ค่าเฉลี่ยมาตรฐานสภาพอากาศประเทศไทย
นี่เป็นการสรุปสภาพอากาศโดยทั่วไป ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย ว่าช่วงไหนจะมีสภาพอากาศเป็นเช่นไร ในปัจจุบันสภาพอากาศจะมีปัจจัยบวก และลบมากขึ้น ฉะนั้นจะต้องติดตามสภาพอากาศอย่างไกล้ชิดในการออกเรือ เมื่อเดินทางระยะไกล โดยสามารถเช็คสภาพอากาศแบบเกือบ Realtime ทุก 3 ชั่วโมงจากมือถือ หรือ แท็ปเล็ตได้จาก http://tumsikwae.blogspot.com/2014/03/weather-forecast.html
นับเป็นความโชคดี ที่เมืองไทยมีทะเล ที่มีลักษณะถึง 3 แบบ
1.ทะเลฝั่งอ่าวไทย แถบภาคกลาง จนถึงตะวันออก ก็ตั้งแต่ เพชรบุรี จนถึง ตราด
2.ทะเลฝั่งอ่าวไทย ตอนล่าง ตั้งแต่ประจวบลงมา
3.ทะเลฝั่งอันดามัน
สมัยก่อน มีความเข้าใจผิด ว่า ต้นไม้ทำให้เกิดฝนตก ...
ซึ่งจริง ๆ แล้ว ทำให้เกิดความชุ่มชื้น ต่างหาก
ตัวการที่ทำให้เกิดฝนตก คือ ลมประจำฤดู กับ ลมพายุที่เกิดเนื่องจากความกดอากาศ
มีเหตุผลเดียวที่จะทำให้ฝนตกทั่วประเทศ คือ ลมที่เกิดเนื่องจากความกดอากาศ หรือดีเปรสชั่น
แต่ถ้าไม่มี ดีเปรสชั่น ล่ะ...
ก็เป็นฝนตก ตามลมประจำฤดู
สมมุติ มีชาย 3 คน
คนที่ 1 ยืนดูทะเลอยู่พัทยา เห็นฝนตก ทะเลมีคลื่นลม
คนที่ 2 ยืนดูทะเลชุมพร เห็นทะเลเรียบ ลมสงบ
คนที่ 3 อยู่ภูเก็ต เห็นทะเลฝั่งอันดามัน มีลมปานกลาง
คนทั้ง 3 เห็นสิ่งที่เป็นจริง
...แต่คนที่ 1 อาจเข้าใจผิดว่า คนที่ 2 คนที่ 3 ฝนตกเหมือนกัน
จึงเป็นที่มา ของคำว่า "อย่าเชื่อในสิ่งที่เห็น"
การที่เรามองเห็นไม่ทั่ว และไม่ชัดเจน อาจทำให้เราเข้าใจผิดในหลายๆ เรื่อง
ลักษณะลมมรสุม (Monsoon)
ลมมรสุม คือลมประจำฤดู ของไทย เกิดขึ้นเพราะอุณหภูมิที่แตกต่างกัน ระหว่างมวลอากาศเขตพื้นดินกับพื้นน้ำ ในแต่ละฤดูกาล จึงเกิดการไหลเวียนของอากาศ ระหว่างพื้นน้ำกับพื้นดิน ลมมรสุมนี้ มีกำลังอ่อนบ้างแรงบ้าง ขึ้นอยู่กับแนวร่องความกดอากาศต่ำ
ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ พัดจากมหาสมุทรอินเดียเข้าสู่ประเทศไทย ในระหว่างเดือนพฤษภาคม ถึงต้นเดือนตุลาคม หอบเอาความชื้นจากทะเล มาปะทะแนวเขา เกิดเป็นฝนตกชุกในแถบภาคใต้ฝั่งอันมัน พัดผ่านไทยขึ้นเหนือสู่ประเทศจีนต่อไป
ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ พัดจากแถบไซบีเรียและจีน ในระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ พาอากาศแห้งและเย็น ลงมาปกคลุมตอนเหนือถึงตอนกลาง ของประเทศไทย แล้วหอบเอาความชื้นใ่นไทย ไปตกเป็นฝนในแถบภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย แต่ฝนจะน้อยลงมาก ในระหว่างเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์
พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)
ปัจจุบัน เราแบ่งพายุหมุนเขตร้อนของประเทศไทย ตามระดับความรุนแรง โดยวัดจากความเร็วลม ณ ศูนย์กลางพายุเป็นหลัก ดังนี้
