้ชุมชน และได้เริ่มมีชาวบ้านเข้าไปบุกรุกจับจองพื้นที่ พระครูสุภัทรธรรมาภิรมจึงได้ชักชวนพระ เณร และชาวบ้าน ตัดถนนเข้าไปที่ตัวน้ำตกแพงระยะทาง 1 กิโลเมตร โดยตกลงกับชาวบ้านยุติการบุกรุกบริเวณน้ำตกแพง ให้ช่วยกันอนุรักษ์แทนการทำลาย และในปี 2520 พระครูสุภัทรธรรมาภิรมได้มอบวนอุทยานการรุณเมตต์น้ำตกแพงให้กับกรมป่าไม้เพื่อให้ประกาศเป็น “วนอุทยานน้ำตกแพง” 

ลักษณะภูมิประเทศ     

อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ-เกาะพะงัน ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลเกาะพะงัน ตำบลบ้านใต้ อำเภอเกาะพะงัน ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะ สมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ห่างจากฝั่งจังหวัดสุราษฎร์ธานี 80 กิโลเมตร ลักษณะภูมิประเทศทั่วไปเป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนทอดยาวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ มีที่ราบตามหุบเขาและบริเวณอ่าวต่างๆ รอบเกาะ โดยมียอดเขาสูงสุด คือ ยอดเขาหรา มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 627 เมตร มีป่าเขาที่อุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของเกาะพะงัน ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ได้แก่ เกาะพะงัน เกาะแตนอก เกาะแตใน เกาะม้า เกาะตุ้งกู เกาะตุ้งกา หมู่เกาะว่าว และหินใบ ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะพะงันไปทางทิศเหนือประมาณ 30 กิโลเมตร

ลักษณะภูมิอากาศ     

สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของเกาะพะงัน มีฝนตกเกือบตลอดปี ลักษณะอากาศโดยทั่วไปจัดอยู่ในเกณฑ์อบอุ่น โดยมีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี ประมาณ 28oC อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือน พฤษภาคม ประมาณ 33oC ซึ่งเป็นช่วงที่มีอากาศร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในช่วงเดือนธันวาคมและเดือนมกราคม ประมาณ 24oC เป็นช่วงที่อากาศเริ่มเย็นตัวลง ปริมาณน้ำฝนตลอดปี ประมาณ 1,848 มิลลิเมตร เดือนกุมภาพันธ์ มีปริมาณน้ำฝนน้อยที่สุด ประมาณ 38 มิลลิเมตร เดือนพฤศจิกายนมีปริมาณน้ำฝนมาก ประมาณ 428 มิลลิเมตร 

อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้

อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้


นำทาง อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ในแผนที่ GPS

ข้อมูลทั่วไป 

อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลอยู่ในการดำเนินการเพื่อประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติตามกฎหมาย โดยได้สำรวจและเก็บข้อมูลเบื้องต้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2533 โดยได้กำหนดที่ดินบางส่วนของป่าคลองธง คลองเหลง ป่าเขาออก ป่าเขาท้องโหนด ป่าเขาชัยสน ป่าเลนคลองขนอม ป่าชัยคราม ป่าวัดประดู่ ป่าเขาหัวช้าง และหมู่เกาะ 8 เกาะ ได้แก่ เกาะมัดแตง เกาะมัดโกง เกาะราบ เกาะวังนอก เกาะวังใน เกาะน้อย และ เกาะท่าไร่ ในท้องที่อำเภอสิชล อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช และท้องที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี


ลักษณะภูมิประเทศ 

อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล ตำบลท้องเนียน ตำบลควนทอง ตำบลขนอม อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ตำบลปากแพรก ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีลักษณะพื้นที่แยกเป็นส่วนๆ ไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากได้กันพื้นที่บางส่วนซึ่งมีราษฎรเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อป้องกันข้อขัดแย้งกับราษฎร ในพื้นที่ซึ่งกำหนดเป็นเขตอุทยานแห่งชาติจะมีลักษณะเป็นป่าที่ยังมีความสมบูรณ์และพื้นน้ำ เกาะ ซึ่งมีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี โดยมีอาณาเขตทิศเหนือจดพื้นที่อำเภอดอนสัก อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทิศใต้จดอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ทิศตะวันออกจดอ่าวไทย และทิศตะวันตกจดอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี

อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ประกอบด้วยพื้นที่ทางบกและทางทะเลรวมกัน โดยพื้นที่ทางบกประกอบด้วย แนวเทือกเขาน้อยใหญ่สลับซับซ้อนทอดตัวจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ มีพื้นที่ราบผืนใหญ่ เชิงภูเขาเปิดสู่ฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย มียอดเขาหลวงเป็นจุดสูงที่สุดประมาณ 814 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนพื้นที่ทางทะเลประกอบด้วยเกาะจำนวน 11 เกาะ ได้แก่ เกาะแตน เกาะราบ เกาะมัดโกง เกาะมัดแตง เกาะวังนอก เกาะวังใน เกาะมัดสุ่ม เกาะราใหญ่ เกาะท่าไร่ เกาะผี และเกาะน้อย 

ลักษณะทางธรณีสัณฐานของพื้นที่อุทยานแห่งชาติแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ พื้นที่ซึ่งเป็นกลุ่มเกาะและผืนแผ่นดินใหญ่ ลักษณะภูเขาประกอบด้วยภูเขาหินปูน และหินทราย หินทรายปนกรวด และยังเป็นแหล่งแร่ที่สำคัญได้แก่ โคโลไบท์ แบไรท์ แร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่อผลิตปูนซีเมนต์และเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น อุทยานแห่งชาติหาดขนอม - หมู่เกาะทะเลใต้มีพื้นที่ส่วนใหญ่จัดเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ดังนั้น จึงเป็นพื้นที่ต้นน้ำของลำห้วย ลำคลองน้อยใหญ่หลายสาย ซึ่งไหลไปหล่อเลี้ยงพื้นที่โดยรอบส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งเป็นเกาะพบว่า บนเกาะวังนอกมีแหล่งน้ำซึ่งมีลักษณะเป็นป่าพรุสามารถนำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค ส่วนเกาะอื่นๆ ไม่พบแหล่งน้ำในธรรมชาติ 

