ประภาคาร เกาะตะเภาน้อย
คุณสมบัติ
รูปแบบไฟ : Group Flashing
ความสูงจากฐาน : 54m
ระยะเวลากระพริบ : 6 วับ ทุก 15 วินาที
สีของแสงไฟ : สีขาว
ครอบคลุมระยะ : 20nm (37.04 km)
ประวัติ
เกาะตะเภาน้อย เป็นเกาะที่อยู่ในความดูแล ของกองทัพเรือ โดยกรมอุทกศาสตร์ เป็นที่ตั้งของประภาคารเกาะตะเภาน้อย โดยมีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ปฏิบัติหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง โดยประภาคารเกาะตะเภาน้อย เป็นประภาคารซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่าร้อยปี สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2442 เดิมเป็นประภาคารแบบใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าด ต่อมาได้เปลี่ยนเป็นตะเกียงแบบใช้ก๊าซ เมื่อปี พ.ศ.2470 และเปลี่ยนเป็นใช้พลังงานแสงอาทิตย์เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2540 มีลักษณะเป็นกระโจมอิฐหอคอย ทาสีขาว สูง 11 เมตร ตั้งอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 55 เมตร มองเห็นได้ไกล 20 ไมล์ทะเล สัญลักษณ์เป็นไฟวับ หมู่สีขาว ซึ่งเกาะตะเภาน้อยนี้ได้ทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายช่วยการเดินเรือและช่วยอำนวยความสะดวกให้กับการเดินเรือในบริเวณอ่าวมะขาม จังหวัดภูเก็ต มีความปลอดภัยมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ เกาะตะเภาน้อย ยังเป็นสถานีวัดระดับการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลประกอบการทำนายระดับน้ำขึ้นลงอีกด้วย
เกาะตะเภาน้อย ตั้งอยู่ที่ ตำบลวิชิต อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ห่างจากชายฝั่งอ่าวมะขาม ประมาณ 1 ไมล์ทะเล บริเวณโดยรอบเกาะเป็นหาดทรายและหาดหิน และยังคงมีแนวปะการังน้ำตื้นอยู่โดยรอบเกาะ เป็นเกาะขนาดเล็กที่อยู่ใกล้ความศิวิไลย์ของตัวเมืองภูเก็ต ที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าดิบ และสัตว์ป่านานาพันธุ์ โดยมีตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าได้แก่ ฝูงนกแก๊ก อาศัยอยู่ในเกาะตะเภาใหญ่และเกาะตะเภาน้อยแห่งนี้ ซึ่งนกแก๊ก (Oriental Pied Hornbill : Anthracoceros albirostris) เป็นนกเงือกพันธุ์หนึ่งในจำนวน13 สายพันธุ์ ที่มีแหล่งอาศัยในประเทศไทย นกแก๊กที่อาศัยในเกาะตะเภาน้อยและเกาะตะเภาใหญ่ ทำรังในโพรงไม้บนต้นไม้ในป่าอันอุดมสมบูรณ์ กินลูกไม้และผลไม้หรือแมลงขนาดเล็กในป่าเป็นอาหาร นอกจากหาอาหารตามธรรมชาติแล้ว นกแก๊กบนเกาะตะเภาน้อย ยังกินมะม่วง ขนุน น้อยหน่า ชมพู่ กล้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่กองทัพเรือปลูกไว้ด้วย และในบางครั้ง นกแก๊กบางตัวที่ไม่กลัวคน ยังลงมากินข้าวสุก หรือผลไม้ ซึ่งเจ้าหน้าที่นำไปวางไว้ ทำให้นักท่องเที่ยวที่ได้มาเยี่ยมเยือน ได้มีโอกาสชมนกแก๊กอย่างใกล้ชิดด้วยนอกเหนือจากผืนป่าและธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์บนเกาะตะเภาน้อย รวมทั้งการเป็นที่ตั้งของประภาคารเกาะตะเภาน้อย เครื่องหมายช่วยการเดินเรือที่สำคัญยิ่งในทะเลอันดามันแล้ว บริเวณยอดเขาด้านข้างของประภาคาร ยังเป็นที่ตั้งของอาคารเรือนไม้สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสเก่าแก่ อายุกว่าร้อยปี ซึ่งเดิมเป็นที่ทำการของประภาคาร สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันได้จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ เพื่อรวบรวมเรื่องราวและอุปกรณ์เครื่องใช้เกี่ยวกับการรายงานอุทกศาสตร์ เครื่องหมายเดินเรือ สถานีวัดระดับน้ำ สถานีวัดอากาศมาจัดแสดงไว้ นอกจากนี้บนเกาะ ยังมีป้อมปืนโบราณ สร้างสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งทหารญี่ปุ่น ได้ควบคุมเชลยศึกมาสร้างไว้ปัจจุบัน เกาะตะเภาน้อย เป็นสถานที่ราชการซึ่งอยู่ในความดูแลของกองทัพเรือและยังคงมีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ อนุญาตเฉพาะนักท่องเที่ยวที่รักธรรมชาติอย่างแท้จริงให้เข้ามาเยี่ยมเยือนได้ในจำนวนจำกัดภายใต้การกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่กองทัพเรือเท่านั้น เพื่อไม่ให้ธรรมชาติและสัตว์ป่าบนเกาะถูกรบกวน โดยเมื่อนักท่องเที่ยวเดินขึ้นจนถึงบนยอดเขาซึ่งเป็นที่ตั้งของประภาคาร จะสามารถมองเห็นฝั่งอ่าวมะขามได้อย่างชัดเจน รวมทั้งยังเห็นการจราจรทางน้ำที่คับคั่งบริเวณท่าเรือภูเก็ตอีกด้วย
เรื่องเกี่ยวกับเรือ ท่องเที่ยว และอื่นๆ ชายผู้หลงรัก ท้องทะเล ท้องฟ้า และ ดวงดาว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น