พายุดีเปรสชั่น
(Tropical Depression) มีความเร็วลมไม่เกิน 63 km/h (ประมาณ 17 m/s) มองจากดาวเทียม จะเห็นเป็นกลุ่มเมฆ หนาทึบ เป็นวงกลม ยังไม่มีแนวขดเป็นเกลียว หรือ ตาพายุ ชัดเจน
พายุโซนร้อน
(Tropical Storm) มีความเร็วลมสูงกว่า ดีเปรสชั่น แต่ไม่เกิน 118 km/h (ประมาณ 32 m/s) จากภาพถ่ายดาวเทียม อาจเริ่มเห็นเกลียวแขนของกลุ่มเมฆบ้าง พายุระดับนี้ จะได้รับการกำหนดชื่อให้ โดยหน่วยงานด้านอุตุนิยมวยานานาชาติ (ยกเว้นประเทศฟิลิปปินส์ จะเริ่มตั้งชื่อพายุที่เข้ามาในเขตประเทศ ตั้งแต่ยังเป็น ดีเปรสชั่น)
พายุที่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย มาได้จาก 2 ทาง คือ จากอ่าวเบงกอล เข้าสู่ภาคตะวันตกของประเทศ ในช่วงเดือนพฤษภาคม แต่มีจำนวนน้อยกว่าอีกทางหนึ่ง คือพายุที่เกิดขึ้น ในมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย ทางตะวันออก ซึ่งเกิดได้ตั้งแต่ ช่วงเดือนมิถุนายน ถึงธันวาคม และแนวที่พายุเคลื่อนเข้า ก็จะสอดคล้องกับ แนวร่องความกดอากาศต่ำ ที่พาดผ่านในแต่ละช่วงเดือนนั่นเอง ตามสถิติโดยกรมอุตุฯ เดือนที่มีพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด (ดูที่ศูนย์กลางพายุเป็นหลัก) คือ เดือนตุลาคม รองลงมาคือ เดือนกันยายน
อันสุดท้ายล่ะ ... เริ่มเมาลมหรือยัง
ปกติ ร่องความกดอากาศต่ำ จะพาดผ่านประเทศไทย ตั้งแต่ เดือนเมษายน ถึง เดือนธันวาคม แต่จะส่งผล ให้เกิดฝนตกชุกจริง ก็ตั้งแต่ ช่วงพฤษภาคม เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ เคลื่อนมาถึง ตอนกลาง ของประเทศ และเมื่อถึง เดือนมิถุนายน ก็ไปพาดเอา แถวตอนเหนือ ของประเทศไทย แล้วหายไปอยู่ ทางตอนเหนือสุด ของเวียดนาม และทางใต้ ของจีน พักหนึ่ง ราวเดือนกรกฎาคม ก่อนจะเริ่มเคลื่อน กลับเข้าสู่ ประเทศไทย อีกครั้ง ในระหว่างเดือน สิงหาคม ถึง เดือนธันวาคม ไล่ลงจากเหนือมาใต้ ตามลำดับ
จำง่ายๆ ร่องความกดอากาศต่ำ (L) เส้นพาดผ่านตรงไหน ก็จะมีฝน ดูรูปประกอบ
เที่ยวทะเลไทย เที่ยวได้ทั้งปี เดือนไหนเที่ยวที่ไหนได้บ้าง ดูเป็นไกด์ไลน์ได้ครับ
เดือนมกราคม
เดือนนี้มีลมมรสุม ตอ./น. พัดจากประเทศจีนลงมา ก่อให้เกิดความหนาวเย็นในพื้นที่ตอนบนของไทย ส่วนการท่องเที่ยวทางทะเล ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ สำหรับทะเลอันดามัน ก็ไม่มีลมมรสุม ตต./ต. ฝั่งทะเลค่อนข้างสงบ สถานที่ท่องเที่ยวที่เหมาะสำหรับเดือนมกราคม คือ หมู่เกาะสิมิลัน หมู่เกาะสุรินทร์ ภูเก็ต พีพี ทะเลกระบี่ ทะเลตรัง ลงไปถึงหมู่เกาะตะรุเตา สำหรับฝั่งอ่าวไทย ถือเป็นช่วงที่ดีมาก สำหรับการดำน้ำที่ พัทยา สัตหีบ แสมสาร เกาะช้าง ส่วนเกาะเต่า และทะเลชุมพร ก็สามารถเริ่มไปได้ตั้งแต่ช่วงนี้
เดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม
เป็นช่วงที่ลมมรสุม ตอ./น. ที่พัดมาจากประเทศจีน เริ่มน้อยลง เป็นเดือนที่สามารถท่องเที่ยวทางทะเลได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งฝั่งอ่าวไทย และอันดามัน สถานที่ที่เหมาะสมที่สุด สำหรับฝั่ง อันดามัน คือ สิมิลัน - สุรินทร์ หินแดง หินม่วง พีพี ทะเลกระบี่ ทะเลตรัง เช่น เกาะไหง เกาะมุก เกาะกระดาน เกาะรอก หมู่เกาะห้า ตะรุเตา เหลาเหลียง อาดัง ราวี หลีเป๊ะ เกาะไข่ ฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ เกาะเต่า เกาะนางยวน เกาะพะงัน เกาะสมุย หมู่เกาะอ่างทอง พัทยา สัตหีบ แสมสาร เกาะเสม็ด เกาะช้าง เกาะกูด เรียกได้ว่าทั่วทุกที่ของทะเลไทยเลยทีเดียว
เดือนเมษายน
เดือนนี้จะมีพายุพัดจากอ่าวเบงกอล เข้ามาทางภาคใต้ตอนบนในช่วงกลางเดือน และมาเป็นช่วงๆ ไม่สม่ำเสมอ ทำให้มีลมแรง และคลื่นสูงบริเวณ หมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะสุรินทร์ในบางวัน ส่วนอันดามันตอนใต้ไม่ค่อยได้รับอิทธิพลจากลมนี้ ทะเลอันดามันใต้ ตั้งแต่ ภูเก็ต พีพี หินแดง หินม่วง หมู่เกาะในทะเลตรัง ลงไปถึงหมู่เกาะตะรุเตา จึงเป็นบริเวณที่น่าเที่ยวมากที่สุด ส่วนฝั่งอ่าวไทย จะเริ่มมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านทางอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้มีฝนตกประปราย และมีคลื่นลมในทะเลบ้าง แต่ยังไม่มีผลกระทบกับ การท่องเที่ยวบริเวณ เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า ทะเลชุมพร หรือ ทะเลช่วงบน เช่น พัทยา สัตหีบ แสมสาร เกาะเสม็ด เกาะช้าง และเกาะกูด
เดือนพฤษภาคม
เดือนนี้เริ่มมีลมมรสุม ตต./ต. พัดเข้ามาทางฝั่งทะเลอันดามัน ในช่วงต้นเดือน - กลางเดือน ยังพอดำน้ำ หรือท่องเที่ยวทางหมู่เกาะสิมิลัน และหมู่เกาะตะรุเตาได้บ้าง แต่อาจเจอคลื่นสูงบ้างในบางวัน ส่วนร่องความกดอากาศต่ำ ที่ก่อให้เกิดพายุหมุนเขตร้อนในทะเลจีนใต้ ซึ่งได้พาดผ่านทางตอนใต้ ของประเทศไทย ตั้งแต่เดือนเม.ย. จะเคลื่อนตัวสูงขึ้นมาถึงเวียดนาม และเกิดลมพายุพัดเข้าฝั่งทางเวียดนาม และลาว ทำให้มีฝนตกทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย แต่ไม่มีผลกระทบต่อ อ่าวไทย ทั้งตอนบน และตอนกลาง ทำให้ยังไปเที่ยวทะเลในฝั่งนี้ได้ เช่น เกาะเสม็ด เกาะช้าง เกาะกูด เกาะเต่า เกาะนางยวน และทะเลชุมพร ก็จัดอยู่ในเกณฑ์ดี รวมไปถึงกองหินโลซิน ที่จังหวัดนราธิวาส
เดือนมิถุนายน - กรกฎาคม