ลักษณะภูมิอากาศ 

จากสถิติสภาพภูมิอากาศบริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ ซึ่งทำการเก็บข้อมูลที่สถานีตรวจวัดอากาศเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งอยู่ใกล้เคียงพื้นที่อุทยานแห่งชาติมากที่สุด กรมอุตุนิยมวิทยาได้เก็บข้อมูลสภาพอากาศที่สถานีตรวจอากาศเกาะสมุยในช่วงปี 2509 - 2538 ในช่วงระยะเวลา 30 ปี อิทธิพลต่างๆ จากสภาพภูมิอากาศทำให้เกิดฤดูกาลแบ่งได้ 2 ฤดู คือ 

ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนเมษายน ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุม หลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อน และจะมีอากาศร้อนจัดในที่สุดในเดือนเมษายนต่อเดือนพฤษภาคม 

ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมกราคม เป็นช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและลมชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคุลมทำให้มีฝนตกทั่วไปและในช่วงฤดูฝนนี้ ยังมีช่วงความกดอากาศต่ำปกคลุมภาคใต้เป็นระยะ จึงทำให้มีฝนตกมาก นอกจากนี้ในระหว่างเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ยังได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดผ่านอ่าวไทยทำให้มีฝนตกมากในระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม

จากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทยทำให้ได้รับไอน้ำและความชุ่มชื้นมาก อากาศจึงไม่ร้อนจัดในฤดูร้อนและอบอุ่นในฤดูฝน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 28 องศาเซลเซียส และเดือนที่มีอุณหภูมิต่ำสุดคือ เดือนธันวาคมและเดือนมกราคมมีอุณหภูมิต่ำสุดประมาณ 19 องศาเซลเซียส และมีอุณหภูมิสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ประมาณ 33 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีประมาณ 79% ความชื้นสัมพัทธ์สูงสุดเฉลี่ยจะเกิดในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน สูงถึง 92% ส่วนความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุดเฉลี่ยจะเกิดในเดือนกรกฎาคม 63% ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยทั้งปี 1,910 มิลลิเมตร เดือนพฤศจิกายนมีปริมาณฝนตกมากที่สุดวัดได้ 511 มิลลิเมตร เดือนกุมภาพันธ์มีฝนตกน้อยที่สุดวัดได้ 35 มิลลิเมตร 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง

นำทาง อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ในแผนที่ GPS


อยู่ห่างจากอำเภอเมืองตราด ไปทางทิศตะวันตก 17 กิโลเมตร เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในฝั่งทะเลอ่าวไทย และใหญ่เป็นอันดับสองรองจากเกาะภูเก็ต เกาะแห่งนี้มีความสวยงามตามธรรมชาติครบทั้งทะเล ป่าเขา น้ำตก รอบ ๆ เกาะช้างประกอบไปด้วยหาดทรายต่าง ๆ อาทิ หาดทรายขาว เป็นหาดที่มีทรายขาวละเอียดสมชื่อ นักท่องเที่ยวมักจะมาพักผ่อนอยู่ที่หาดแห่งนี้เป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีที่พัก ร้านค้า ร้านอาหาร ธนาคาร และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน เรียกได้ว่าเป็นหาดแรกที่ได้รับการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวมาก่อนหาดอื่น ๆ หาดคลองพร้าว อยู่ ทางทิศตะวันตกของเกาะช้าง ต่อจากหาดทรายขาว มีแนวชายหาดทอดยาว สามารถเล่นน้ำได้ และร่มรื่นไปด้วยทิวต้นมะพร้าวที่เรียงรายจนได้ชื่อว่าคลองพร้าว หาดไก่แบ้ อยู่ ต่อจากหาดคลองพร้าว เป็นหาดที่มีความสงบ ไม่พลุกพล่าน เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบหาดที่มีความเป็นส่วนตัว ส่วนน้ำตกที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวคือ น้ำตกคลองพลู น้ำตก ขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงของเกาะช้าง อยู่ใกล้กับหาดคลองพร้าว นักท่องเที่ยวสามารถมาเที่ยวชมน้ำตกแห่งนี้ได้ตลอดปี น้ำตกมีลักษณะเป็นสายเดียวทิ้งตัวลงมาจากหน้าผาสูงประมาณ 100 เมตร ข้างล่างเป็นแอ่งน้ำสามารถลงเล่นน้ำได้ และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จมาประพาสที่นี่เมื่อครั้งอดีตกาล


ข้อมูลทั่วไป 

... เกาะสวรรค์ทะเลตะวันออก 

หมู่เกาะช้างเป็นอุทยานแห่งชาติที่ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยมากกว่า 40 เกาะ ทั้งยังมีเกาะที่เป็นโขดหินกลางทะเลอีกจำนวนมาก โดยมีเกาะช้างเป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีชื่อเสียงของจังหวัดตราด ตั้งอยู่ในท้องที่กิ่งอำเภอเกาะช้างและกิ่งอำเภอเกาะกูด จังหวัดตราด เกาะหลายแห่งมีทิวทัศน์สวยงาม หาดทรายขาว และน้ำทะเลใสสะอาด เช่น เกาะง่าม บางแห่งมีปะการังใต้น้ำที่คงความสมบูรณ์ตามธรรมชาติ เช่น เกาะหวาย และหมู่เกาะรัง 

ลักษณะภูมิประเทศ 

ในจำนวนกว่า 40 เกาะ ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง มีเกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่ ที่สุดห่างจากแหลมงอบประมาณ 8 กิโลเมตร พื้นที่ทอดยาวจากเหนือลงมาทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 30 กิโลเมตร กว้างประมาณ 14 กิโลเมตร เกาะช้างเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับสามประเทศไทยรองจากเกาะภูเก็ตและเกาะสมุย แต่พื้นที่อุทยานแห่งชาติไม่ได้ครอบคลุมเกาะช้างทั้งหมด มีบางส่วนที่เป็นส่วนของกิ่งอำเภอเกาะช้าง มีราษฎรอาศัยอยู่ ส่วนในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง ส่วนที่เป็นพื้นดินส่วนใหญ่ของเกาะช้างมีลักษณะภูมิประเทศเป็น ภูเขาเกือบตลอดทั้งเกาะ เช่น เขาล้าน เขาจอมปราสาท เขาคลองมะยม เขาสลักเพชร ยอดเขาใหญ่เป็นยอดเขาที่สูง ที่สุดมีความสูง 743 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง 

