Vega คือ ชื่อ เรือใบเวคา ความหมายคือ ดวงดาวที่สว่างสุกใส เป็นเรือขนาด 13 ฟุต ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงต่อขึ้นมาด้วยพระองค์เอง
เรือใบที่ทรงต่อขึ้นด้วยพระองค์เองมี 4 ประเภท คือ
- เรือใบสากลประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class)
- เรือใบสากลประเภทโอเค (International O.K. Class)
- เรือใบสากลประเภทม็อธ (International Moth Class)
- เรือโม้ก (Moke)
1. เรือใบสากลประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class)
พุทธศักราช ๒๕๐๗ ทรงเริ่มต่อเรือใบพระที่นั่งลำแรก เป็นเรือใบประเภทเอ็นเตอร์ไพรส์ (International Enterprise Class) พระราชทานชื่อว่า เรือราชปะแตน มาจากคำว่า Royal Pattern หมายถึงแบบอย่างของพระราชา
พุทธศักราช 2508 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เรือราชปะแตนเข้าร่วมแข่งขันเรือใบกับเจ้าชายฟิลลิป ดยุคแห่งเอดินเบอระ พระราชสวามีในสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ในโอกาสที่เสด็จมาเยือนประเทศไทย ในฐานะพระราชอาคันตุกะส่วนพระองค์ และเรือลำอื่นๆ อีกรวม 34 ลำ ใช้เส้นทางไปกลับ พัทยา-เกาะล้าน การแข่งเรือครั้งนี้นับเป็นการแข่งเรือครั้งแรกของพระองค์ และทรงชนะเลิศในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย
ทรงต่อเรือใบประเภทนี้ลำที่ 2 พระราชทานชื่อว่า เรือเอจี พระราชทานให้แก่ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
อีกลำที่ทรงต่อลำที่ 3 พระราชทานชื่อว่า วชิระเภตรา พระราชทานให้แก่ ทูลกระหม่อมชายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10)
2. เรือใบสากลประเภทโอเค (International O.K. Class)
พุทธศักราช 2508 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงต่อเรือใบประเภทโอเค (International O.K. Class) พระราชทานชื่อว่า เรือนวฤกษ์ แปลว่า ฤกษ์ใหม่
ต่อมาก็ทรงต่อเรือประเภทนี้ขึ้นมาอีกลำ พระราชทานชื่อว่า เรือเวคา (Vega) ความหมายว่าดวงดาวที่สว่างสุกใส หลังจากนั้นทรงต่อเรือประเภทนี้ขึ้นอีกหลายลำ คือ เรือเวคา 1 , เรือเวคา 2 และเรือเวคา 3
เมื่อวันที่ 19 เมษายน พุทธศักราช 2509 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือใบ TH 18 “เวคา” เสด็จพระราชดำเนินข้ามอ่าวไทยจากพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปยังหาดเตยงาม ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวมระยะทางประมาณ 60 ไมล์ทะเล โดยเสด็จเพียงลำพัง และทรงใช้เวลาในการแล่นใบประมาณ 17 ชั่วโมง หลังจากนั้น ทรงนำธงราชนาวิกโยธินมาปักไว้ที่หาดเตยงาม
พุทธศักราช ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ทรงร่วมแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันกีฬาแหลมทอง (SEAP Games) ครั้งที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เรือเวคา ๒ หมายเลข TH ๒๗ ที่ทรงต่อด้วยพระองค์เองเข้าแข่งขัน และทรงชนะเลิศเหรียญทองร่วมกันทั้งสองพระองค์
3. เรือใบสากลประเภทม็อธ (International Moth Class)
พุทธศักราช 2509 – 2510 ทรงออกแบบและทรงต่อเรือใบสากลประเภทม็อธ (International Moth Class) จำนวนหลายลำ มีสัญลักษณ์คือรูปมดปรากฏบนใบเรือ เรือใบประเภทม็อธที่ทรงออกแบบมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ คือ
เรือใบมด (Mod)
ทรงพระราชทานชื่อให้เรือใบมดลำแรกที่ทรงต่อขึ้นว่า เรือมด 1 ซึ่งเป็นเรือที่ได้ทรงนำไปแข่งขันเมื่อครั้งที่เสด็จประพาสสหราชอาณาจักร และทรงชนะเรือลำอื่น เรือใบมดเป็นเรือใบที่มีขนาดเล็กเหมาะกับคนไทย มีน้ำหนักเบา สะดวก ได้ทรงจดลิขสิทธิ์เรือใบแบบมดเป็นเรือประเภท International Moth Class ที่สหราชอาณาจักร
เรือใบซูเปอร์มด (Super Mod)
ทรงปรับปรุงและพัฒนาขึ้นจากเรือใบมด แต่มีขนาดใหญ่กว่า มีความเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น พระราชทานชื่อว่า เรือใบซูเปอร์มด และได้พระราชทานพิมพ์เขียวแก่สโมสรกรมอู่ทหารเรือ เพื่อใช้สร้างเรือในราคาย่อมเยา
เรือใบไมโครมด (Micro Mod)
เรือใบขนาดเล็ก เหมาะสำหรับผู้เล่นเพียงคนเดียว สร้างง่าย สะดวก และประหยัด ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก
4. เรือโม้ก (Moke)
ลักษณะผสมระหว่างเรือใบซูเปอร์มด (Super Mod) และสากลประเภทโอเค (OK) และเป็นเรือใบโม้ก (Mod + Ok = Moke) ลำสุดท้ายที่ทรงออกแบบและต่อด้วยพระองค์เอง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2510
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น