ความสุข จะมีความหมายแท้จริง เมื่อได้แบ่งปัน ... The simple life-ชีวิตที่เรียบง่าย Adventurous-รักการผจญภัย Brave heart-ใจกล้าหาญ Creative-มีความคิดสร้างสรรค์ ...

วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

ประภาคาร กาญจนาภิเษก แหลมพรหมเทพ

ประภาคาร กาญจนภิเษก แหลมพรหมเทพ




คุณสมบัติ
รูปแบบไฟ : Group Flashing
ความสูงจากฐาน : 93m
ระยะเวลากระพริบ : ทุก 9 วินาที
สีของแสงไฟ : สีขาว
ครอบคลุมระยะ : 22nm (40.74 km)

ประวัติ
  เนื่องในมหาวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติ ครบ 50ปี ในปี พุทธศักราช 2539 กองทัพเรือ ร่วมกับหน่วยราชการ และประชาชน จังหวัดภูเก็ต ได้ร่วมกันดำเนินการจัดสร้างประภาคาร ขึ้นน้อมเกล้าน้อมกระหม่อม ถวายเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติปีกาญจนาภิเษก ในการพิจารณาหาสถานที่ก่อสร้างนั้น ได้ร่วมกันพิจารณาเห็นว่า บริเวณแหลมพรหมเทพ ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เป็นสถานที่ ที่เหมาะสมที่สุด

   เนื่องจากบริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของโลก และจังหวัดภูเก็ตถือได้ว่าเป็นศูนย์กลางของเส้นทางคมนาคมทางทะเลที่สำคัญทางด้านทะเลอันดามัน การสร้างประภาคารที่บริเวณแหลมพรหมเทพ จะเป็นการเผยแผ่พระบารมีให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวโลกโดยทั่วไปได้เป็นอย่างดี นอกจากจะเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นเครื่องหมายช่วยในการเดินเรือแล้ว ยังเป็นที่เผยแพร่ข่าวสารต่าง ๆ เช่น ข่าวอากาศ เวลาน้ำขึ้น - ลง เวลาดวงอาทิตย์ ขึ้น - ตก การเทียบเวลามาตรฐานประเทศไทย เป็นต้น และยังจะเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมแหลมพรหมเทพมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็น การส่งเสริมการท่องเที่ยวให้แก่จังหวัดภูเก็ตอีกด้วย

   ประภาคารแห่งนี้ ได้รับพระราช ทานนามว่า “ประภาคารกาญจนาภิเษกแหลมพรหมเทพ” เมื่อการก่อสร้างได้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2540 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ได้เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงประกอบพิธีเปิดประภาคาร ณ บริเวณแหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต รูปแบบของประภาคารด้านหน้าเป็นบันไดทางขึ้น มีวงเข็มทิศประดับที่โถงเหนือ ทางเข้าด้านหน้ามีตราสัญลักษณ์ปีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ด้านข้างตราสัญลักษณ์ประดับธงชาติ ด้านใต้ตราสัญลักษณ์เป็นเครื่องแสดงข้อมูลเวลา ระบบไฟวิ่ง ขนาด 1.50 x 7.00เมตรชั้นล่าง ภายในเป็นห้องกระโจมไฟ 1 ห้อง และห้องแสดงนิทรรศการ 1 ห้อง ซึ่งจะจัดแสดงนิทรรศการทางอุทกศาสตร์ และจะมีแผ่นจารึกชื่อของผู้ที่ให้การสนับสนุนบริจาคเงินในการก่อสร้างประภาคาร ซึ่งสามารถมองเห็นได้ เมื่อเข้ามาภายในประภาคารมีบันไดโค้งครึ่งวงกลม จากห้องแสดงนิทรรศการชั้นล่างขึ้นไปยังห้องดาดฟ้าชั้นบน ซึ่งสามารถชมทิวทัศน์โดยรอบบริเวณได้ จากระดับดาดฟ้าชั้นบนมีบันไดเวียนขึ้นไปยังแท่นติดตั้งตะเกียงประภาคาร วัสดุที่ใช้สร้างประภาคาร ใช้ชนิดที่มีคุณภาพดีเยี่ยม มีความสวยงาม และมีความทนทานสูง โดยใช้โครงสร้างเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กกรุหินแกรนิต กระจกสะท้อนแสง ๒ ชั้น สีทอง กระจกใสเจียระไน กรอบอลูมิเนียมสีทอง โลหะปิดทองคำหรือหุ้มทองคำ และทองเหลือง