โครงสร้างทางธรณีส่วนใหญ่ในพื้นที่เป็นหินอัคนีในยุคไทรแอสซิกมีช่วงอายุ 195-230 ล้านปีมาแล้ว มีที่ราบตามชายฝั่งทะเลในบริเวณหมู่บ้านสลักเพชร หมู่บ้านสลักคอก หมู่บ้านคลองสน และอ่าวคลอง พร้าว แม่น้ำลำธารในเกาะช้างเป็นคลองสายสั้นๆ ที่น้ำทะเลเข้าถึง ต้นคลองเป็นห้วยน้ำจืดไหลมาจากน้ำตก ซึ่งเป็นสภาพหุบเขาหลังอ่าวต่างๆ ไหลแทรกไปตามบริเวณป่าชายเลนแล้วไหลลงสู่ทะเลรอบๆ คลองที่สำคัญได้แก่ คลองสน คลองมะยม คลองค้างคาว คลองบางเบ้า คลองพร้าว คลองนนทรี เป็นต้น ลำน้ำเหล่านี้ยังก่อให้เกิดน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง เช่น น้ำตกธารมะยม น้ำตกคลองพลู น้ำตกคลองนนทรี น้ำตกคีรีเพชร และน้ำตกคลองหนึ่ง นอกจากนี้ชายฝั่งตะวันออกของเกาะ จะมีหาดโคลนและหินเป็นหาดหน้าแคบ ส่วนหาดทางด้านตะวันตก จะเป็นหาดทรายและหิน

 ลักษณะภูมิอากาศ 

ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาที่ได้รับอิทธิพลจาก มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 4,700 มิลลิเมตร ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายน ถึง กุมภาพันธ์ ในระยะนี้มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมพื้นที่ ทำให้อุณหภูมิลดลงอากาศหนาวเย็น ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือน มีนาคมถึงเดือนเมษายน ในระยะนี้ดวงอาทิตย์กำลังเคลื่อนผ่านเส้นศูนย์สูตรไปทางซีกโลกเหนือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังอ่อนค่อนข้างจะแปรปรวน มีฝนตกน้อยทำให้อากาศร้อนอบอ้าว โดยเฉพาะในเดือนเมษายน มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีประมาณ 27 องศาเซลเซียส





อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง

เดินเรือ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ในแผนที่ GPS

ข้อมูลทั่วไป 

ทะเลใน หนึ่งเดียวในอ่าวไทย   

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง เป็นหมู่เกาะในอ่าวไทยท้องที่ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ห่างจากเกาะสมุยและเกาะพะงันไปทางทิศตะวันตกประมาณ 20 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะต่างๆ ประมาณ 40 เกาะ ตามเกาะต่างๆ จะมีหาดทรายอยู่เกือบทุกเกาะ บางเกาะหาดทรายมีสีขาวสะอาดบริสุทธิ์ บางเกาะมีปะการังตามชายทะเลหลายชนิด สีสวยงามหลากสี อยู่ท่ามกลางความเงียบสงบ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองมีเนื้อที่ประมาณ 63,750 ไร่ หรือ 102 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลอ่างทอง อำเภอสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อยู่ระหว่างเส้นรุ้งที่ 9 องศา 31 ลิบดา-9 องศา 43 ลิบดา เหนือ และเส้นแวงที่ 99 องศา 39 ลิบดา - 99 องศา 44 ลิบดา ตะวันออก ประกอบด้วยเกาะ 42 เกาะ ลักษณะเกาะเป็นเขาหินปูนและมีหน้าผาสูงชันเกือบทั้งหมด มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 10-396 เมตรจากระดับน้ำทะเล เรียงตัวในแนวเหนือ-ใต้ เกาะที่มีขนาดใหญ่ เช่น เกาะวัวตาหลับ เกาะพะลวย เกาะแม่เกาะ เกาะสามเส้า เกาะหินดับ และเกาะท้ายเพลา สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองเป็นพื้นน้ำ มีพื้นป่าประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ สภาพป่าโดยทั่วไปมีไม้ขนาดใหญ่น้อยมาก ทั้งนี้เนื่องจากเกาะที่เป็นเขาหินปูนมีเนื้อดินเป็นชั้นบาง

ลักษณะภูมิอากาศ 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทองอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่าน ทำให้ฝนตกชุก คลื่นพายุรุนแรง 

ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุมหลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อนและจะมีอากาศร้อนจัดที่สุดในเดือนเมษายน

ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมทำให้มีฝนตกทั่วไป ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 2,000 มิลลิเมตรต่อปี

ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งแล้งจากประเทศจีนพัดปกคลุม ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากทะเลอ่าวไทย อากาศจึงไม่หนาวเย็นมากนักและจะมีฝนตกโดยทั่วไป โดยเฉพาะในเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน สำหรับช่วงเดือนธันวาคมถึงมกราคม มีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 20 องศาเซลเซียส อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปี 28 องศาเซลเซียส

สำหรับช่วงเวลาระพว่างเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นช่วงฤดูมรสุม ทะเลจะมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไม่มีความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว ทางอุทยานแห่งชาติจึงกำหนดปิดการท่องเที่ยวประจำปี ดังนี้

ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 -30 พฤศจิกายน ของทุกปี 
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม - 31 ตุลาคม ของทุกปี 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร

นำทาง อุทยานแห่งชาติหมุ่เกาะชมพร ในแผนที่ GPS

ลักษณะภูมิประเทศ 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร ประกอบด้วยลักษณะทางภูมิประเทศที่หลากหลาย อาจแบ่งได้เป็น 4 รูปแบบ ดังนี้
ชายฝั่ง เป็นชายฝั่งที่ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเล และกระแสน้ำในทะเลโดยตรง ลักษณะทั่วไปจะเป็นชายหาดที่เป็นทรายจนถึงเป็นโคลน บริเวณด้านหลังชายหาด อาจพบป่าชายหาด (Beach forest) ได้บ้างในบริเวณที่ไม่มีการทำสวนมะพร้าว ชายฝั่งลักษณะนี้พบได้เป็นแนวยาวตลอดชายฝั่ง โดยในส่วนที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ จะเริ่มจากอ่าวทุ่งมะขามน้อย อ่าวทุ่งมะขามใหญ่ อ่าวท้องตมใหญ่ หาดทรายรีสวี อ่าวมะม่วง อ่าวท้องตมน้อย หาดอรุโณทัย ชายฝั่งเกาะกระทะ และอ่าวท้องครก

