เกาะในจังหวัดจันทบุรี (Islands in Chanthaburi)
เมืองจันทบุรี เป็นเมืองโดยลักษณะทางกายภายเป็นเมืองที่มีคลองมากมาย และมีพื้นทีส่วนติดทะเล มีแม่น้ำทั้งหมด 4 สาย
- แม่น้ำพังราด ความยาว 30 กิโลเมตร
- แม่น้ำวังโตนด ความยาว 6 กิโลเมตร
- แม่น้ำเวฬุ ความยาว 88 กิโลเมตร
- แม่น้ำจันทบุรี ความยาว 123 กิโลเมตร
เกาะในจังหวัดจันทบุรี มีทั้งหมด 19 เกาะ
- เกาะสันไร่
- เกาะใหญ่
- เกาะจิกกลาง
- เกาะจิกนอก
- เกาะนก
- เกาะล่อน
- เกาะลูกสะบ้า
- เกาะสะบ้า
- เกาะนกใหญ่
- เกาะนกเล็ก
- เกาะเปริด
- เกาะกวาง
- เกาะจุฬา
- เกาะนมสาว
- เกาะตาสังข์
- เกาะหนู
- เกาะนางรำ
- เกาะเสม็ดงาม
- เกาะโขดพลู
แผนที่เดินเรือ แผนที่เกาะจังหวัดจันทบุรี ในแผนที่ GPS
เมืองจันทบุรี มีถนนที่สวยที่สุดในประเทศไทย เหมาะขับจักรยาน ขับรถบิ๊คไบค์ หรือรถเปิดประทุน ชมวิวมาก
ในอดีตจังหวัดจันทบุรี เป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยอยู่ถึง 3 ครั้ง
- ครั้งที่ 1 การสู้รบไทยกับพม่า และการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และการกอบกู้เอกราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือพระเจ้าตากสินมหาราช ใช้จังหวัดจันทบุรีในการรวบรวมไพร่พลและเสบียงอาหาร
- ครั้งที่ 2 การสู้รบไทยกับญวน (เวียดนาม) หรือสงครามอานัมสยามยุทธ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
- ครั้งที่ 3 การสู้รบไทยกับฝรั่งเศษ หรือ วิกฤษการณ์ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสได้ปิดปากน้ำ บีบให้ไทยเสียดินแดนและยึดเมืองจันทบุรีเป็นเมืองประกันหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ปากน้ำในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การสู้รบไทยกับพม่า และการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และการกอบกู้เอกราช
ชาวจีนแต้จิ๋วคนหนึ่งนามว่า หยง แซ่แต้ (鄭鏞) เป็นผู้อพยพมาจากเมืองเฉิงไห่ ซัวเถา ครั้นเมื่อถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2277 มีบุตรชายคนหนึ่ง ได้ชื่อว่า สิน (信) เกิดแต่นาง นกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวไทย
จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารวงเช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า "บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก [暹羅國; ประเทศไทย] และเกิดเจิ้งเจา [鄭昭; สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี; สำเนียงปักกิ่ง] ที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่าแล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ...
เนื่องจากสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว จึงได้รับความเคารพบูชาอย่างยิ่งโดยเฉพาะจากคนไทยเชื้อสายจีน มีการเรียกพระนามตามภาษาจีนแต้จิ๋วว่า แต่อ่วงกง (鄭王公) หมายถึง กษัตริย์ชาวแต้จิ๋วที่ได้รับการเคารพบูชา
สำหรับการรับราชการเป็นเจ้าเมืองตากนั้น พระราชพงศาวดารฉบับหนึ่งกล่าวทำนองว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองตากโดยติดต่อผ่านทางมหาดเล็กถึงพระยาจักรี สมเด็จพระเจ้าเอกทัศทรงทราบว่าเจ้าเมืองตากคนก่อนป่วยเสียชีวิต จึงให้พระยาจักรีหาผู้มีสติปัญญาพอจะรับตำแหน่งแทน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้เป็นเจ้าเมืองตาก
ก่อนที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียแก่พม่านั้น หัวเมืองฝ่ายเหนือ ฝ่ายใต้ และตะวันตกล้วนถูกควบคุมอย่างเข้มงวด การทำมาหากิน การทำไร่ทำนา ทรัพย์สิน วัวควายถูกยึดไว้หมด ก่อนกรุงศรีอยุธยาแตกประมาณ 3 เดือน กองทัพพม่ายิงถล่มกรุงศรีอยุธยาอย่างหนัก เกิดเพลิงลุกไหม้ทั่วพระนคร บ้านเรือน วัด และวัง ได้รับความเสียหายโดยเฉพาะบ้านเรือนของราษฎรเกิดเพลิงไหม้กว่า 10,000 หลัง