ตั้งแต่เดือน พฤษภาคมถึงตุลาคม จะมีลมมรสุม ตต./ต. พัดเข้าทางฝั่งทะเลอันดามัน ในระหว่างนี้ จึงควรงดท่องเที่ยวในทะเลแถบนี้ ส่วนร่องความกดอากาศต่ำ ซึ่งเป็นแนวของพายุหมุนเขตร้อน จะเคลื่อนตัวขึ้นไปยังตอนใต้ของประเทศจีน ทำให้ช่วงกลางเดือน มิ.ย. - ต้นก.ค. มีฝนตก ในประเทศไทยเพียงเล็กน้อย ซึ่งเราเรียกช่วงนี้ว่า "ฝนทิ้งช่วง" พื้นที่ที่เหมาะกับการท่องเที่ยวคือ พื้นที่ทั้งหมดของอ่าวไทย ทั้งตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง อันดามันเหนือ ควรงดเว้นการท่องเที่ยว ส่วนอันดามันใต้ เช่น พีพี หินแดง หินม่วง เกาะห้า ทะเลตรัง ก็ยังพอเดินทางท่องเที่ยวได้ แต่อาจต้องลุ้นกันว่า วันนี้จะมีลมพายุพัดเข้ามาหรือไม่
เดือนสิงหาคม - กันยายน
ลมมรสุม ตต./ต. ยังคงมีอิทธิพลกับทะเลอันดามันอยู่ ส่วนร่องความกดอากาศต่ำก็เริ่มเคลื่อนตัวจากประเทศจีนตอนใต้ ลงมายังภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทำให้ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีลมกรรโชกแรง และฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทะเลที่เหมาะสำหรับเดินทางท่องเที่ยวในช่วงนี้คือ เกาะเต่า เกาะนางยวน เกาะสมุย หมู่เกาะอ่างทอง ลงไปถึงกองหินโลซิน ส่วนอ่าวไทยตอนบน พัทยา สัตหีบ แสมสาร อาจมีลมแรง และคลื่นสูงในบางวัน สำหรับอันดามันใต้ ยังคงเป็นเหมือนเดือน มิ.ย. - ก.ค.
เดือนตุลาคม
ลมมรสุม ตต./ต. เริ่มอ่อนกำลังลง แต่ยังคงมีอยู่บ้าง เดือนนี้ถือเป็นเดือนแรกของการเปิดฤดูกาลท่องเที่ยวอันดามัน ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร สำหรับนักดำน้ำมือใหม่ ควรรออีกซักนิด อย่าเพิ่งรีบไปดำน้ำในช่วงนี้ เพราะการขึ้นลงเรือจะลำบากพอสมควร แต่ไม่เป็นปัญหา สำหรับนักดำน้ำที่มีประสบการณ์ ส่วนพายุหมุนเขตร้อนทางฝั่งตะวันออกของไทย จะเริ่มเคลื่อนตัวลงมายังอ่าวไทยตอนกลาง ทำให้มีลม และฝนตกในพื้นที่ เกาะเต่า เกาะนางยวน และเกาะสมุย และกองหินโลซิน ส่วนอ่าวไทยตอนบน ได้รับผลกระทบบ้างเล็กน้อย
เดือนพฤศจิกายน
อิทธิพลของลมมรสุม ตต./ต. หมดไปแล้ว แต่อาจยังมีลม ซึ่งทำให้เกิดคลื่นสูง 1-2 เมตร เป็นช่วงๆ ส่วนพายุหมุนเขตร้อน ยังคงมีผลต่ออ่าวไทยตอนล่างอยู่บ้าง ในช่วงนี้จะมีลมมรสุม ตอ./น. เริ่มพัดจากจีนลงมาไทย นำมาเพียงความหนาวเย็นเท่านั้น ไม่มีผลกระทบกับการท่องเที่ยวทางทะเล พื้นที่ที่เหมาะแก่การท่องเที่ยวในเดือนนี้ได้แก่ ทะเลอันดามันทั้งเหนือ และใต้ อ่าวไทยตอนบน บริเวณ พัทยา สัตหีบ แสมสาร เกาะเสม็ด เกาะช้าง เกาะกูด ส่วนอ่าวไทยตอนกลาง และตอนล่าง บริเวณ เกาะเต่า เกาะนางยวน เกาะสมุย และกองหินโลซิน ควรชะลอการท่องเที่ยวไปก่อน
เดือนธันวาคม
พายุหมุนเขตร้อนที่มาจากทะเลจีนใต้ เริ่มอ่อนกำลังลง ลมมรสุม ตอ./น. ไม่มีผลกับการท่องเที่ยวทางทะเล ทำให้ในเดือนนี้ สามารถไปเที่ยวทะเล ได้ทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทั้งอันดามันเหนือ - ใต้ อ่าวไทยตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง
พร้อมไปเที่ยวทะเลยังครับ ...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น