อ่าวและปากคลอง เป็นบริเวณหนึ่งของชายฝั่ง ที่ได้รับอิทธิพลจากการไหลลงของน้ำจืด อ่าวในที่นี้จึงหมายถึง อ่าวที่มีน้ำจืดไหลลงในปริมาณมากลักษณะโดยทั่วไปจะพบป่าชายเลน (Mangrove forest) ในบริเวณที่มีการขึ้นลงของน้ำ พื้นดินมักเป็นโคลนละเอียด โคลนจนถึงโคลนปนทราย ในบางบริเวณพบหญ้าทะเล (Sea grass) และสาหร่ายทะเล (Sea algae) เจริญเติบโตติดต่อกันเป็นผืนใหญ่ พื้นที่ส่วนใหญ่มักมีระดับน้ำตื้น บางบริเวณจะปรากฏเป็นสันดอนโคลน (Mud flat) ขนาดใหญ่ ซึ่งจะโผล่พ้นน้ำเวลาน้ำลงต่ำสุด ชายฝั่งลักษณะนี้ประกอบด้วยพื้นที่สำคัญที่สุดคืออ่าวทุ่งคา – สวี ซึ่งมีคลองที่มีน้ำจืดไหลลงมากกว่า 10 คลอง ปัจจุบันบริเวณดังกล่าว ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “พื้นที่ชุ่มน้ำนานาชาติ” นอกจากนี้ก็มีบริเวณปากคลองอื่น ๆ ที่มีน้ำจืดไหลลงทะเล เช่นคลองตม คลองบางหัก และคลองปากน้ำตะโก เป็นต้น บริเวณปากคลองจะพบสันดอนปากคลองซึ่งจะรูปร่างและขนาดของสันดอนแตกต่างกันออกไป

เกาะ ที่ปรากฏในเขตอุทยานแห่งชาติมีทั้งสิ้น 40 เกาะ โดยส่วนใหญ่เป็นเกาะขนาดเล็ก มักปรากฏโพรงถ้ำเล็ก ๆ อยู่ทั่วไป เกาะที่มีขนาดใหญ่จะปรากฏชายหาดบริเวณชายฝั่งของเกาะ ซึ่งได้รับอิทธิพลของไอทะเล (Salt spray) จะปรากฏพันธ์ไม้ป่าชายหาด (Beach forest) ส่วนที่อยู่สูงขึ้นไปที่ไม่ได้รับอิทธิพลจากไอทะเล จะปรากฏพันธุ์ไม้ของป่าดิบชื้น (Moist evergreen forest) ส่วนเกาะที่มีขนาดเล็กมักเป็นพันธุ์ในสังคมพืชบนหน้าผา (Cliff Community) ที่มีลักษณะแคระแกร็น ส่วนที่อยู่ใต้น้ำ มักปรากฏแนวปะการัง (Coral reefs) ทางด้านตะวันตกของเกาะ ส่วนด้านตะวันออกที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำ ที่พัดมาโดยมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือปรากฏเป็นปะการังที่เจริญบนหิน (Coral Community on rocks) 

ภูเขา ที่ปรากฏในเขตอุทยานแห่งชาติมักมีขนาดไม่ใหญ่และสูงมากนัก เป็นภูเขาที่อยู่ติดทะเลทั้งสิ้น พันธุ์ไม้ที่ปกคลุมเป็นพันธุ์ไม้ป่าดิบชื้น (Moist evergreen forest) เกือบทั้งหมด ยกเว้นบริเวณที่เป็นหน้าผา จะเป็นพันธุ์ไม้ในสังคมพืชบนหน้าผา (Cliff Community) ภูเขาที่ปรากฏในเขตอุทยานแห่งชาติมีดังนี้ เขาโพงพาง สูง 145 เมตร เขาบ่อคาสูง 180 เมตร เขาประจำเหียงสูง 240 เมตร และเขากะทะสูง 300 เมตร 

ปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล
พื้นที่รอบหมู่เกาะในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร เป็นแนวปะการังและกองหินใต้น้ำที่มีสิ่งมีชีวิตทางทะเลอุดมสมบูรณ์ เป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญอย่างยิ่ง สัตว์ทะเลหลากรูปแบบและชนิดพันธุ์ได้เข้ามาอาศัยแนวปะการัง เพื่อเป็นแหล่งอาศัย แหล่งอาหาร แหล่งหลบภัย และผสมพันธุ์วางไข่ โครงสร้างทางระบบนิเวศของแนวปะการัง จึงมักมีความซับซ้อนในด้านองค์ประกอบ สิ่งมีชีวิตและหน้าที่ในระบบนิเวศ โดยทั่วไปแนวปะการัง จะเป็นบริเวณที่ให้ความรู้สึกงดงามและแปลกตาแก่ผู้พบเห็น การดำน้ำเพื่อดูสัตว์ทะเลและปะการังต่างๆ จึงเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ

นอกจากประโยชน์ในแง่การเป็นระบบนิเวศและแหล่งนันทนาการที่สำคัญแล้ว แนวปะการังยังถือได้ว่าเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมวัสดุภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ ที่ใหญ่ที่สุดอีกด้วย แนวปะการังในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร พบได้ตามเกาะต่างๆ แนวปะการังเกาะตัวได้ดีทางทิศตะวันตก และทิศใต้ของตัวเกาะเนื่องจากเป็นด้านที่กำบังคลื่นลมจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ มีลักษณะทั่วไปเป็นแนวปะการังริมฝั่ง (Fringing reef) ก่อตัวได้ตั้งแต่ความลึก 1-8 เมตร ความกว้างของแนวประมาณ 35-500 เมตร ปะการังที่พบมักเป็นปะการังแข็ง เช่น ปะการังเขากวาง (Acropora sp.) ปะการังโขด (Porites lutea) โดยด้านนอกของแนวที่เป็นแนวลาดชัน (Reef slope) สู่พื้นทะเล มักพบปะการังโขดที่เป็นก้อนขนาดใหญ่ส่วนทางด้านทิศตะวันออกของเกาะที่ได้รับอิทธิพลของคลื่นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พบปะการังที่ก่อตัวบนโขดหินมักพบเป็นพวกปะการังอ่อน (Soft coral) ปะการังเคลือบ (Encrusting coral) ปะการังดำ (Black coral) แส้ทะเล (Sea whip) และกัลปังหา (Sea Fan) เป็นต้น

ลักษณะเด่นของแนวปะการังบริเวณเกาะต่าง ๆ ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร คือองค์ประกอบสิ่งมีชีวิต ในแนวปะการัง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากบริเวณอื่นๆ ดังนี้ 
- เป็นบริเวณที่พบปะการังดำ (Black coral) ซึ่งเป็นสัตว์ในกลุ่มของกัลปังหามากที่สุดในประเทศไทย 
- พบสัตว์ในกลุ่มของปะการังอ่อน (Soft coral) 
- ถ้วยทะเล (Corallimorph) พรมทะเล (Zooanthid) และดอกไม้ทะเล (Sea anemone) ขนาดใหญ่มากที่สุดในอ่าวไทย 
- มีปริมาณและความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลามากที่สุดในอ่าวไทย 
- มีปริมาณและความหลากหลายของชนิดพันธุ์หอยมาก เป็นจุดสำรวจที่น่าสนใจมากที่สุดในอ่าวไทย

ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ ลักษณะทางธรณีวิทยา บริเวณรอบเกาะต่างๆ เช่น เกาะง่ามน้อย เกาะง่ามใหญ่ มักปรากฏเป็นโพรงถ้ำใต้ทะเล บางแห่งมีความยาวมากกว่า 15 เมตร และกว้างกว่า 10 เมตร ภายในถ้ำมักพบฟองน้ำ ปะการัง และสัตว์ทะเลหลายชนิด อาศัยอยู่ภายใน นอกจากนี้บริเวณเกาะง่ามใหญ่และเกาะง่ามน้อย ยังพบเห็นฉลามวาฬ (Whale shark) ซึ่งถือเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้บ่อยครั้ง แนวปะการังน้ำตื้น เหมาะกับการดำชมแบบผิวน้ำ (Snorkeling) พบได้ในบริเวณเกาะมาตรา เกาะทองหลาง เกาะรังกาจิว เกาะละวะ เกาะแกลบ และเกาะอีแรด เป็นต้น ส่วนบริเวณที่เป็นแนวปะการังน้ำลึก จะเหมาะกับการดำน้ำลึกโดยใช้ถังอากาศ (SCUBA) พบในบริเวณเกาะง่ามใหญ่ เกาะง่ามน้อย และเกาะหลักง่ามเป็นต้น 

ลักษณะภูมิอากาศ 
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรอยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมที่พัดผ่าน ทำให้ฝนตกชุก คลื่นพายุรุนแรง

ฤดูร้อน อยู่ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนพฤษภาคม ระยะนี้เป็นช่วงว่างของฤดูมรสุมหลังจากสิ้นฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว อากาศจะเริ่มร้อน

ฤดูฝน อยู่ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงกลางเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมร้อนและชื้นจากมหาสมุทรอินเดียพัดปกคลุมทำให้มีฝนตกทั่วไป

ฤดูหนาว อยู่ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ ในระยะนี้จะมีลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเย็นและแห้งแล้งจากประเทศจีนพัดปกคลุม ทำให้อุณหภูมิลดลงทั่วไปและมีอากาศหนาวเย็น แต่เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากทะเลอ่าวไทย อากาศจึงไม่หนาวเย็นมากนักและจะมีฝนตกโดยทั่วไป

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด

นำทาง อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ในแผนที่ GPS

ประกอบด้วยสถานที่น่าสนใจ คือ หาดแม่รำพึง เขาแหลมหญ้า และหมู่เกาะเสม็ด อันประกอบไปด้วย เกาะเสม็ด เกาะจันทร์ เกาะสันฉลาม เกาะหินขาว เกาะค้างคาว เกาะกุฎี เกาะกรวย และเกาะปลาตีน

เกาะเสม็ด
ตั้งอยู่ในตำบลเพ อำเภอเมือง จังหวัดระยอง อยู่ห่างจากชายฝั่งบ้านเพประมาณ 6.5 กม. มีลักษณะเป็นเกาะรูปสามเหลี่ยม ส่วนฐานของเกาะอยู่ด้านทิศเหนือ ซึ่งหันเข้าสู่ฝั่งบ้านเพ มีภูเขาสลับซับซ้อนกันอยู่ 2-3 ลูก มีที่ราบซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวบ้านอยู่ตามริมฝั่งชายหาดซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านเหนือและตะวันออก ในบริเวณปลายแหลมด้านใต้มีเกาะเล็ก ๆ อยู่ใกล้ ๆ อีก 3 เกาะ คือ เกาะจันทร์ เกาะสันฉลาม และเกาะหินขาว ซึ่งเป็นหินล้วนสลับซับซ้อนสีขาวสะอาดตลอด ไม่มีพืชพันธุ์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นที่อาศัยและที่วางไข่ของนกนางนวล กล่าวกันว่า เกาะเสม็ดก็คือ เกาะแก้วพิสดารในกวีนิพนธ์ของสุนทรภู่ อาจเป็นเพราะที่นี่มีหาดทรายขาวปานแก้วก็เป็นได้ และเหตุที่มีชื่อว่าเกาะเสม็ดเพราะเกาะนี้มีต้นเสม็ดขึ้นอยู่มากทั้งเสม็ดขาว และเสม็ดแดง ซึ่งชาวบ้านนำมาใช้ทำไต้จุดไฟบนเกาะเสม็ดไม่มีแม่น้ำลำคลอง ประมาณ 80% ของพื้นที่ เป็นภูเขา และป่าไม้เบญจพรรณคงมีแต่สระน้ำ ซึ่งปัจจุบันแห้งเป็นแผ่นดินเนื้อที่ประมาณ 4.5 ไร่ มีชื่อว่าหนองอโนดาต ลักษณะอากาศบนเกาะเสม็ดโดยทั่วไปเย็นสบายตลอดปี ไม่ร้อนไม่หนาวเกินไป ฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กันยายน ช่วงราวเดือนพฤษภาคมมีมรสุมและคลื่นลมจัดมาก ในเดือนสิงหาคมมีฝนตกชุก

ลักษณะภูมิประเทศ 

อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด จัดเป็นอุทยานแห่งชาติประเภทชายฝั่งผสมหมู่เกาะในทะเล ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลของอ่าวไทยฝั่งตะวันออก พื้นน้ำทะเลประมาณ 123 ตารางกิโลเมตร หรือร้อยละ 94 ของพื้นที่ทั้งหมด สภาพภูมิประเทศประกอบด้วยภูเขาหินแกรนิต บริเวณเขาเปล็ด และเขาแหลมหญ้า มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 108 เมตร หาดทรายและห้วงน้ำทะเลตื้นเป็นแนวยาวบริเวณที่เรียกว่า หาดแม่รำพึง มีความยาวประมาณ 12 กิโลเมตร ภูมิประเทศของเกาะเสม็ดประกอบด้วยภูเขาและเนินเขาเตี้ยๆ เช่น เขากระโจม เขาพลอยแหวน และเขาพระเจดีย์ ด้านทิศตะวันตกของเกาะมีความลาดชันมาก ส่วนด้านทิศตะวันออกมีความลาดชันน้อย และมีหาดทรายยาวต่อเนื่องตลอดแนวด้านทิศตะวันออก ด้านทิศเหนือมีความกว้างมากที่สุดประมาณ 2,500 เมตร มีความยาวถึงท้ายเกาะประมาณ 6,500 เมตร ทางตอนกลางของเกาะจะเป็นเนินเขาไม่สูงมากนัก มีที่ราบซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของราษฎรอยู่ตามริมฝั่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก บริเวณปลายแหลมด้านทิศใต้มีเกาะเล็กๆ อยู่ใกล้อีก 3 เกาะ คือ เกาะจันทร์ เกาะสันฉลาม และหินขาว นอกจากนี้ยังมีเกาะในทะเลใกล้ชายฝั่งรวม 8 เกาะ ได้แก่ เกาะปลายตีน เกาะเกล็ดฉลาม เกาะมะขาม เกาะกรวย เกาะกุฎี เกาะท้ายค้างคาว เกาะทะลุ และเกาะยุ้งเกลือ