กลางวันของวันที่ 3 มกราคมนั้นพระยาตากรวบรวมไพร่พลจำนวน 1,000 นาย เดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยามาก่อน กองกำลังพระยาตากเริ่มออกเดินทางจากวัดพิชัยมาถึงบ้านหารตราเมื่อเวลาค่ำ โดยมีกองทัพพม่าไล่ติดตามมาแล้วต่อรบกันจนพม่าพ่ายกลับไป ก่อนเดินทางมาถึงบ้านข่าวเม่า บ้านสัมบัณฑิต ตอนเวลาเที่ยงคืน ต่อมา
เช้าวันที่ 4 มกราคม กองกำลังพระยาตากเดินทางมุ่งหน้าไปทางบ้านโพธิ์สังหาร (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) พม่าส่งกองทัพไล่ติดตามมาอีกจึงได้สู้รบกันจนพม่าพ่ายกลับไป มาถึงบ้านพรานนกช่วงเวลาเย็น คราวนี้พม่าส่งไพร่พลมาแก้มือถึง 2,000 นาย ฝ่ายพระยาตากจึงทรงม้ากับทหารอีก 4 ม้าออกรับศึก สามารถตีพม่าแตกพ่ายกลับไปอีกครั้ง เหล่าทหารม้าจึงถือเอาวันที่ 4 มกราคมเป็นวันทหารม้าของไทย
วันที่สาม การเดินทัพ กองกำลังพระยาตากเดินทัพมาสุดเขตพระนครศรีอยุธยาก่อนที่จะเข้าเมืองนครนายก ขุนชำนาญไพรสนฑ์กับนายกองช้างเข้ามาขอสวามิภักดิ์ต่อพระยาตาก ทั้งยังถวายช้างพลาย 5 ช้าง ช้างพัง 1 ช้าง แล้วอาสานำทางต่อไปยังบ้านกง (หรือบ้านดง) เมืองนครนายก เมื่อถึงบ้านกง ข้าราชการ ขุนหมื่นพันทนายท้องถิ่นไม่ยอมสวามิภักดิ์ แม้จะได้เจรจาเกลี้ยกล่อม 3 ครั้งก็ไม่สำเร็จ รุ่งขึ้นกองกำลังพระยาตากจึงปะทะกับไพร่พลชาวบ้านกงซึ่งมีกำลังมากกว่า 1,000 นาย แต่กองกำลังพระยาตากเป็นฝ่ายชนะและสามารถยึดช้างได้เพิ่มอีก 7 ช้าง เงินทอง และเสบียงอาหารอีกมาก
วันที่หก เดินทัพมาถึงตำบลหนองไม้ชุ้มแล้วหยุดพัก 2 วันก่อนเดินทัพต่อไปถึงบ้านนาเริ่ง แขวงเมืองนครนายกแล้วหยุดพักอีก 1 คืน ต่อมาพระยาตากนำไพร่พลข้ามแม่น้ำที่ด่านกบแจะ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอประจันตคาม จังหวัดปราจีนบุรี) แล้วหยุดพักรี้พล ก่อนเดินทัพต่อไปยังทุ่งศรีมหาโพธิ์ (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดปราจีนบุรี) และต้องหยุดรอนายทหาร 3 นาย คือ พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที และสมเด็จพระรามราชาที่ตามกองกำลังพระยาตากมาไม่ทัน ระหว่างที่ทรงรอกลุ่มพระเชียงเงินอยู่นั้นเกิดปะทะกับทัพบกและทัพเรือของพม่าซึ่งตั้งอยู่ที่ปากแม้น้ำโจ้โล้ (ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา) ประชุมพงศวดารบันทึกไว้ว่า "พม่าไล่แทงฟันคนซึ่งเหนื่อยล้าอยู่นั้นวิ่งหนีมาตามทาง ครั้นได้ทอดพระเนตรเห็น จึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปประมาณ 200 เส้น พบกองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำโจ้โล้ทั้งทัพบกทัพเรือ" พระยาตากจึงสั่งให้ตั้งแนวรับ ขุดหลุมเพลาะ วางปืนตับ และเรียงหน้ากระดาน จนพม่าเข้ามาใกล้ราว 240 เมตรจึงเริ่มเปิดฉากยิงขึ้น ทหารพม่าทั้ง 4 แนวแตกพ่ายไป "จึงขับพลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับไล่ติดตามฆ่าพม่าเสียเป็นอันมาก แล้วก็เดินทัพมาทางบ้านหัวทองหลางสะพานทอง" จากแนวปะทะและการติดตามฆ่าพม่ามาทางปากน้ำโจ้โล้นี้เอง ทำให้เปลี่ยนเส้นทางการเดินทัพตามชายป่าดงมาเป็นชายทะเลเข้าเขตเมืองชลบุรี "จึงให้ยกพลมาประทับตามลำดับ บ้านทองหลาง ตะพานทอง บางปลาสร้อย ถึงบ้านนาเกลือ"