   ลักษณะ ขนาดและความหมาย ของประภาคารที่สำคัญ ส่วนยอดของประภาคารได้รับการออกแบบโดยการนำลักษณะสำคัญของตราสัญลักษณ์งานฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 50 ปี มาประดิษฐานไว้ ประกอบด้วย

  • พานเครื่องสูง 2 ชั้น เป็นที่ตั้งดวงประทีป หรือตะเกียงประภาคารที่ส่องสว่างรอบทิศ เปรียบประดุจพระบารมีขององค์พระมหากษัตริย์อันแผ่ไพศาลทั่วแผ่นดิน ตะเกียงประภาคารภายใต้เศวตฉัตร 9 ชั้น
  • ช้าง 3 เชือก เทินดวงประทีปอยู่ภายใต้เศวตฉัตร 7 ชั้น มีความหมายถึง ช้างเป็นพาหนะของพระเจ้าแผ่นดิน เป็นเหมือนข้าช่วงใช้ของพระมหากษัตริย์ จึงเปรียบได้กับประชาชนซึ่งเป็นเหมือนข้ารับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท ความหมายโดยรวมเสมือนพสกนิกรเทิดทูนและเชิดชูองค์พระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ในรัชกาลของพระองค์ที่ให้ความร่มเย็นเป็นสุขภายใต้ร่มพระบารมี
  • ตะเกียงประภาคารเป็นรูปกรวยกลมทำด้วยอาครีลิคใส ภายในมีโคมไฟหมุนส่องสว่างรอบทิศ ลักษณะไฟเป็นไฟสีขาว วับ ทุกๆ 9 วินาที (สว่าง 0.21 วินาที มืด 8.79 วินาที) วางอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 94 เมตร
  • ฐานรับตะเกียงประกอบด้วยโลหะปิดทองคำ 10 เหลี่ยม มีความหมายถึงทศพิธราชธรรม คือ
  1. ทาน
  2. ศีล
  3. บริจาค
  4. ความซื่อตรง(อาชชวะ)
  5. ความอ่อนโยน (มัททวะ)
  6. ความเพียร (ตบะ)
  7. ความไม่โกรธ (อักโกธะ)
  8. การไม่เบียดเบียน (อวิหิงสา)
  9. ความอดทน (ขันติ)
  10. ความเที่ยงธรรม (อวิโรธนะ)
  • ส่วนโลหะปิดทองคำ มีความหมายถึง ปีกาญจนาภิเษก หอคอยรับพานติดตั้งตะเกียง ขยายขนาดตามสัดส่วนที่สวยงามลาดลง สลักข้อความทศพิธราชธรรมดังกล่าว พร้อมบทพระราชนิพนธ์

ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้ ทศพิธราชธรรม 10 ประการ มีปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระบวรพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพระราชจริยาวัตรที่พระมหากษัตริยาธิราชเจ้าทรงปฏิบัติ และเป็นที่ตระหนักกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงบำเพ็ญอย่างไพบูลย์เต็มที่ทุกประการ ต้องตามขัตติยราชประเพณี นับตั้งแต่เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ตราบเท่าถึงกาลปัจจุบัน ความสูง 50 ฟุต มีความหมายถึง ทรงครองราชย์มาครบ 50 ปี เส้นผ่าศูนย์กลางฐานกว้าง 9 เมตร มีความหมายถึง รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี แสงไฟของประภาคารมองเห็นได้ไกล 39 กิโลเมตร มีความหมายถึงปี พ.ศ.2539 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น