 ลักษณะภูมิอากาศ 

บริเวณอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด มีฝนตกโดยเฉลี่ยทั้งปีประมาณ 1,500 มิลลิเมตร ช่วงมรสุมอยู่ในระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกันยายน จะมีคลื่นลมแรงมาก ออกทะเลไปเที่ยวเกาะต่างๆ ไม่ได้เป็นบางครั้ง เฉลี่ยแล้วในรอบ 1 เดือน จะมีคลื่นลมแรงประมาณ 15 วัน และระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนมีนาคม ในบางวันอาจจะมีลมมรสุมและฝนตกหนักออกทะเลไม่ได้เช่นกัน อุณหภูมิโดยเฉลี่ยประมาณ 29 องศาเซลเซียส อากาศร้อนที่สุดอยู่ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายน และระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมกราคม เป็นช่วงที่มีอากาศเย็นที่สุด

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา

เดินเรือ อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ในแผนที่ GPS




จุดท่องเที่ยวเกาะตะรุเตา
จุดท่องเที่ยวเกาะหลีเป๊ะ



เป็นแหล่งดำน้ำดูปะการังและฝูงปลาสวยงามที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งในแถบทะเลอันดามันใต้ ประกอบไปด้วยจำนวนเกาะถึง 51 เกาะ เกาะที่มีความโดดเด่น ได้แก่ เกาะไข่ เกาะเล็ก ๆ ที่มีจุดเด่นอยู่ที่ซุ้มประตูหินที่เกิดจากการกัดเซาะของธรรมชาติ ที่เรียกว่าเกาะไข่ เนื่องจากทุก ๆ ปีบรรดาเต่าทะเลจำนวนมากจะขึ้นมาวางไข่บนเกาะแห่งนี้ อีกทั้งยังมีหาดทรายสีขาวนวลเหมือนเปลือกไข่ นอกจากนี้ เกาะไข่ยังเป็นสัญลักษณ์ของการท่องเที่ยวจังหวัดสตูลอีกด้วย เกาะตะรุเตา บนเกาะมีกิจกรรมท่องเที่ยวมากมาย อาทิ เดินป่า น้ำตก ดูนก แหล่งประวัติศาสตร์ ได้แก่ อ่าวพันเตมะละกา ที่มีชายหาดยาวเกือบ 2 กิโลเมตร มีเส้นทางเดินเท้าขึ้นไปจุดชมวิวท้องทะเลและพระอาทิตย์ตกดินที่ผาโต๊ะบู มีลำคลองให้นักท่องเที่ยวล่องเรือหางยาวเข้าไปเที่ยวที่ถ้ำจระเข้ได้ ส่วนอ่าวตะโละวาว ในอดีตเคยเป็นสถานที่ตั้งนิคมฝึกอาชีพของนักโทษการเมือง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ เกาะอาดัง มีชายหาดขาวสะอาด มีทางเดินเท้าจากหาดแหลมสนขึ้นไปยังจุดชมวิวผาชะโด ซึ่งเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกดินอันงดงาม เกาะราวี โดดเด่นที่มีแนวปะการังอันอุดมสมบูรณ์ น้ำทะเลใสสะอาด หาดทรายขาวละเอียด เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการดำน้ำดูปะการัง เกาะผึ้ง มีแนวปะการังอ่อนสีสด ๆ ละลานตา แต่บริเวณนี้กระแสน้ำค่อนข้างแรง การดำน้ำควรใช้ความระมัดระวัง เกาะดง มีแนวปะการังแข็งอันหลากหลายประมาณ 10-20 ชนิด นอกจากนี้ยังมีดาวขนนก และหอยมือเสืออาศัยอยู่ทั่วบริเวณ และยังมีหินซ้อน ก้อนหินทรงลูกบาศก์ขนาดใหญ่สองก้อน ที่ซ้อนกันอยู่ราวกับมีใครมาจัดวางไว้ เสมือนเป็นประติมากรรมธรรมชาติที่ดูแปลกตา เกาะหินงาม บนเกาะแห่งนี้มีแต่หินก้อนกลมเกลี้ยงสีดำ ราวกับเป็นความมหัศจรรย์จากธรรมชาติ เมื่อยามที่น้ำทะเลสาดซัดขึ้นมาและแสงอาทิตย์สาดส่องกระทบหาดหินแห่งนี้ ก้อนหินแต่ละก้อนจะเปล่งประกายระยิบระยับวับวาวเป็นภาพที่งดงามมาก

ลักษณะภูมิประเทศ     

อุทยานแห่งชาติตะรุเตา ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อย 51 เกาะ มีเกาะที่มีขนาดใหญ่ 7 เกาะด้วยกัน คือ เกาะตะรุเตา เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหลีเป๊ะ เกาะกลาง เกาะบาตวง และเกาะบิสสี โดยจัดแบ่งออกเป็นหมู่เกาะใหญ่ๆ ได้ 2 หมู่เกาะ คือ หมู่เกาะตะรุเตา และหมู่เกาะอาดัง-ราวี 

เกาะตะรุเตา มีสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขามีความลาดชันสูง ชายฝั่งทางด้านตะวันออก ส่วนมากจะเป็นหน้าผาสูงชันสลับกับอ่าวและหาดทรายโคลน ทางด้านตะวันตกจะมีหน้าผาเฉพาะทางด้านเหนือบริเวณแหลมตันหยงมะระ(ด้านหัวเกาะ) มีที่ราบอยู่เป็นหย่อมๆ ทางเทือกเขาหลังอ่าว อ่าวที่สำคัญได้แก่ อ่าวพันเตมะละกา อ่าวสน อ่าวมะขาม อ่าวตะโละอุดัง และอ่าวตะโละวาว เป็นต้น อ่าวต่างๆ เหล่านี้มีคลองและลำธารไหลผ่านออกสู่ทะเล มีที่ราบเล็กน้อย เกาะอาดัง-ราวี อยู่ห่างจากเกาะตะรุเตาไปทางทิศตะวันตกประมาณ 40 กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นเทือกเขาสูงครอบคลุมเนื้อที่เกือบทั้งหมดของเกาะ มีที่ราบเฉพาะบริเวณเหนือชายหาดต่างๆ 