ที่บ้านนาเกลือ มีนายกลม (หรือนายกล่ำ) นายชุมนุมที่บ้านนาเกลือได้รวบรวมไพร่พลคิดสกัดต่อรบกับกองกำลังพระยาตาก แต่เพียงแสดงแสนยานุภาพ "เสด็จทรงช้างพระที่นั่งสรรพด้วยเครื่องสรรพาวุธทรงพระแสงปืนต้นรางแดงกับหมู่พลโยธาหาญ" นายกลมก็ถึงกับวางอาวุธ ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี แล้วอาสานำไปพัทยา นาจอมเทียน ทุ่งไก่เตี้ย สัตหีบ ชายทะเล บ้านหินโขง และบ้านน้ำเก่า แขวงเมืองระยอง โดยพักทัพคืนละแห่งตามลำดับ ระหว่างเส้นทางที่ผ่านไปนั้นได้ปะทะกับกองกำลังของพม่าหลายครั้ง แต่ก็สามารถตีฝ่าไปได้ทุกครั้ง และสามารถรวบรวมไพร่พลตลอดจนอาวุธยุทโธปกรณ์ได้มากขึ้น หลังจากพระยาตากยึดเมืองระยองได้ ขณะพักอยู่บริเวณวัดลุ่มมหาชัยชุมพล อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ข่าวแพร่กระจายออกไป พระยาตากจึงได้ประกาศพระองค์ขึ้นเป็น "เจ้า" ภายหลังจากเดินทัพออกจากวัดพิชัยได้ 23 วัน พระองค์มีพระราชปณิธานโดยพระราชพงศวดารฉบับพระราชหัตเลขาบันทึกว่า
พระยากำแพงเพชรจึงปรึกษากับนายทหารและรี้พลทั้งปวงว่า กรุงเทพมหานครคงจะเสียแก่พม่าเป็นแท้ ตัวเราคิดจะซ่องสุมประชาราษฎรในแขวงเมืองหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้ได้มากแล้ว จะยกกลับเข้าไปกู้กรุงให้คงคืนเป็นราชธานีดังเก่า แล้วจักทำนุบำรุงสมณพราหมณาประชาราษฎรซึ่งอนาถาหาที่พำนักบ่มิได้ ให้ร่มเย็นเป็นสุขานุสุข และจะยอยกพระบวรพุทธศาสนาให้โชตนาการไพบูลย์ขึ้นเหมือนอย่างแต่ก่อน เราจะตั้งตัวเป็นเจ้าขึ้น ให้คนทั้งหลายนับถือยำเกรงจงมาก การซึ่งจะก่อกู้แผ่นดินจึงจะสำเร็จโดยง่าย
พระเจ้าตากมุ่งยึดเมืองจันทบุรีซึ่งก่อนเข้าตีเมืองได้มีรับสั่งให้ทหารทุกคนทำลายหม้อข้าวให้หมด โดยมีเป้าหมายให้ไปกินข้าวในเมืองจันทบุรี แต่ถ้าตีเมืองไม่สำเร็จก็ให้อดตายกันทั้งหมดที่นี่
กองทัพพระเจ้าตากสามารถตีได้เมืองจันทบุรีได้เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2310 หลังจากนั้นจึงยกกองทัพลงไปยังเมืองตราด ทรงใช้เวลาในการเดินทัพ 7 วัน 7 คืนก็มีผู้คนสมัครใจเข้ามาร่วมด้วยกับพระองค์เป็นจำนวนมาก เนื่องจากเมืองจันทบุรีและเมืองตราดยังไม่ถูกทหารพม่ายึดครอง และขณะนั้นมีเรือสำเภาจีนจอดอยู่ที่ปากน้ำเมืองตราดหลายลำ พระเจ้าตากมีรับสั่งให้นายเรือพวกนั้นมาเฝ้า แต่กลับขัดขืนและระดมยิงปืนใส่ พระเจ้าตากทรงทราบก็ให้นำเรือที่คุมเรือรบไปล้อมเรือสำเภาจืนไว้ แล้วบังคับให้พวกคนจีนสมัครเข้ามาเป็นพรรคพวก แต่พวกคนจีนไม่ฟังกลับระดมยิงปืนใส่กองทัพพระเจ้าตาก รบกันอยู่ครึ่งวันกองทัพพระเจ้าตากสามารถยึดเรือสำเภาจีนได้ทั้งหมด ได้ทรัพย์สินจำนวนมาก เมื่อพระเจ้าตากสามารถจัดการเมืองตราดเสร็จแล้วจึงยกทัพกลับเมืองจันทบุรี
พระเจ้าตากทรงรวบรวมกำลังพลจนมีจำนวน 5,000 นายแล้วยกกองทัพเรือออกจากเมืองจันทบุรี ล่องมาตามฝั่งทะเลในอ่าวไทย จนถึงปากแม่น้ำเจ้าพระยา ต่อสู้จนยึดเมืองธนบุรีคืนจากพม่าได้ และจับนายทองอิน เจ้าเมืองธนบุรีซึ่งพม่าแต่งตั้งให้นั้นประหารชีวิต ต่อจากนั้นได้ยกกองทัพเรือต่อไปถึงกรุงศรีอยุธยา เข้าโจมตีค่ายโพธิ์สามต้นจนสามารถขับไล่ทหารพม่าออกจากอาณาจักรได้และสามารถกอบกู้กรุงศรีอยุธยาจากการยึดครองได้เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 ขึ้น 15 ค่ำ จุลศักราช 1129 ปีกุน นพศก เวลาบ่ายโมงเศษ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 เวลาประมาณ 13.00 น. โดยใช้เวลาเพียง 7 เดือนหลังจากเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยา
การสู้รบไทยกับญวณ หรือ สงครามอานัมสยามยุทธ
ในช่วงยุคล่าอาณานิคม พม่าต้องตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ประกอบกับไทยเลือกที่จะไม่ปะทะกับอังกฤษด้วยการขยายอิทธิพลลงไปในแหลมมลายู ทำให้ในรัชกาลที่ 3 สามารถเผชิญหน้ากับญวนทางตะวันออกได้อย่างเต็มที่ โดยทำสงครามกับญวนที่เรียกว่า สงครามอานัมสยามยุทธ หรือสงครามไทย-ญวน ระหว่าง พ.ศ. 2376–2390 ซึ่งเป็นสงคราม 14 ปี ระหว่างสองชนชาติใหญ่ที่เหลืออยู่ในขณะนั้นของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สงครามครั้งนั้นเกิดขึ้นเพื่อชิงความเป็นใหญ่ในเขมร อันเป็นดินแดนกั้นกลางระหว่างไทยกับญวน สงครามที่เนิ่นนานเช่นนี้ได้ก่อความเสียหายให้ทั้ง 2 ฝ่ายอย่างมาก
ใน พ.ศ. 2376 เมืองไซง่อนก่อการจลาจลโดยฝ่ายกบฏ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพบกยกกองทัพไปตีเขมรและหัวเมืองญวนลงไปถึงเมืองไซง่อนเพื่อช่วยฝ่ายกบฏ และให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่ทัพเรือไปตีหัวเมืองเขมรและญวนตามชายฝั่งทะเล โดยไปสมทบกับกองทัพบกที่เมืองไซง่อน ในส่วนของกองทัพเรือต้องยกกำลังไปหลายครั้งเช่นเดียวกับการรบทางบก
ในสงครามกับญวนครั้งนี้ เจ้าพระยาบดินทรฯ ได้สั่งให้ตัดศีรษะนายขำ บุตรคนที่ 18 ของท่านในข้อหาขลาดกลัวต่ออริราชศัตรู อันเป็นการลงโทษอย่างรุนแรง เป็นมาตรการที่ให้ไพร่พลเกิดความยำเกรงต่อกฎข้อบังคับและคำสั่ง จนเป็นกำลังไปสู่ชัยชนะได้
กองทัพที่ 1 กองทัพบกของเจ้าพระยาบดินทรเดชา(อดีตคือพระยาราชสุภาวดี) แม่ทัพใหญ่ของสยามยกพลไปตามคลองสำโรง ล่องน้ำบางปะกงไปเมืองปราจีน จากนั้นเดินทัพบกเข้าเขมรที่พระตะบอง พนมเปญ นัดพบกับทัพเรือเข้าตีเมืองโจดก(เมืองที่อยู่ปากแม่น้ำโขง ท้ายโตนเลสาบ) เกณฑ์คนจากสยาม 50,000 คน(ส่วนมากเป็นคนลาวที่ถูกกวาดต้อนมารวมกับทหารมอญ) เกณฑ์คนจากโคราชและหัวเมืองลาวอีก 20,000 คน เกณฑ์หัวเมืองเขมรอีก 20,000 คน รวมเป็นพลประมาณ 90,000 คน
กองทัพที่ 2 กองทัพเรือของเจ้าพระยาพระคลัง(ดิศ บุนนาค) ยกพลเรียบอ่าวไปตีเมืองฮาเตียนหรือพุทไธมาศ เกณฑ์ทหารจากกรุงเทพฯและหัวเมืองริมน้ำ 15,000 คน เกณฑ์ทหารจากเมืองจันทบุรี ตราด และเขมรอีก 5,000 คน รวมเป็นพลประมาณ 20,000 คน
อย่างไรก็ดีการรบทางเรือครั้งนี้ไม่ประสบผลสำเร็จเนื่องจากทหารไทยไม่ชำนาญภูมิประเทศ และเรือไทยมีสมรรถนะที่ด้อยกว่า เรือญวน ทั้งในเรื่องของขนาดและประสิทธิภาพ ด้วยเหตุผลดังกล่าวพระบาทสมเด็จพระนั่ง เกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงเห็นความจำเป็นที่จะต้องต่อเรือรบใหม่เป็นเรือป้อมอย่างญวน สามารถติดตั้งปืนใหญ่ได้หลายกระบอก ทั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาพระคลังเป็น แม่กอง อำนวยการต่อเรือป้อมแบบญวนไว้ใช้ในราชการ 80 ลำ
กองทัพที่ 3 กองทัพบกของพระมหาเทพ ยกพลไปเมืองนครพนม เข้าตีเมืองเหง่อานของเวียดนาม โดยไปเกณฑ์หัวเมืองลาวตะวันออกคือแถบสะหวันนะเขต จำปาสัก 10,000 คน และกองตำรวจจากกรุงเทพฯอีก 4,000 คน รวมเป็นพลประมาณ 14,000 คน
กองทัพที่ 4 กองทัพบกฝ่ายเหนือของเจ้าพระยาธรรมา(สมบุญ) ให้ยกขึ้นไปทางเมืองพิชัย ปากลาย หลวงพระบาง ให้ยกกำลังไปเกลี้ยกล่อม หรือตีหัวเมืองเล็กๆในลาวเหนือใกล้กับหลวงพระบางเอามาไว้ในเขตไทยให้หมด พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ทรงมีพระราชดำริ เห็นเป็นโอกาสที่จะเอาเขมรคืนจากอำนาจญวน ให้ญวนหายกำเริบเสียบ้าง จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทรเดชาเป็นแม่ทัพบก โปรดให้เจ้าพระยาพระคลัง (ดิศ) เป็นแม่ทัพเรือ ยกไปตีหัวเมืองเขมรและญวนตามชายทะเล แล้วจึงไปสมทบกับกองทัพบกเข้าตีไซ่ง่อนด้วยกัน กองทัพบกนั้น พอเข้าแดนเขมร สมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจัน) ก็หนีไปไซ่ง่อน พวกเขมรจึงเข้าอ่อนน้อมโดยดี เจ้าพระยาบดินทร์ จึงตีหัวเมืองชายแดนญวน เข้าไปสมทบกับกองทัพเรือ ซึ่งรอจะเข้าตีค่ายใหญ่ของญวนอันเป็นด่านปากคลองขุด แต่กองทัพเรือรบพุ่งอ่อนแอ พวกเขมรหัวเมืองข้างใต้คือที่ติดกับอาณาเขตญวน เห็นกองทัพไทยทำการไม่สำเร็จ ก็พากันกบฏขึ้นด้วย ทั้งกองทัพไทยยังขัดสนเสบียงอาหาร ต้องเลิกทัพกลับ