ลักษณะภูมิอากาศ     

ข้อมูลภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติตะรุเตาในรอบปีที่ผ่านมา (มกราคม – ธันวาคม 2544) พบว่า ฝนจะตกมากที่สุดในเดือนกันยายน 594 มิลลิเมตร รองลงมาในเดือนตุลาคม 478 มิลลิเมตร และตกน้อยที่สุดในเดือนกุมภาพันธ์ 15 มิลลิเมตร ปริมาณน้ำฝนรายปี 2,908 มิลลิเมตร อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุด 39oC อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุด 19oC โดยอุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายนและต่ำสุดในเดือนมิถุนายน ในฤดูฝนเป็นช่วงที่ได้รับอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ นอกจากจะทำให้ฝนตกหนักแล้ว ท้องทะเลยังมีคลื่นลมแรง ทำให้การเดินทางไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติตะรุเตาในช่วงนี้ไม่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว จึงกำหนดปิด-เปิดฤดูการท่องเที่ยวประจำปี เฉพาะบริเวณหมู่เกาะอาดัง - ราวี

ปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม - 15 พฤศจิกายน ของทุกปี 
เปิดฤดูการท่องเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน - 15 พฤษภาคม ของทุกปี 

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

นำทาง อุทยานแห่งชาติเกาะเภตรา ในแผนที่ GPS


เกาะเภตรา มีลักษณะคล้ายเรือสำเภา เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกาทะเลอันดามัน ในคาบมหาสมุทรอินเดียทางฝั่งตะวันตกของไทย ครอบคลุมพื้นที่ชายหาดตลอดแนวฝั่งทะเลในท้องที่ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู ตำบลขอนคลาน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล และตำบลสุกรอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง 

ประกอบด้วยเกาะน้อยใหญ่ที่สำคัญคือ
 เกาะเภตรา เกาะเขาใหญ่ เกาะละโละแบนแต เกาะลิดี เกาะบุโหลน เกาะเหลาเหลียง และเกาะเปรามะ ลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาลาดชันสูง มีพื้นที่ราบบริเวณหุบเขาและชายหาด มีพื้นที่ทั้งบนบกและทะเลประมาณ 494.38 ตรกม. หรือ 308,987 ไร่ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. 2526 และได้ประกาศในพระราชกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2527 อุทยานฯ แห่งนี้เป็นจุดรวมของความงามที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มา มีป่าไม้ ภูเขา สัตว์ป่า และปะการังหลากสีสวยงาม สถานที่ตั้งที่ทำการอุทยานฯ เป็นเวิ้งอ่าวธรรมชาติที่เรียกว่า "อ่าวนุ่น"

สถานที่ท่องเที่ยวเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา
เกาะลิดี 
อยู่ห่างจากที่ทำการฯ (อ่าวนุ่น) ประมาณ 5 กม. และห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 7 กม. มีหน้าผาและถ้ำเป็นที่อาศัยของนกนางแอ่นเป็นจำนวนมาก เนื้อที่ประมาณ 10 ตรกม. มีหาดทรายขาวบริสุทธิ์ และมีเวิ้งอ่าวยื่นเข้าไปในตัวเกาะเป็นสระน้ำใสสะอาด เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชอบเล่นน้ำทะเล ปัจจุบันเกาะลิดีมีหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ มีบ้านพัก และบริเวณที่กางเต็นท์สำหรับนักท่องเที่ยว สามารถติดต่อเรือประมงได้จากที่ทำการอุทยานฯ

อ่าวก้ามปู
อยู่ระหว่างเกาะเขาใหญ่ และเกาะลิดี มีลักษณะคล้ายรูปเกือกม้า กว้างประมาณ 700 เมตร ภายในอ่าวมีน้ำตกไหลมาเป็นลำธารเล็กๆ เป็นอ่าวที่สงบ ปราศจากคลื่นลมตลอดทั้งปี ขณะน้ำลดจะมองเห็นปะการังและสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลตลอดแนวชายฝั่ง มีทิวทัศน์หน้า อ่าวงดงาม และจะมีเต่าทะเลขึ้นมาวางไข่ทุกปี 

หาดกาสิงห์ 
อยู่ที่หมู่บ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู เป็นหาดที่มีความลาดชันน้อย จึงเหมาะสำหรับการวางไข่ของเต่าทะเล โดยเฉพาะเต่ามะเฟื่อง ซึ่งคาดว่าเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในจังหวัดสตูล นับเป็นสิ่งดึงดูดใจนักท่องเที่ยวมากอีกประการหนึ่ง 

เกาะเขาใหญ่ 
อยู่ห่างจากท่าเรือปากบาราประมาณ 3 กม. บนเกาะมีอ่าวชื่อนะปุลา จุดเด่นของเกาะเขาใหญ่ คือ ปฏิมากรรมธรรมชาติที่คล้ายกับปราสาทหิน มีสะพานธรรมชาติยื่นโค้งไปในทะเล ยามน้ำลดสามารถพายเรือลอดได้ นอกจากนี้ยังมีสถานที่เพาะเลี้ยงพันธุ์ปลาของประมงจังหวัดสตูล ตั้งอยู่ใกล้เกาะเขาใหญ่ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมแวะไปชมมากเช่นกัน

เกาะบุโหลน
อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือปากบาราประมาณ 22 กม. เป็นเกาะที่มีหาดทรายขาวสะอาด น้ำใสเหมาะแก่การดูปะการัง เป็นเกาะที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในขณะนี้ เนื่องจากเป็นเกาะที่สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวได้สะดวก 

เกาะบุโหลนได้ชื่อว่าเป็นมุกใหม่แห่งอันดามัน ใต้ท้องทะเลอุดมไปด้วยปะการังหลากสี หมู่ปลานานาพันธุ์ เหมาะสำหรับนักประดาน้ำที่ชื่นชอบความงามของธรรมชาติใต้ท้องทะเล ประกอบกับหาด หาดขาวสะอาด ทิวสนหนาแน่น ธรรมชาติเงียบสงบ 