ญวนได้ทีจึงตั้งข้าหลวง และทหารนำสมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจัน) กลับมาอยู่พนมเปญ เขมรจึงตกอยู่ในอำนาจญวนยิ่งขึ้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดให้เจ้าพระยาบดินทร์ ตั้งทัพขัดตาทัพอยู่ที่เมืองพระตะบอง ซึ่งเป็นของไทยพร้อมกับเมืองเสียมราฐ มาแต่รัชกาลที่ ๑ โดยสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี (นักองเอง) ถวายให้เป็นสิทธิขาดแก่ไทย (ที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ต้นสกุล อภัยวงศ์ เป็นผู้ว่าราชการสืบต่อๆกันมา) ปีต่อสมเด็จพระอุทัยราชา (นักองจัน) ถึงพิราลัย ไม่มีลูกชาย ญวนจึงยกลูกหญิงขึ้นครองเมือง แล้วกวาดเอาพวกราชวงศ์เขมรกับขุนนางผู้ใหญ่ไปไว้เมืองญวน เข้าปกครองเมืองเขมรอย่างหัวเมืองของญวน เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมให้เป็นอย่างญวน ให้รื้อวัด สึกพระภิกษุสามเณรเสียเป็นอันมาก พวกเขมรถูกบังคับรีดนาทาเร้น เดือดร้อน ก็พากันกบฏ เมืองเขมรก็วุ่นวายอยู่ตลอดเวลาจนถึง พ.ศ.๒๓๘๐ พวกขุนนางพากันบอกมายังเจ้าพระยาบดินทร์ ที่ตั้งขัดตาทัพอยู่เมืองพระตะบอง ขอกลับมาอยู่กับไทย ขอกำลังช่วยปราบญวน และขอพระราชทาน นักองด้วง น้องชายของสมเด็จพระอุทัยราชา ที่อยู่ในกรุงเทพฯ ออกไปครองเขมร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาบดินทร์ยกกองทัพเข้าไปเขมร และโปรดฯให้พระองค์ด้วงออกไปเข้ากองทัพเจ้าพระยาบดินทร์ด้วย มีพระบรมราชโองการว่า หากเขมรสงบเรียบร้อยเมื่อใดให้อภิเษกนักองด้วงขึ้นครองเขมร
เจ้าพระยาบดินทรเดชา ต้องอยู่ในเขมร สู้รบกับญวนนานถึง 16 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2376 ถึง พ.ศ.2390 ศึกจึงสงบลงได้ นักองด้วง ขึ้นครองราชย์ เป็นสมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี ณ กรุงอุดงมีชัย ในที่สุดการรบระหว่างญวนกับไทยที่ยืดเยื้อมาถึง 14 ปี ก็ต้องยุติลงโดยพระบาทสมเด็จ พระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ยกเลิกการศึกครั้งนี้และมีการเจรจาสงบศึกใน พ.ศ.2390 เพราะทรงพิจารณาเห็นว่ามีแต่จะสิ้นเปลืองทรัพยากรและกำลังคน เปรียบเหมือนว่ายน้ำท่ามกลางมหาสมุทรไม่เห็นเกาะเห็นฝั่ง
การสู้รบไทยกับฝรั่งเศษ หรือ วิกฤษการณ์ ร.ศ. 112
วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 (เอกสารภาษาอังกฤษเรียกว่า Franco-Siamese War หรือ สงครามฝรั่งเศส - สยาม เป็นเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรสยามกับฝรั่งเศสในสมัยสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 ซึ่งเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2436 จากการอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศลาวในปัจจุบัน)
ผู้มีบทบาทสำคัญในวิกฤตการณ์ครั้งนี้คือนายโอกุสต์ ปาวี รองกงสุลฝรั่งเศสประจำนครหลวงพระบาง ซึ่งเป็นหัวหอกสำคัญในการแสวงหาผลประโยชน์ของฝ่ายฝรั่งเศสในดินแดนลาว โดยใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนของสยามที่ไม่สามารถดูแลหัวเมืองชายแดนได้ทั่วถึง การก่อกบฏในเวียดนามที่เกิดขึ้นเป็นระยะๆ การปราบฮ่อซึ่งแตกพ่ายจากเหตุการณ์กบฏไท่ผิงในจีน และการทวีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสยามกับรัฐบาลฝรั่งเศสที่กรุงปารีส
การขยายอิทธิพลของประเทศฝรั่งเศส (พ.ศ. 2410 - พ.ศ. 2449)
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศฝรั่งเศสมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา จนเมื่อถึงปี พ.ศ. 2231 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตอนปลาย ได้มีเหตุที่ทำให้การติดต่อระหว่างไทยกับฝรั่งเศสหยุดชะงักลง จนกระทั่งไทยเข้าสู่ยุครัตนโกสินทร์ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสได้รับการฟื้นฟูขึ้นในปี พ.ศ. 2399 ซึ่งตรงกับรัชกาลที่ 4 ของไทย และจักรพรรดินโปเลียนที่ 3 ของฝรั่งเศส มีความต้องการที่จะขยายอิทธิพลของจักรวรรดินิยมในแถบอินโดจีนซึ่งรวมทั้งไทยด้วย โดยมีอังกฤษ เป็นคู่แข่งสำคัญ เมื่อฝรั่งเศสทราบว่าไทยตกลงทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษในปี พ.ศ. 2398 ทำให้ฝรั่งเศสให้ความสนใจไทยมากขึ้น โดยก่อนหน้านี้ฝ่ายไทยก็ต้องการฟื้นฟูสัมพันธภาพกับฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน เนื่องจากต้องการให้ฝรั่งเศสมาถ่วงดุลอังกฤษ จากการที่อังกฤษสามารถครอบครองพม่าได้เกือบทั้งหมดในปี พ.ศ. 2396 ทำให้ไทยเกรงกลัวอิทธิพลของอังกฤษที่ขยายเข้ามาใกล้ไทยทุกขณะ จึงได้เสนอที่จะทำสัญญาทางพระราชไมตรีกับราชสำนักฝรั่งเศส ตั่งแต่ปี พ.ศ. 2397 แต่ไม่ได้รับการตอบรับ จนเมื่อไทยตกลงทำสนธิสัญญาเบาริงกับอังกฤษแล้ว ทางรัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้ส่ง ชาร์ล เดอ มองติญี (Charle De Montege) กงสุลฝรั่งเศสประจำเซี่ยงไฮ้เป็นผู้แทนผู้มีอำนาจเต็ม มาเจรจาทำสนธิสัญญาทางพระราชไมตรี และการค้ากับไทยในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2398 และสัญญามีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2399
ความขัดแย้งก่อนเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112
ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งเป็นสาเหตุของปัญหาต่าง ๆ เกิดจากการขาดข้อตกลงเรื่องเขตแดนที่แน่นอนเกือบทั้งสิ้น
กรณีบางเบียน (Affaire de Bang-Bien)
กรณีบางเบียนเป็นชนวนแห่งความขัดแย้งที่นำไปสู่การใช้อาวุธในที่สุด กล่าวคือเมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2434 คูร์นิโยง (Cournillon) สมาชิกคณะผู้จัดทำแผนที่ปักปันเขตแดนได้แต่งตั้งให้บางเบียน ผู้อพยพชาวลาวเป็นเจ้าหน้าที่ปกครองฝรั่งเศสที่ทุ่งเชียงคำ (Thoung Xieng Kham ทุ่งไหหินในประเทศลาวปัจจุบัน) ทำให้พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงศ์วโรปการ (Prince Dewavongs) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ทรงโต้ตอบทันทีด้วยการส่งจดหมายถึงโลร์โซง (Lorgeon) ซึ่งรักษาการแทนกงสุลใหญ่ฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ
อเล็กซองเดรอะ ริโบต์ (Alexendre Ribot) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในขณะนั้น จึงให้เรียกตัวบางเบียนกลับจากทุ่งเชียงคำ เช่นเดียวกับผู้แทนฝรั่งเศสที่แหลมเสม็ด (Pointe Samit) ภายใต้เงื่อนไขว่าไทยจะไม่ส่งผู้แทนเข้าไปปกครองดินแดนดังกล่าวด้วย ทั้งนี้เพื่อรักษาสัมพันธภาพอันดีของทั้งสองประเทศเอาไว้ แต่ผู้แทนฝรั่งเศสไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง จึงทำให้เกิดการปะทะกันขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ เมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2434 ฝ่ายไทยสามารถควบคุมตัวบางเบียนไว้ได้ และตั้งข้อหาว่าบางเบียนเป็นกบฏต่อประเทศ โลร์โซงพยายามที่จะเข้าแทรกแซงเช่นกันแต่ไม่เป็นผล เพราะรัฐบาลไทยยืนกรานว่าบางเบียนเป็นคนไทยคนหนึ่ง (เกิดในดินแดนที่ไทยถือว่าอยู่ในพระราชอาณาเขต) ที่ต้องอพยพไปอยู่เวียดนามภายหลังจากที่ได้กระทำผิดราชการ วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2435 นายโอกุสต์ ปาวี เดินทางถึงราชอาณาจักรไทยเพื่อรับตำแหน่งราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ ทันทีที่เดินทางถึงราชอาณาจักรไทยเขาเรียกร้องให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวบางเบียน แต่ฝ่ายไทยยังคงยืนยันในหลักการและเหตุผลของตนเอง
กรณีเมืองท่าอุเทน (Affaire d’Outhene)
กรณีเมืองท่าอุเทน เป็นความขัดแย้งที่ทำให้ฝรั่งเศสต้องพิจารณาทบทวนสนธิสัญญาต่างๆ และข้อเรียกร้องใหม่ กล่าวคือ ช็องเปอนัวส์ (Champenois) และเอสกิลาต์ (Esquilat) ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้รับ การสนับสนุนจากสหภาพแรงงานฝรั่งเศสในลาวตอนบนและเวียดนามตอนเหนือ เพื่อทำการค้ากับไทยเท่านั้นความพยายามผลักดันให้ลาวเป็นอาณานิคมฝรั่งเศสของเขายังได้รับการสนับสนุนจากเดอแวล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ และนายโอกุสต์ ปาวี ราชทูตฝรั่งเศสประจำกรุงเทพฯ (Ministre de France a Bangkok) อีกด้วย ทำให้มีการฝ่าฝืนข้อตกลงไทย - ฝรั่งเศสโดยเจตนา 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 บุคคลทั้งสองต้องการจะข้ามแม่น้ำโขงจากท่าอุเทนไปยังคำมวน (Cammon) โดยเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อตกลงระหว่างไทย - ฝรั่งเศสด้วยการเดินทางโดยใช้หนังสือเดินทางของผู้อื่นและไม่สนใจต่อพระดำรัสของพระเจ้าน้องยาเธอกรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม (Prince Prachak) ที่ทรงขอให้เขาไปรับใบอนุญาต อย่างไรก็ตามไทยก็ได้ออกใบอนุญาตให้ทั้งสองคนในเวลาต่อมา
ครั้งที่ 2 ช็องเปอนัวส์และเอสกิลาต์ทำผิดต่อสนธิสัญญาไทย - ฝรั่งเศส ปี พ.ศ. 2410 มาตรา 6 และ 15 และกระทำผิดต่อสนธิสัญญาปี พ.ศ. 2399 มาตรา 18 อีกครั้ง ด้วยการค้าของเถื่อนและเดินทางในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต เจ้าหน้าที่ไทยตักเตือนแล้วก็ไม่ยอมจ่ายค่าภาษีนำเข้า อีกทั้งยังคงเดินทางต่อไปโดยไม่มีตราประทับบนหนังสือเดินทาง
รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องจับกุมและเนรเทศบุคคลทั้งสองออกนอกราชอาณาเขตและยึดสินค้าดังกล่าวไว้ด้วย นายโอกุสต์ ปาวีได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยจ่ายค่าเสียหายทั้งหมด แต่ฝ่ายไทยปฏิเสธเพราะถือว่าบุคคลทั้งสองกระทำผิดสนธิสัญญาไทย - ฝรั่งเศสจริง จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เมืองท่าอุเทนนี้เกิดจากการที่พ่อค้าชาวฝรั่งเศสปฏิเสธอธิปไตยของไทยเหนือดินแดนลาว เมื่อปัญหานี้ไม่ได้รับการแก้ไขทันที สหภาพแรงงานฝรั่งเศสในลาวตอนบนและเวียดนามตอนเหนือจึงเพิ่มความกดดันต่อรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อให้รัฐบาลเรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนลาว และเพื่อความสะดวกต่อการขยายตลาดการค้าของตน
การตายของมาสสี่ (Affaire de massie)
มาสสี่ เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลฝรั่งเศสในเมืองหลวงพระบาง ซึ่งเคยเป็นสมาชิกของคณะสำรวจ (Mission Pavie) ได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว เพราะได้รับการข่มเหง (a subir les pires insultes) จาก คนไทย และที่สำคัญคือ มาสสี่ไม่เคยได้รับความเห็นใจและการสนับสนุนจากรัฐบาลที่กรุงฮานอยและกรุงปารีสเลย ดังนั้นเขาจึงได้ฆ่าตัวตาย เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2435 บริเวณหน้าเมืองจำปาศักดิ์ (Bassac)