เกาะสุกร
มีฐานะเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอปะเหลียน เป็นเกาะขนาดใหญ่อยู่ห่างชายฝั่งเพียง 3 กม. มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีหาดทรายสวยงามหลายแห่ง นอกจากนี้แตงโมที่เกาะสุกรมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีในจังหวัดตรัง จะมีมากในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเมษายน 

นิทานพื้นบ้าน
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเตรา มีตำนานเกาะเภตราซึ่งตัวเกาะเภตราตั้งอยู่ตำบลเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง มองจากที่ไกลๆ คล้ายกับเรือสำเภากำลังอับปาง ดังมีเรื่องเล่าต่อๆ กันมาถึงการเกิดเป็นหมู่เกาะเภตราว่า มีครอบครัวๆ หนึ่ง มีตาพุดกับยายทองและลูกชายอีกหนึ่งคน นับถืศาสนาพุทธ ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านพระม่วง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อยู่มาวันหนึ่งมีเรือสำเภาของพ่อค้าชาวไทรบุรีได้นำสินค้าเข้ามาค้าขายที่ท่าเรือกันตัง ฝ่ายลูกชายของตายายก็ได้มาชมสินค้าในเรือเหมือนกับคนอื่นๆ เมื่อพ่อค้าเห็นเข้าก็เกิดความรักความเอ็นดู จึงเอ่ยปากชวนไปอยู่ที่เมืองไทรบุรีด้วย และได้ช่วยพ่อค้าทำงานอย่างขยันขันแข็ง อยู่มาวันหนึ่งเจ้าพระยาเมืองไทรบุรีได้มาเห็นเด็กชาย็เกิดความรักความเอ็นดู จึงขอเด็กชายจากพ่อค้าไปเลี้ยงดูเป็นบุตรบุญธรรมโโยให้เข้านับถือศาสนาอิสลาม เจ้าพระยาได้เลี้ยงดูเป็นอย่างดี ทำให้เด็กชายหลงระเริงลืมตนว่าเป็นใคร ครั้นมีอายุสมควรแก่การมีเหย้ามีเรือน เจ้าพระยาก็ให้แต่งงานกับลูกสาวของตน หลังจากแต่งงานฝ่ายหญิงก็คิดที่จะไปเยี่ยมพ่อแม่ของสามีและคอยรบเร้าจนสามีต้องยอม จึงได้ตกแต่งเรือสำเภาขนาดใหญ่ และให้คนเดินทางล่วงหน้าไปก่อนเพื่อแจ้งข่าวให้กับตายาย

ตายายเมื่อรู้ข่าวว่าลูกชายลูกสะใภ้จะมาเยือนก็ดีใจยิ่งนัก จึงได้จัดเตรียมข้าวของมากมายไว้คอยต้อนรับโดยเฉพาะหมูย่าง เพราะคิดว่าลูกชายยังคงอยากกินเหมือนสมัยที่เคยอยู่กับตน ครั้นถึงวันกำหนดสองสามีภรรยาก็แล่นเรือมาถึงปากน้ำกันตัง ลูกชายเมื่อเห็นสภาพของพ่อแม่ก็เกิดความอับอายไม่ยอมรับว่าเป็นพ่อแม่ของตน สองตายายเกิดความเสียใจเป็นอันมากจึงเอาหมูย่างไปวางที่กัวเรือแล้วอธิษฐานว่า ถ้าหากเป็นลุกชายของตนจริงขอให้มีอันเป็นไป ออกจากท่าเรือไม่ได้ พอสิ้นคำสาปแช่งก็เกิดพายุอย่างหนัก ได้พัดเรือของลูกชายลูกสะใภ้อับปางลง สมบัติพัสฐานข้าวของต่างๆ ก็ล่องลอยกลายเป็นเกาะต่างๆ ในน่านน้ำแห่งนี้ เช่น หมูย่างกลายเป็นเกาะสุกร เรือสำเภากลายเป็นเกาะเภตรา นอกนั้นมีเกาะไข่ เกาะกล้วย เกาะเขาหินตา เกาะเขาหินยาย เกาะไก่ เป็นต้น

ลักษณะภูมิประเทศ  

สภาพภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ส่วนใหญ่เป็นเกาะเขาหินปูนที่มีความลาดชันสูง มีที่ราบเพียงเล็กน้อยในบริเวณที่เป็นหุบเขาและชายหาด ประกอบด้วยเกาะมากกว่า 22 เกาะ กลางท้องทะเลอันดามัน ที่เรียงรายกระจัดกระจายตั้งแต่เขตอำเภอละงู อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เรื่อยไปจนจรดอำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง ครอบคลุมพื้นที่ชายฝั่งทะเลและเกาะน้อยใหญ่ โดยมีเกาะที่สำคัญเรียงจากเหนือไปใต้คือ เกาะเหลาเหลียงเหนือ เกาะเหลาเหลียงใต้ เกาะเบ็ง เกาะตากใบ เกาะกล้วย เกาะตุงกู เกาะละมะ เกาะบุโหลนขี้นก เกาะบุโหลนใหญ่ เกาะบุโหลนไม้ไผ่ เกาะเขาใหญ่ และเกาะลิดี มีพื้นที่รวมประมาณ 494.38 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นน้ำประมาณ 94.7 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด พื้นที่บางส่วนกันออกจากเขตอุทยานแห่งชาติ เช่น หมู่บ้านบ่อเจ็ดลุก และบางส่วนทางราชการโดยกองทัพเรือขออนุญาตใช้พื้นที่

 ลักษณะภูมิอากาศ  

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ตั้งอยู่ในเขตโชนร้อน ลักษณะลมฟ้าอากาศคล้ายคลึงกันตลอดปีความแตกต่างระหว่างฤดูกาลไม่เด่นชัด มีฤดูฝนอันยาวนานจนกล่าวได้ว่ามีฝนกระจายตลอดทั้งปี แต่ระยะที่มีฝนหนักจริงๆ จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมต่อกันไปจนถึงเดือนตุลาคม สิ้นเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคมปริมาณฝนจะลดลงสำหรับฤดูร้อนจะปรากฏเป็นช่วงสั้น ๆ ในเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระยะการเปลี่ยนแปลงฤดูมรสุม จากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ส่วนช่วงการเปลี่ยนแปลงมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ในเดือนตุลาคมนั้นทำให้สภาพภูมิอากาศของพื้นที่แตกต่างกันไปบ้างแต่ไม่เด่นชัดนัก