การตายของมาสสี่ทำให้ลาเนสช็อง (Lanessan) ผู้ว่าราชการเวียดนามตอนใต้และผู้นำจักรวรรดินิยมคนสำคัญของฝรั่งเศสต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ผลการสอบสวนปรากฏ อย่างชัดเจนว่าเป็นการฆ่าตัวตาย ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ฝรั่งเศสจึงเริ่มปฏิบัติการด้วยวิธีรุกทั้งทางด้านการทหารและด้านการทูตต่อไทย แต่หนังสือพิมพ์ในไซง่อนและตังเกี๋ยกลับรายงานว่ามาสสี่ป่วยตาย จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ข้าราชการชาวอาณานิคมต้องการใช้การตายของมาสสี่ให้เกิดประโยชน์โดยผลักดันให้รัฐบาลฝรั่งเศสใช้มาตรการที่เด็ดขาดกับไทย จะเห็นได้ว่าในระดับภูมิภาคนั้น ผลประโยชน์ทางภูมิยุทธศาสตร์และการค้าทำให้ฝรั่งเศสขัดแย้งกับอังกฤษ ทั้งสองประเทศมหาอำนาจจักรวรรดินิยมต้องการแผ่ขยายเขตอิทธิพลของตนให้ไกลกว่าดินแดนหลัก (อินเดียของอังกฤษและเวียดนามของฝรั่งเศส) ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้แก่ดินแดนยึดครองหลักของตนให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม สำหรับในระดับท้องถิ่นก็มีอิสรภาพของไทยเป็นเดิมพันที่สำคัญ
ดังนั้น เพื่อต่อสู้กับจักรวรรดินิยมฝรั่งเศสซึ่งแฝงอยู่ในรูปของการเรียกร้องดินแดนที่เป็นของเวียดนามตอนกลางและของกัมพูชา ไทยจึงผลักดันสนามปฏิบัติการทางทหารให้ไกลสุดบนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ
ไทยยอมทำสัญญาสงบศึกในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ.2436 รับว่าดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ตลอดทั้งเกาะต่างๆ ในลำน้ำโขงเป็นของฝรั่งเศส และให้ไทยถอนทหารชายแดนทั้งหมด รวมทั้งเสียค่าปรับ ค่าทำขวัญแก่ฝรั่งเศส โดยรัฐบาลฝรั่งเศสจะยึดครองจันทบุรีไว้จนกว่าไทยจะปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วน
รัฐบาลฝรั่งเศสได้ยึดครองเมืองจันทบุรีเป็นเวลา 10 ปี จึงยอมคืนให้ไทย แต่ขอยึดเมืองตราดไว้แทน วันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2446 รัฐบาลไทยจึงได้ทำสัญญากับรัฐบาลฝรั่งเศส ยอมยกเมืองตราดและเกาะทั้งหลายภายใต้แหลมลิงลงไปถึงเกาะกูด ตลอดจนถึงเมืองประจันตคีรีเขตต์ (เกาะกง) ให้แก่ฝรั่งเศส ฝ่ายฝรั่งเศสจึงยอมถอนทหารออกจาก จ.จันทบุรีในปี พ.ศ.2447 ต่อจากนั้นรัฐบาลไทยได้มอบ จ.ตราดและเกาะกงให้แก่ฝรั่งเศสเข้าปกครองตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม พ.ศ.2447
แล้วในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2449 ไทยทำสัญญากับฝรั่งเศสยกพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณให้แก่ฝรั่งเศส เพื่อแลกกับเมืองตราด
วันที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ.2450 ฝรั่งเศสจึงทำพิธีมอบเมืองตราดอย่างเป็นทางการให้แก่ประเทศไทยตามเดิม รวมเวลาที่ จ.ตราด ตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝรั่งเศสเป็นเวลา 2 ปี 6 เดือน 7 วัน
เลื่อนหน้า ขึ้น-ลง ใช้ แถบด้านข้าง หรือใช้เมาส์ Scroll ขึ้นลง
ข้อมูลอ้างอิง
- รูปจากสมาชิก pantip shojung , Thailandscanme
- วิกิพิเดีย Wikipidia
- สถาบันพระปกเกล้า วิกฤษการณ์ ร.ศ.112
- กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง
- การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
บทความที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น